วันที่ 13 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งมีข้อหาหลักเป็นข้อหาตามประมวลฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีถูกฟ้องจากการเข้าร่วมและปราศรัยในการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563
คดีนี้ สืบเนื่องมาจากการชุมนุม #2ธันวาคมไปห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งมีขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของกองทัพบกและได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่อง
การชุมนุมในวันดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเย็นประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไป ของวันที่ 2 ธ.ค. 2563 อัยการระบุในคำฟ้องว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ, ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวันนั้นมีการตั้งเวทีปราศรัยด้านใต้ทางเดินรถไฟฟ้า BTS โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนหลายคนผลัดกันขึ้นพูดปราศรัย ซึ่งต่อมาทำให้นักกิจกรรม 7 รายถูกฟ้องเป็นคดีนี้ ในข้อกล่าวหา ได้แก่
- ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
- ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
- ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
- เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกการกระทำแต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
- ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10
- ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108, 114
- ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4
- ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34, 35
นักกิจกรรมที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ได้แก่ อานนท์, พริษฐ์, ภาณุพงศ์, ปนัสยา, จิรฐิตา, คริษฐ์ และชินวัตร ระหว่างการสืบพยานช่วงปลายปี 2566 นี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ชินวัตรให้การใหม่เป็น ‘รับสารภาพ’ อัยการจึงแยกฟ้องคดีของจำเลยคนอื่น ๆ เป็นคดีใหม่ และนัดฟังคำพิพากษาในกรณีของชินวัตรที่ให้การรับสารภาพเป็นวันนี้ ส่วนคดีที่ฟ้องใหม่ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 มี.ค. 2567 จากนั้นจะนัดสืบพยานต่อไป
ทั้งนี้ คำฟ้องในคดีที่พิพากษา อัยการบรรยายฟ้องถึงคำปราศรัยบางส่วนของชินวัตรโดยสรุปว่า พูดปราศรัยเกี่ยวกับการเชิญชวนประชาชนให้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และการได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการจำเป็นจะต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญก่อน
ดูฐานข้อมูลคดี: คดี 112 “7 นักกิจกรรม” ปราศรัยม็อบ #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว วิจารณ์กระบวนยุติธรรม
(ภาพบรรยากาศการชุมนุม #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชา ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ถ่ายโดย Thai PBS)
คำพิพากษา: ศาลพิพากษาให้ผิดทุกข้อหา จำคุกรวม 6 ปี แต่ได้ลดเหลือ 3 ปี ปรับ 11,100 บาท
ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 914 ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกรวม 6 ปี และปรับ 22,200 บาท มีรายละเอียด ดังนี้
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มาตรา 215 และ มาตรา 216 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 116 ที่มีโทษหนักสุด จำคุก 2 ปี
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ปรับ 200 บาท
- ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108, 114 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 385 (กีดขวางทางสาธารณะ) ที่มีโทษหนักสุด ปรับ 2,000 บาท
- ข้อหาตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีโทษหนักที่สุด ปรับ 20,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ปรับ 11,100 บาท โดยไม่รอลงอาญา
หลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชินวัตรไปยังห้องคุมขังใต้ถุนศาล ระหว่างรอผลคำสั่งการยื่นประกันตัว จากการยื่นประกันของญาติชินวัตร
เวลาประมาณ 17.40 น. จนกระทั่งหมดเวลาทำการของศาลอาญา ญาติของชินวัตรยังเตรียมนำโฉนดที่ดินไปยื่นประกันตัวไม่ทัน ทำให้เย็นวันนี้ชินวัตรจะต้องถูกส่งตัวไปคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป
.
(เพิ่มเติมข้อมูล)
ต่อมาวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวชินวัตรระหว่างอุทธรณ์ หลังมีผู้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท เป็นหลักประกันตัว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง