ตร.ชัยภูมิเห็นควรสั่งฟ้อง “แซน” นร.ภูเขียว ชุมนุมเรียกร้องตำรวจขอโทษ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะแซนยื่นหนังสืออัยการ ชี้การฟ้องคดีขัดอนุสัญญาสิทธิเด็ก-ICCPR

1 ก.ค. 2564 แซน (นามสมมติ) นักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว กับกลุ่ม “ราษฎร” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ พร้อมแม่และที่ปรึกษากฎหมาย หลังพนักงานสอบสวนนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ 

     >> หนัก!! ตำรวจดำเนินคดีผู้ชุมนุมแทบทุกราย ไม่เว้นนักเรียน-เยาวชน 15 ปี หลังชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องตำรวจขอโทษ

ทั้งนี้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิสรุปสำนวนการสอบสวน โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องแซนใน 3 ข้อหา คือ ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค, ร่วมกันชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรคภายในเขตพื้นที่ควบคุมฯ และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคาร อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40 แต่ไม่สั่งฟ้องในข้อหา ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

หลังจากพนักงานอัยการรับสำนวนคดี แซนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ ขอให้สั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติมและสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และการสั่งฟ้องในคดีดังกล่าวนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งจะมีผลกระทบต่อประโยชน์อันสําคัญของประเทศ เพราะจะถือเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ และจะเป็นการสร้างความหวาดกลัว ทําให้ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเช่นนี้อีก 

พนักงานอัยการได้นัดแซนมาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ในวันที่ 29 ก.ค. 2564

ในวันที่มีการชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว และวันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจนกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษทางอาญา คือจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี แซนเป็นเพียงเยาวชนอายุ 15 ปี เรียนชั้น ม.4 ที่ตื่นตัวทางการเมืองเช่นเดียวกับคนวัยเดียวกันจำนวนมาก โดยเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน รวมถึงกรุงเทพฯ 

เหตุในการถูกดำเนินคดีเริ่มจากแซนลงชื่อสมัครไปค่าย  “ราษฎรออนทัวร์” ค่ายเรียนรู้ประชาธิปไตย ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่เหมืองทอง อ.วังสะพุง จ.เลย พร้อมกับเพื่อนนักเรียนหลายคน แต่กลับถูกตำรวจ สภ.ภูเขียว และครูคุกคามถึงบ้าน ห้ามไม่ให้เข้าร่วมค่าย จนนักเรียนหลายคนถอนตัว ภายหลังค่าย กลุ่ม “ราษฎร” ผู้จัดค่ายจึงจัดการชุมนุมข้างรั้ว ร.ร.ภูเขียว และหน้า สภ.ภูเขียว ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดค่าย และเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษที่คุกคามเด็กนักเรียน นอกจากแซนและเพื่อนๆ ไม่ได้รับคำขอโทษจากตำรวจ สภ.ภูเขียว แล้ว กลับถูกดำเนินคดีพร้อมกลุ่ม “ราษฎร” อีก 25 คน 

ภาพจากเพจ UNME of Anarchy

และนอกจากคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแรก แซนยังถูกดำเนินคดีอีกคดีจากการเข้าร่วมปักหลักชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ข้างทำเนียบรัฐบาลในช่วงปิดเทอม เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุกเช่นกัน ปัจจุบันแซน ซึ่งเลื่อนชั้นเป็นนักเรียน ม.5 ยังคงต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ชัยภูมิ และภูเขียว ในการไปตามนัดหมายทั้งสองคดี (อ่านเรื่องราวและความคิดของแซนเพิ่มเติมที่ “สังคมถึงเวลาเปลี่ยนแปลงตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ในปีสองปีนี้” คุยกับ ‘แซน’ นร.ภูเขียว 1 ในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ในวันที่ม็อบเคลื่อนไหวด้วยหัวใจเยาวรุ่น)

ทั้งนี้ หลังจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงปี 2563 มีเยาวชนอย่างน้อย 43 ราย ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมเช่นเดียวกับแซน  โดยมีแนวโน้มว่า เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีมีภาระทางคดีมากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งยังมีรายงานว่ามีการ “ละเมิดสิทธิเด็ก” ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเยาวชนอีกด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมต้องร่วมกันผลักดันให้ยุติการดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชนที่เพียงแต่ใช้เสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ

     >> ส่องขั้นตอนคดีเยาวชน: เมื่อเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง มีแนวโน้มมีภาระ-ถูกละเมิดมากกว่าผู้ใหญ่

 

“แซน” ขออัยการไม่ฟ้องคดี เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักนิติรัฐ และผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ  

หนังสือขอความเป็นธรรมที่แซนยื่นต่ออัยการจังหวัดฯ ขอให้สั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติมและสั่งไม่ฟ้องคดี ระบุเหตุผลดังนี้

1. คดีนี้ผู้ต้องหาได้ยื่นคําให้การเพิ่มเติมในประเด็นด้านสิทธิเด็กและเยาวชน และสิทธิด้านการมีส่วนร่วม ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม จําเป็นต้องมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่า ผู้ต้องหาไม่ได้กระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และได้กระทําไปโดยสุจริต ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ บนหลักการของกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ ผู้ต้องหาจึงร้องขอความเป็นธรรมขอให้อัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนพยานผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ นางทิชา ณ นคร นักวิชาการด้านสิทธิเด็กและเยาวชน ในประเด็นดังกล่าวและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. ผู้ต้องหาไม่ได้กระทําการใดๆ อันเป็นความผิดต่อกฎหมาย พฤติการณ์การกระทําตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต โดยสงบและปราศจากอาวุธ ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การสั่งฟ้องหรือดําเนินคดีกับผู้ต้องหาจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน และจะมีผลกระทบต่อประโยชน์อันสําคัญของประเทศ กล่าวคือ

2.1 สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมเป็นกลไกสําคัญอย่างยิ่งที่มีส่วนในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่สําคัญซึ่งถูกบัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และรัฐธรรมนูญ 

พฤติการณ์เกี่ยวกับกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 บริเวณข้างรั้วโรงเรียนภูเขียว และ สภ.ภูเขียว ถือเป็นการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและตาม ICCPR ที่ได้รับรองไว้

ภาพกิจกรรมชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว จากเพจ UNME Of Anarchy

2.2 พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหายังเป็นการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2532 จึงมีผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งระบุไว้ในตอนหนึ่งว่า “รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ อนุญาตให้เด็กได้รวมกลุ่มและเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยในประเด็นที่ส่งผลกับเด็กเอง” 

ดังนั้น การดําเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐในคดีนี้ จึงเป็นการขัดขวางการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อการทํางานของรัฐที่ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ขัดกับหลักสิทธิในการมีส่วนร่วม เสรีภาพในการออกแสดงและเสรีภาพในการชุมนุม ทั้งยังขัดกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ และอนุสัญญาสิทธิเด็กที่เขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิเด็ก การกระทําหรือการดําเนินการทั้งหลายต้องคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก 

ที่สําคัญการดําเนินคดีนี้เป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง รัฐบาลเลือกดําเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลซึ่งมีที่มาไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อันเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ซึ่งตามข้อ 2 (2) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุไว้ว่า รัฐภาคีจะดําเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง เพื่อที่จะประกันว่าเด็กได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ หรือการลงโทษในทุกรูปแบบ การดําเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนในคดีนี้ จึงขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างร้ายแรง 

2.3 เจตนารมณ์ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ โดยยังคงตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค แต่พฤติกรรมการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้ร่วมชุมนุม เป็นการบังคับใช้กฎหมายเกินกว่าเจตนารมณ์ ซึ่งในวันและเวลาที่มีการจัดกิจกรรมขึ้นตามข้อกล่าวหาคดีนี้ เป็นเวลามากกว่า 2 เดือนแล้วที่ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศ และหากพิจารณาดูจากการบังคับใช้กฎหมายกรณีห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปรากฏในสื่อ เห็นได้ชัดเจนว่าบังคับใช้เฉพาะกับบุคคลที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล 

ดังนั้นการดําเนินคดีกับผู้ต้องหาและผู้ร่วมชุมนุมรายอื่นเป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง เพื่อแทรกแซงยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน และมีเจตนาไม่สุจริต 

เมื่อผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนเพียงแต่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมตามที่พันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญให้การรับรอง การสั่งฟ้องหรือดําเนินคดีกับผู้ต้องหาจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน และจะมีผลกระทบต่อประโยชน์อันสําคัญของประเทศ เพราะจะถือเป็นการละเมิดต่อพันธกรณี กฎหมายระหว่างประเทศ และจะเป็นการสร้างความหวาดกลัว ทําให้ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเช่นนี้อีก เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักนิติรัฐ และผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ ผู้ต้องหาจึงขออัยการจังหวัดฯ พิจารณาใช้อํานาจตามกฎหมายสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย 

 

X