เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 64 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) ได้มีคำสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หรือชุมนุม #ปลดอาวุธศักดินาไทย ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 11) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 63 ต่อศาลอาญา โดยคดีมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116
คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา, พรหมศร วีระธรรมจารี, “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ โดยทั้งหมดเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว ยกเว้นอินทิราที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยใดๆ
สำหรับผู้ถูกฟ้องในวันที่ 26 พ.ย. 64 มีทั้งหมด 6 ราย โดยอานนท์และพริษฐ์ถูกฟ้องโดยไม่มีตัว เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ส่วนชินวัตรและพรหมศร ยังไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่ง เนื่องจากติดภารกิจอื่น ซึ่งต่อมาทั้งสองคนได้เข้าฟังคำสั่งฟ้องคดีพร้อมกันในวันที่ 29 พ.ย. 64 ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ถูกสั่งฟ้องต่อศาลครบทั้งหมดแล้ว
สำหรับจำเลย 7 ราย ยกเว้นอินทิรา ได้ถูกฟ้องทั้งหมด 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116, มาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 385, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, เททิ้งปฏิกูล มูลฝอยลงบนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ขณะที่อินทิรา ถูกสั่งฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ โดยอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ที่เธอถูกกล่าวหาในชั้นสอบสวนด้วย
.
.
เปิดเนื้อหาคำฟ้อง กล่าวหาคำปราศรัยหมิ่น ร.7, ร.9 และ ร.10
สำหรับเนื้อหาคำฟ้องของอัยการโดยสรุป ระบุว่าเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยประกาศชักชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมทางการเมืองผ่านทางช่องทางต่างๆ ในหัวข้อการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดิ์นาไทย” ที่กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยจำเลยทั้งหมด ยกเว้นอินทิรา ได้ร่วมกันกล่าวปราศรัยเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันต่อสู้เปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อ พ.ต.อ.อรรถพล มีเสียง ผู้กำกับ สน.บางเขน หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว
การชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน โดยรวมตัวกันปิดการจราจรบริเวณวงเวียนบางเขน มุ่งหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถเคลื่อนขบวนไปได้ เนื่องจากมีรถโดยสารเก่าจำนวน 2 คัน ที่เจ้าหน้าที่จอดเป็นแนวกั้นขวาง และมีการติดตั้งรั้วลวดหนาม เพื่อให้ยุติการเคลื่อนขบวน แต่กลุ่มผู้ชุมนุมดันรถโดยสารและทำการรื้อลวดหนามออกได้บางส่วน กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนไปหน้ากรมทหารราบที่ 11 พร้อมรถบรรทุกเครื่องขยายเสียง และเป็ดยางลม ก่อนกั้นแบริเออร์และกรวยยางปิดการจราจรและปราศรัยบนถนนสาธารณะ อันเป็นการกีดขวางการจราจรและกีดขวางทางสาธารณะ และเป็นการทำกิจกรรมใดๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
รวมทั้งยังไม่เลิกการชุมนุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ได้ประกาศว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น ยังมีผู้เทสีและขีดเขียนข้อความลงบนพื้นถนนอันเป็นทางสาธารณะ
.
.
จำเลยทั้งหมด ยกเว้นอินทิรา ยังได้ผลัดเปลี่ยนกันใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยแก่ประชาชนที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 ในระหว่างการชุมนุมสาธารณะ โดยอัยการมีการระบุเนื้อหาคำปราศรัยของจำเลยทั้ง 7 คน ว่าเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
- อานนท์ ปราศรัยตั้งคำถามถึงการโอนกองกำลังทหารให้ไปอยู่ใต้องค์พระมหากษัตริย์และย้ำข้อเรียกร้องขอให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
- พริษฐ์ ปราศรัยถึงสถาบันกษัตริย์ไม่มีความจำเป็นต้องมีกองกำลังส่วนตัวและไม่ควรแทรกแซงอำนาจของประชาชน ทั้งสถาบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีส่วนร่วมในการอุ้มหายประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว
- ชินวัตร ปราศรัยถึงการวิจารณ์เรื่องการโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ไม่ได้หมายความว่าต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่เพราะเป็นห่วงสถาบัน จึงขอให้โอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาอยู่ที่ส่วนกลาง
- สมยศ ปราศรัยถึงประวัติที่มาของกองพลทหารราบที่ 11 ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีทหารเพื่อประชาชนและเรียกร้องถึงการตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้อย่างโปร่งใส
- พรหมศร ปราศรัยตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีทหารส่วนพระองค์และเหตุใดจึงต้องมีผู้แทนพระองค์แทนสำนักงานทรัพย์สิน และต้องการให้สถาบันกษัตริย์สามารถตรวจสอบได้
- พิมพ์สิริ ปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพไทยและสถาบันในการทำรัฐประหารของไทย พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ย้ำว่ากฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาและควรยกเลิก
- ณัฎฐธิดา ปราศรัยว่า “มึงยัด 112 ให้กู ซึ่งกูไม่เคยรู้เรื่อง 112 จากพวกมึงเลย” และ “เมื่อถามคนบนฟ้าใครสั่งยิงก็ไม่ตอบ”
อัยการกล่าวหาว่าคำปราศรัยทั้งหมด เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
ส่วนอินทิรา อัยการกล่าวหาว่าได้ร่วมกับจำเลยคนอื่นๆ ได้ร่วมกันชักชวน ยุยงให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมมั่วสุมดังกล่าวทั้งหมด ที่เข้าข่ายข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
อัยการยังระบุขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมด ยกเว้นอินทิรา ในชั้นพิจารณา อ้างว่า “เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง มีอัตราโทษสูง และหากปล่อยตัวไป อาจกระทำความผิดซ้ำอีก” ส่วนอินทิรา อัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัว แต่ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
.
ศาลให้ประกันตัว แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ฯ
หลังอัยการสั่งฟ้องคดี ศาลอาญาได้ให้ประกันตัวจำเลยที่ไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ก่อนหน้านี้ ได้แก่ สมยศและชินวัตร ศาลให้วางหลักประกันจำนวนคนละ 200,000 บาท พิมพ์สิริ, ณัฎฐธิดา และพรหมศร ศาลให้วางหลักประกันคนละ 100,000 บาท ส่วนอินทิรา วางหลักประกันจำนวน 35,000 บาท หลักทรัพย์ทั้งหมดจากกองทุนราษฎรประสงค์
ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวทุกคนเช่นเดียวกัน รวมทั้งอินทิรา ที่ไม่ได้ถูกฟ้องตามมาตรา 112 ได้แก่ ห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต คำสั่งประกันตัวลงนามโดย นายพริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
ศาลได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีต่อไปวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.00 น.
ขณะที่ส่วนของอานนท์ และพริษฐ์ ยังไม่ได้ยื่นประกันตัวในคดีนี้ เนื่องจากถูกคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัวในคดีอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว
สำหรับการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ของกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 เดิมประกาศชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 ซึ่งเป็นบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อแสดงออกถึงการป้องกันและต่อต้านไม่ให้เกิดการรัฐประหารในช่วงดังกล่าว และต่อมาได้เปลี่ยนสถานที่ชุมนุมเป็นกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์แทน ผู้ถูกกล่าวหาทั้งแปดได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ที่ สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 โดยในส่วนของข้อหาตามมาตรา 112 มี นายวราวุธ สวาย เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้
.
ฐานข้อมูลคดี
คดี 112-116 “8 นักกิจกรรมราษฎร” ปราศรัย “ปลดอาวุธศักดินาไทย” หน้าราบ 11 #ม็อบ29พฤศจิกา
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดข้อหาคดี #ม็อบ29พฤศจิกา “ทราย” ไม่ได้ขึ้นปราศรัยแต่ถูกแจ้ง ม.112-116 ด้วย
.