จำคุก 3 ปี ปรับพินัย 1,100 บาท “ไบรท์” คดี ม.112-116 ปราศรัยใน #ม็อบ29พฤศจิกา63 หน้าราบ 11 ส่วนจำเลยอีก 7 คน อัยการแยกฟ้องใหม่แล้ว

ศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงานว่า ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดี ของ “ไบรท์”ชินวัตร ซึ่งมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา63 “ปลดอาวุธศักดินาไทย” หน้ากรมทหารราบที่ 11 ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดใน 8 ข้อหา จำคุก 6 ปี ปรับเป็นพินัย 2,200 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี ปรับเป็นพินัย 1,100 บาท ส่วนจำเลยอีก 7 คน ที่ต่อสู้คดีอยู่ ศาลสั่งจำหน่ายคดี และให้พนักงานอัยการแยกฟ้องเข้ามาใหม่

ไบรท์เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี

กรณีนี้เดิมมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา, พรหมศร วีระธรรมจารี, “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ โดยทั้งหมดเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว ยกเว้นอินทิราที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยใดๆ 

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งแปดได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ที่ สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้ง 10 ข้อหา แก่ 7 ผู้ปราศรัย ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116, มาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 385, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, เททิ้งปฏิกูล มูลฝอยลงบนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมามีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เข้ามาด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของทั้งแปดต่อศาลอาญา สำหรับจำเลย 7 ราย ยกเว้นอินทิรา ที่ไม่ได้ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112

กระทั่ง วันที่ 1 ก.พ. 2567 ซึ่งเป็นนัดสืบพยานโจทก์ ชินวัตรตัดสินใจถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา คดีจึงเสร็จการพิจารณาในส่วนของชินวัตร และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 มี.ค. 2567

ในวันดังกล่าว ชินวัตรได้ถูกเบิกตัวไปสืบพยานคดีชุมนุมอีกคดีหนึ่ง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลอาญาจึงเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปในช่วงบ่าย

ต่อมา พบว่าศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี 

ฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฐานร่วมกันเป็นหัวหน้าในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป, ฐานเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และฐานร่วมกันกีดขวางการจราจร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ตามมาตรา 116 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี

ฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงดัวยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับเป็นพินัย 200 บาท ฐานกระทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ บนถนนสาธารณะ ให้ปรับเป็นพินัย 2,000 บาท

จำเลย ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คงจำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน คงจำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงดัวยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต คงปรับเป็นพินัย 100 บาท ฐานกระทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ บนถนนสาธารณะ คงปรับเป็นพินัย 1,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี และปรับเป็นพินัย 1,100 บาท โดยให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีที่ศาลมีคำพิพากษาก่อนหน้านี้

จนถึงปัจจุบัน ในคดีมาตรา 112 ของชินวัตร ที่เขาเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาทั้งหมด 5 คดีแล้ว โดยมี 1 คดีที่ศาลพิพากษาให้รอลงอาญา ขณะที่อีก 4 คดี ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด ได้แก่ คดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว ลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีปราศรัยหน้า สน.บางเขน ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และล่าสุดคดีนี้

หากนับโทษจำคุกในสี่คดีที่ไม่รอลงอาญานี้ ชินวัตรมีโทษจำคุกจากคำพิพากษา รวม 10 ปี 6 เดือน แต่ทั้งนี้ในแต่ละคดีจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ปัจจุบัน ชินวัตรถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 16 วันแล้ว

อัยการแยกฟ้องจำเลยอีก 7 รายใหม่ ศาลนัดตรวจพยาน 26 ส.ค. 2567

สำหรับจำเลยอีก 7 ราย ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี และให้พนักงานอัยการแยกฟ้องจำเลยทั้งหมดเข้ามาใหม่ ซึ่งพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาใหม่แล้วเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2567 โดยจำเลยทั้งหมดต้องทำการประกันตัวใหม่อีกครั้ง และยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 26 ส.ค. 2567 นี้

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้อง ธนานนท์ รัตนาเดชาชัย พนักงานอัยการ บรรยายฟ้องโดยสรุปในหลายข้อหา ดังนี้

จำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 

จำเลยทั้งเจ็ดกับชินวัตร ได้ร่วมกันและแยกกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน ถึง วันที่ 29 พ.ย. 2563 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยประกาศชักชวนประชาชนมาชุมนุมทางการเมืองผ่านช่องทางต่าง ๆ และสื่อออนไลน์ โดยใช้หลายบัญชีโพสต์ข้อความประกาศชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไปออกมาร่วมชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ในวันที่ 29 พ.ย. 2563 เวลา 15.00 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 

จำเลยที่ 1 ถึง 5 กับพวกได้ร่วมกันกล่าวปราศรัยเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันต่อสู้เปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการ สน.บางเขน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

จำเลยที่ 1 – 6 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป – เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก ตาม ปอ. มาตรา 215 และ มาตรา 216 

