วันที่ 24 ส.ค. 2565 เวลา 13.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว รวมถึงไต่สวนคัดค้านฝากขังครั้งที่ 3 “ไบรท์ — ชินวัตร จันทร์กระจ่าง” นักกิจกรรมจังหวัดนนทบุรี ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีเข้าร่วมปราศรัยกิจกรรมเรียกร้องขอคืนสิทธิการประกันตัวให้ “บุ้ง-ใบปอ” นักกิจกรรมทะลุวัง บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 และได้นำมาสู่การขอออกหมายจับและจับกุมตัวที่บ้านพักในวันที่ 30 ก.ค. 2565
สำหรับการไต่สวนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งประกันตัว เนื่องจากศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งระบุใจความสำคัญว่า ในคดีนี้ ไบรท์ได้ถูกดําเนินคดีรวม 16 คดี ซึ่งเคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นส่งคําร้องที่บรรยายถึงการกระทําของผู้ต้องหา ยังไม่เพียงพอที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยสั่งคําร้องได้ จึงขอให้ทำการไต่สวนเพิ่มเติม
.
อ่านคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งประกันตัว เพิ่มเติม >> ศาลอุทธรณ์สั่งไต่สวนคำร้องขอประกันตัว “ไบรท์ ชินวัตร” คดี 112 พรุ่งนี้
.
“ไบรท์” แถลงยืนยันเจตจำนงว่ากิจกรรมในวันเกิดในหลวงรัชกาลที่ 10 เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวของนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น
เวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 502 ไบรท์ถูกนำตัวมาเข้าร่วมพิจารณาคดีผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งในวันนี้ได้มีผู้ไว้วางใจของผู้ต้องหา เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ในคดีด้วย จำนวน 1 คน
เวลา 13.45 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดีโดยแจ้งว่าการไต่สวนในวันนี้ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงในคดีประกอบการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และให้พนักงานสอบสวนผู้ร้องขึ้นเบิกความ ทราบชื่อ พ.ต.ท. คมสัน เลขาวิจิตร อายุ 46 ปี พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา
ศาลถามต่อผู้ร้องว่า ในคดีนี้ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดอย่างไร ซึ่งผู้ร้องตอบว่า ไบรท์กระทำความผิดในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 10 โดยเข้าร่วมชุมนุม ไลฟ์สด และกล่าวปราศรัยดูหมิ่น ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ ที่บริเวณหน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลอาญากรุงเทพใต้
เมื่อศาลถามถึงหลักฐานการไลฟ์สด หรือการถ่ายทอดภาพบรรยากาศในเหตุการณ์ของคดีนี้ว่าได้ส่งหลักฐานยื่นมาด้วยหรือไม่ ผู้ร้องได้ตอบว่า พนักงานสอบสวนได้ทำสำเนาและคัดถ่ายคลิปวีดิโอและรูปภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไว้หมดแล้ว โดยผู้แจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ (อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส.) เป็นผู้รวบรวมให้ โดยเฉพาะในส่วนคำปราศรัยที่นำมาเป็นเหตุในการขอฝากขัง ผู้ร้องขอยืนยันเหตุเดิมเหมือนกับการฝากขังในครั้งที่ 1
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนผู้ร้องยังได้อธิบายเหตุการณ์ในคดี โดยระบุว่า ในช่วงกลางวัน ไบรท์มีการชูป้ายข้อความ และร้องเพลงต่อหน้ารูปในหลวงรัชกาลที่ 10 ส่วนในตอนกลางคืน ผู้ต้องหาได้ทำการกล่าวปราศรัยและโกนหัวต่อหน้ารูปในหลวงนั้น ซึ่งภาพและวิดีโอทั้งหมดทางตำรวจได้รวบรวมและได้ยื่นต่อศาลแล้ว
ศาลได้ถามต่อพนักงานสอบสวนผู้ร้องว่า ในคดีนี้มีการคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาไว้ด้วย ขอให้ผู้ร้องระบุเหตุผลดังกล่าว ซึ่ง พ.ต.ท.คมสัน อธิบายว่า การคัดค้านการประกันตัวมีความจำเป็น เพราะเกรงว่าไบรท์จะไปก่อเหตุอันเป็นภัยความมั่นคงประการอื่นอีก
อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ถามค้านเหตุผลดังกล่าวว่า ในคดีอื่นของผู้ต้องหารายนี้ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด 4 คดี ซึ่งถูกเรียกเป็นเงินค่าปรับในชั้นสอบสวน และไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาล นอกจากนี้บางคดี ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้อง หรืออยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และบางคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น และไม่เคยทำผิดเงื่อนไขในระหว่างที่ได้รับการประกันตัว
ทั้งนี้ ทนายความได้แถลงสรุปว่า คดีทั้งหมดจำนวน 16 คดี ที่พนักงานสอบสวนอ้างเป็นเหตุในการคัดค้านการประกันตัวนั้น ไม่มีคดีไหนเลยที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินถึงที่สุดว่าไบรท์ได้กระทำผิดแต่อย่างไร
ต่อมา ศาลได้ให้ไบรท์ขึ้นเบิกความผ่านจอภาพ เขาได้กล่าวยืนยันเจตนารมณ์การเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ว่าคือการเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังในคดีการเมืองอย่าง “บุ้ง – ใบปอ” เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นหรือทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียแต่อย่างใด โดยเขาได้อธิบายว่า
“ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เห็นความไม่ถูกต้อง และกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่มีคำตัดสินของน้องผู้หญิงสองคนนั้น ผมเพียงออกมาเพื่อประท้วงต่อศาลและประยุทธ์”
“ผมจำได้ ที่ประยุทธ์เคยบอกกับประชาชนว่าในหลวงทรงมีราชโองการไม่ให้ใช้มาตรา 112 มาดำเนินคดีกับประชาชน หรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนนี้ มันคือการกลั่นแกล้ง”
ส่วนเหตุการณ์ที่มีการโกนหัวต่อหน้ารูปของในหลวงรัชกาลที่ 10 เขาได้แถลงต่อศาลว่า
นอกจากนี้ ไบรท์ยังได้แถลงต่อไปว่า ในส่วนของการชูป้ายและร้องเพลงตามคำร้องคัดค้านการประกันของพนักงานสอบสวน ก็ไม่ได้มีข้อความที่ดูหมิ่นต่อกษัตริย์แต่อย่างใด มีเพียงข้อความที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังทั้งสองคนเท่านั้น
“ในการออกแถลงการณ์ไม่รับกระบวนการยุติธรรม ก็เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าผมประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่ตอนถูกคุมขังแล้วน้องสองคนนั้นได้รับการประกัน มันทำให้ผมมีหวังและสามารถกลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการได้อีกครั้ง ผมจึงขอให้ทนายทำเรื่องประกันตัว” เขากล่าว
ต่อมาเวลา 15.00 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี พร้อมระบุว่าเนื้อหาการไต่สวนในวันนี้จะถูกรวบรวมพร้อมกับเอกสารคำร้องที่ทนายยื่นอุทธรณ์และคำร้องคัดค้านการประกัน รวมถึงคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 ที่ผู้ร้องยื่นเข้ามา เพื่อส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณามีคำสั่งต่อไป โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 วัน
.
ไต่สวนคัดค้านฝากขัง ครั้งที่ 3 — ผู้ร้องอ้างว่าไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำได้ แม้ผู้ต้องหาจะไม่เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ แต่ศาลอนุญาตฝากขังต่อ
เวลา 15.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 404 ไบรท์ถูกเบิกตัวเข้าร่วมพิจารณาคดีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยศาลให้ผู้ร้องคือ พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ซึ่งทำการยื่นคำร้องขอฝากขังเป็นครั้งที่ 3 ขึ้นไต่สวน
ผู้ร้องขึ้นเบิกความว่า ในการขอฝากขังครั้งที่ 3 จำเป็นที่ต้องทำสอบปากคำพยานบุคคลอีกจำนวน 8 ปาก และต้องรอผลลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา
ทั้งนี้ ศาลได้ถามว่าในการดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคลดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการเท่าใด ผู้ร้องแถลงว่าไม่สามารถชี้แจงวันเวลาได้ เนื่องจากการสืบเสาะหาตัวพยาน มีความจำเป็นที่จะต้องทำหนังสือแจ้ง ซึ่งการส่งหนังสือก็ใช้เวลาประมาณ 15 วัน เพราะกลุ่มพยานบุคคลที่จะนำมาสอบปากคำนั้นไม่ได้มีเพียงแค่บุคคลธรรมดา แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้วย
