รอบปี 2564 มีประชาชนถูกจนท.รัฐติดตามคุกคามไม่น้อยกว่า 291 ราย

ตลอดปี 2564 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป นอกจากสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนแล้ว สถานการณ์การใช้อำนาจนอกกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างการเข้าติดตามคุกคามประชาชนและนักกิจกรรมถึงที่พักอาศัย หรือการเรียกตัวไปพูดคุย โดยไม่มีหมายเรียกใดๆ ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแทบจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ที่ไม่มีใครตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการเช่นนี้อย่างจริงจังนัก

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐลักษณะนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การนำกำลังทหารบุกเข้าไปยังบ้านของประชาชน หรือการเข้าควบคุมตัวไป “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร เป็นปฏิบัติการหนึ่งที่คณะรัฐประหารใช้ในการควบคุมการแสดงออกทางการเมือง แม้หลังการเลือกตั้งปี 2562 ไปแล้ว ปฏิบัติการดังกล่าวก็ยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนไปใช้กำลังของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ แทนทหาร

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดปี 2564 มีนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามคุกคามไปถึงบ้านพัก หรือเรียกตัวไปพูดคุย ไม่น้อยกว่า 291 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี จำนวน 39 คน (ข้อมูลจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564) โดยไม่นับรวมกรณีเจ้าหน้าที่นำหมายเรียกไปส่งหรือการเข้าจับกุมตามหมายจับเพื่อดำเนินคดีต่างๆ

หากพิจารณาตามพื้นที่ที่มีประชาชนถูกติดตาม แยกเป็นผู้ถูกคุกคามที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานอย่างน้อย 126 ราย, ภาคกลาง 86 ราย, ภาคเหนือ 63 ราย และ ภาคใต้ 16 ราย

สถิติดังกล่าว เป็นเพียงตัวเลขที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น คาดว่าการคุกคามที่เกิดขึ้นทั่วประเทศตลอดปี จะมีจำนวนมากกว่านี้หลายเท่า โดยจากแหล่งข้อมูลในหลายกรณี พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐบอกกับประชาชนหรือนักกิจกรรมที่ถูกคุกคาม ว่ายังมีบุคคลที่ต้องไปติดตามในจังหวัดนั้นๆ อีกหลายคน บางกรณี เจ้าหน้าที่มีการแสดงรายชื่อบุคคลหลายสิบรายที่ได้รับคำสั่งให้มาติดตามด้วย รวมทั้ง นักกิจกรรมบางรายยังถูกติดตามซ้ำหลายครั้งในแต่ละช่วงเวลาตลอดปีด้วย ทำให้ยากจะติดตามและทราบสถานการณ์ภาพรวมการคุกคามที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน

.

.

สาเหตุการถูกคุกคาม: เหตุโพสต์-แชร์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ พอๆ กับเหตุบุคคลสำคัญลงพื้นที่

หากแยกสาเหตุกว้างๆ ของการถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูล พบว่าสามารถแยกได้เป็น

1. กรณีเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ อย่างน้อย 81 ราย โดยส่วนมากเป็นกรณีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

2. กรณีที่ถูกติดตามก่อนหรือระหว่างที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ อย่างน้อย 79 ราย โดย “บุคคลสำคัญ” ดังกล่าว มีทั้งสมาชิกราชวงศ์ และแกนนำรัฐบาล

3. กรณีที่เกี่ยวกับการจัดหรือร่วมการชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 75 ราย

4. กรณีเกี่ยวเนื่องกับกับการแสดงออกทางการเมืองอื่นๆ ในลักษณะที่ไม่ใช่การชุมนุมหรือกิจกรรมสาธารณะ เช่น ติดป้ายข้อความเรียกร้องทางการเมือง หรือการจัดอบรมต่างๆ อย่างน้อย 54 ราย  

5. ประชาชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามอีกอย่างน้อย 2 ราย

.

.

การติดตามคุกคามผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นต่อเนื่อง

สถานการณ์การติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พบว่าเกิดขึ้นค่อนข้างมากตลอดปี คือการเข้าติดตามประชาชนทั่วไปที่โพสต์ แชร์ หรือคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาตั้งแต่ราวปี 2562 ในช่วงที่มีการหยุดการบังคับใช้ข้อหามาตรา 112 ไประยะหนึ่ง แม้ในช่วงปลายปี 2563 ท่ามกลางการนำข้อหานี้กลับมาใช้อีกครั้ง แต่รูปแบบการติดตามคุกคามผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ เพื่อให้ลบโพสต์ข้อความ จัดทำประวัติ ให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลง หรือบังคับขอเข้าถึงข้อมูลต่างๆ โดยยังไม่แจ้งข้อหาดำเนินคดีนั้น ยังคงดำเนินสืบต่อมา

ในปี 2564 พบว่าสาเหตุการถูกติดตามจำนวนมาก เกิดขึ้นจากการแชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” โดยพบไม่น้อยกว่า 28 กรณี แม้ทั้งหมดเป็นข้อความที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่หลายกรณีเป็นเพียงผู้กดแชร์ข้อความจากเพจเฉยๆ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดประกอบ สะท้อนให้เห็นการติดตามมอนิเตอร์เพจดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มข้น รวมทั้งยังมีกรณีผู้แชร์โพสต์จากเพจ Pavin Chachavalpongpun หรือ Somsak Jeamteerasakul ที่ถูกติดตามคุกคามอยู่บ้างเช่นกัน

ขณะที่ในหลายกรณีที่ถูกคุกคามก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากการแชร์ข้อความใด เจ้าหน้าที่เพียงอ้างว่ามีการแชร์หรือโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หรือโพสต์เข้าข่าย ม.112 หรือบางกรณี เจ้าหน้าที่ก็มีการปรินท์โพสต์ที่แชร์หลายโพสต์ไปให้ดูพร้อมกันด้วย

กรณีที่ถูกติดตามแทบทั้งหมดเป็นประชาชนทั่วไปผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ทำให้จำนวนมากแทบไม่มีใครทราบข้อมูล หรือไม่ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการคุกคามต่อสาธารณะ รวมทั้งพื้นที่ที่เกิดขึ้น ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

กรณีที่ถูกรายงานเป็นข่าวที่เกี่ยวเนื่องกับการแชร์โพสต์จากเพจคนไทยยูเค อาทิ กรณีของหนุ่มวัย 22 ปี ในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ที่ถูกตำรวจเข้าติดตาม และบังคับให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เซ็นชื่อใน “รายงานการปรับทัศนคติ” และเอกสารบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่เผยแพร่ข้อความที่ “ไม่เหมาะสมและไม่บังควร” อีก, กรณีประชาชนและนักศึกษาในจังหวัดขอนแก่น รวม 3 ราย ที่ถูกตำรวจไปที่บ้าน ข่มขู่จะดำเนินคดีและพยายามให้ลบโพสต์, เช่นเดียวกับกรณีประชาชนที่จังหวัดเชียงราย นักศึกษาที่จังหวัดมหาสารคาม นักศึกษาที่จังหวัดสุรินทร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หนุ่มลพบุรี ประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ 2 ราย หรือหนุ่มที่จังหวัดนครราชสีมา ก็ล้วนถูกตำรวจเข้าติดตามและกดดันให้ลบโพสต์ที่แชร์จากเพจคนไทยยูเคนี้คล้ายคลึงกัน

.

.

ส่วนกรณีการแชร์โพสต์อื่นๆ เช่น กรณีพนักงานบริษัทที่จังหวัดอยุธยา ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามจากการแชร์โพสต์หลายโพสต์จากเพจของ “สมศักดิ์” และ “ปวิน” พร้อมสั่งให้เลิกกดแชร์ข้อความที่พาดพิงสถาบันกษัตริย์ และข่มขู่ว่าจะเอาตัวเขาไปดำเนินคดี, กรณีของเทรนเนอร์ฟิตเนสที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งถูกเข้าติดตามจากการแชร์โพสต์จากเพจเยาวชนปลดแอก หรือกรณีของนักศึกษา ปวส. ในจังหวัดอุดรธานี ที่แชร์ภาพคนชูสามนิ้ว หน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ก็ถูกตำรวจติดตามสั่งให้ลบโพสต์เช่นกัน พร้อมเตือนไม่ให้โพสต์หรือแชร์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก

หลายกรณีที่ถูกติดตาม ยังเป็นเพียงเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษา อาทิ กรณีนักเรียนในจังหวัดพิษณุโลก 2 ราย ที่ถูกตำรวจเข้าติดตามคุยผู้ปกครอง เพื่อขอให้ลบโพสต์ที่แชร์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์, กรณีนักเรียนมัธยมปลายในจังหวัดทางภาคกลาง ถูกเจ้าหน้าที่สันติบาล 2 นายไปหาที่บริษัทของครอบครัว แจ้งให้ลบโพสต์เฟซบุ๊กที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันฯ หรือกรณีนักเรียนชั้น ม.3 ในจังหวัดสุรินทร์ ถูกเรียกไปพบผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อพูดคุยให้หยุดแชร์ข่าวเกี่ยวกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์

ขณะที่ยังมีกรณีน่าสนใจ ได้แก่ กรณีที่ตำรวจติดต่อเรียกตัวประชาชนรายหนึ่งในจังหวัดภาคกลาง ให้ไปพบที่สถานีตำรวจ โดยไม่มีหมายเรียกใดๆ เพื่อยืนยันตัวตนของเพื่อนบนเฟซบุ๊ก และสอบถามข้อมูลเหตุที่เธอไปกดไลค์รูปภาพที่มีข้อความ “ยกเลิก 112” ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว รวมทั้งกรณีพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ถูกตำรวจเดินทางไปสอบถามข้อมูลส่วนตัวถึงที่ทำงาน 2 วันติดต่อกัน อ้างว่าเพื่อสืบหาเจ้าของแอคเคาท์ทวิตเตอร์ในกรณีที่มีการทวิตล้อเลียนเกี่ยวกับการรับจ้างยืนในโรงภาพยนตร์ด้วย

.

.

การติดตามคุกคามก่อนและระหว่าง “ประยุทธ์” และ “สมาชิกราชวงศ์” ลงพื้นที่

สาเหตุการถูกคุกคามที่สำคัญและพบมากอีกลักษณะหนึ่ง คือสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามคุกคามนักกิจกรรมหรือประชาชน ที่เกิดขึ้นก่อนและระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั้งเพื่อเฝ้าระวังและข่มขู่ไม่ให้ทำกิจกรรมใดๆ

นักกิจกรรมหรือประชาชนในจังหวัดต่างๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับตา เพราะมีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง มักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามถึงบ้าน ขอนัดหมายพูดคุย สอบถามความเคลื่อนไหว หรือสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมือง แม้กระทั่งไปเฝ้าหน้าบ้านหรือขับรถติดตามประกบ เพื่อไม่ให้เดินทางไปไหนระหว่างมีการลงพื้นที่ของผู้นำรัฐบาล อาทิ สถานการณ์ติดตามนักกิจกรรมและประชาชนที่จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงเดือนตุลาคม และที่จังหวัดอุดรธานี ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ก่อนพล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่

สถานการณ์การติดตามลักษณะนี้ยังเกิดขี้นในจังหวัดรอบๆ ในวงกว้างด้วย อาทิ ก่อนพล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่และตรัง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีรายงานการเข้าติดตามนักศึกษาหรือนักกิจกรรมในหลายจังหวัดทางภาคใต้พร้อมกัน

ขณะเดียวกัน การเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ไปยังจังหวัดต่างๆ ยังนำไปสู่ปฏิบัติการติดตามผู้อยู่ใน “รายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง” ของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดต่างๆ เช่นเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าสถานการณ์ลักษณะนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปประกอบพระราชกรณียกิจในต่างจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่นั้นๆ ได้เข้าติดตามความเคลื่อนไหวของนักศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรม ศิลปิน หรือประชาชนที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในจังหวัดนั้นๆ หรือจังหวัดใกล้เคียงด้วย อาทิ ที่จังหวัดเชียงใหม่, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ปัตตานี

ในช่วงปี 2564 สถานการณ์ดังกล่าวยังดำเนินต่อไป ทั้งไม่เพียงแต่กรณีการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงและพระราชินีเท่านั้น ยังมีการติดตามคุกคามที่เกิดขึ้นก่อนการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ ด้วย อาทิ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ

.

.

สถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเท่าที่ได้รับรายงาน ได้แก่ การติดตามนักวิชาการและนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเดือนมีนาคม 2564 ก่อนการเสด็จประกอบพระกรณียกิจของในหลวงและราชินี รวมทั้งการติดตามประชาชนที่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในจังหวัดชัยนาท ก่อนการเสด็จไปยังจังหวัดสุพรรณบุรีในช่วงปลายเดือนมีนาคม

การติดตามนักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนการเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคม และก่อนการเสด็จที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ ในช่วงเดือนมิถุนายน กระทั่งจนถึงช่วงปลายปี ก็ยังมีรายงานการติดตามคุกคามนักกิจกรรมและประชาชน ในจังหวัดนครราชสีมา, อุบลราชธานี และเชียงใหม่ ในช่วงก่อนการเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เช่นกัน รวมถึงในกรุงเทพฯ ก่อนจะมีพระราชพิธีต่างๆ ก็มีรายงานกรณีที่นักวิชาการหรือศิลปินได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไป ผู้ถูกติดตามแทบทั้งหมดในจังหวัดต่างๆ ไม่ได้ทราบด้วยซ้ำว่าจะมีการเสด็จเกิดขึ้น เมื่อไร และอย่างไร รวมทั้งไม่ได้คิดจะไปแสดงออกทางการเมืองใดๆ ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ การติดตามคุกคามประชาชนด้วยสาเหตุเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบในแง่ความรู้สึกของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ได้เช่นกัน

.

.

การติดตามคุกคามประชาชน จากการจัดหรือร่วมชุมนุมทางการเมือง

การติดตามกลุ่มนักศึกษาหรือนักกิจกรรมที่จัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆ เพื่อข่มขู่หรือห้ามปราม ยังเป็นยุทธวิธีสำคัญหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ในการปิดกั้นกิจกรรมทางการเมือง กลุ่มผู้จัดชุมนุมหรือจัดกิจกรรมมักตกเป็น “เป้าหมาย” ของการถูกติดตามตั้งแต่ก่อนการจัดกิจกรรม รวมทั้งเข้าพูดคุยเก็บข้อมูลหรือตักเตือนการแสดงออก ภายหลังจากทำกิจกรรมไปแล้วด้วย

ในช่วงปี 2564 มีกรณีกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่พยายามปิดกั้น อาทิ กรณีกลุ่ม “บุรีรัมย์ Noเผด็จการ” จัดกิจกรรม “ชาวบุรีรัมย์ทวงคืนประชาธิปไตย” ช่วงเดือนเมษายน ก็มีเยาวชนผู้จัดกิจกรรมถูกตำรวจเข้าติดตามไปบ้าน, กรณีนักกิจกรรมในจังหวัดกาญจนบุรีจะจัดกิจกรรมประท้วงหน้าบ้าน ส.ส. ที่โหวตไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกเจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าหน้าบ้าน ส่วนอีกรายถูกตำรวจเข้าคุยกับครอบครัว ทำให้ต้องตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม

ในช่วงการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ (Car mob) ที่เกิดขึ้นกระจายไปในหลายจังหวัด กลุ่มผู้จัดในจังหวัดต่างๆ ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามสอบถามข้อมูล ห้ามปราม กระทั่งข่มขู่จะดำเนินคดี อาทิ ที่จังหวัดอุดรธานี แกนนำนักกิจกรรมถูกตำรวจไปบ้านถึง 4 ครั้ง และมีนักกิจกรรมถูกตำรวจโทรสอบถามข้อมูลหลายราย, ที่อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้จัดถูกตำรวจเรียกไปพูดคุยที่ สภ. ถึง 2 ครั้ง และข่มขู่จะดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากจัดกิจกรรม, ที่จังหวัดกาญจนบุรี ผู้จัดคาร์ม็อบ ถูกตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง รวมกันมากกว่า 30 นาย เข้าติดตามถึงบ้าน ข่มขู่จะดำเนินคดี, ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตำรวจนัดพูดคุยกับผู้จัดคาร์ม็อบ ขอให้เลื่อนการจัดในวันที่ 12 สิงหาคม ออกไปก่อน, ที่จังหวัดพิษณุโลก ทีมผู้จัดคาร์ม็อบถูกตำรวจเรียกไปพูดคุยที่ร้านกาแฟ และข่มขู่จะดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ผู้จัดตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม หรือกรณีคาร์ม็อบราษฎรฝั่งธน แอดมินเพจได้ถูกตำรวจ 7 รายมาพบที่บ้าน และข่มขู่ให้ประกาศยกเลิกกิจกรรม ทั้งยังมีการเฝ้าจับตาดูหน้าบ้านไม่ให้ออกไปไหน

