29 มกราคม 2564 – ที่ สน. บางโพ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากการขึ้นปราศรัยที่ด้านหน้ารัฐสภา เกียกกาย ใน #ม็อบ17พฤศจิกา เพื่อติดตามการพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 6 ข้อหา
ก่อนหน้านี้อานนท์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 พนักงานสอบสวนแยกดำเนินคดีออกเป็น 2 คดี ได้แก่ คดีไม่แจ้งการชุมนุม ซึ่งมี พ.ต.อ.สุรเดช พจนาวงษ์พานิช เป็นผู้กล่าวหา และคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการปราศรัย ซึ่งมีสมชาย อิสระ ประชาชนทั่วไปเข้าแจ้งความดำเนินคดี
>> อานนท์ถูกแจ้ง 2 คดีรวดพ่วง ม.112 กรณีชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา หน้ารัฐสภาเกียกกาย
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้รวมคดีทั้งสองเป็นคดีเดียวกัน กับมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดใหม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบสำนวนการสอบสวนพบว่ายังแจ้งข้อกล่าวหาไม่ครบ พ.ต.ท.ชาญชาตรี สีดาคำ รอง ผกก. (สอบสวน) สน.บางโพ จึงได้ออกหมายเรียกอานนท์มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
พ.ต.ท.ชาญชาตรี ได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาตามที่เคยแจ้งไว้แล้วในคดีเดิม โดยเท้าความถึงเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที 17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งผู้ชุมนุมกลุ่ม #คณะราษฎร63 นำโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, ภาณุพงษ์ จาดนอก, อานนท์ นําภา, ชลธิชา แจ้งเร็ว และ เอกชัย หงส์กังวาน เดินทางเข้ามาบริเวณด้านหน้ารัฐสภาและบริเวณใกล้เคียงเพื่อชุมนุมกดดัน ส.ส. และ ส.ว. ให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ต่อมาในเวลาราว 20.41 น. ทนายอานนท์ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ซึ่งนาย สมชาย อิสระ ได้รับฟังผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ โดยเนื้อหาปราศรัยซึ่งตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ถูกบันทึกอย่างละเอียดในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งการที่อานนท์ประกาศนัดการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกราชประสงค์เวลา 4 โมงเย็น
พนักงานสอบสวนระบุเพิ่มเติมว่า จากการสอบสวนพบว่า ในการชุมนุมดังกล่าวอานนท์ได้ปราศรัย เรียกร้อง เชิญชวน เพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมกระทําการในลักษณะจะก่อความวุ่นวายและก่อความไม่สงบขึ้น มีการกล่าวปราศรัยในลักษณะกดดันให้ สส. สว. รับร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่รับจะมีการชุมนุมใหญ่กว่าเดิม ซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อีกทั้งในการชุมนุมที่มีคนจํานวนมากๆ อาจจะมีความใกล้ชิดกันหากมีผู้ใดเป็นพาหะของโรค จะทําให้เกิดการระบาดของโรคแม้มีการป้องกันโดยการใส่หน้ากากอนามัยก็ตาม แต่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมในระยะ 1-1.5 เมตร และการชุมนุมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ออกไป เนื่องจากในขณะที่มีการชุมนุมนั้นกำลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย
พ.ต.ท.ชาญชาตรี จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาอานนท์เพิ่มรวม 6 ข้อหา ดังนี้
- ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 (6)
- ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
- ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 3 เมษายน 2563
- ร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
- ร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีการใดๆ อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3)
- ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการสอบปากคำเบื้องต้น พนักงานสอบสวนไม่มีการควบคุมตัว
ทั้งนี้ กลุ่ม “ราษฎร” นัดหมายกันชุมนุม #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ #ม็อบ17พฤศจิกา หน้ารัฐสภา บริเวณแยกเกียกกาย เพื่อติดตามการพิจารณาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ รวมถึงร่างฉบับประชาชนที่มีประชาชน 100,732 ราย ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง แต่ขณะที่ประชาชนเพิ่งเริ่มทยอยกันมา เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนก็ได้ฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีที่มีฤทธิ์ก่อให้เกิดความระคายเคือง รวมทั้งมีการใช้แก๊สน้ำตา เข้าสลายการชุมนุมของประชาชน จนมีผู้ชุมนุมตลอดจนประชาชนที่เดินทางผ่านได้รับบาดเจ็บหลายราย อีกทั้งระหว่างการชุมนุมยังมีการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มไทยภักดี ที่นัดหมายชุมนุมในพื้นที่เดียวกัน จนเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมสองฝ่ายเป็นเวลาช่วงหนึ่ง
>> 7 ชม. #ม็อบ17พฤศจิกา จนท.ตร.ฉีดน้ำแรงดันสูง ใช้แก๊สน้ำตา ขัดขวางการชุมนุมหน้ารัฐสภาของกลุ่มราษฎร
จากการชุมนุมดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 6 ราย โดย “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก, “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว และ เอกชัย หงส์กังวาน ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฐานไม่แจ้งการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 และ 21 ธันวาคม ปีที่แล้ว ในส่วนของพริษฐ์ นอกเหนือจากข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า เขายังถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอีก 2 ข้อหา คือ ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 ของประมวลกฎหมายอาญา
>> 3 ‘ราษฎร’ ร่วม #ม็อบ17พฤศจิกา หน้ารัฐสภา เกียกกาย ปฏิเสธข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุม