1 มิถุนายน 2564 ขนุน (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 18 ปี หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มภาคีนักเรียน KKC ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนในจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ขณะกำลังทำธุระอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ทราบจากน้องสาวว่าช่วงเวลา 15.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 นาย ไปที่บ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านฝาง
ขณะนั้นที่บ้านของขนุนมีเพียงน้องสาวซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.ต้น, ยาย และป้าที่มาดูแลยายอยู่ กลุ่มเจ้าหน้าที่ยืนอยู่หน้าบ้านใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที พยายามถามว่า ใช่บ้านของขนุนหรือไม่ และขนุนไปไหน จะกลับเมื่อไหร่ บทสนทนายังมีการสอบถามว่าขนุนจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่หรือไม่ และจะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอะไรหรือไม่ ตำรวจกล่าวอีกว่า ถ้าขนุนกลับมา อยากจะรอเจอ จะกลับมาเร็วไหม
ตำรวจย้ำกับยายของขนุนอีกว่า แค่มาหาเฉยๆ อยากเจอ จากนั้นมีการขอเบอร์โทรศัพท์ขนุน และมีการสอบถามข้อมูลพ่อแม่ว่า ชื่ออะไร เป็นใคร สุดท้ายน้องสาวจึงให้เบอร์ขนุนไป โดยไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะเอาไปทำอะไร ทั้งนี้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะกลับได้มีการถ่ายภาพบริเวณบ้านขนุนไว้อีกด้วย
จากนั้นเวลา 17.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจโทรหาขนุน แนะนำตัวโดยไม่ได้บอกตำแหน่ง และบอกชื่อ บอกเพียงสังกัดว่าโทรมาจาก สภ.บ้านฝาง “เป็นตำรวจนะครับ อยากเจอจังเลย กลับบ้านกี่โมง” เป็นประโยคที่ขนุนได้ยินจากการสนทนาทางโทรศัพท์แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัย
“รู้สึกว่ามันคุกคามทำให้ที่บ้านใช้ชีวิตยาก ดูวุ่นวาย จู่ๆ จะมาตามตัวเรา เขาทำเหมือนเราเป็นอาชญากร เหมือนรายงานตัวตลอดเวลา และตำรวจใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องในการมาตามตัวนักกิจกรรม” ขนุนกล่าวถึงความรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ขนุนกลับคิดในอีกทางด้วยว่า “ยิ่งตำรวจพยายามตามตัว ยิ่งแสดงว่าการออกมาเคลื่อนไหวของเรามีอิทธิพลต่อผู้คน แสดงว่าเขากำลังร้อนรนกับเรื่องที่เราทำด้วยหรือเปล่า”
ถัดมาในเช้าวันนี้ (2 มิถุนายน 2564) ขนุนทราบจากแม่อีกว่า มีตำรวจไปพบแม่ของเธอ ขณะที่กำลังทำงานในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านฝาง เพื่อสอบถามว่าขนุนอยู่ที่บ้านหรือไม่ หลังจากแม่โทรบอกขนุนไม่นาน ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย เดินทางมาด้วยรถกระบะสีขาว ไม่ติดป้ายทะเบียน ไปที่บ้านของเธออีกครั้ง ครั้งนี้ขนุนอยู่บ้าน แต่ตำรวจก็ไม่ได้บอกจุดประสงค์ของการมาที่ชัดเจน อ้างแค่ว่าเป็นตำรวจบ้านมาลาดตระเวนแถวนี้และอยากมาเจอ แต่เมื่อขนุนตั้งคำถามและเแสดงความไม่พอใจต่อการมาคุกคามของเจ้าหน้าที่ นอกเครื่องแบบทั้งสามนายก็ขับรถกลับไป โดยแสดงท่าทีต่อล้อต่อเถียงกับขนุน และบอกว่าจะกลับมาหาอีก
สำหรับขนุนก่อนหน้านี้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นๆ รวม 3 ข้อหา จากการร่วมกิจกรรมชุมนุมราษฎรออนทัวร์ ของกลุ่ม Unme of Anarchy ที่หน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยวันนั้นขนุนเพียงเดินทางไปสัมภาษณ์แซน (นามสมมติ) เยาวชนโรงเรียนภูเขียวที่ถูกตำรวจคุกคามหลังสมัครเข้าค่ายเรียนรู้พื้นที่เหมืองทองคำ จังหวัดเลย ในชื่อค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ก่อนขนุนจะถูกออกหมายเรียก และถูกดำเนินคดีพร้อมกับนักกิจกรรมและเยาวชนรวม 26 ราย โดยขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอัยการ ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวกำลังพิจารณาสำนวนคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
ทั้งนี้เมื่อเวลา 15.00 น. ขนุนและเพื่อนสมาชิกภาคีนักเรียน KKC เดินทางไปที่สภ.บ้านฝาง เพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว เมื่อไปถึงสถานีตำรวจก็พบเห็นรถกระบะคันสีขาวที่ไม่ติดป้ายทะเบียนที่ไปบ้านขนุนอยู่ในบริเวณนั้นด้วย
