ทหาร-ตำรวจขอนแก่น ติดตาม-เฝ้าบ้าน 3 นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม กลัวไปยื่นฎีกากับพระเทพฯ ระหว่างเสด็จ

หลังมีหมายกำหนดการกรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาที่จังหวัดขอนแก่นในวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ขอนแก่นจำนวนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารติดตามไปถึงบ้าน เพื่อปรามหรือสั่งให้หยุดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงวันเวลาดังกล่าว แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าจะไม่จัดกิจกรรมอะไรทั้งสิ้น แต่กลับไม่ได้รับความเชื่อถือ  หนำซ้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงยังส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจตาและคอยเช็คพิกัดที่อยู่ของประชาชนเหล่านั้นเสมอ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ 3 นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอน้ำพอง และอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเจ้าหน้าที่กลัวว่าพวกเขาจะเดินทางไปยื่นฎีกาต่อกพระเทพฯ ในวันที่เสด็จ จึงมีทั้งการไปพบที่บ้าน ที่ไร่ กระทั่งเฝ้าอยู่บ้านจนออกไปไหนไม่ได้ 

กลัวจะไปยื่นหนังสือฎีกาในวันเสด็จ เลยเช็คพิกัดอยู่ทั้งสัปดาห์

“พ่อเดช” สุรเดช แก้วกัลยา อายุ 65 ปี สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 7 – 11 มิถุนายน 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.น้ำพอง พยายามไปติดต่อขอพบและสอบถามพิกัดที่อยู่ โดยระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2564 ตำรวจไปหาที่บ้าน และเมื่อไม่พบตัวจึงได้ถ่ายรูปบ้านไว้ ก่อนจะตามไปเจอที่ไร่ของสุรเดชในช่วงสายของวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สุรเดชจึงทราบจากตำรวจที่มา 5 นายในวันนั้นว่า มีหมายกำหนดการของพระเทพฯ จะเสด็จมาที่อำเภอน้ำพองในวันที่ 11 มิถุนายน 2564   

ตำรวจชุดที่มายังกล่าวอีกว่า กลัวว่าทางกลุ่มของสุรเดชจะไปยื่นหนังสือฎีกา วันที่พระเทพฯ เสด็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อยากให้ไป สุรเดชสอบถามว่า นอกจากเรื่องกลัวตนไปยื่นฎีกา มีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ ก่อนจะได้รับคำตอบว่า ไม่มี ตำรวจนายหนึ่งกล่าวด้วยว่ามาตามคำสั่งนาย ซึ่งสุรเดชเข้าใจว่าเป็นคำสั่งของผู้กำกับ สภ.น้ำพอง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเผยข้อมูลว่าเป็นคำสั่งจากกองทัพภาคที่  2 โดยประสานกับตำรวจในพื้นที่ให้ตรวจตราบุคคลเฝ้าระวังในช่วงที่มีการเสด็จ

สุรเดช หรือพ่อเดช คือคนตรงกลางของภาพ(ที่ใส่หมวกปีกกว้าง) ภาพจาก: มติชน

สำหรับเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเกรงว่าทางกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาวจะไปยื่นฎีกาคาดว่าจะเป็นเรื่องที่กลุ่มฯ ต่อสู้เรื่องที่ดินในเขตชลประทาน 6 ตำบล 2 อำเภอ หลังจากที่มีการสร้างเขื่อน ทำให้น้ำท่วมเป็นพื้นที่ 1,700 กว่าแปลง  30,000 กว่าไร่ โดยทางกลุ่มต้องการให้รัฐช่วยเร่งรัดคืนเอกสารสิทธิที่ดินของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบหลังยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี

หลังตำรวจติดตามไปพบสุรเดชถึงไร่ จากนั้นวันที่ 10 – 11 มิถุนายน 2564 แม้ตำรวจจะไม่ได้เจอตัวสุรเดช เนื่องจากออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน แต่ก็โทรศัพท์ตรวจสอบอยู่เป็นระยะว่า สุรเดชอยู่ที่ไหน และทำอะไรอยู่ รวมถึงมีการไปถ่ายภาพที่บ้านของสุรเดชอีกทั้งสองวัน

สุรเดช ยึดอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก โดยปกติจะอาศัยอยู่ในไร่มากกว่าอยู่ที่หมู่บ้าน จะกลับมาบ้านแค่ช่วงเวลาค่ำ นอกจากนี้ยังเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว และกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำพอง สรุเดชเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่มีตำรวจไปพบที่บ้าน ทำให้เพื่อนบ้านรู้สึกตกใจและสงสัยว่ามาตามหาตนด้วยสาเหตุใด และการที่ตามไปพบตนที่ไร่ซึ่งห่างจากหมู่บ้านราว 3 กิโลเมตร ตนสงสัยเป็นอย่างมากว่า ตำรวจทราบและไปที่ไร่ได้อย่างไร เนื่องจากสอบถามเพื่อนบ้านแล้ว ไม่มีใครบอกพิกัดไร่ของตนให้ตำรวจทราบเลย

