วันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ หรรษชีวิน เกศรินหอมหวล และศรายุทธ นาคมณี นักกิจกรรม 2 ราย ที่ถูกออกหมายเรียกจากกรณีชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยหรรษชีวินให้การปฏิเสธ และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน ส่วนศรายุทธเดินทางมาเพื่อแย้งพนักงานสอบสวนว่า เขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมวันดังกล่าว ก่อนที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว จะยอมรับว่าบุคคลที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพไว้ เป็นคนละคนกับศรายุทธ จึงขอสอบศรายุทธเป็นพยานเพื่อจะถอนหมายเรียกรับทราบข้อหาภายหลัง
เวลา 10.45 น. ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และศรายุทธ นาคมณี แจ้งกับรองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.ภูเขียวว่า ศรายุทธไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุมในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งที่บริเวณโรงเรียนภูเขียว และหน้า สภ.ภูเขียว โดยศรายุทธนำพยาน 1 คน มายืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว
พนักงานสอบสวนจึงตรวจสอบข้อมูลบุคคลในเอกสารและภาพถ่ายที่บันทึกเกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และพบว่าไม่ปรากฎว่าศรายุทธอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ จึงได้ขอสอบปากคำศรายุทธเป็นพยาน เพื่อจะถอนหมายเรียกผู้ต้องหาในภายหลัง โดยมี ร.ต.อ.รังสรรค์ เอี่ยมไธสง เป็นพนักงานสอบสวน
ศรายุทธให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ตนศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 4 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เขาอยู่ที่หอพักแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่ออ่านหนังสือสอบ ไม่ได้เดินทางมายังเขตอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แต่อย่างใด เมื่อพนักงานสอบสวนถามว่าเกี่ยวกับคดีนี้มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ใดหรือไม่ ศรายุทธตอบว่า โกรธเคืองรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะถ่ายภาพศรายุทธ พร้อมลงบันทึก
ในวันนี้จึงเหลือเพียง หรรษชีวิน เกศรินหอมหวล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมกลุ่ม UNME Of Anarchy เพียงรายเดียวที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา
เวลา 11.00 น. ร.ต.อ.มารุต ชินทะนา พนักงานสอบสวนเริ่มแจ้งข้อเท็จจริงในคดีแก่หรรษชีวิน ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 08.00 น. กลุ่มของผู้ต้องหาซึ่งเป็นกลุ่มคณะราษฎร นําโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับพวกรวมประมาณ 20-30 คน ได้มารวมกลุ่มชุมนุม ปราศรัย อยู่ที่บริเวณข้างรั้วโรงเรียนภูเขียว ซึ่งในการชุมนุมของกลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้มีการดําเนินการตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อ ไม่ได้มีการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนก็สวมหน้ากากอนามัย บางคนก็ไม่สวม จนถึงเวลาประมาณ 09.30 น. ก็ยุติการกล่าวปราศรัย
จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มของผู้ต้องหาเคลื่อนขบวนเดินทางเข้ามาชุมนุมกันที่บริเวณหน้า สภ.ภูเขียว พร้อมกับขนอุปกรณ์เป็นเต็นท์ เครื่องนอน มาปูและกางบริเวณลานหน้า สภ.ภูเขียว หลังจากนั้นกลุ่มของผู้ต้องหาได้มีการเปิดเครื่องขยายเสียง เปิดเพลง และได้นําป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และข้อความว่า “SAVE เมียนมาร์” มาติดที่บริเวณป้ายหน้าสถานีตํารวจ เจ้าหน้าที่ตํารวจไปห้ามปรามไม่ให้ติดป้าย แต่กลุ่มของผู้ต้องหาไม่ยอมปฏิบัติตาม และได้ติดป้ายผ้าดังกล่าวบังป้ายชื่อสถานีตํารวจภูธรภูเขียว นอกจากนั้นกลุ่มของผู้ต้องหายังมีการติดป้ายข้อความว่า “โรงพักต้องไม่ใช่รังโจร” “เจ้าของประเทศที่แท้จริงคือ ปปช.” “หยุดคุกคามประชาชน” อยู่บริเวณรั้วด้านหน้าทางเข้า สภ.ภูเขียว
ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. แกนนําและกลุ่มผู้ต้องหาก็ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยสลับกับการเล่นดนตรี กระทั่งเวลาประมาณ 20.40 น. แกนนําอ่านแถลงการณ์เพื่อยุติการชุมนุมดังกล่าว แต่ประกาศว่าจะนอนค้างคืนที่เต้นท์ที่กางไว้ที่ลานหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว และมีผู้ชุมนุมบางส่วนยังนั่งร้องเพลงพูดคุยอยู่บริเวณหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว ต่อมาเวลาประมาณ 23.30 น. กําลังเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ช่วยกันปลดป้ายผ้าทั้งหมดออก และแจ้งให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณ สภ.ภูเขียวไป
หลังอ่านข้อเท็จจริง ร.ต.อ.มารุต ชินทะนา แจ้งข้อกล่าวหาหรรษชีวิน รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15 ข้อ 3) (ฉบับที่ 16 ข้อ 2), ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ภายในเขตพื้นที่ควบคุมพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวังแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคารในลักษณะที่สกปรกรุงรังหรือไม่เป็นระเบียบ และมีสภาพที่ประชาชนอาจเห็นได้จากที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40
หรรษชีวินให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 15 วัน หลังเสร็จการแจ้งข้อกล่าวหา ลงบันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวหรรษชีวินไว้แต่อย่างใด
วันเดียวกันนี้ ทนายความยังได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของผู้ที่ได้รับหมายเรียกในคดีนี้อีก 10 ราย โดยแจ้งว่ามีติดภารกิจการอื่นและบางรายเพิ่งถูกจับจากกรณีสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวเดินทางมาให้ทันวันนี้ได้ จึงมีความประสงค์ขอเลื่อนวันนัดพบพนักงานสอบสวนออกไปเป็นวันที่ 5 เมษายน 2564 เวลา 13.30 น.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ และนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” รวม 10 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากการชุมนุมครั้งดังกล่าวไปแล้ว โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 3 ข้อหา เช่นเดียวกันนี้ รวมทั้งมีเยาวชนอายุ 15 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว ทั้งที่เธอเป็นผู้ถูกติดตามคุกคามถึงบ้านเพื่อให้เธอเลิกไปค่าย “ราษฎรออนทัวร์”
คดีนี้ยังมี “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่ถูกออกหมายเรียก แต่เนื่องจากขณะนี้แอมมี่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี พนักงานสอบสวนจะต้องเข้าแจ้งข้อกล่าวหาแก่แอมมี่ในเรือนจำ แต่พนักงานสอบสวนแจ้งว่า ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะเข้าแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะต้องแจ้งให้ทนายความเข้าร่วมกระบวนการด้วย
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากตำรวจด้วยว่า จะมีการออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีกในส่วนของแกนนำ ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ซึ่งจะมีข้อกล่าวหามากกว่าผู้ร่วมชุมนุม โดยปัจจุบันไผ่และไมค์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วกว่าหนึ่งเดือน
นอกจากกรณีออกหมายเรียกผิดพลาดของศรายุทธ คดีนี้พนักงานสอบสวน สภ.ภูเขียว เคยได้ยกเลิกหมายเรียกไปแล้ว 2 ราย โดยระบุว่ามีความผิดพลาดในการตรวจสอบภาพผู้ร่วมชุมนุม รวมในคดีเดียวมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาผิดพลาดถึง 3 ราย
สำหรับการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน จากการลงชื่อสมัครเข้าร่วมค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 หลังการชุมนุม นอกจากผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว ยังถูกดำเนินคดีรวมถึง 26 ราย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง