“ราษฎร” ยื่นขอความเป็นธรรม คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ชี้หลังชุมนุมไม่มีผู้ติดโควิดในภูเขียว

23 เมษายน 2564  “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ และนักกิจกรรม “ราษฎร” อีก 10 ราย ที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ที่หน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564   เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว ตามที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการ

เดิมทีวันนี้ พนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 21 ราย แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เรื่องยกระดับพื้นที่ควบคุม  โดยให้งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง ทำให้บางคนที่อยู่กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถเดินทางเข้าหรือออกจากพื้นที่ดังกล่าวได้สะดวก ทนายความจึงทำหนังสือขอเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาในส่วนนี้ออกไปก่อน และในส่วนที่สามารถเดินทางมาได้มีทั้งสิ้น 11 ราย ได้แก่ อินทิรา เจริญปุระ, เมยาวัฒน์ บึงมุม, นภาวดี พรหมหาราช, ปนัดดา ศิริมาศกูล, ทรงพล สนธิรักษ์, ปาริชาติ เลิศอัคระรัตน์, หรรษชีวิน เกศรินหอมหวล, วันชัย สุธงษา, ขนุน (นามสมมติ), เกรียงไกร จันกกผึ้ง และกิตติภูมิ ทะสา 

เวลา 10.00 น. ผู้ต้องหาทยอยเดินทางมาถึงสำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวตามเวลานัดหมาย แต่แล้วรองผู้กำกับ (สอบสวน)  สภ.ภูเขียว แจ้งว่าต้องกลับไปทำรายงานก่อนว่า มีผู้ต้องหาคนไหนบ้างมารายงานตัวต่ออัยการ โดยที่รองผู้กำกับฯ ยังไม่ได้นำสำนวนการสอบสวนมาส่งให้พนักงานอัยการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนเป็นฝ่ายเร่งรัดให้ผู้ต้องหามาตามนัดส่งตัวให้อัยการในวันนี้ให้ได้ แม้จะอยู่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดอย่างหนัก

กระทั่งเวลา 11.50 น. รองผู้กำกับฯ จึงกลับมาพร้อมกับสำนวนการสอบสวน ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย ในความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคาร ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40 

 ก่อนที่นิติกรของสำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวจะรับสำนวนดังกล่าว และเรียกตัวผู้ต้องหาทั้ง 11 รายมาเซ็นเอกสารรับทราบนัดฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 30 เมษายน 2564  โดยกระบวนการเสร็จสิ้นราว 13.00 น.

ทั้งนี้ ก่อนหน้าเข้ารายงานตัวกับนิติกรของสำนักงานอัยการฯ นักกิจกรรมทั้งสิบเอ็ดได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว ขอให้สอบเพิ่มเติมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือสื่อมวลชน ในประเด็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังจากที่มีการชุมนุม ตลอดจนมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นหรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง  

หนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวระบุเหตุผลดังนี้

1.อ้างถึงหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการศาลแขวงลำปางต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจเมืองลำปาง ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 ในคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง แจ้งข้อกล่าวหาแก่พินิจ ทองคำ กับพวกรวม 4 คน ข้อหา ร่วมกันจัดชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุมที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ซึ่งระบุเหตุผลว่า เนื่องจากสถานที่จัดกิจกรรมเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่แออัด อันเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 อีกทั้งผู้มาชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันโรคติดต่อด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนและนั่งกระจายกันตามจุดต่างๆ ไม่ได้เบียดเสียดใกล้ชิดกัน ระยะเวลาจัดกิจกรรมไม่นาน เนื้อหาปราศรัยส่วนใหญ่ โจมตีการบริหารงานรัฐบาล มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดชี้ชัดว่ามีการยุยงปลุกปั่น หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

ซึ่งทั้งสองคดีมีข้อเท็จจริงที่มีลักษณะที่คล้ายกัน

2.ระหว่างการชุมนุมตามข้อกล่าวหานั้น แม้จะเป็นช่วงที่มีการแพร่เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย แต่ภายหลังการชุมนุมดังกล่าว อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิก็ไม่ได้มีแถลงการณ์ว่าพบผู้ติดเชื้อโรคดังกล่าว เนื่องจากการชุมนุมนี้แต่อย่างใด เพื่อเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงขอให้พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวสอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือสื่อมวลชนในประเด็นเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังจากที่มีการชุมนุมคดีนี้เพิ่มเติมด้วย

 3.การชุมนุมตามข้อกล่าวหา เป็นการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพการชุมนุมโดยสุจริต เป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังได้มุ่งหมายที่จะประกันสิทธิดังกล่าวตามบทบัญญัติมาตรา 44 นอกจากนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

ทั้งนี้พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า การนัดฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 30 เมษายน 2564 เป็นการลงนัดไว้ตามระเบียบ  ส่วนคำสั่งฟ้องคดีคาดว่ายังมาไม่ทัน เนื่องจากเกินกำหนดฟ้อง 30 วัน ทางพนักงานอัยการจะต้องขออนุญาตฟ้องจากอัยการสูงสุด

สำหรับการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ครั้งดังกล่าว นอกจากผู้ถูกดำเนินคดี 21 รายแล้ว ซึ่งเป็นนักเรียน 1 ราย และนักศึกษา 11 ราย ยังมีแซน (นามสมมติ) นักเรียน ม.4 ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี  ถูกดำเนินคดีด้วย โดยผู้ปกครองต้องได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน เนื่องจากหลังการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิมีคำสั่งให้ควบคุมตัวไว้ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนด 24 วัน ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ โดยมีนัดรายงานตัวต่อศาลครั้งต่อไปในวันที่ 26 เมษายนที่จะถึงนี้ 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว เดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ – The Bottom Blues”  ในคดีนี้อีกด้วย

>>แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘แอมมี่’ ในเรือนจำ คดีชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องตำรวจขอโทษ

ส่วนผู้ที่คาดว่าจะถูกดำเนินคดีอีก 3 ราย ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียวระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนยังคงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินคดีในข้อหาใด โดยปัจจุบันไมค์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว 47 วัน ส่วนไผ่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564

สำหรับการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์  2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน จากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564  หลังการชุมนุม นอกจากผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว ยังถูกดำเนินคดีรวมถึง 26 ราย และตำรวจภูเขียวแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 23 ราย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนัก!! ตำรวจดำเนินคดีผู้ชุมนุมแทบทุกราย ไม่เว้นนักเรียน-เยาวชน 15 ปี หลังชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องตำรวจขอโทษ

ตำรวจภูเขียวคุกคามครอบครัวนักเรียนมัธยม หลังลงชื่อร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์”

 

 

 

X