ศาลอาญาไม่ถอนประกัน “ไบรท์” แต่ให้มารายงานตัวทุก 15 วัน หลังการไต่สวนโดยไม่มีทนาย

31 ส.ค. 2565 ศาลอาญานัดฟังคำสั่ง กรณีพนักงานอัยการร้องขอถอนประกันตัว “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมจากจังหวัดนนทบุรีวัย 30 ปี ในคดีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีร่วมชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 หลังมีการไต่สวนไปวานนี้ โดยไม่มีทนายความของชินวัตรเข้าร่วมถามค้าน และศาลไม่ให้เลื่อนการไต่สวนออกไป

ศาลได้วินิจฉัยยกคำร้องขอถอนประกันตัว โดยระบุคำสั่งเห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยจะมีความสุ่มเสี่ยงกับการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล แต่ก็ไม่มีพฤติการณ์ร้ายแรงจนถึงขนาดที่จะเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ ให้ยกคำร้อง แต่อย่างไรก็ตาม เห็นสมควรกำชับจำเลยให้ไม่กระทำการในลักษณะที่อาจฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายอีก จึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน นับแต่วันนี้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน

.

ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดไต่สวน แม้ภรรยาทนายจะตกเลือดกะทันหัน ไม่สามารถมาว่าความที่ศาลได้ 

เกี่ยวกับคดีชุมนุมหน้า SCB อัยการได้มีคำสั่งฟ้องไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 ก่อนที่ชินวัตรจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้กระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ รวมถึงห้ามเดินทางออกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด

ต่อมาอัยการได้ยื่นขอถอนประกันตัวชินวัตร สืบเนื่องมาจากการที่เขาปราศรัยที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ในวันที่ 28 ก.ค. 2565 เรียกร้องขอคืนสิทธิการประกันตัวให้ “บุ้ง-ใบปอ” นักกิจกรรมทะลุวัง ที่อดอาหารมาเกือบสองเดือนในช่วงดังกล่าว และอ้างว่าเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว ศาลจึงได้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าว

วันที่ 30 ส.ค. 2565 ที่ห้องพิจารณา 912 ก่อนเริ่มการไต่สวนถอนประกัน “ชินวัตร” แถลงขอเลื่อนคดี เนื่องจากในช่วงเช้าของวันนี้ ภรรยาของทนายจำเลยมีอาการตกเลือดกะทันหัน ทำให้ทนายจำเลยไม่อาจมาศาลได้ในวันนี้ 

ที่สำคัญชินวัตรได้แถลงว่า ตนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลว่ามีนัดไต่สวนในวันนี้ทางโทรศัพท์เท่านั้น โดยที่ศาลไม่ได้มีการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอถอนประกันไปให้จำเลยหรือนายประกันแต่อย่างใด ทำให้เขาไม่ทราบรายละเอียดล่วงหน้า และไม่อาจเตรียมตัวไต่สวนคำร้องในวันนี้ได้ทัน จึงขออนุญาตศาลเลื่อนคดีออกไปก่อน

ผู้พิพากษาได้ขึ้นไปปรึกษาผู้บริหารศาลอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนลงมาแจ้งว่าไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เนื่องจากในวันนี้เป็นเพียงการไต่สวนเรื่องสัญญาประกัน และนายประกันได้ส่งตัวจำเลยมาศาลตามนัด จึงถือว่าทราบนัดแล้ว ก่อนเริ่มทำการไต่สวนพยานผู้ร้องทั้งหมด 2 ปาก

.

พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือขอพิจารณาถอนประกันจำเลยเลย- ประธาน ศปปส. ชี้สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพบูชา ไม่ควรจาบจ้วงวิจารณ์ในทางเสียหาย 

พ.ต.ท.นพดล ดรศรีจันทร์ รองผู้กำกับการสอบสวน สน.พหลโยธิน เป็นพยานปากแรก เบิกความโดยสรุปว่า ตนได้รับหนังสือจาก สน.ยานนาวา แจ้งเรื่องที่จำเลยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการปราศรัยในวันที่ 28 ก.ค. 2565 ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ และได้มีอานนท์ กลิ่นแก้ว มายื่นหนังสือขอให้พิจารณาถอนประกันจำเลยอีกด้วย เมื่อพยานได้รับหนังสือดังกล่าว จึงได้ทำหนังสือถึงพนักงานอัยการเพื่อให้พิจารณาเรื่องเงื่อนไขประกันตัวของจำเลย

ขณะที่ อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พยานปากที่สอง เบิกความว่า ตนเป็นประธานกลุ่ม ศปปส. ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโต้หรือแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับกลุ่มคนผู้หมิ่นสถาบันหรือกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยมีสมาชิกของกลุ่มก็จะเป็นผู้ที่มีแนวคิดเดียวกันกับพยาน

พยานได้ฟังการปราศรัยของจำเลยที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยฟังผ่านทางช่องทางสื่อออนไลน์ เนื้อหาคือเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขัง ‘ใบปอ’ และ ‘เนติพร’ และมีการกล่าวเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 พร้อมกันนี้ชินวัตรได้ทำการโกนหัวประท้วง โดยถ่ายรูปให้ติดกับรูปในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อเป็นการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

หลังได้เห็นการกระทำของจำเลยผ่านช่องทางสื่อออนไลน์แล้ว พยานจึงได้ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ยานนาวา พร้อมทั้งส่งหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอให้พนักงานสอบสวน ก่อนไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้ถอนประกันตัวชินวัตรที่ สน.พหลโยธิน

สุดท้ายนี้พยานเบิกความโดยสรุปว่า การกระทำของชินวัตรเป็นการกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนส่วนใหญ่ ไม่ควรที่จะมีใครมาจาบจ้วงวิจารณ์ในทางเสียหายได้

อานนท์ระบุว่าไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวกับจำเลย แต่ติดตามจำเลยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

การเบิกความของพยานทั้งสอง ไม่ได้มีการถามค้านจากฝ่ายจำเลย เนื่องจากไม่มีทนายจำเลยในการไต่สวน

.

‘ชินวัตร’ แถลงต่อศาล ปราศรัยเรียกร้องสิทธิประกันตัว “ใบปอ-เนติพร” ไม่ได้มีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์ การวิจารณ์กฎหมายเป็นสิ่งประชาชนที่ทำได้ 

หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนคำร้องแล้ว ชินวัตรได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลโดยสรุปว่า ตนเพิ่งทราบว่ามีการยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวานนี้ จำเลยและนายประกันไม่ได้รับคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวก่อนวันนัด นอกจากนี้ ทนายความของจำเลยยังไม่สามารถมาร่วมการไต่สวนนี้ได้ เนื่องจากภรรยาป่วย ทำให้ตนไม่สามารถได้ใช้สิทธิถามค้านพยานของผู้ร้องในวันนี้ 

สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 28 ก.ค. 2565 ชินวัตรระบุว่า ตนกระทำไปเพื่อเรียกร้องสิทธิให้ ‘ใบปอ’ และ ‘เนติพร’ จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม การโกนผมต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นการสื่อสารกับในหลวงรัชกาลที่ 10 ว่าพสกนิกรของพระองค์ถูกรังแก ไม่ได้มีเจตนาจะทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการปกป้องเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันฯ ในอีกรูปแบบหนึ่งต่างหาก

สำหรับถ้อยคำปราศรัยนั้น เป็นการปราศรัยวิจารณ์ข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งประชาชนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย รวมถึงไม่ขอรับรองเอกสารที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นถ้อยคำปราศรัยเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ว่าเป็นของจำเลยจริงหรือไม่ 

อีกทั้ง เกี่ยวกับคดีดังกล่าว ตนได้ถูกดำเนินคดี และทางตำรวจ สน.ยานนาวา ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปแล้ว ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่กี่วันก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้นำพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมาพิจารณาในชั้นปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด 

.

X