จากนั้นจึงพบกับกลุ่มตำรวจนอกเครื่องแบบที่ไปบ้านขนุน ทราบชื่อจากการแนะนำตัวว่าเป็น พ.ต.ท.สมเกียรติ มีพูล ตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สภ.บ้านฝาง กล่าวถึงการกระทำของตำรวจที่ไปบ้านขนุนว่า เป็นการออกตรวจตราพื้นที่ตามปกติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นช่วงที่ก่อนราชวงศ์จะเสด็จมาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หน้าที่ตำรวจสายสืบคือออกตรวจสภาพทั่วไป เช่นมีการทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์หรือไม่ มีการเขียนข้อความโพสต์ด่าหรือไม่ ส่วนการไปที่บ้านของขนุนนั้นไม่ใช่เพราะกระทำความผิดอะไร ทั้งนี้มีมีตำรวจนายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มว่าขนุนอยู่ในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง คาดว่ามาจากขนุนเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้านี้
พ.ต.ท.สมเกียรติ มีพูล พยายามอธิบายว่านอกจากมีอำนาจตามกฎหมาย ในการทำตามหมายค้น หมายจับ ผู้ต้องหาแล้ว กรณีของขนุนที่ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา ตำรวจก็สามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลหรือขอดูบัตรประชาชนคนไทยทุกคนได้
เมื่อถูกถามว่าจะเลือกได้อย่างไรว่าคนไหนควรจะถูกสอบถามข้อมูลประวัติส่วนตัว หรือขอดูบัตรประชาชน พ.ต.ท.สมเกียรติกล่าวว่าจะเลือกดูเฉพาะในพื้นที่ทำงานของตำรวจเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไร และเมื่อถามไปอีกว่าทำไมกรณีนี้จึงเฉพาะเจาะจงไปที่บ้านของขนุน กลับได้คำตอบว่าเป็นเพราะได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองของขนุนแล้ว และเมื่อถามย้ำไปอีก ทางตำรวจจึงให้ข้อมูลว่าขนุนมีรายชื่อในนักเคลื่อนไหวที่ต้องจับตา
พ.ต.ท.สมเกียรติ มีพูล กล่าวอีกว่า ถ้าการขับรถไปจอดหน้าบ้าน แล้วสอบถามชื่อ-สกุล แล้วทำให้รู้สึกว่าเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนก็ขอโทษแทนทีมตำรวจชุดที่ไป และมีข้อตกลงกันว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก และต่อมามีการทำบันทึกประจำวันถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันดังกล่าวว่ามีใครไปที่บ้านของขนุนบ้านและไปเพื่ออะไร รวมถึงเกิดพฤติการณ์ขึ้นอย่างไร
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า กรณีที่ พ.ต.ท.สมเกียรติ ระบุว่า ตำรวจสามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลหรือขอดูบัตรประชาชนคนไทยทุกคนได้นั้น ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ให้อำนาจ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” นอกด่านตรวจ ต้องเป็นตำรวจยศร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเท่านั้น ขณะที่ตำรวจที่ไปสอบถามที่บ้านขนุน ไม่ได้มีการแสดงบัตรว่าเป็นตำรวจยศร้อยตำรวจตรีหรือไม่
นอกจากขนุน ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 อาเคอร์ (นามสมมติ) อีกหนึ่งสมาชิกภาคีนักเรียน KKC อายุ 17 ปี ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรไปหา โดยเจ้าตัวไม่ทราบว่าตำรวจได้เบอร์โทรศัพท์ของตนมาได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสอบถามว่าอาเคอร์ทำอะไรอยู่ และสะดวกให้ไปพบที่บ้านหรือไม่ โดยพฤติการณ์ในการพูดคุยคล้ายกับที่ขนุนถูกคุกคาม และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ติดตามกลุ่มนักเรียนในจังหวัดขอนแก่นเพราะสาเหตุใด รวมถึงจะมีนักเรียนถูกติดตามคุกคามในลักษณะเดียวกันนี้อีกหรือไม่
สำหรับภาคีนักเรียน KKC เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2563 โดยนักเรียนหลายโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในรูปแบบต่างๆ เช่น ปัญหาจากกฎระเบียบในโรงเรียน และการคุกคามนักเรียนที่แสดงออกทางการเมือง รวมถึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมายต้องการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างความเสมอภาค และเปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจ้งข้อหาเพิ่ม 10 นักกิจกรรม กรณี #ชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว ตร.เร่งรัดส่งสำนวนให้อัยการ