“ณวรรษ” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 คดีที่ 3 เหตุร่วมร้องเพลงฉ่อยเรื่องทรัพย์สินกษัตริย์ ในม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB

10 มีนาคม 2563 – ที่ สน. พหลโยธิน แอมป์ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมทางการเมืองและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เดินทางไปตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ในคดีที่มี พ.ต.ท.ปิยะวัฒน์ พัชรนิตยธรรม กับพวก เป็นผู้กล่าวหา 

พ.ต.ท.พิภัสสร์ พูนลัน สารวัตร (สอบสวน) สน.พหลโยธิน และคณะฯ ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อณวรรษ เหตุจากการร่วมชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยในคดีนี้ ได้เคยมีการกล่าวหานักกิจกรรมรายอื่นๆ อีก 7 ราย ซึ่งแต่ละรายได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้ แต่ตำรวจได้มีการออกหมายเรียกณวรรษมาแจ้งข้อหาเพิ่มอีกหนึ่งราย

ภาพกิจกรรม #25พฤศจิกาไปSCB เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563

พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า ผู้ต้องหากับพวกได้เป็นแกนนำในการจัดการชุมนุม ก่อนหน้าที่จะมีการจัดการชุมนุมได้มีการโพสท์เชิญชวนมวลชนให้เข้าร่วมในการชุมนุมผ่านทางเพจ #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเพจ #เยาวชนปลดแอก บนเฟซบุ๊ก โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทวงคืนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ที่กลุ่มผู้ต้องหาอ้างว่าเป็นของชาติ เป็นของราษฎร

ผู้ต้องหาได้ร่วมกับเพื่อนนักกิจกรรมอีก 7 ราย มีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อมาใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 ในประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ โดยต้องการให้ประชาชนที่รับฟังการปราศรัย เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เบียดบังเอาทรัพย์สินของประชาชนหรือของแผ่นดินมาเป็นของตนเอง

ในวันเกิดเหตุ ก่อนเริ่มการชุมนุม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพื้นที่การชุมนุมได้สั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหากับพวกไม่ยอมเลิกการชุมนุม ซึ่งการชุมนุมของผู้ต้องหากับพวกและผู้ชุมนุมได้กีดขวางการจราจรจนไม่อาจสัญจรได้ตามปกติ กีดขวางทางเข้าออกอาคาร ขัดขวางการประกอบกิจการ หรือการใช้ชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาได้บรรยายเกี่ยวกับณวรรษในฐานะที่เป็นพิธีกรร่วมกับผู้ต้องหาอีก 2 ราย คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งได้ร่วมกันกล่าวคําปราศรัยโดยนําเสนอเป็นเพลงฉ่อยโต้ตอบกันผ่านเครื่องขยายเสียง สนทนาเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์

ข้อกล่าวหาอ้างว่าเพลงฉ่อยดังกล่าว มีเนื้อหาสาระที่ล้อเลียนเสียดสี ประชาชนทั่วไปฟังแล้วเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังในสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการร่วมกันหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จาบจ้วงล่วงเกินต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนาร่วมกันยุยงให้ประชาชนแสดงออกถึงการวิพากษ์วิจารณ์ และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อณวรรษทั้งหมด 8 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  1.       ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112)
  2.       ร่วมกันทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116)
  3.       ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215)
  4.       เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกการกระทำแต่ไม่เลิก (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216)
  5.       ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10)
  6.       ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385)
  7.       ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4)
  8.       ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย (ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)

ภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ และตำรวจได้ทำบันทึกประจำวันแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา โดยณวรรษได้เซ็นต์รับทราบด้วยประโยคว่า #ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมไม่ขอเดชะ พร้อมกับให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

ณวรรษถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 3 แล้ว และยังได้รับแจ้งว่าเขาถูกออกหมายเรียกคดีมาตรา 112 อีก 1 คดี ที่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ คดีจากชุมนุมติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” ที่หน้าสภ.คลองหลวง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ณวรรษเดินทางไปรับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการในคดีความสืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563 ข้อกล่าวหาหลักคือประมวลกฎหายอาญา มาตรา 116 ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 35,000 บาท

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่จะถึงนี้ ณววรษยังมีกำหนดนัดฟังคำสั่งฟ้องของอัยการในคดีความที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2663 โดยในคดีมีผู้ต้องหาทั้งหมด 13 คน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ในฐานะข้อหาหลัก

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X