ภายหลัง คสช. ประกาศวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดให้มีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ กลุ่มต่างๆ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และมีการรณรงค์ ทั้งโดยฝ่ายที่ต้องการรับร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ดูเหมือนว่าการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างกว้างขวางจะมิใช่สิ่งที่คสช.ต้องการให้เกิดขึ้น จนนำไปสู่การพยายามควบคุมเสรีภาพการแสดงออกด้วยวิธีการต่างๆ ต่อเนื่องกันมาตลอดระยะเวลาสองเดือน ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ตลอดสองปีของการรัฐประหารครั้งนี้
ทั้งนี้การควบคุมการแสดงออกต่อเรื่องประชามติ คสช.ก็ยังคงใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นหลักทั้งในกรณีการชุมนุมของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่และการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. ในการหยุดยั้งการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ควบคู่ไปกับการดำเนินคดีด้วยข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และมาตรา 61 ในพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
โดยสรุปการดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้เสรีภาพการแสดงออกที่เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้ทั้งหมด 113 คน แบ่งเป็นข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ทั้งหมด 94 คน มาตรา 61 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ 5 คน กรณีที่โดนทั้งข้อหาคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 พร้อมมาตรา 61 จำนวน 13 คน และมี 1 คนที่ถูกดำเนินคดีสองคดี คดีแรกข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 คดีที่สองข้อหาตามมาตรา 61 สถิติดังกล่าว ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2559
คำสั่งหัวหน้า คสช. ครอบจักรวาล
ยิ่งเข้าใกล้วันลงประชามติการออกมารณรงค์ของกลุ่มต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น แต่การควบคุมเสรีภาพการแสดงออกก็ยิ่งทวีมากขึ้นตามไปด้วย วันที่ 8 มิ.ย.59 สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า กกต.กำลังศึกษารายละเอียดเรื่องเพจเฟซบุ๊กดังเพจหนึ่งได้แชร์เพลง “อย่างนี้ต้องตีเข่า (โหวตไม่เอา แล้วตีตก)” ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ อาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 611 จากเหตุการณ์ดังกล่าวกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับ กกต. ด้วยการเดินทางไปจัดกิจกรรมเต้นประกอบเพลงที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติซึ่งเป็นที่ตั้งของ กกต. แต่ยังไม่ทันได้จัดกิจกรรม พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับก็ถูกตำรวจเข้าขัดขวางทำกิจกรรม และนำตัวไปลงประจำวันที่สน.ทุ่งสองห้องก่อนปล่อยตัว โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
กลุ่มนักกิจกรรมและนักศึกษาเองพยายามทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องการออกเสียงประชามติ จนนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีเช่นกัน ในวันที่ 22 มิ.ย. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้แจกเอกสารรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ แม้ว่าครั้งนี้จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าขัดขวางในเบื้องต้น แต่เมื่อทางกลุ่มอธิบายจุดประสงค์และข้อกฎหมายแล้ว ก็ยังสามารถจัดต่อไปได้ แต่ในวันถัดมา (23 มิ.ย.) ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้จัดแจกเอกสารที่ย่านสำโรงอีกครั้งโดยมีประชาชนบางส่วนเข้าร่วมด้วย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าจับกุมโดยไม่มีการแจ้งข้อหา ทำให้มีทั้งนักกิจกรรม นักศึกษา คนงานจากสหภาพแรงงานถูกจับกุมทั้งหมด 13 คน ถูกนำตัวไปสอบสวนที่สภ.บางเสาธง ก่อนเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหาว่าได้กระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันในวันที่ 24 มิ.ย. กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในนามกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม “24 มิถุนายน ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนักศึกษา 7 คน และยึดเอกสารที่เกี่ยวกับการรณรงค์โหวตโนไปด้วย ทั้ง 7 คน ถูกแจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ข้อ12 และเจ้าหน้าที่ยังแจ้งกับทั้ง 7 คนว่าจะเชิญ กกต. มาตรวจดูเอกสารที่กลุ่มนำมาแจกว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 61 ของพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติด้วยหรือไม่ แต่ภายหลังก็ไม่มีการตั้งข้อหาดังกล่าว
ด้าน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศจัดตั้งหน่วยงานติดตามการทุจริตออกเสียงประชามติทั่วประเทศในชื่อ “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามจัดแถลงข่าว ต่อมาทาง นปช.ก็ยังยืนยันจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯในวันที่ 19 มิถุนายน ทำให้ฝ่ายคสช.ได้ออกมาให้ข่าวตอบโต้และข่มขู่ผ่านสื่อว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะมีความผิด ทั้งที่ตอนแรกคสช.เองก็ไม่ได้มีการห้ามเปิดศูนย์ดังกล่าวโดยตรง2
เมื่อใกล้ถึงวันเปิดตัวศูนย์ปราบโกงฯ สถานการณ์การคุกคามต่อประชาชนที่เป็นแนวร่วมของกลุ่ม นปช. ก็เข้มข้นขึ้น โดยมีอย่างน้อย 43 จังหวัด ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ที่ปรากฏการพยายามเข้าปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ( สามารถดูรูปแบบการละเมิดได้ที่ตารางท้ายรายงาน) ลักษณะการคุกคามมีทั้งเรียกแกนนำในพื้นที่เข้ารายงานตัวหรือเข้าพบที่บ้านพัก สั่งให้ยุติการจัดกิจกรรม รวมทั้งยึดป้ายและเสื้อศูนย์ปราบโกงฯ โดยให้จัดกิจกรรมประเพณีได้ แต่ห้ามติดป้ายหรือแสดงสัญลักษณ์ใดๆ
แม้ว่าวันที่ 19 มิถุนายน จะมีการขัดขวางการจัดกิจกรรมและควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนยกกำลังควบคุมสถานที่เปิดศูนย์ฯ ในหลายพื้นที่ ก็ไม่ปรากฏข่าวการดำเนินคดีกับบุคคลใด แต่เพียงวันรุ่งขึ้น ก็มีข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดราชบุรีออกหมายเรียกกลุ่ม นปช. ที่ร่วมกันถ่ายภาพหน้าศูนย์ปราบโกงฯ ราชบุรีอย่างน้อย 10 ราย ให้มารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต่อมามีบุคคลถูกออกหมายเรียกเพิ่มอีก 15 ราย3 นอกจากนั้นมีการเรียกชาวบ้านเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเดียวกันอีกหลายจังหวัด ดังนี้ จ.หนองบัวลำภู 15 ราย, จ.สุรินทร์ 17 ราย, จ.อุดรธานี 4 ราย, จ.สกลนคร 2 ราย, จ.นครพนม 1 ราย และ จ.แพร่ 5 ราย4 ทั้งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ออกหมายเรียกแกนนำ นปช. 19 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เช่นเดียวกัน จากกรณีการร่วมกันแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ด้วย5 ทำให้รวมแล้ว ทั่วประเทศมีผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีศูนย์ปราบโกงประชามติแล้วไม่ต่ำกว่า 80 ราย
ในจังหวัดทางภาคเหนือ เจ้าหน้าที่รัฐยังมีการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 13/59 เรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เข้าตรวจค้นและตรวจยึดป้ายศูนย์ปราบโกง เช่นในกรณีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันปฏิบัติการ “ฟ้าสางที่ริมน่าน” ตรวจค้นหลายสถานที่พร้อมกันในจังหวัดพิษณุโลก แม้ว่าคำสั่งฉบับดังกล่าวจะเป็นการเรื่องปราบปรามผู้มีอิทธิพล แต่สองในผู้ที่ถูกตรวจค้น เจ้าหน้าที่กลับพบเพียงป้ายไวนิลศูนย์ปราบโกงฯ และได้ยึดไป โดยเจ้าหน้าที่รัฐให้เหตุผลของการใช้อำนาจในครั้งนี้ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าวเลยว่า6
“ไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งผู้ใดเป็นการเฉพาะ โดยกลุ่มต้องสงสัยคาดว่าจะก่อกิจการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อความวุ่นวายในสังคม ที่ตรวจค้นพบป้ายก็ขอเก็บไว้ ไม่ให้ไปใช้ก่อความวุ่นวาย พร้อมขอร้องว่าอย่าทำ อย่างสร้างความวุ่นวาย การลงประชามติขอให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น จะรับไม่รับก็เป็นไปตามสิทธิในวันที่ 7 สิงหาคมนี้” – พล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผบ.พล.ร.4กล่าว7
การควบคุมเสียงรณรงค์ด้วย มาตรา 61พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ
“ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง…ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วย ความเรียบร้อย”
ข้อความข้างต้นมาจากวรรคที่สองของมาตรา 61 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ที่ถูกนำมาใช้ในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น หากดูตามข้อกฎหมายแล้วจะเห็นว่าตัวเนื้อหากฎหมายมีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือทำให้ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ซึ่งผิดหลักกฎหมายอาญา และมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราโทษที่สูงมาก
การบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 เพียง 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ก็ใช้ดำเนินคดีกับ นางจีรพันธุ์ ตันมณี อายุ 59 ปี ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณีเพื่อสิทธิคนออทิสติก ชาวจั.งหวัดขอนแก่น ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา เลขที่ 856/2559 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2559 ในข้อหา เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย8
การใช้มาตรา 61 กรณีล่าสุดถูกนำมาใช้แม้กับการครอบครองเอกสารความเห็นแย้งรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปลอม”9 ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เข้าค้นรถ ‘แมน’ ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมขบวนกาประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ขณะเข้าให้กำลังใจชาวอำเภอบ้านโป่งที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวปกรณ์ พร้อมด้วยนายอนันต์ โลเกตุ และนายอนุชา รุ่งมรกต เพื่อนนักกิจกรรม NDM และในตอนค่ำตำรวจได้เข้าล้อมบ้านนายภาณุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้–แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง จากกรณีจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ 10
เหตุการณ์เดียวกันนี้ยังมีสื่อที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีอีกด้วย นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท ที่ติดตามทำข่าวการเข้าให้กำลังใจของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ครั้งนี้ แม้นายทวีศักดิ์จะแสดงตัวว่าเป็นนักข่าวแล้วก็ตาม ต่อมาวันที่ 12กรกฎาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 5นายและทหารนอกเครื่องแบบ 7นาย แสดงตัวและหมายค้นศาลอาญาเข้าตรวจค้นสำนักข่าวต้นสังกัดเพื่อหาเอกสารดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ไม่พบอะไร นอกจากนี้ก่อนที่จะมีการตรวจค้นหนึ่งวันยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเฝ้าที่บริเวณสำนักงานอีกด้วย11
ทั้งนี้เอกสารที่เจ้าหน้าที่ยึดทั้งหมดยังอยู่บนรถโดยไม่มีการแจกจ่ายใดๆ โดยที่ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง โดยนายสมชัยมีความเห็นว่า การมีเอกสารในครอบครอง หากยังไม่แจกจ่าย ไม่มีความผิด แต่ถ้าแจกจะผิดตามคำสั่งหัวหน้า 3/58 หรือไม่ ให้ตำรวจพิจารณาเป็นกรณีไป แต่พวกเขาทั้ง 5คนกลับถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการเผยแพร่เอกสารเนื่องจาก “เชื่อว่า” จะมีการแจก12
อีกเหตุการณ์เล็กๆ ที่ดูเหมือนทางคสช. จะไม่ยอมปล่อยให้ผ่านหูผ่านตา คือเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ขณะที่การฝากขังผู้ต้องหา 7 คนจากการแจกเอกสารรณรงค์ประชามติที่ศาลทหารกำลังเป็นที่จับตา นักศึกษารามคำแหง 2 คน กำลังทำกิจกรรมเชิญชวนเข้าค่ายอาสาภายในมหาวิทยาลัย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.อุดมสุขเรียกตัว เพราะสวมเสื้อ Vote No และถูกขอให้ถอดออก แม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะไม่ได้เกี่ยวกับการรณรงค์ประชามติเลยก็ตาม ก่อนทั้งสองคนจะถูกนำตัวไปสน.อุดมสุข เพื่อสอบถามที่มาของเสื้อแล้วปล่อยตัวกลับ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา13
นอกจากนั้น แม้กระทั่ง กกต. ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ ก็ไม่มีความชัดเจนในแนวทางการใช้กฎหมาย จะเห็นได้จากการโพสต์เฟซบุ๊กของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะ กกต. ต่อกรณีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวมเสื้อที่มีข้อความ “รับและไม่รับเป็นสิทธิ์ไม่ผิดกฎหมาย” ว่าไม่ผิด แต่หากสวมออกรายการทุกวันอาจผิดกฎหมาย14 และในกรณีตำรวจคุมตัวนักศึกษารามคำแหงที่ใส่เสื้อโหวตโนในกิจกรรมค่ายอาสาไปสอบสวน แม้ว่าจะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ก็สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวจะถูกตีความว่าผิดกฎหมายหรือไม่
พฤติกรรมการคุกคามเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่ผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของ คสช. ผ่านการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติควบคู่กัน การคุกคามที่กระจายตัวในที่เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายจังหวัดจากการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ของนปช. หรือระดับเล็กๆ เช่นการใส่เสื้อยืดโหวตโนในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ประชามติเลย บ่งบอกถึงการจับตาของเจ้าหน้าที่ในประเด็นนี้อย่างชัดเจนและเป็นนโยบายของฝ่ายรัฐ หรือที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเรียกว่า “นายสั่ง” ทำให้เห็นชัดเจนว่า คสช. ได้พยายามควบคุมการแสดงออกต่อการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการรณรงค์ไปในทางตรงกันข้ามกับความต้องการของ คสช. ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปได้จากการลงประชามติครั้งนี้15
การลงประชามติครั้งนี้ไม่ว่าผลการโหวตจะออกมาว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” เป็นฝ่ายชนะ ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า ก่อนการลงประชามติได้มีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อย่างเสรีและยุติธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่มีผลต่อการออกไปใช้สิทธิ ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในเมื่อมีการใช้อำนาจเข้าควบคุมความเห็นต่างเพื่อให้เหลือเพียงความเห็นที่ คสช. อยากได้ยิน
รูปแบบการคุกคามกรณี เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ รายจังหวัด
รายชื่อจังหวัดที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าปิดกั้นและคุกคามการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. อ้างอิงตามรายงานข่าวและการรายงานสถานการณ์ของเพจ “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” มีจำนวนอย่างน้อย 43 จังหวัด ที่เกิดการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เรียกรายงานตัว ควบคุมตัว ยึดป้าย ติดตามสังเกตการณ์ และบางกรณีจบด้วยการดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558
ภาคกลาง
จังหวัด | พฤติการณ์คุกคาม |
กรุงเทพ | 19 มิ.ย. 1. ประชาชื่น – สั่งยกเลิกกิจกรรม ยึดป้าย ด้วย ม.44 2. ลาดพร้าว – สั่งปิดศูนย์ ยกเลิกกิจกรรม อ้าง คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 |
ปทุมธานี | 19 มิ.ย. – ติดตามที่บ้าน เรียกพบ และ สั่งยกเลิกกิจกรรม |
อ่างทอง | 19 มิ.ย. – สั่งยกเลิกกิจกรรม และนำกำลังเฝ้าสถานที่จัด ดูที่นี่ 1 และ 2 |
เพชรบุรี | 19 มิ.ย. – สั่งยกเลิกกิจกรรม แต่สุดท้ายยังทำกิจกรรมได้ |
ลพบุรี | เจ้าหน้าที่ห้ามขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกง โดยเรียกแกนนำไปแจ้งตั้งแต่ 17 มิ.ย. ว่าจะควบคุมตัวหากขึ้นป้าย |
ชัยนาท | เชิญตัวแกนนำและ สั่งยกเลิกกิจกรรม |
สมุทรปราการ | 19 มิ.ย. – บุกค้น ควบคุมตัว ยึดเสื้อและป้ายผ้า |
อุทัยธานี | 14 มิ.ย. – ปลดป้ายและยึด 19 มิ.ย.- ยึดป้ายและเสื้อ เตือนห้ามเคลื่อนไหว โดยแจ้งว่าจะคืนป้ายหลังลงประชามติ |
สุพรรณบุรี | 19 มิ.ย. – ถูกทหารห้ามขึ้นป้าย แต่ยังสามารถเปิดศูนย์ได้ |
เพชรบูรณ์ | 19มิ.ย. – ยึดป้าย แต่จัดงานได้ |
ภาคตะวันตก
จังหวัด | พฤติการณ์คุกคาม |
ตาก | 19มิ.ย. – ยึดป้าย ทำข้อตกลงไม่ดำเนินการเปิดศูนย์ต่อ |
ประจวบคีรีขันธ์ | 19มิ.ย. – เจ้าหน้าที่สั่งห้ามเปิดศูนย์ แต่ภายหลังยังคงเปิดได้ |
ราชบุรี | 19 มิ.ย. – สั่งยกเลิกกิจกรรม ควบคุมตัวแกนนำ ทั้งนี้ยังมีกลุ่มอื่นที่ยังจัดอยู่ภายหลังวันที่ 19 มีการดำเนินคดี 25 ราย ดูที่นี่ 1 และ 2 |
ภาคตะวันออก
จังหวัด | พฤติการณ์คุกคาม |
ฉะเชิงเทรา | 18มิ.ย. – ควบคุมตัว |
ระยอง | 17 มิ.ย. – ปลดป้าย |
ปราจีนบุรี | 17 มิ.ย. – ควบคุมตัว ห้ามเปิดศูนย์ ดูที่นี่ 1 และ 2 |
จันทบุรี | 19 มิ.ย. – ระหว่างการทำกิจกรรมมีทหารสังเกตการณ์ และ เรียกรายงานตัวผู้เข้าร่วมในวันที่ 24มิ.ย. |
ภาคอีสาน(ตะวันออกเฉียงเหนือ)
จังหวัด | พฤติการณ์คุกคาม |
นครพนม | 19 มิ.ย.- ควบคุมตัว |
อำนาจเจริญ | 19 มิ.ย. – เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานที่จัดทำให้ผู้จัดเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม |
ขอนแก่น | 19 มิ.ย. – ห้ามจัดกิจกรรม |
มหาสารคาม | 19 มิ.ย.- ควบคุมตัว แต่ก่อนถึงวันงานมีการโทรศัพท์ข่มขู่ก่อนตั้งแต่วันที่ 15 |
สกลนคร | 16 มิ.ย. – เข้าพบที่บ้านห้ามทำกิจกรรม และ ภายหลังวันที่ 19 มีการดำเนินคดี 2 ราย (รายที่สองถูกแจ้งข้อกล่าวหาวันที่ 11ก.ค.) |
นครราชสีมา | 18 มิ.ย. – ห้ามทำกิจกรรม ยึดป้ายและเสื้อ |
หนองบัวลำภู | ภายหลังวันที่ 19 มีการดำเนินคดี 15 ราย |
อุดรธานี | 19 มิ.ย. – ห้ามทำกิจกรรมและควบคุมตัว และภายหลังวันที่ 19 มีการดำเนินคดี 4 ราย |
สุรินทร์ | ภายหลังวันที่ 19 มีการดำเนินคดี 17 ราย |
กาฬสินธุ์ | 17 มิ.ย. – ควบคุมตัว |
ร้อยเอ็ด | 15 มิ.ย. – เรียกรายงานตัว |
มุกดาหาร | 15 มิ.ย. – เจ้าหน้าที่เข้าพบบ้านแกนนำ |
อุบลราชธานี | 19มิ.ย. – เจ้าหน้าที่อ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 ข้อ 12 ห้ามทำกิจกรรม และห้ามใส่เสื้อยืดรณรงค์ |
ภาคเหนือ
จังหวัด | พฤติการณ์คุกคาม |
ลำพูน | 19มิ.ย. – ยึดป้าย |
แพร่ | ภายหลังวันที่ 19 มีการดำเนินคดี 5 ราย |
ลำปาง | 19มิ.ย. – ปลดป้ายและติดตามสังเกตการณ์ |
พะเยา | 19มิ.ย. – เรียกรายงานตัว และยึดป้าย |
เชียงใหม่ | 14มิ.ย. – เรียกรายงานตัว อ้างผิด MOU |
แม่ฮ่องสอน | 19มิ.ย. – เรียกรายงานตัว ยึดป้าย |
น่าน | 19มิ.ย. – ห้ามขึ้นป้าย แต่จัดงานได้ |
อุตรดิตถ์ | 19มิ.ย. – ทหารและฝ่ายปกครองเฝ้าสังเกตุการณ์แกนนำ |
ภาคใต้
2http://www.matichon.co.th/news/170169
4https://tlhr2014.com/?p=904
5http://www.matichon.co.th/news/184118
6http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000064164
7http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000064164
8http://prachatai.com/journal/2016/04/65484
9http://prachatai.com/journal/2016/07/66786
10https://tlhr2014.com/?p=1033
11http://prachatai.org/journal/2016/07/66838
12http://prachatai.com/journal/2016/07/66804
13https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/1032878630095324
14http://news.voicetv.co.th/thailand/371403.html
15http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000011026