เพียง 1 เดือน หลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ช่วงเช้ามืด อัยการยื่นฟ้องนักกิจกรรม-พระ-คนไร้บ้าน 61 ราย

วานนี้ (27 เม.ย. 2564) ที่ศาลแขวงดุสิต นายวรวิทย์ สัมพัฒนวรชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักกิจกรรมและประชาชนรวม 61 ราย ในจำนวนนี้เป็นพระสงฆ์ 2 รูป และคนไร้บ้านอีก 4 ราย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มี.ค. 2564 ศาลนัดสอบคำให้การวันที่ 30 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.  

 

คำฟ้องกล่าว กิจกรรมตั้งหมู่บ้าน “ทุละฟ้า” ทำเสี่ยงแพร่โรคในเขตพื้นที่ที่สถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ผิด 4 ข้อหา ยึดทรัพย์จากหมู่บ้าน 9 รายการ  

ในคำฟ้องคดีอาญา หมายเลขดำที่ อ.428/2564 บรรยายพฤติการณ์ในคดีว่า ในช่วงวันที่ 13 – 28 มี.ค. 2564 เวลากลางวันต่อเนื่องกลางคืน จำเลยทั้ง 61 คน กับเยาวชนจำนวน 6 คนที่แยกฟ้องเป็นอีกสำนวนหนึ่ง และประชาชนอีกจำนวน 300 คนที่ไม่ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม ดังนี้ 

  1. จำเลยทั้งหมดกับพวก ได้ร่วมกันตั้งเวทีและเต็นท์ วางแผงเหล็ก ป้ายผ้า และสิ่งของบนช่องทางเดินรถถนนพระราม 5 บริเวณด้านหน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นทางสาธารณะในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร รถไม่สามารถแล่นผ่านได้ ต่อมาจำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันทำกิจกรรมตั้งหมู่บ้าน “ทุละฟ้า” ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ที่สถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันตามที่ทางราชการกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน 
  2. จำเลยทั้งหมดกับพวกได้ร่วมกันทำการโฆษณาโดยการปราศรัยบนเวที ชี้แจง แนะนำและแสดงความคิดเห็นแก่ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมดังกล่าวตามฟ้องข้อ 1 ทั้งนี้เป็นการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต 

ต่อมาวันที่ 28 มี.ค. 2564 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจึงเข้าจับกุมตัวจำเลย และเยาวชนส่งพนักงานสอบสวน และร่วมกันยึดทรัพย์ 9 รายการ เป็นของกลาง คือ รถสามล้อบรรทุกเครื่องขยายเสียง จำนวน 1 คัน, ลำโพง จำนวน 8 ตัว, เครื่องกระจายเสียงไฟฟ้าหรือโทรโข่ง จำนวน 3 ตัว, เครื่องปั่นไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง, เครื่องขยายเสียง จำนวน 4 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก จำนวน 2 เครื่อง, จอคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องฉายภาพ จำนวน 2 เครื่อง และ น้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 15 ลิตร 

 

ก่อนท้ายคำฟ้องอัยการ ระบุว่า หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

ท้ายฟ้อง อัยการถือว่าจำเลยทั้งหมดร่วมกระทำความผิดใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ร่วมกันจัดกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย เสี่ยงต่อการแพร่โรค มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  
  2. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะกีดขวางจราจร มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท       
  3. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท   
  4. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต  มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

 

ในวันนี้มีจำเลยเพียง 1 ราย ภวิศา (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ซึ่งเดินทางไปศาลพร้อมทนายความ หลังทราบว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจในวันที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564 เนื่องจากญาติป่วยหนัก และได้รับการปล่อยตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี  โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนเพิ่งส่งตัวเขาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ 

เมื่อศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวภวิศาในชั้นพิจารณาของศาล โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดในจำนวนเท่ากับที่ยื่นประกันในชั้นพนักงานสอบสวน คือ 20,000 บาท ก่อนศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว 