รวมทั้งกิจกรรมรำลึกวันสำคัญทางการเมืองต่างๆ ก็ถูกตำรวจเข้าติดตามผู้จัดหลายกรณี ได้แก่ กรณีกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนา ที่กาฬสินธุ์ หลังกิจกรรมได้มีนักศึกษาถูกชายแปลกหน้าไปถามข้อมูลส่วนตัวที่บ้าน, กรณีถือป้ายกิจกรรมรำลึก 6 ตุลา ที่กาฬสินธุ์ ก็ได้ถูกหน่วยความมั่นคงเข้าติดตามถึงบ้านเพื่อห้ามปรามการทำกิจกรรม  หรือกรณีกิจกรรมรำลึก 14 ตุลา ที่ชัยภูมิ มีนักกิจกรรม 3 ราย ถูกตำรวจติดตามไปถึงบ้าน เพื่อสอบถามข้อมูลและตักเตือนเรื่องเนื้อหาของกิจกรรม

นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่ตำรวจเข้าติดตามประชาชนในจังหวัดต่างๆ ในช่วงที่มีการจัดกิจกรรมชุมนุมในกรุงเทพฯ เพื่อตรวจเช็คว่าจะเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ อาทิ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่จังหวัดเชียงราย มีนักเรียนชั้น ม.6 รายหนึ่ง ถูกตำรวจเข้าไปซักถามข้อมูลถึงในโรงเรียน อ้างว่ามีรายชื่อเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง”  ที่จะมาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ รวมทั้งยังมีนักกิจกรรมในจังหวัดหลายรายถูกติดตามในช่วงเดียวกันนั้นด้วย หรือกรณีพ่อค้าในจังหวัดนนทบุรี ได้ถูกตำรวจติดตามไปที่บ้านพักและโรงงาน ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ตักเตือนไม่ให้ออกไปร่วมชุมนุม หลังเขาเคยถูกจับกุมดำเนินคดีจากเหตุม็อบ11สิงหา

รวมทั้งกรณีนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการจัดการชุมนุมของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ยังถูกตำรวจแวะเวียนไปตรวจเช็คความเคลื่อนไหว สอดแนม หรือเข้าพูดคุยกับผู้ปกครองด้วยเช่นกัน เช่น กรณีของรุ้ง ปนัสยา ที่มักถูกตำรวจบุกไปบ้านหรือเข้าสอดแนมหลายครั้ง กรณีของพงศธรณ์ ตันเจริญ สมาชิกแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย หรือกรณีของกตัญญู หมื่นคำเรือง สมาชิกของกลุ่มทะลุฟ้า ก็ถูกตำรวจติดตามไปบ้านในต่างจังหวัด โดยอ้างว่าอยู่ในบัญชี Blacklist

.

.

การติดตามคุกคามจากการจัดค่าย-ติดป้ายเรียกร้องทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐจากการแสดงออกทางการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่การจัดการชุมนุม อาทิ การถูกติดตามคุกคามหลังไปแขวนป้ายข้อความทางการเมือง หรือการจัดอบรมในประเด็นต่างๆ

ตั้งแต่ช่วงต้นปี ตำรวจได้ติดตามไปพบผู้ปกครองของเยาวชนอายุ 15 ปี ในจังหวัดร้อยเอ็ด หลังมีป้าย “ยกเลิก 112” ติดบนสะพานลอยในจังหวัด และที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีนักศึกษาถูกตำรวจประมาณ 8 นาย ติดตามไปถึงบ้าน หลังพบป้ายข้อความ “จับเด็ก กราบหมา ยัด 112” บริเวณสะพานลอยในพื้นที่