บอกว่าจะแวะมาทานอาหารด้วยที่บ้าน แต่กลับมาเฝ้าอยู่ครึ่งวัน 

ในพื้นที่อำเภอน้ำพอง ยังปรากฏเหตุการณ์ตำรวจไปพบและติดตามสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ห้วยเสือเต้นและโคกหินขาวอีกราย โดยในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ระเบียง แข็งขัน วัย 55 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตามหาที่บ้าน และสอบถามว่า จะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ในวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ระเบียงตอบไปว่าไม่ได้คิดจะทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอะไร เพราะต้องเลี้ยงหลานอายุ 2 ขวบ  แต่คำตอบของระเบียงไม่ได้ทำให้ตำรวจวางใจ จากวันนั้นจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ในช่วงสายๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาหาระเบียงทุกวัน แวะมาถ่ายรูปหน้าบ้านแล้วก็กลับไป

ก่อนหน้า 2 วัน ตำรวจถามระเบียงว่า วันที่ 11 มิถุนายน จะมาในหมู่บ้านอีกครั้ง และจะซื้อปลามาทำกับข้าวทานที่บ้านระเบียงได้หรือไม่ ระเบียงตอบไปว่า จะมาก็มา  

จนวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ตำรวจ 4 นาย ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ มาที่บ้านระเบียงตามที่บอก แต่ไม่ได้ซื้อปลาหรือนำอาหารมาด้วย ระเบียงต้องได้ทำกับข้าวให้ตำรวจที่มานั่งเฝ้าเธออยู่ในบ้านตั้งแต่ 08.00 -12.00 น. โดยมีการถ่ายภาพระเบียงไว้ตลอด เจ้าหน้าที่อธิบายสาเหตุที่มานั่งเฝ้าว่า เนื่องจากมีขบวนเสด็จมาขอนแก่น และจะมาอำเภอน้ำพอง ด้านระเบียงได้กล่าวทำนองต่อว่าตำรวจไปว่า อย่ามาติดตามอะไรแบบนี้เลย ไปทำเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านี้ดีกว่า 

ภายหลังเหตุการณ์ ระเบียงเปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า รู้สึกอึดอัด และโกรธเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะช่วงเวลานั้นจะไปไหนก็ไม่ได้ไป รู้สึกถูกจับตาอยู่ตลอด แม้พยายามบอกว่าไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรมาสักพักแล้ว “แต่เขาไม่เชื่อ คล้ายๆ กับว่าเราทำผิดอะไรถึงต้องมาเฝ้าแบบนี้”

ก่อนหน้านี้ระเบียงเคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มนักศึกษาดาวดิน หาก พล.อ.ประยุทธ์ มาราชการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เธอก็จะถูกทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ในจังหวัดมาหาถึงบ้านเสมอๆ ในลักษณะห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนักศึกษา  แต่ก็ไม่ได้มาติดตามเธอทั้งสัปดาห์แบบครั้งนี้  

ไม่ได้คิดจะไปไหน ไม่ได้เคลื่อนไหวมานานแล้ว  

ไม่เพียงแต่ชาวบ้านในอำเภอน้ำพอง ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูนสาดที่รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่บ้านเกิด อันก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้าน ก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจไปตามหา โดยในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 สมหมาย จงไพบูลย์ ชาวบ้านนามูล อายุ 60 ปี ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านว่ามีทหารไม่ทราบสังกัดมาขอพบเธอ อ้างว่ามาตามรายชื่อบุคคลที่หมิ่นเบื้องสูง โดยไม่ได้ถือเอกสารอะไรติดตัวมาด้วย แต่ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้พาทหารไปที่บ้านของสมหมาย

วันต่อมา หลังจากสมหมายกลับจากทำธุระนอกบ้าน ได้ทราบจากเพื่อนบ้านอีกว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สภ.กระนวน มาตามหา ในขณะที่เธอไม่อยู่ เพื่อนบ้านได้ถามตำรวจว่ามาหาสมหมายด้วยสาเหตุใด ตำรวจบอกไปว่ากลัวแม่สมหมายจะไปยื่นฎีกาในวันที่พระเทพฯ เสด็จ เมื่อสมหมายได้ฟังก็เกิดความสงสัย เนื่องจากเธอไม่ทราบเรื่องการไปยื่นฎีกาตามที่ตำรวจบอกเลย

ช่วงเช้าวันที่พระเทพฯ เสด็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถมาหนึ่งคัน แต่มีนอกเครื่องแบบเดินลงมาพูดกับสมหมายเพียงนายเดียว ก่อนจะถามว่าวันนี้จะไปยื่นฎีกาหรือไม่ สมหมายจึงตอบไปว่า วันนี้มีธุระแค่ไปวัดกับไปไร่ และบอกตำรวจด้วยว่า ขณะนี้เราอยู่ของเราดีๆ อย่าหาโทษมาให้เราเลย แต่ตำรวจยังถามต่ออีกว่า ทางกลุ่มจะเคลื่อนไหว หรือไปไหนหรือไม่ สมหมายบอกว่า ไม่ได้คิดจะไปไหน หลังต่อต้านการขุดเจาะปิโตรเลียมก็ไม่ได้ไปไหนเลย ก่อนตำรวจจะขับรถออกไปโดยที่สมหมายยังไม่ทันได้สอบถามเรื่องที่ทหารกล่าวหาว่าเธอหมิ่นเบื้องสูง 

ภาพบรรยากาศหมู่บ้านนามูล ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น (ถ่ายไว้เมื่อปี 2558 โดยทวีศักดิ์ เกิดโภคา)

ระหว่างการพูดคุยตำรวจได้ถ่ายภาพสมหมาย แต่พอเธอจะถ่ายภาพตำรวจบ้าง กลับถูกห้ามว่าทำไม่ได้ ท่ามกลางความสงสัยว่าทำไมถ่ายภาพตำรวจกลับไม่ได้ และรู้สึกหวั่นใจว่า ตำรวจจะถ่ายภาพเธอไปทำอะไร สมหมายยังรู้สึกคาใจที่มีทหารมาตามหา “อยากคุยกับทหารกลุ่มที่มามากเลย ว่ามาด้วยสาเหตุอะไร และเรามีพฤติการณ์หมิ่นเบื้องสูงตรงไหน เพราะมันทำให้เราตกใจจนนอนไม่หลับ และก็รอเขากลับมาคุยอยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นมา” อย่างไรก็ดีหลังจากพระเทพฯ เสด็จกลับแล้วก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่มาตามหาสมหมายอีก 

ก่อนหน้านี้ในทุกครั้งที่มีข่าวนักศึกษาจะออกมาเคลื่อนไหวในจังหวัดขอนแก่น ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามมาถ่ายภาพที่บ้านของสมหมาย และพยายามเชื่อมโยงเธอกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ อยู่เสมอ

นอกจากกรณีของ 3 นักเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารก่อนที่จะมีขบวนเสด็จแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเคยรายงานถึงกรณีที่นักเรียนมัธยมในจังหวัดขอนแก่นอย่างน้อย 4 รายที่ถูกติดตามและพยายามสอบถามความเคลื่อนไหว จากเหตุเดียวกัน โดยบางรายถูกระบุว่า มีรายชื่อเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง”  

>>นอกเครื่องแบบไปบ้านสมาชิก “ภาคีนักเรียนKKC” 2 ครั้ง ขอเบอร์ติดต่อ ก่อนโทรคุย ‘พี่เป็นตำรวจ อยากเจอจังเลย กลับบ้านกี่โมง’ – อีกราย ตร.โทรหานัดไปพบ

>>ตร.ขอนแก่น โทรตามนักเรียนมัธยมKKC -ไปที่บ้านระหว่างออกไปเรียนออนไลน์ บอกจะไปหาจนกว่าจะเจอตัว

>>ภาคีนักเรียน KKC เข้าพบ ตร.ขอนแก่น หวังให้ชี้แจงและขอโทษ กรณีไปติดตามคุกคามเยาวชนหลายรายที่บ้าน 

การติดตามนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่แสดงออกทางการเมืองโดยระบุว่า “เป็นบุคคลเฝ้าระวัง” เกิดขึ้นเป็นประจำในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเจ้าหน้าที่มักให้เหตุผลเมื่อถูกตั้งคำถามว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง สะท้อนกรอบคิดของเจ้าหน้าที่และรัฐที่ไม่ได้มองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่มีตามรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งการเข้าติดตามถึงบ้านของเจ้าหน้าที่ไม่สวมใส่เครื่องแบบ ไม่แสดงบัตรเจ้าหน้าที่ หลายครั้งมีพฤติการณ์ข่มขู่คุกคามให้ผู้ถูกติดตามหรือบุคคลใกล้ชิดเกิดความหวาดกลัว ไม่ใช่กระบวนการตามกฎหมาย ทั้งยังเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ใช้เจ้าหน้าที่แอบอ้างเข้าคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นร.-นศ.-นักกิจกรรมร้อยเอ็ด 9 คน “ถูกปรามจัดกิจกรรม-ห้ามออกนอกบ้าน” ก่อนพระเทพฯ เสด็จเปิดหอโหวด 101

นอกเครื่องแบบติดตามประชาชนในสกลนคร 4 ราย อ้างเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” ถือวิสาสะเข้าบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต

X