เปิดคำฟ้องคดี ม.112 “ราษฎร” 2 คดี ม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB และ #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 64 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2563 จำนวน 2 คดี ซึ่งมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อศาลอาญา ได้แก่ คดีชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 63 และคดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 63 

ในวันนั้น มีนักกิจกรรมทางการเมืองที่มารับฟังคำสั่งฟ้องทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, คริษฐ์ (สงวนนามสกุล) และจิรฐิตา (สงวนนามสกุล) ส่วนแกนนำที่เหลือยังถูกคุมขังในเรือนจำ

.

คำฟ้องคดีชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB

คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 8 ราย ได้แก่ ชินวัตร, วรรณวลี, พรหมศร, ณวรรษ และพงศธรณ์ โดยมีผู้ถูกกล่าวหาซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ได้แก่ อานนท์ นำภา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก นอกจากนั้นยังมี “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกอัยการแยกฟ้องต่างหาก ทำให้คำฟ้องระบุจำเลย 7 ราย

การชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 63 เดิมทีกลุ่ม “ราษฎร” ได้นัดหมายชุมนุมบริเวณหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่หลังมีการวางตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนาม พร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนจำนวนมาก จึงได้เปลี่ยนแปลงสถานที่นัดหมายเป็นหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถ.รัชดาภิเษก 

การชุมนุมในวันดังกล่าวมีการปราศรัยตั้งคำถามต่อกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกกฎหมายหลายฉบับที่ส่งผลให้เกิดการรวบทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเข้าเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทั้งหมดเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

(ภาพบรรยากาศการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ภาพโดย ประชาไท)

ในคำฟ้องกล่าวโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 63 จำเลยทั้ง 7 กับพวก ได้ร่วมกันประกาศชักชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมทางการเมืองที่มีชื่อว่า #25พฤศจิกา หรือ #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยและผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และ “เยาวชนปลดแอก” 

กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องทวงคืนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์หรือทรัพย์สินที่ควรเป็นของชาติ โดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพพ้นออกจากตำแหน่งไป เพราะมีที่มาไม่ถูกต้องและเพื่อเปิดทางให้ประเทศไทยกลับสู่ครรลองของระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากประชาชน 

ในวันเกิดเหตุ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 8,000 คน โดยมีการปราศรัยผ่านเครื่องกระจายเสียง ซึ่งมีใจความสำคัญในลักษณะว่าสถาบันกษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติและทรงใช้ภาษีของประชาชนเพื่อประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ อาทิ การดำเนินงานพิธีการหรือการตกแต่งในงานเนื่องในวันพระราชพิธีต่างๆ หรือกิจการในส่วนสถาบันพระกษัตริย์

พนักงานอัยการระบุว่า จำเลยทั้ง 7 กับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยผลัดเปลี่ยนกันพูดปราศรัยและเป็นดำเนินรายการในระหว่างชุมนุมสาธารณะ ดังนี้

อานนท์ นำภา จำเลยที่ 1 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับความกังวลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทูลเกล้าถวายคืนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้องค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว ได้ใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จำเลยที่ 2 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับความต้องการอยากเห็นสถาบันกษัตริย์อยู่ในที่ทางที่ถูกต้อง

ภาณุพงศ์ จาดนอก จำเลยที่ 3 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ การจะไม่ยอมให้ทรัพย์สินของแผ่นดินตกไปเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

วรรณวลี ธรรมสัตยา จำเลยที่ 4 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับการที่ประชาชนเสียภาษีให้กับกษัตริย์เฉลี่ยปีละ 430 บาท ต่อคน และพูดแสดงความเห็นว่าหากวันใดที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลง ก็ควรจะลดอัตราการเสียภาษีลงมาให้เกิดความเหมาะสม

พงศธรณ์ ตันเจริญ จำเลยที่ 5 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับความต้องการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

พรหมศร วีระธรรมจารี จำเลยที่ 6 ได้เป็นผู้ดำเนินรายการ

ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา จำเลยที่ 7 ได้ร่วมกันกล่าวคำปราศรัย โดยนำเสนอผ่านการแสดงเพลงช่อย ร่วมกับพริษฐ์ ชิวารักษ์

อัยการระบุในฟ้องว่าเมื่อบุคคลที่ 3 ได้ฟังคำปราศรัยดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงมีเจตนาเอาทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นของตัวเอง เบียดเบียนเอาภาษีของประชาชนมาเป็นของส่วนตัว ทรงใช้พระราชอำนาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครอง อันเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ด้วยข้อความหยาบคาย เป็นเท็จหรือบิดเบือน โดยน่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

ในท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการได้ระบุข้อกล่าวหาต่อจำเลยทั้ง 7 ราย ดังนี้

  1. ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  2. ร่วมกันทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
  3. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
  4. เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกการกระทำแต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
  5. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10
  6. ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108, 114
  7. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4
  8. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ตามข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

.

คำฟ้องคดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว

ในคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 7 ราย ได้แก่ อานนท์, พริษฐ์, ชินวัตร, ภาณุพงศ์, ปนัสยา, จิรฐิตา และคริษฐ์

การชุมนุม #2ธันวาคมไปห้าแยกลาดพร้าว มีขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของกองทัพบกและได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่อง 

(ภาพบรรยากาศการชุมนุม #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชา ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ถ่ายโดย Thai PBS)

ในคำฟ้องกล่าวโดยสรุปได้ว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยทั้ง 7 กับพวก ร่วมกันประกาศชักชวนประชาชนให้มาร่วมการชุมนุม #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป ในวันที่ 2 ธ.ค. 63 เวลา 16.00 น. ที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ, ให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ในวันเกิดเหตุ มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 3,000 คน โดยมีการปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง ตะโกน โห่ร้อง ด้วยคำพูดหรือสัญลักษณ์ “หยาบคาย” โจมตีกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ อันมีสาระสำคัญว่าทรงใช้พระราชอำนาจแทรกแซงฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหารจนเกิดความไม่ยุติธรรม มีการขีดเขียนหรือพ่นสีข้อความลงบนกระดาษ ลงบนเสาทางเดินยกระดับของรถไฟฟ้า และลงบนถนนสาธารณะ ตลอดจนเปิดเพลงหรือทำการแสดงดนตรี 

ผู้ชุมนุมยังมีการนำแผงเหล็กวางกั้นปิดการจราจร ตั้งวางเวที จอภาพขนาดใหญ่และเป็ดลมยาง จนเป็นอุปสรรคต่อการจราจรของประชาชนทั่วไป และไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันไวรัสโควิด-19 เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่ก็ยังขัดขืนไม่เลิกไป

อัยการระบุในคำฟ้องว่าจำเลยแต่ละรายได้ผลัดเปลี่ยนกันใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัย โดยอัยการได้ยกถ้อยคำที่จำเลยพูดปราศรัยมาไว้ในคำฟ้อง ซึ่งสรุปได้ดังนี้

อานนท์ นำภา จำเลยที่ 1 พูดปราศรัยเกี่ยวกับการเรียกร้องให้กษัตริย์เป็นกลางทางการเมืองจึงจะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน

พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยที่ 2 พูดปราศรัยเกี่ยวกับการแทรกแซงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และข้อเสนอเกี่ยวกับการให้ตัดมาตราที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญออกไปทั้งหมดเพื่อปฏิรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จำเลยที่ 3 พูดปราศรัยเกี่ยวกับการเชิญชวนประชาชนให้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และการได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการจำเป็นจะต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญก่อน

าณุพงศ์ จาดนอก จำเลยที่ 4 พูดปราศรัยเกี่ยวกับการที่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ถูกครอบงำและประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลและระบบยุติธรรมได้ 

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จำเลยที่ 5 พูดปราศรัยเกี่ยวกับการที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีกองกำลังทหารเป็นของตัวเอง อาทิ กรมทหารราบที่ 1 และราบที่ 11 และเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการตายหรือการหายตัวไปของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

จิรฐิตา จำเลยที่ 6 พูดปราศรัยเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย จนจำเลยได้รับบาดแผล รอยไหม้ และพุพองจากการถูกน้ำผสมสารเคมีฉีดใส่ในครั้งนั้น และเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบการที่ประชาชนถูกสลายการชุมนุมในครั้งนั้น

