5 เมษายน 2564 ที่ สภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ นักกิจกรรม “ราษฎร” อีก 10 รายที่ถูกออกหมายเรียกจากกรณี #ราษฎรออนทัวร์ ชุมนุมที่หน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาจากการชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ก่อนจะให้การปฏิเสธ และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน
โดยนักกิจกรรมทั้ง 10 รายที่เดินทางมาวันนี้ ได้แก่ “ขนุน” เยาวชนอายุ 18 ปี สมาชิกภาคีนักเรียน KKC, นภาวดี พรหมหาราช, ณัชพล ไพรลิน, เมยาวัฒน์ บึงมุม, เกรียงไกร จันกกผึ้ง, เกษราภรณ์ แซ่วี, วชิรวิชญ์ ลิมปิธนวงศ์, ปวริศ แย้มยิ่ง, ชาติชาย ไพรลิน และชาติชาย แกดำ
หลังอ่านข้อเท็จจริงในคดีให้ฟัง พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับนักกิจกรรมทั้งหมด รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคาร ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40
ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 15 วัน โดยมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ยอมรับการดำเนินคดีของตำรวจ หลังเสร็จการแจ้งข้อกล่าวหา ลงบันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวทั้งสิบไว้เช่นเดียวกับรายอื่นๆ ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนแจ้งทนายความพร้อมหนังสือว่า จะนัดส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 9 เมษายน 2564 แต่ทนายความยืนยันว่า ผู้ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้จะครบกำหนดยื่นคำให้การวันที่ 20 เมษายน 2564 พนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนส่งให้อัยการก่อนผู้ต้องหายื่นคำให้การได้อย่างไร พนักงานสอบสวนจึงตกลงจะนัดผู้ต้องหาส่งตัวให้อัยการอีกครั้งในภายหลัง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ และนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” รวม 10 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากการชุมนุมครั้งดังกล่าวไปแล้ว โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 3 ข้อหา เช่นเดียวกันนี้ รวมทั้งมีเยาวชนอายุ 15 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว ทั้งที่เธอเป็นผู้ถูกติดตามคุกคามถึงบ้านเพื่อให้เธอเลิกไปค่าย “ราษฎรออนทัวร์” จนทำให้เกิดการชุมนุมวันดังกล่าว และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 หรรษชีวิน เกศรินหอมหวล นักกิจกรรมอีกคนก็รับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ด้วย
>> ตร.ภูเขียว พลาด! ออกหมายเรียกผู้ต้องหาผู้ไม่ได้ร่วมชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว ถึง 3 ราย
ทำให้คดีนี้มีผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหารวม 22 ราย เป็นนักเรียน 2 ราย และนักศึกษา 11 ราย พนักงานสอบสวนยกเลิกหมายรวม 3 ราย เนื่องจากผู้ถูกออกหมายเรียกไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว โดยหลังการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของแซน (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเขียว มีคำสั่งให้ควบคุมตัวไว้ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนด 24 วัน นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม – 8 เมษายน 2564 ก่อนที่ครอบครัวจะใช้เงินสด 2,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ประกันตัวออกมา
คดีนี้ยังมี “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ถูกออกหมายเรียกอีก 1 ราย แต่เนื่องจากขณะนี้แอมมี่ถูกขังระหว่างสอบสวนในคดีอื่นโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี พนักงานสอบสวนจะต้องเข้าแจ้งข้อกล่าวหาแก่แอมมี่ในเรือนจำ ซึ่งยังไม่พบว่า พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว เข้าแจ้งข้อกล่าวหาแอมมี่ในคดีนี้
ส่วนผู้ที่คาดว่าจะถูกดำเนินคดีอีก 3 รายได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียวระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนยังคงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินคดีในข้อหาใด โดยปัจจุบันไผ่และไมค์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วเกือบ 1 เดือน
สำหรับการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน จากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 หลังการชุมนุม นอกจากผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว ยังถูกดำเนินคดีรวมถึง 26 ราย