เปิดข้อหาคดี #ม็อบ29พฤศจิกา “ทราย” ไม่ได้ขึ้นปราศรัยแต่ถูกแจ้ง ม.112-116 ด้วย

วันนี้ (21 ธ.ค. 63) ที่สน.บางเขน 8 ผู้ได้รับหมายเรียกจากการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หรือการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 63 เดินทางมารับทราบข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือนายวราวุธ สวาย

มูลเหตุของคดีนี้มาจากการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 63 ที่เดิมประกาศชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 ซึ่งเป็นบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อป้องกันและต่อต้านไม่ให้เกิดการรัฐประหาร และต่อมาได้เปลี่ยนสถานที่ชุมนุมเป็นกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 

 

ภาพ #ม็อบ29พฤศจิกา จากประชาไท

 

ผู้ได้รับหมายเรียกในคดีนี้ ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา, พรหมศร วีระธรรมจารี, “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ โดยทั้งหมดเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว เว้นอินทิราที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยใดๆ ทำให้มวลชนจับตานัดรับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้เป็นอย่างมาก 

 

ตั้งขบวนแห่ส่งตัวผู้ได้รับหมายเรียก-รณรงค์ “ยกเลิก 112”

 

เวลาประมาณ 10.30 น. ก่อน 8 ผู้ได้รับหมายเรียกเดินทางไปรับทราบข้อหา มีประชาชนราว 200 คนมาให้กำลังใจ พร้อมตั้งขบวนแห่ขันหมากส่งตัวผู้ได้รับหมายเรียกไปที่หน้าสน.บางเขน และมีการปราศรัยรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศขอให้ยกเลิกการชุมนุม โดยให้เหตุผลว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม, การชุมนุมกีดขวางสถานที่ราชการหรือสน.บางเขน, ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

 

 

7 ผู้ปราศรัยถูกแจ้ง 9 ข้อหา รวมมาตรา 112 และมาตรา 116

หลัง 8 ผู้ได้รับหมายเรียกเดินทางเข้าสู่ห้องสอบสวน พนักงานสอบสวนเริ่มสอบคำให้การและบรรยายพฤติการณ์ โดยระหว่างสอบสวน ผู้สังเกตการณ์พบว่ามีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ที่ทุกมุมของห้อง ทั้งยังมีกล้องขนาดเล็กติดตั้งอยู่บริเวณหน้าผู้ได้รับหมายเรียกอีก 4 ตัว รวมเป็น 8 ตัว 

 

 

สำหรับ 7 ผู้ปราศรัย พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี สารวัตร (สอบสวน) สน.บางเขน เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ได้บรรยายพฤติการณ์ในคดี ดังนี้ 

พริษฐ์ ชิวารักษ์​, อานนท์ นำภา และเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้โพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนประชาชนให้มาเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ ที่บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ในการปราศรัยเรื่องการปลดอาวุธศักดินาไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ในการชุมนุมครั้งนี้ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, พรหมศร วีระ ธรรมจารี, พิมพ์สิริ เพชรน้ํารอบ, ณัฏฐธิดา มีวังปลา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอินทิรา เจริญปุระ ได้มีการตกลง คบคิด และ แบ่งหน้าที่กันทํา โดย 7 คนแรกนั้นทำหน้าที่ขึ้นปราศรัย ส่วนอินทิรามีหน้าที่จัดหารถตู้เพื่อใช้รับส่งประชาชนเพื่อให้ความสะดวกในการมาชุมนุม, เป็นผู้บริหารการทํางานของการ์ด และเป็นผู้ส่งอาหารน้ำดื่มให้กับผู้ชุมนุม 

ทั้ง 8 คนจึงมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ว่าโอนกําลังทหารมาเป็นของพระองค์เอง ทำให้ผู้ชุมนุมต้องมาปลดอาวุธศักดินา ซึ่งถือเป็นการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือ วิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทํา ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่แสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต 

ทั้งยังมีการปิดถนนพหลโยธินขาเข้าที่บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขาหลักสี่ และปิดถนนพหลโยธินขาออกหน้าปากซอยพหลโยธิน 45/1 ทําให้ประชาชนไม่สะดวกที่จะใช้พื้นที่สาธารณะ และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งยังมีการเทสีน้ำราดไปบนพื้นถนนหน้ากรมทหารราบที่ 11 และมีการฉีดพ่นสีไปที่พื้นถนนพหลโยธิน นอกจากนี้ ยังมีการทําให้รถยนต์ตู้ของเจ้าหน้าที่ตํารวจได้รับความเสียหาย 15 คัน 

ประกอบกับการชุมนุมในครั้งนี้ เป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก มีโอกาสสัมผัสกันได้ง่าย เสี่ยงต่อการติดโรคระบาด มิได้มีการระวังป้องกันตามสมควร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งให้เลิกการชุมนุมแล้ว แต่กลุ่มผู้ต้องหา ไม่ปฏิบัติตามและไม่เลิกการชุมนุม

ด้าน 7 ผู้ที่มีหน้าที่ปราศรัยได้ขึ้นปราศรัยบนรถที่ติดตั้งเครื่องเสียงขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

  1. อานนท์ปราศรัยตั้งคำถามถึงการโอนกองกำลังทหารให้ไปอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์และย้ำข้อเรียกร้องขอให้สถาบันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 
  2. พริษฐ์ปราศรัยว่าสถาบันไม่มีความจำเป็นต้องมีกองกำลังส่วนตัวและไม่ควรแทรกแซงอำนาจของประชาชน ทั้งสถาบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีส่วนร่วมในการอุ้มหายประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว
  3. ชินวัตรปราศรัยว่า การวิจารณ์เรื่องการโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ไม่ได้หมายความว่าต้องการล้มล้างสถาบัน แต่เพราะเป็นห่วงสถาบันจึงขอให้โอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาอยู่ที่ส่วนกลาง
  4. สมยศปราศรัยถึงประวัติที่มาของกองพลทหารราบที่ 11 ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีทหารเพื่อประชาชนและเรียกร้องถึงการตรวจสอบสถาบันได้อย่างโปร่งใส
  5. พรหมศรปราศรัยตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีทหารส่วนพระองค์และเหตุใดจึงต้องมีผู้แทนพระองค์แทนสำนักงานทรัพย์สิน และต้องการให้สถาบันสามารถตรวจสอบได้
  6. พิมพ์สิริปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพไทยและสถาบันในการทำรัฐประหารของไทย พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ย้ำว่ากฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาและควรยกเลิก 
  7. ณัฎฐธิดาปราศรัยว่า “มึงยัด 112 ให้กู ซึ่งกูไม่เคยรู้เรื่อง 112 จากพวกมึงเลย” ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการกล่าวล่วงเกินต่อการทำงานของรัฐบาลที่ใช้มาตรา 112 แต่ก็มีเจตนาให้ยกเลิกเพื่อจะดำเนินการอื่นใดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้ ซึ่งไม่เหมาะสม

จากเนื้อหาคำปราศรัยข้างต้น มีบริบทในสาระเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนทั่วไปฟังแล้วดูหมิ่น เกลียดชังในสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เชื่อตามคําปราศรัยของผู้ต้องหา 

ดังนั้นจึงเป็นการร่วมกันหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท สถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีเจตนาร่วมกันทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อยุยงให้ประชาชน แสดงออกถึงการวิพากษ์วิจารณ์ และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 

หลังบรรยายพฤติการณ์คดี พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 9 ข้อหาแก่ 7 ผู้ปราศรัย ได้แก่ 

  1. มาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายหรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง”
  2. มาตรา 216 ประมวลกฎหมายอาญา “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ไม่เลิกการกระทำ” 
  3. มาตรา 10 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อน เริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง”
  4. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากใน ลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย”
  5. มาตรา 3 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 “ร่วมกันเท หรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย โสโครก หรือ สิ่งใดลงบนถนน”
  6. มาตรา 4 พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 “ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”
  7. มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา “ร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการ กระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย”
  8. มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์”
  9. มาตรา 385 ประมวลกฎหมายอาญา “ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร”

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า พนักงานสอบสวนได้ยกเนื้อหาของคำปราศรัยมาตัดตอนเป็นส่วนๆ และนำมาเรียงต่อกันเพื่อบรรยายพฤติการณ์คดี แต่กลับไม่ระบุอย่างชัดเจนว่าแต่ละประโยคนั้นเข้าข่ายมาตรา 112 อย่างไร 

 

ทราย เจริญปุระ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วยเพราะเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุม แม้ไม่ได้ขึ้นปราศรัย

ด้านอินทิรา เจริญปุระ ก็ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมครั้งนี้เช่นกัน แม้จะไม่ได้ขึ้นปราศรัย โดย พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี สารวัตร (สอบสวน) สน.บางเขน ได้บรรยายพฤติการณ์ในคดีโดยสรุปว่า อินทิราเป็นผู้มีแนวคิดไปในทางเดียวกันกับ 7 ผู้ต้องหาในคดีนี้ จากการโพสต์กิจกรรมที่ร่วมสนับสนุนกับกลุ่มมวลชนผ่านทวิตเตอร์ชื่อ ITRC และการสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม และรถห้องน้ำให้กับการชุมนุม 

 

ทราย เจริญปุระ ที่สน.บางเขนวันนี้

 

การชุมนุมที่อินทิราสนับสนุนนั้นมีการประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และมีการปราศรัยโจมตี พาดพิง หมิ่นประมาท ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด เช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 63 ที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่อินทิราก็ได้เข้าร่วมเช่นกัน 

นอกจากนี้ อินทิราเป็นผู้ใช้เฟสบุคชื่อว่า “Inthira Charoenpura” และได้โพสต์ภาพซึ่งมีข้อความการล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์  ดังนี้

  1. “ฉันคง ไม่กลับ ไปรักเธอ” 
  2. “กล้ามาก เลย นะเธอ” 
  3. “ก็ตาสว่างกันหมดแล้ว”

โดยคําว่า “กล้ามาก” เป็นพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่เคยตรัสไว้กับพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งการนําถ้อยคําดังกล่าวมาพูดซ้ำในเชิงล้อเลียน เสียดสี จึงเป็นการทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ 

นอกจากนี้ อินทิรายังใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความเชิญชวนให้เข้าร่วมชุมนุมที่ราบ 11 โดยมีข้อความว่า “เพราะทุกคนคือแกนนำ” และใช้ทวิตเตอร์ชื่อว่า “ITRC” โพสต์แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับห้องน้ำและรถตู้ให้บริการประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดไปที่ราบ 11 และแชร์ข้อความของภาณุพงศ์ จาดนอก ให้ไปชุมนุมที่ราบ 11 

นอกจากนี้ อินทิรายังโพสต์ข้อความอีกว่า “ทีมที่ห่วงที่สุดคือทีมการ์ด ตอนนี้ค่อยยังชั่วว่าจัดระบบเซฟตี้จัดของเติมของ สโตร์ของเสร็จเรียบร้อย น้องๆ มีบัญชีกลางไว้คอยซัพโดยตรงแล้ว เอ้อ ป้าจะได้ถอยมาส่งข้าวส่งน้ำ อุปโภคบริโภคเหมือนเดิม ไม่งั้นเกร็งไปหมด” ซึ่งจากการโพสต์ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ

จากการบรรยายข้างต้น อินทิราจึงต้องทราบว่าวัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เป็นการชุมนุมที่มาเรียกร้องเพื่อพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง และต้องสามารถเล็งเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ว่า อานนท์กับพวกจะต้องปราศรัยและกล่าวถ้อยคําที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายเหมือนกันทุกเวทีการปราศรัยที่ผ่านมา 

ทั้งอานนท์กับพวกได้ถูกแจ้งความดําเนินคดีในการกระทําความผิดมาตรา 112 และมาตรา 116 มาแล้วหลายคดี ดังนั้นอินทิราย่อมต้องทราบดีถึงพฤติกรรมของอานนท์กับพวก แต่ก็ยังร่วมกันกระทําความผิด 

ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 3 ข้อหาแก่อินทิรา ได้แก่ มาตรา 112, มาตรา 116, และมาตรา 10 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ 

ทั้ง 8 คนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 25 ม.ค. 64

ผู้ได้รับหมายเรียกบางส่วนไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ แต่ได้เขียนข้อความเพื่อแสดงอารยะขัดขืนถึงการดำเนินคดีครั้งนี้ลงในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาแทน เช่น ชินวัตรลงลายมือชื่อว่า “ยกเลิก 112”  พรหมศรลงว่า “ไม่ยอมรับอำนาจศักดินาและมาตรา 112” อินทิราลงว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” และพิมพ์สิริลงว่า “ไม่เข้าองค์ประกอบ ไปเรียนกฎหมายมาใหม่ค่า (รูปหัวใจ)” 

 

 

นอกจากนี้ ที่สน.บางเขน ยังมีพนักงานสอบสวนจากสภ.เมืองขอนแก่น และสภ.เมืองอยุธยามาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกด้วย หลังจากทั้งสามคนถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 มาก่อนแล้วในคดีการชุมนุมที่จังหวัดขอนแก่น และอยุธยา สำหรับรายละเอียดข้อกล่าวหา ศูนย์ทนายฯ จะรายงานให้ทราบต่อไป

 

X