สรุปคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า จับมากสุดเป็นสถิติ 99 คน แจ้ง 5 ข้อหา ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด

วันที่ 28 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 5.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เป็นเหตุให้มีนักกิจกรรมและประชาชน ถูกจับกุมไป 67 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 6 คน และมีพระสงฆ์อีก 2 รูป ก่อนทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นรถไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 เพื่อแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

ช่วงเวลา 18.00 น. ของวันเดียวกัน ตำรวจควบคุมฝูงชนยังเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าเป็นครั้งที่สอง บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมจับกุมประชาชนอีก 32 คน รวมกันแล้วมีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 99 ราย ก่อนนำตัวไปควบคุมที่กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด แจ้ง 5 ข้อกล่าวหาเช่นกัน 

ก่อนที่ในวันนี้ (29 มีนาคม 2564) ผู้ต้องหา 92 คน จะถูกนำตัวไปขอศาลฝากขัง ก่อนที่ศาลแขวงดุสิตจะอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ประกันคนละ 20,000 บาท รวมใช้เงินประกัน 1,840,000 บาท

 

 

เข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าแต่เช้าตรู่ จับกุม 67 คน

สำหรับ หมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นค่ายพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาลก่อตั้งโดยกลุ่มเดินทะลุฟ้า เพื่อทำกิจกรรมและปักหลักยืนยัน 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่  1. ให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วม “ราษฎร” ที่ถูกจับกุมคุมขัง 2. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 4. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก หมู่บ้านถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา 

ในช่วงอาทิตย์ที่แล้ว มีกระแสข่าวเป็นระยะว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุม หรือให้ยุติการก่อตั้งหมู่บ้าน เนื่องจากผู้ร่วมหมู่บ้านได้ตะโกนโห่ไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล

กระทั่ง เช้าตรู่วันที่ 28 มีนาคม เวลาประมาณ 5.50 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 4 กองร้อย ได้นำกำลังเข้าเตรียมสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า อ้างเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเจ้าหน้าที่ประกาศให้เวลาเก็บของออกจากพื้นที่เพียง 3 นาที 

แต่ไม่ถึง 3 นาที เจ้าหน้าที่ก็เดินแถวเข้าจับกุมผู้รวมตัวอยู่ภายในหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยต่อมาทราบว่ามีผู้ถูกจับกุม 67 ราย โดยบางรายระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่เตะระหว่างการจับกุมด้วย

ในจำนวนนี้ยังเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 6 ราย และมีพระสงฆ์ 2 รูป ซึ่งในตอนแรกถูกนำตัวไปยังวัดเบญจบพิตร โดยมีการบังคับถอดผ้าไตรจีวร ทั้งที่ทั้งสองไม่ยินยอม ก่อนนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานีทั้งหมด โดยที่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะพาตัวไปที่ สน.นางเลิ้ง

หลังจากจับกุมผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ EOD พร้อมกองพิสูจน์หลักฐานยังนำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่หมู่บ้านทะลุฟ้า โดยไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านและทนายความเข้าร่วมการตรวจค้นและตรวจยึดสิ่งของต่างๆ เจ้าหน้าที่ยังมีการนำเต้นท์ที่นอนของผู้ชุมนุมใส่รถขยะ ทำให้ผู้มาติดตามสถานการณ์บริเวณหมู่บ้านตะโกนไม่พอใจ เจ้าหน้าที่จึงยินยอมนำออกมา และแจ้งว่าทรัพย์สินต่างๆ จะนำไปไว้ที่สน.นางเลิ้ง 

ต่อมา วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร โพสต์ระบุว่าการเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าเนื่องจากวันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมีการถ่ายรูปร่วมกันที่ีหน้าสนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ทำให้ต้องมีการ “เคลียร์พื้นที่”  รวมเวลาการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าทั้งหมด 15 วัน 

 

ผู้ถูกจับกุมถูกเจ้าหน้าที่ขีดหมายเลขไว้แบนแขนแต่ละคน

.

แจ้ง 6 ข้อหาต่อ 6 เยาวชน ก่อนศาลเยาวชนให้ประกันตัวในตอนค่ำ

หลังนำตัวผู้ถูกจับกุมจากหมู่บ้านทะลุฟ้ามาถึง บก.ตชด ภาค 1 ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ ในเวลาประมาณ 8.00 น. เศษ โดยมีทนายความเดินทางติดตามไป 

ทั้งนี้กระบวนการสอบสวนภายใน บก.ตชด.ภาค 1 เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมีพนักงานสอบสวนติดตามเข้ามาจำนวนน้อย และมีการใช้เวลาคัดแยกผู้ถูกจับกุมไปมาหลายรอบ โดยผู้ถูกจับกุมได้แสดงออกคัดค้านการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ด้วย 

เจ้าหน้าที่ได้แยกกลุ่มผู้ถูกจับกุมที่เป็นเยาวชนจำนวน 6 ราย ออกจากคนอื่นๆ โดยในจำนวนนี้ 5 ราย เป็นเยาวชนอายุ 15 ปี และ 1 ราย อายุ 17 ปี (หนึ่งรายเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองมาแล้วจากกิจกรรมหน้าสภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ส่วนที่เหลือยังไม่เคยถูกดำเนินคดีใดมาก่อน)  

ทั้งนี้ เยาวชนชายระบุว่าในการถูกจับกุม ตนได้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้เคเบิ้ลไทร์มัดที่มือ และมีเยาวชน 2 รายที่ได้รับความบาดเจ็บ โดยรายหนึ่งบาดเจ็บที่ขา ระบุว่าเหมือนโดนเจ้าหน้าที่เหยียบระหว่างช่วงชุลมุนในการจับกุม อีกรายโดนเจ้าหน้าที่จับที่แขนค่อนข้างรุนแรง ทำให้มีอาการปวด ต้องปฐมพยาบาลโดยใช้ผ้าพันข้อมือที่บาดเจ็บในเวลาต่อมา  

เวลาประมาณ 11.00 น. เศษ เจ้าหน้าที่ได้เร่งรีบทำบันทึกจับกุมเยาวชน และอ้างว่าจะพาตัวกลับไปสน.นางเลิ้ง แต่ต่อมาก็ไม่ได้นำตัวกลับไป

เจ้าหน้าที่ได้กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ใน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ร่วมกันจัดกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมในสถานที่แออัดหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 
  2. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และมาตรา 51 ร่วมกันกันกระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป 
  3. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 144 ร่วมกันวาง ตั้ง หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะกีดขวาง 
  4. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน 
  5. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ มาตรา 4

 

 

บันทึกการจับกุมระบุพฤติการณ์ว่า 13 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มชุมนุมเดินทะลุฟ้า V.2 ออกมารวมตัวเดินขบวนไปจัดตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าบริเวณหน้าศาลกรมกลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ 

เมื่อขบวนเดินมาถึงแยกผ่านฟ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 300 นาย ตั้งแนวสกัดและประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบถึงการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมาย เรื่องร่วมกันจัดกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมในสถานที่แออัดหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 

ทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามและเดินทางไปข้างทำเนียบรัฐบาล แล้วชุมนุมปราศรัยก่อความเดือดร้อนรำคาญ โดยมีการกางเต้นท์และตั้งเวที และใช้เครื่องขยายเสียง รวมถึงกีดขวางทางจราจร เจ้าหน้าที่จาก สน.นางเลิ้ง ได้มาประกาศให้เลิกการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุม 

25 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ให้มีคำสั่งยกเลิกชุมนุม ศาลแพ่งพิจารณาว่า การชุมนุุมสาธารณะในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 10 ตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 มีนาคม 2564 จึงให้ยกคำร้อง