จำเลยที่ 1 ถึง 6 กับพวก ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเข้าร่วมกิจกรรมการรวมตัวกันชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีประชาชนทั่วไปประมาณ 2,000 คน โดยรวมตัวกันปิดการจราจรบริเวณวงเวียนบางเขนซึ่งเป็นทางสาธารณะ, ดันรถโดยสารเก่าและทำการรื้อลวดหนามของเจ้าหน้าที่ออก, เคลื่อนขบวนพร้อมรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียงและขนย้ายเป็ดลมยางไปตามทางช่องทางจราจร, นำที่กั้นแบริเออร์สีส้มและกรวยยางปิดการจราจร และปราศรัยบนถนนสาธารณะ 

พ.ต.อ.อรรถพล มีเสียง ผู้กำกับ สน.บางเขน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและควบคุมสถานการณ์การจัดการชุมนุมได้แจ้งให้จำเลยทั้งหกกับพวกว่าการชุมนุมเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่จำเลยทั้งหกกับพวกไม่ยอมเลิก

นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึง 5 เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการร่วมกันมั่วสุมอีกด้วย

จำเลยที่ 1 – 6 ร่วมกันกีดขวางการจราจรและกีดขวางทางสาธารณะ ตาม ป.อ. มาตรา 385 – พ.ร.บ.จราจรฯ

การกระทำของจำเลยทั้งหกกับพวกเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและกีดขวางทางสาธารณะ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรของประชาชนทั่วไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

จำเลยที่ 1 – 6  ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโฆษณากล่าวปราศรัย ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 

จำเลยที่ 1 ถึง 6 กับพวกร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโฆษณากล่าวปราศรัยบนเวทีหรือขบวนรถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

จำเลยที่ 1 – 6  ร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 

จำเลยที่ 1 ถึง 6 กับพวกร่วมกันเทสีลงและขีดเขียนข้อความลงบนพื้นถนน อันเป็นทางสาธารณะและทรัพย์สินต่าง ๆ ของทางราชการ อันเป็นการขูด ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดที่กำแพงที่ติดกับถนน บนถนนที่ต้นไม้ หรือส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับการยกเว้น

จำเลยที่ 1 – 6  ร่วมกันทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกันในสถานที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

จำเลยที่ 1 ถึง 6 ร่วมกันทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใด ๆ ที่แออัดและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด

นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึง 5 กับพวกไม่ได้จำกัดทางเข้า – ออกในการเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค อันเป็นการจัดกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

จำเลยที่ 1 – 6 ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อ. มาตรา 112

จำเลยที่ 1 ถึง 6 กับพวกเป็นตัวการร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยร่วมกันผลัดเปลี่ยนกันใช้เครื่องขยายเสียง พูดหรือปราศรัยแก่ประชาชนหลายคนในระหว่างการชุมนุมสาธารณะ สามารถสรุปรายละเอียดคำปราศรัยได้ดังนี้

  1. อานนท์ ปราศรัยตั้งคำถามถึงการโอนกองกำลังทหารให้ไปอยู่ใต้องค์พระมหากษัตริย์และย้ำข้อเรียกร้องขอให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 
  2. พริษฐ์ ปราศรัยถึงสถาบันกษัตริย์ไม่มีความจำเป็นต้องมีกองกำลังส่วนตัวและไม่ควรแทรกแซงอำนาจของประชาชน 
  3. สมยศ ปราศรัยถึงประวัติที่มาของกองพลทหารราบที่ 11 ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีทหารเพื่อประชาชนและเรียกร้องถึงการตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้อย่างโปร่งใส
  4. พิมพ์สิริ ปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพและสถาบันในการทำรัฐประหารของไทย พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ย้ำว่ากฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาและควรยกเลิก 
  5. ณัฎฐธิดา ปราศรัยว่า “มึงยัด 112 ให้กู ซึ่งกูไม่เคยรู้เรื่อง 112 จากพวกมึงเลย” และ “เมื่อถามคนบนฟ้าใครสั่งยิงก็ไม่ตอบ”
  6. พรหมศร ปราศรัยตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีทหารส่วนพระองค์และเหตุใดจึงต้องมีผู้แทนพระองค์แทนสำนักงานทรัพย์สิน และต้องการให้สถาบันกษัตริย์สามารถตรวจสอบได้

พนักงานอัยการยังระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึง 6 กับพวกมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 116

จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด อันมิเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะเกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 

การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดคนเป็นการชักชวน ยุยงให้ประชาชนเข้าชุมนุมมั่วสุมขณะที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะที่มีการระบาดของโควิด-19 เป็นการกระทำใด ๆ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและไม่ได้กระทำภายในขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งและไม่แจ้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ

จำเลยที่ 1 ถึง 6 กับพวกจัดปราศรัยต่อประชาชนจำนวนมากโดยมีสาระสำคัญมุ่งโจมตีรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนาบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยและความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ถึงขนาดยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนไปชุมนุม ประท้วง เรียกร้อง ขู่เข็ญ หรือบังคับกดดันรัฐบาลและรัฐสภา ขู่เข็ญหรือบังคับให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้ประชาชน ให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในด้านต่าง ๆ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความไม่สงบในราชอาณาจักร ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ 

เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้เข้าร่วมการชุมนุมมีการแสดงความคิดเห็นร่วมตะโกน ตอบโต้ โห่ร้อง ปรบมือสนับสนุน อันเป็นการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

X