เช่นเดียวกับกรณีของสมาชิกกลุ่มราษฎรบึงกาฬ 2 ราย ก็ถูกตำรวจไปติดตามถึงบ้าน หลังพบการติดป้าย “ยกเลิก 112” ที่สะพานลอยในจังหวัด รวมทั้งที่จังหวัดสุรินทร์ มีกรณีตำรวจเข้าตามหาตัวประชาชนที่ไปติดป้ายข้อความขับไล่ประยุทธ์ตามป้ายจราจร และที่จังหวัดนนทบุรี มีกรณีที่ตำรวจบุกเข้าขอตรวจค้นห้องพักนักกิจกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี เพื่อตรวจสอบป้ายข้อความทางการเมือง

ในช่วงต้นปี ยังมีกรณีการจัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ซึ่งเปิดรับสมัครนักเรียนในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ไปเรียนรู้ปัญหาชุมชน แต่กลับมีนักเรียนไม่น้อยกว่า 4 ราย ถูกตำรวจเข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครอง ในลักษณะไม่อยากให้ไปค่าย รวมทั้งครูฝ่ายปกครองของโรงเรียนก็ไปพบผู้ปกครองนักเรียนด้วย

ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในช่วงเดือนมิถุนายน ตำรวจเข้าติดตามการจัดค่ายอบรมเรื่องรัฐสวัสดิการ โดยหมุนเวียนกันเข้าสอดแนม และสอบถามข้อมูลกิจกรรมหลายวันต่อเนื่องกัน นอกจากนั้นที่เมืองพัทยาเช่นกัน หลังมีกลุ่มกิจกรรมออกติดป้ายข้อความ “รัฐล้มเหลว ประชาชนล้มตาย” และแขวนหุ่นประท้วงนโยบายการจัดการโควิด-19 ทำให้มีสมาชิกกลุ่มถูกตำรวจติดตามไปบ้าน รวมถึงติดตามถ่ายรูปความเคลื่อนไหวหน้าบ้านของกลุ่มกิจกรรม

รวมทั้งยังมีกรณีการติดตามคุกคามแบบ “หว่านแห” เพื่อสืบหาผู้กระทำการแสดงออกที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่บุกไปบ้านนักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement 3 ราย เพื่อสอบถามข้อมูล โดยอ้างว่ามีเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ทั้งหมดไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด

.

.

ผู้ใช้เฟซบุ๊กทวิตเตอร์ ถูก ศชอ. ส่งข้อความข่มขู่ไม่น้อยกว่า 378 ราย

นอกจากสถานการณ์การคุกคามติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ในช่วงปี 2564 ยังมีสถานการณ์การข่มขู่คุกคามโดย “กลุ่มประชาชน” ที่ใช้ชื่อว่า “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) หรือที่เรียกตนเองว่า “กองทัพมินเนียน” ซึ่งมีการใช้แอคเคาท์อวตารหลายสิบบัญชีส่งไฟล์เอกสารที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์มาทางกล่องข้อความ และแจ้งในลักษณะข่มขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแต่ละรายดังกล่าว

สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 จนถึงช่วงปลายปี ก็ยังมีรายงานว่ามีผู้ได้รับไฟล์ข่มขู่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดครึ่งปีหลังนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนอย่างน้อย 378 ราย ว่าได้ถูกคุกคามในลักษณะดังกล่าว (ข้อมูลจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564)

ทั้งยังมีรายงานว่าประชาชนบางราย ได้รับผลกระทบมากกว่าการถูกข่มขู่ โดยกลุ่ม ศชอ. ได้มีการส่งข้อมูลการโพสต์ต่างๆ ให้สถานที่ทำงานด้วย ทำให้พบว่ามีผู้ถูกคุกคามบางกรณี ถูกบีบให้ออกจากการทำงาน ได้แก่ กรณีของหนุ่มโรงงานย่านสมุทรปราการ

คาดว่าตัวเลขผู้ร้องเรียนดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น จากจำนวนผู้ถูกปฏิบัติการในลักษณะนี้ ซึ่งคาดว่ามีหลายพันราย โดยจนถึงสิ้นปี 2564 ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ถูกข่มขู่ซึ่งได้รับหมายเรียกอย่างเป็นทางการจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ในปีหน้า ยังต้องจับตาสถานการณ์การคุกคามในลักษณะนี้ และการดำเนินการในฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

.

X