คริษฐ์ จำเลยที่ 7 พูดปราศรัยเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปกป้องไม่ให้พูดถึงอดีตกษัตริย์ และการปราบดาภิเษกพระเจ้าตากสินมหาราชโดยกษัตริย์รัชกาลที่ 1 รวมถึงตั้งคำถามถึงกรณีการสวรรคตของกษัตริย์รัชกาลที่ 8 

อัยการระบุว่า เมื่อบุคคลที่ 3 ได้ฟังปราศรัยดังกล่าวย่อมทำให้เกิดเข้าใจว่า กษัตริย์ทั้ง 10 รัชกาลในราชวงศ์จักรีทรงใช้พระราชอำนาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครองของฝ่ายบริหารและตุลาการ ทรงอยู่เบื้องหลังการใช้กำลังทรมานกับประชาชน อันเป็นการใส่ความด้วยข้อความหยาบคาย เป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ ในคำฟ้องอัยการยังได้ระบุข้อความคำทำนองว่า ประเทศไทยถูกปกครองโดยพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีมาจนถึงปัจจุบัน โดยระบุพระนามเต็มของทั้ง 10 พระองค์อีกด้วย 

จำเลยทั้ง 7 ได้ถูกอัยการกล่าวหาในฐานความผิดเช่นเดียวกับคดีแรก 

.

4 จำเลยในเรือนจำไม่ได้ประกัน ศาลชี้เห็นว่าร้ายแรง-มีหลายคดีติดตัว ด้านจำเลยที่ไม่ถูกขังได้ประกันทั้งหมด ด้วยเงื่อนไขห้ามสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

ในวันฟ้องคดี หลังอัยการได้นำผู้ต้องหาไปฟ้องต่อศาลอาญา จากนั้นจำเลยทั้ง 7 คน ถูกควบคุมตัวไปยังห้องควบคุมตัว โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาในแต่ละคดี เป็นจำนวนเงินคนละ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ยกเว้นชินวัตรที่ศาลสั่งให้วางหลักประกันเพิ่มอีก 1 เท่า เนื่องจากถูกฟ้องในทั้งสองคดี จึงยื่นขอประกันตัวชินวัตรด้วยหลักหลักทรัพย์ 180,000 บาท 

ต่อมาศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน 4 จำเลย ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำขณะนี้ทั้งสองคดี ได้แก่ อานนท์, พริษฐ์, ภาณุพงศ์ และปนัสยา โดยศาลให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าร้ายแรงประกอบกับจำเลยถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้หลายคดี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าจะก่ออันตรายประการอื่น หรือหลบหนีคดี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”

ด้านจำเลยซึ่งไม่ถูกคุมขังศาลได้มีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งหมด โดยชินวัตรได้ประกัน โดยศาลให้วางหลักทรัพย์ คดีละ 200,000 บาท ด้านจิรฐิตา, คริษฐ์, วรรณวลี, พงศธรณ์, พรหมศร และณวรรษ ได้ประกันโดยศาลให้วางหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้กระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ รวมถึงห้ามเดินทางออกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด 

.

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “7 นักกิจกรรมราษฎร” ปราศรัยตั้งคำถามต่อทรัพย์สินกษัตริย์ในม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB

คดี 112 “7 นักกิจกรรม” ปราศรัยม็อบ #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว วิจารณ์กระบวนยุติธรรม

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตั้งข้อหา 112 “ราษฎร” อีก 2 คดี ม็อบตั้งคำถาม “ทรัพย์สินกษัตริย์” และ “บ้านพักประยุทธ์”

แจ้งข้อหา ม.112 “รุ้ง ปนัสยา-บอย แนวร่วมมมส.” จากม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB และ #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว

“ณวรรษ” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 คดีที่ 3 เหตุร่วมร้องเพลงฉ่อยเรื่องทรัพย์สินกษัตริย์ ในม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB

แจ้งข้อหา ม.112 “จิรฐิตา” ผู้ปราศรัย #ม็อบ2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว คนสุดท้าย

แจ้ง 112 นร.ม.6 เหตุปราศรัยถึงปวศ.กษัตริย์ราชวงศ์จักรี ในชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว

X