ทนายความถามค้าน ในกระบวนการเรียกสอบปากคำพยานบุคคลและรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ เป็นกระบวนการภายในองค์กรตำรวจของผู้ร้องใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้ตอบว่าใช่ และผู้ต้องหาก็ไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว
เมื่อทนายถามต่อผู้ร้องว่า หากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขัง ไบรท์ก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับกระบวนการใดๆ ของตำรวจได้ใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนผู้ร้อง ได้ตอบว่า ถึงแม้ผู้ต้องหาจะไม่ถูกฝากขังต่อ ก็จะมีเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ชอบนำชื่อพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนจะเรียกสอบปากคำไปเผยแพร่ลงบนโซเชียล ทำให้พยานหลายคนไม่กล้ามาเข้าร่วมการสอบสวน และทำให้กระบวนการล่าช้า
ทนายความได้ทวนคำถามต่อผู้ร้องอีกครั้งว่า สำหรับกระบวนการสอบปากคำพยานบุคคลในคดีนี้ หากผู้ต้องหาถูกปล่อยตัวก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการได้ใช่หรือไม่ และทนายยังได้ถามต่อผู้ร้องว่า ในเรื่องของการเผยแพร่ชื่อพยานบุคคลที่ผู้ร้องจะสอบสวนนั้น จะสามารถทำได้อย่างไร ในเมื่อผู้ร้องไม่เคยส่งรายชื่อพยานมาให้ทนายหรือผู้ต้องหาทราบเลย ผู้ร้องจึงได้ยืนยันตามข้อเท็จจริงที่ถาม
ทนายได้ถามต่อว่า ในคำร้องขอฝากขัง ที่อ้างว่าผู้ต้องหามีคดีอื่นอยู่อีก 16 คดี ซึ่งยังไม่มีคดีใดที่ศาลตัดสินถึงที่สุด และผู้ต้องหาก็ไปตามหมายทุกครั้ง ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และไม่เคยทำผิดเงื่อนไขประกันแต่อย่างใด จะมีเพียงแต่คดีนี้เท่านั้นที่ถูกออกหมายจับจาก สน.ยานนาวา โดยผู้ร้องได้ตอบทนายว่าไม่ทราบในรายละเอียดในคดีอื่น
ทนายถามต่อว่า ในคดีนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนใช่หรือไม่ และหากการแบ่งหน้าที่ปฏิบัติงานภายในคณะจะสามารถช่วยลดระยะเวลาการเรียกตัวพยานมาสอบปากคำได้ไหม แต่ผู้ร้องก็ได้ตอบว่ามันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากวันว่างของพยานแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ในเวลา 15.50 น. ศาลอ่านคำเบิกความของพนักงานสอบสวน โดยทนายความได้คัดค้านคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน เนื่องจากพบว่าในเอกสารคำร้องระบุการสอบปากคำพยานบุคคลเพียง 3 ปากเท่านั้น แต่ผู้ร้องเบิกความต่อศาลว่าต้องการสอบพยานจำนวน 8 ปาก ซึ่งผู้ร้องได้แถลงตอบศาลว่าจำนวนพยานในคำร้องคือบุคคลที่ตอบรับหนังสือเชิญสอบปากคำแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงมีพยานที่ต้องการสอบจำนวน 8 ปาก ศาลจึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาแก้ไขคำร้องที่หน้าบัลลังก์
ต่อมา 16.20 น. ศาลกลับเข้าห้องพิจารณาคดี เพื่ออ่านคำสั่ง มีใจความสำคัญเห็นว่า ผู้ร้องยังต้องสอบสวนพยานบุคคลในชั้นสอบสวนอีก 8 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือ และพยานบุคคลทั้งหมดมีความเกี่ยวพันกับผู้ต้องหา ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องมีความจำเป็นจะต้องขอฝากขังต่อ
ในส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในระหว่างสอบสวนนั้น เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ไม่เกี่ยวกับเหตุที่ศาลจะเอามาพิจารณาว่าจะให้ฝากขังหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้อนุญาตฝากขังผู้ต้องหาต่อ 12 วัน
อย่างไรก็ตาม ไบรท์ได้ฝากข้อความถึงมวลชนที่ยังสู้อยู่ข้างนอกว่า
สำหรับไบรท์ ชินวัตร เขาถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 คดีนี้นับเป็นคดีที่ 7 แล้ว โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี และยังไม่มีคดีในที่ศาลมีคำสั่งพิพากษาเขาจนถึงที่สุด ในส่วนคดีจากการชุมนุม ส่วนใหญ่คดีของไบรท์ก็ยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยมีคดีชุมนุม #ม็อบ6ธันวา2563 ที่ศาลแขวงธนบุรีมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ แต่ลงโทษปรับในข้อหากีดขวางการจราจรและการใช้เครื่องขยายเสียงเท่านั้น