ต่อมา 26 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดุสิตมาประชาสัมพันธ์มาตรการควบคุมโรคกับผู้ชุมนุม และขอให้ยุติการชุมนุม แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม กระทั่งวันที่ 28 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งร่วมกับกองร้อย บก.อคฝ. จึงเข้าสลายการชุมนุมพร้อมจับกุมผู้ต้องหา 

เยาวชนทั้งหกคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อ โดยกว่าการทำบัน่ทึกจับกุมเยาวชนจะเสร็จสิ้นก็เป็นเวลา 14.00 น. เศษแล้ว

หลังทำบันทึกจับกุมแล้ว ในช่วง 15.20 น. พ.ต.ท.สำเนียง โสธร พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง จึงได้นำตัว 6 เยาวชน ไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และขอควบคุมตัวผู่ต้องหา โดยทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตรวจสอบการจับกุมและการควบคุมตัวผู้ต้องหา

ก่อนที่จะมีการไต่สวนต่อมา และศาลเยาวชนฯ พิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากทางไต่สวนพยานผู้ร้องและพยานผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่าผู้ถูกจับกุมเป็นผู้ต้องหาจริง การจับกุมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการปฏิบัติของเจ้าพนักงานต่อผู้ถูกจับกุม ศาลได้บันทึกข้อเท็จจริงไว้

กระทั่งเวลาประมาณ 21.30 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีสามรายที่ผู้ปกครองมาพร้อมประกันตัว ไม่ต้องใช้หลักประกัน ส่วนสามราย มีสองรายซึ่งผู้ปกครองก็ถูกจับในเหตุการณ์เดียวกันด้วย  ส่วนอีกหนึ่งราย ผู้ปกครองอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาที่ศาลได้ ทางทนายความจึงได้ขอใช้ตำแหน่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นประกันแทน

คำสั่งศาลระบุเงื่อนไข หากผิดสัญญาประกัน จะปรับเป็นเงิน 5,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามไปกระทำผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก โดยเยาวชนทั้งหกต้องไปที่ศูนย์ปรึกษาความของศาลเยาวชนฯ อีกครั้ง ในวันที่ 29 มีนาคม 2564 

 

 

ผู้ถูกจับอีก 61 คน ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่ม ถูกแจ้ง 5 ข้อหา

ในส่วนของผู้ต้องหาที่เหลือ 61 ราย ถูกแยกเป็นสามกลุ่ม ตามเพศ และตามสถานที่ที่ถูกจับกุม โดยแยกเป็นกลุ่มที่ถูกจับกุมบริเวณถนนพระราม 5 ใกล้สะพานอรทัย จำนวน 21 ราย กลุ่มผู้จับกุมที่เป็นผู้หญิงถูกจับบริเวณถนนพระราม 5 จำนวน 20 ราย และกลุ่มที่ถูกจับกุมบริเวณถนนพระราม 5 ใกล้แยกพาณิชยการ จำนวน 20 ราย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาคัดแยกผู้จับกุม และตรวจร่างกาย ทำให้กว่าจะเริ่มทำบันทึกและสอบสวนนั้น เป็นเวลา 16.00 น. แล้ว

พฤติการณ์ในบันทึกจับกุมระบุรายละเอียดเช่นเดียวกับในกรณีของเยาวชนทั้ง 6 ราย ที่ตำรวจอ่านบันทึกการจับกุมให้ฟังก่อนหน้านี้ และยังแจ้งข้อหา 5 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน โดยมีข้อหาหลักคือการฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

บันทึกจับกุมได้ระบุว่าการจับกุมเำกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ปราศรัย จิตตสนธิ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 1, พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผบก.อคฝ., พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ และ พ.ต.อ.พงศ์จักร จักษุรักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 1, พ.ต.อ.นิมิตร นุโพนทอง ผู้กำกับสน.นางเลิ้ง

ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อทั้งหมด โดยยืนยันเรื่องการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่ากิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้ามีการดำเนินมาตรการคัดกรองโรคเช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐต่างๆ แล้ว นอกจากนั้น ยังได้โต้แย้งเรื่องสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่ตามกฎหมาย และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป

พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา 1 ราย ซึ่งอายุ 19 ปี ไประหว่างสอบสวน โดยให้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 20,000 บาท เนื่องจากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ญาติป่วยหนัก ทำให้เหลือผู้ถูกควบคุมตัวไว้จำนวน 60 คน

ทั้งนี้ระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพยายามจะยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ถูกจับกุม แต่ได้มีการโต้แย้งว่าพฤติการณ์ข้อกล่าวหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องมือสื่อสาร และการตรวจยึดไม่ได้มีหมายศาลแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนจึงได้ทำบันทึกถึงความไม่ยินยอมไว้ และระบุว่าจะไปขอหมายศาลต่อไป 

การสอบสวนและจัดทำเอกสารทางคดี เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 23.00 น. เศษ รวมเวลาตั้งแต่การจับกุมจนเสร็จสิ้นใช้เวลาเกือบ 18 ชั่วโมง 

 

 

สลายชุมนุมช่วงเย็นซ้ำสอง จับเพิ่มอีก 32 ราย นำตัวไปสโมสรตำรวจ

ขณะเดียวกัน หลังการควบคุมตัวในช่วงเช้า ในช่วงราว 15.00 น. กลุ่มนักกิจกรรมได้เริ่มประกาศตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าอีกครั้งที่บริเวณกลางสะพานชมัยมรุเชฐ โดยมีตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันอ่านแถลงการณ์ประณามการสลายการชุมนุมที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว 

จนเวลา 17.00 น. เศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เริ่มนำกำลังเข้ามาปิดล้อมการชุมนุมอีกครั้ง โดยเวลา 18.00 น. เริ่มมีการประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายใน 15 นาที โดยอ้างการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และได้พยายามประกาศให้ผู้สื่อข่าวถอยออกไปจากพื้นที่ 

ส่วนผู้ร่วมหมู่บ้านทะลุฟ้ายืนยันปักหลักต่อไป โดยเริ่มนอนลงและชูสามนิ้วให้เจ้าหน้าที่ ก่อนชุดควบคุมฝูงชนได้เริ่มเคลื่อนเข้าปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม และกันผู้สื่อข่าวอยู่ภายนอกวงล้อม ก่อนเริ่มทยอยจับกุมผู้ชุมนุมซึ่งนอนชูสามนิ้ว ทั้งในรูปแบบการหิ้วปีก และอุ้มขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง 

ต่อมามีรายงานการจับกุมประชาชนทั้งหมด 32 คน นำโดยนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน รวมทั้งมีนักร้อง “เอ้ กุลจิรา” ผู้ร่วมประกวด The Voice และชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำราษฎรนนทบุรี ถูกควบคุมตัวไปด้วย โดยมีการควบคุมตัวบนรถผู้ต้องขังซึ่งอากาศไม่ถ่ายเท ทำให้หลายคนรู้สึกหายใจไม่ออก

ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งหมดไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งตั้งอยู่ภายในสโมสรตำรวจ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ย่านหลักสี่ โดยมีทนายเดินทางติดตามไป แต่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้ทนายความ ส.ส. หรือญาติ เข้าไปยัง บช.ปส.

 

 

จนเวลา 21.00 น. เศษ เจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ทนายความเข้า โดยมีการตรวจบัตรทนาย ตรวจกระเป๋าอย่างละเอียด และให้เก็บโทรศัพท์ไว้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ญาติหรือบุคคลผู้ไว้วางใจเข้าไปภายใน บช.ปส.

เจ้าหน้าที่ได้เริ่มอ่านบันทึกจับกุมในเวลาประมาณ 22.15 น. ได้ระบุข้อกล่าวหาที่จับกุมทั้งหมด 5 ข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับผู้ถูกจับกุมในช่วงเช้า และระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาเช่นเดียวกันด้วย ในเรื่องการทำกิจกรรมตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า 

เจ้าหน้าที่ยังอ้างบันทึกข้อความของรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ลงวันที่ 28 มีนาคม 2564 ในการขอใช้อาคารของ บช.ปส. เป็นสถานที่ควบคุมตัวและสอบปากคำผู้ต้องหา โดยอ้างเรื่องเพื่อให้การดำเนินคดีผู้ต้องหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยกรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก โดยมี พ.ต.อ.อรรถพล อนุสิทธิ์ เป็นผู้ประสานการปฏิบัติ

พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งได้ทยอยสอบปากคำผู้ต้องหาทีละชุด โดยผู้ต้องหาทั้ง 32 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในเอกสาร โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป

 

 

ตำรวจนำตัว 92 ผู้ถูกจับกุมขอฝากขังที่ศาล ก่อนศาลให้ประกันตัว  

29 มีนาคม 2564 พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง เตรียมนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวจากหมู่บ้านทะลุฟ้า ทั้งที่ บก.ตชด.ภาค 1 ทั้งหมด 60 ราย และที่ บช.ปส. จำนวน 32 ราย รวมทั้งหมด 92 ราย ไปขอฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต 

ทั้งนี้ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำตัวไปศาล ได้ให้เจ้าหน้าที่พยาบาลนำชุดตรวจโควิดเข้ามาเพื่อตรวจโรค แต่กลุ่มผู้ต้องหาไม่ยินยอม และยืนยันว่าสามารถไปตรวจเองได้ รวมทั้งถ้าจะตรวจโควิด ขอให้ตรวจเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนที่รวมตัวกันเข้ามาสลายการชุมนุมในพื้นที่หมู่บ้านทะลุฟ้าด้วยเช่นกัน 

จนเวลาประมาณ 14.00 น. เศษ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 91 ราย ไปถึงศาลแขวงดุสิต ในกรณีของชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งถูกจับกุมตัวไปที่ บช.ปส. ด้วยนั้น แต่มีภารกิจในการพิจารณาคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ศาลอาญาในช่วงบ่าย ทำให้เจ้าหน้าที่พาตัวเขาแยกมายังศาลอาญาก่อนด้วย ก่อนจะพาตัวกลับไป

ขณะที่ในการนำตัวผู้ต้องหามาที่ศาลนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวหลายคนพร้อมกันบนรถผู้ต้องขังซึ่งอากาศไม่ถ่ายเท และไม่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวชายต้องถอดเสื้อออก เพราะอากาศร้อน ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ที่ถูกจับกุมถอดผ้าไตรจีวร ก็ได้มีอาการหน้ามืดเป็นลม ประกอบจากเหตุจากโรคความดันสูง ศาลได้อนุญาตให้นำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล

ที่ศาลแขวงดุสิต ร.ต.ท.ปฏิภาณ อินเอี่ยม พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา โดยอ้างว่าการสอบสวนผู้ต้องหายังไม่เสร็จสิ้น โดยยังต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 10 ปาก รอผลการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหาและประวัติการต้องโทษ จึงขออนุญาตฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 6 วัน และพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัว 

ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา และทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท จำนวน 88 คน รวมเป็นเงิน 1,760,000 บาท จากการระดมทุนของกองทุนราษฎรประสงค์ในช่วงคืนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 3 คน ใช้ตำแหน่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นนายประกัน และอีก 1 ราย นำเงินสด 20,000 บาท มาเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวด้วนตนเอง

จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. เศษ ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 92 ราย เจ้าหน้าที่ศาลแขวงดุสิตได้แจ้งให้นายประกันเซ็นรับทราบนัดรายงานตัวกับศาลอีกครั้งในวันที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 9.00 น. และให้จัดทำเอกสาร พร้อมชำระเงินประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหามีจำนวนมาก ทำให้ใช้เวลาจัดเตรียมเอกสารค่อนข้างนาน

จนเวลา 20.30 น. ผู้ต้องหาจึงทยอยได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ถุนศาลแขวงดุสิต

 

X