ส่วนนักกิจกรรม พระ และประชาชนอีก 60 ราย ที่ตกเป็นจำเลย หลังเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 60 ราย และทนายความได้ยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท จากการระดมทุนของกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลได้นัดรายงานตัวตามสัญญาประกันในวันนี้ (28 เม.ย. 2564) แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ศาลอนุญาตให้นายประกันเพียงคนเดียวเดินทางไปรายงานตัวแทน โดยนายประกันจะรับทราบคำฟ้องของอัยการแทนด้วย  

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 61 คน ให้การปฏิเสธมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุม และได้ให้การยืนยันว่า การทำกิจกรรมที่หมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งยังจัดให้มีมาตรการป้องกันและคัดกรองโรคตรวจสอบต่าง ๆ เหมือนห้างสรรพสินค้าหรือกิจกรรมอื่น ๆ ทั่วไปที่หน่วยงานของรัฐกำหนด เช่น ทำกิจกรรมในพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ทางเข้าหมู่บ้านฯ มีการตรวจวัดอุณภูมิ มีช่องให้แสกนไทยชนะ หรือลงทะเบียน จึงไม่เป็นการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา 

เป็นที่สังเกตว่า นับตั้งแต่วันถูกจับกุม พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการใช้เวลาเพียง 1 เดือน ก็สามารถยื่นฟ้องจำเลย 61 คน ได้ แม้ว่าในคดีการชุมนุมอื่นๆ จำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องหาน้อยกว่านี้  ยังไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาล

 

 

“หมู่บ้านทะลุฟ้า” เป็นการปักหลักชุมนุมพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เพื่อยืนยัน 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่  1. ให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วม “ราษฎร” ที่ถูกจับกุมคุมขัง 2. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 4. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก  

การสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมมาดำเนินคดีนั้น เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 05.50 น. ของวันที่ 28 มี.ค. 2564 ขณะที่ผู้ชุมนุมยังคงพักผ่อนหลับนอน โดยกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 4 กองร้อย มีการประกาศให้เวลาเก็บของออกจากพื้นที่ 3 นาที แต่ไม่ถึง 3 นาที เจ้าหน้าที่ก็เดินแถวเข้าจับกุมผู้รวมตัวอยู่ภายในหมู่บ้านทะลุฟ้า รวม 67 ราย เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 6 ราย พระสงฆ์ 2 รูป  โดยบางรายระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่เตะระหว่างการจับกุม ขณะที่ถูกนำตัวไปยังวัดเบญจบพิตร และบังคับให้ถอดจีวร นับเป็นกรณีที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมมากที่สุด

ต่อมา วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร โพสต์ระบุว่าการเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าเนื่องจากวันอังคารที่ 30 มี.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะมีการถ่ายรูปร่วมกันที่หน้าสนามหญ้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ทำให้ต้องมีการ “เคลียร์พื้นที่”  

นอกจากผู้ถูกจับกุม 67 รายนี้แล้ว ในช่วงเย็นซึ่งมีประชาชนออกมารวมตัวกันที่บริเวณเดียวกันอีกครั้ง เพื่อประณามการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าในช่วงเช้า และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม ก่อนนำกำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมอีก 32 ราย ที่นอนลงและชูสามนิ้วเพื่อแสดงอารยะขัดขืน และนำตัวไปดำเนินคดี โดยผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อัยการก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแยกเป็นอีกคดีในวันเดียวกันนี้ด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

>> สรุปคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า จับมากสุดเป็นสถิติ 99 คน แจ้ง 5 ข้อหา ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด

>> “เวลาในห้องขังมันผ่านไปช้ากว่าเวลาภายนอกหลายสิบเท่า”: คำบอกเล่าของ ‘วาดดาว’ ผู้นอนชูสามนิ้วเหตุสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ถูกหิ้วไปคุมขังที่ บช.ปส. 

X