ภายหลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ออกประกาศสามฉบับให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ ,ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ,ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคสช.และความผิดเกี่ยวกับอาวุธ จากนั้นก็ได้ปรากฎว่ามีอย่างน้อย 2 คดีที่ศาลทหารได้ออกนั่งพิจารณาคดีนอกเวลาราชการ ได้แก่ คดี 14 นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตขังจำเลยทั้งหมดในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 26 มิถุนายน 2558 และคดีนายจตุภัทร บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดิน ชุมนุมต้าน คสช. ที่ขอนแก่นเมื่อปี 2558 ซึ่งศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ได้รับฟ้องคดีในเวลาสองทุ่มของวันที่ 19 สิงหาคม 2559
ปกติแล้วการเปิดทำการหรือการนั่งพิจารณาคดีของศาล กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการภายในวันและเวลางราชการเท่านั้น ซึ่งคือ ระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์และระหว่างเวลา 8.30 -16.30 น. ดังนั้น หากศาลทำการหรือนั่งพิจารณาที่กระทำนอกวันและเวลาราชการ ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้น ดังต่อไปนี้ (1) มีเหตุฉุกเฉิน หรือ (2) ศาลมีการออกระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จะส่งผลให้เป็นการทำการหรือนั่งพิจารณาดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบซึ่งโจทก์หรือจำเลยในคดีสามารถโต้แย้งเพื่อเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและให้มีการดำเนินการใหม่ได้ในภายหลัง
ทั้งนี้ มีเพียงคดีนายจตุภัทร บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดิน ชุมนุมต้าน คสช. ที่ขอนแก่นเมื่อปี 2558 เท่านั้นที่จำเลยได้โต้แย้งว่าการเปิดศาลตอนสองทุ่มเพื่อมารับฟ้องคดีเป็นการกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ รายงานชิ้นจึงจะชี้ให้เห็นความผิดปกติในการทำงานของศาลทหารต่อคดีที่กระทบต่อ คสช.
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคดีนายจตุภัทร บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดิน ชุมนุมต้าน คสช. ที่ขอนแก่นเมื่อปี 2558
วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น นายจตุภัทรและกลุ่มนักศึกษาดาวดินได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เนื่องในโอกาส คสช.ทำรัฐประหารครบ 1 ปี ซึ่งหลังจากจัดกิจกรรมดังกล่าวเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ทางเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจสถานีภูธรเมืองขอนแก่นได้เข้าจับกุมกลุ่มนักศึกษาเพื่อยุติกิจกรรม และแจ้งข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนกับนายจตุภัทรและกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว แต่ภายหลังปรากฎว่าคดีดังกล่าวกลับเงียบหายและไม่มีการดำเนินการใดๆจากเจ้าหน้าที่เป็นระยะเวลาร่วมปี
จนกระทั่ง 6 สิงหาคม 2559 นายจตุภัทรถูกตำรวจจับกุมจากการแจกใบปลิวรณรงค์ประชามติที่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ก่อนจะได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลจังหวัดภูเขียวในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 เวลา 16.00 น. หลังจากถูกขังในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาเป็นระยะเวลาถึง 12 วัน
ทว่ายังไม่ทันที่นายจตุภัทรจะได้ก้าวออกจากเรือนจำจังหวัดภูเขียว ตำรวจสถานีภูธรเมืองขอนแก่นได้เข้ามาอายัดตัวนายจตุภัทรถึงในเรือนจำต่อทันที และได้นำตัวนายจตุภัทรจาก จังหวัดชัยภูมิไปส่งตัวให้กับอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ที่ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น เพื่อให้อัยการศาลทหารดำเนินการฟ้องนายจตุภัทรในข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนในคืนนั้นทันที โดยที่ศาลฯก็เปิดรออยู่จนกระทั่งนายจตุภัทรถูกนำตัวไปถึงในเวลาประมาณ 19.00น.
เมื่อนายจตุภัทรถูกนำตัวไปถึงศาลมณฑลทหารบกทค่23 อัยการฯก็ได้ยื่นฟ้องนายจตุภัทร์เป็นจำเลย(ต่อไปนี้จะเรียกว่าจำเลย)ในคดีหมายเลขดำที่ 61/2559 ว่าร่วมกันชุมนุมทางการเมืองคัดค้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อ.เมือง จ.ขอนแก่น อันเป็นการฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งศาลรับฟ้องดังกล่าว ทั้งที่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลา 20.30 น.แล้วก็ตาม
อัยการฯ(ต่อไปนี้จะเรียกว่าโจทก์)ได้อธิบายถึงเหตุจำเป็นในการยื่นฟ้องนอกเวลาราชการกับศาลฯ ว่า อัยการได้มีการประสานกับพนักงานสอบสวนที่จะนำนายจตุภัทร์มาส่งให้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. และได้ประสานกับพนักงานสอบสวนมาโดยตลอดเพื่อดำเนินการฟ้องนายจตุภัทร์ต่อศาล แต่เนื่องจากติดขัดในระยะทาง ทำให้นำตัวนายจตุภัทร์มายื่นฟ้องต่อศาลเลยระยะเวลาทำการ
คดีมีเหตุจำเป็นจึงสามารถยื่นฟ้องนอกเวลาราชการได(อ้างอิงจากคำร้องประกอบคำฟ้อง ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2559)
ต่อมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2559 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลมณฑลทหารบกที่ 23 โดยโต้แย้งว่าการรับฟ้องนอกเวลาราชการของศาลฯเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
ภายหลังจากนั้นเพียงสามวัน ศาลฯได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวและมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ว่าคดีนี้มีเหตุจำเป็นจึงสมควรให้สามารถรับฟ้องนอกเวลาราชการได้ เนื่องจากโจทก์ได้ประสานการปฏิบัติเพื่อฟ้องคดีนี้ต่อศาลนับแต่เวลา 13.00 น. จริง อีกทั้งมีการเตรียมการในเรื่องอื่นไว้พร้อมแล้วคงรอการส่งตัวจำเลยจากพนักงานสอบสวนเท่านั้น อันถือเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันมาโดยตลอด เพื่อฟ้องคดีนี้ต่อศาลมาโดยตลอดนับตั้งแต่ช่วงบ่าย อีกทั้งไม่มีข้อห้ามใดห้ามิให้ดำเนินการฟ้องคดีที่ได้ทำการต่อเนื่องกันหลังเวลาทำการของศาลแล้ว จึงให้ยกคำร้องของจำเลยดังกล่าว
จำเลยยื่นอุทธรณ์
ภายหลังจากที่จำเลยรับทราบคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมาย วันที่ 12 กันยายน 2559 จำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยอ้างข้อเหตุผล ดังนี้
ประเด็นแรก ข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่าได้ประสานกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นว่าจะนำตัวจำเลยมาส่งให้ศาลตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นข้อกล่าวอ้างที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความจริง เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยยังอยู่ในการขังระหว่างพิจารณาของศาลจังหวัดภูเขียวในคดี พรบ.ประชามติ
ประเด็นที่สอง ปัญหาเรื่องระยะทางการนำตัวจำเลยมาฟ้อง ไม่อาจถือว่าเป็นเหตุจำให้โจทก์สามารถยื่นฟ้องนอกเวลาราชการได้ เนื่องจากตามกฎหมายแล้วพนักงานสอบสวน หรือโจทก์ยังมีอำนาจฝากขังนายจตุภัทรต่อไปได้อีกจนสามารถนำตัวนายจตุภัทรมายื่นฟ้องต่อศาลในเวลาราชการภายหลังได้
ประเด็นที่สาม มีกฎหมายอย่าง พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 45 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 กำหนดให้การนั่งพิจารณาของศาลต้องกระทำในเวลาราชการ(เวลาระหว่าง 8.30 -16.30 น.)อย่างชัดเจน ดังนั้น การยื่นฟ้องของโจทก์และการรับฟ้องของศาลจึงมิชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อศาลฯได้รับอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลฯกลับมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เพื่อส่งต่อให้ศาลทหารกลางวินิจฉัยในวันรุ่งขึ้นทันที โดยอ้างเหตุประกอบในคำสั่งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ว่า คำสั่งดังกล่าวหลังจากศาลประทับฟ้องแล้ว และหาใช่คำสั่งรับคำคู่ความ จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องรอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาในปะรเด็นสำคัญเสียก่อน คู่ความจึงสามรถจะอุทธรณ์คำสั่งนี้ได้ ดังนั้น เมื่อเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจึงต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 196
ทนายความยื่นอุทธรณ์อีกครั้งต่อศาลทหารกลางและศาลทหารกลางมีคำสั่งยกคำร้องครั้งสุดท้าย
นอกจากนั้น แม้ศาลฯจะวินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามกฎหมาย แต่ทางจำเลยกลับเห็นต่างออกไปโดยมองว่าคำสั่งรับฟ้องนอกเวลาราชการดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นที่กฎหมายอนุญาตให้ศาลอุทธรณ์ได้ทันที จึงได้จัดทำคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลมมณฑลทหารบกที่ 23 ดังกล่าวอีกครั้งเพื่อส่งให้กับศาลทหารกลางซึ่งสถานะเป็นศาลอุทธรณ์ในวันที่ 26 กันยายน 2559 เพื่อให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์ดังกล่าวต่อไปโดยอ้างเหตุผลว่า
แม้คำสั่งรับฟ้องนอกเวลาราชการของศาลมณฑลทหารที่ 23 จะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ถือต้องถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญในคดีเพราะการยื่นฟ้องนอกเวลาราชการกระทบต่อบรรทัดฐานในการทำงานของศาลที่ประชาชนจะสามารถคาดหมายห้วงเวลาการทำงานของศาลได้ชัดเจน รวมถึงกระทบต่อสิทธิในการจัดหาและปรึกษาทนายความของจำเลย และเป็นการอุทธรณ์คำสั่งที่มีผลให้คดีนั้นเสร็จสำนวนไปเพราะหากศาลทหารกลางเห็นว่าการรับฟ้องหลังเวลาราชการเป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมาย ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องจำเลยทันที ซึ่งเข้าเงื่อนข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 จึงสามารถอุทธรณ์ได้ทันที
แต่ปรากฎว่าในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เกือบสองเดือนหลังจากยื่นคำร้องอุทธรณ์ข้างต้น ศาลทหารกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ขอศาลมณฑลทหารบกที่ 23 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจึงต้องห้ามอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ซึ่งเมื่อศาลทหารกลางมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ทางจำเลยจึงไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้อีกต่อไป เนื่องจากกฎหมายให้คำสั่งของศาลทหารกลางซึ่งมีสถานะเป็นศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด
ศูนย์ทนายความฯ มีความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ด้วยกันสองประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง มาตรา 35 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 ได้กำหนดให้การนั่งพิจารณาคดีของศาลจะต้องกระทำในวันและเวลาราชการเท่านั้น ซึ่งปกติกฎหมายได้กำหนดเวลาทำการราชการไว้คือระหว่างเวลา 8.30 – 16.30 น. เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถคาดหมายห้วงเวลาการทำงานของศาลได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น การที่ศาลนั่งพิจารณานอกเวลาราชการย่อมถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงและกระทบเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมเป็นผลให้จำเลยไม่สามารถพึงคาดหมายห้วงเวลาหรือบรรทัดฐานในการทำงานของศาลได้ โดยนอกจากนี้ยังกระทบต่อสิทธิในจัดหาและปรึกษาทนายความเพื่อมาแก้ต่างในคดีของจำเลยอีกด้วย
ประเด็นที่สอง คำสั่งของศาลทหารกลางที่สั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 นั้น ศาลทหารกลางมิได้พิจารณาสิ่งที่จำเลยมุ่งให้ศาลวินิจฉัยว่า คำสั่งรับฟ้องนอกเวลาราชการเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่เข้าข้อยกเว้นให้จำเลยอุทธรณ์ทันทีได้หรือไม่ แต่ศาลกลับไปหยิบสิ่งที่จำเลยมิได้โต้แย้งไว้ในคำร้องอุทธรณ์อย่าง คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ขึ้นมาวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามอุทธรณ์ตามกฎหมายเพื่อเอามาเป็นเหตุในการยกคำร้องอุทธรณ์ของจำเลย ทั้งที่ในทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิ กำหนดให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่อุทธรณ์ต่อศาลทหารกลางซึ่งมีสถานะเป็นศาลอุทธรณ์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ต้องห้ามอุทธรณ์แต่อย่างใด
ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวนี้จึงถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจและตีความกฎหมายของศาลทหารกลางที่ผิดพลาดจนเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อตรวจสอบการดำเนินการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ได้