แจ้งข้อหา ม.112 “จิรฐิตา” ผู้ปราศรัย #ม็อบ2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว คนสุดท้าย

5 ม.ค. 64 เวลา 13.00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน “ฮิวโก้” จิรฐิตา (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว บริเวณห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 63 โดยพบว่าคดีนี้มีสมาชิกของกลุ่มพลังประชาชนปกป้องสถาบันฯ เป็นผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์ด้วย

สำหรับการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว หรือ #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป มีขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ในคดีบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สิ้นสุดลง และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของกองทัพบกและได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่อง 

คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดี 6 ราย ก่อนหน้านี้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่ออานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ภาณุพงศ์ จาดนอก ในระหว่างที่เข้ารับทราบข้อหาในคดีชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ซึ่งไม่มีการออกหมายเรียกมาก่อน แต่ สน.พหลโยธิน เป็นเจ้าของสำนวนเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 63 ขณะที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 64 ที่ผ่านมา และจิรฐิตาเป็นผู้ถูกกล่าวหาคนสุดท้ายในคดีที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

 

ภาพการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว วันที่ 2 ธ.ค. 63 (ภาพโดยไทยพีบีเอส)

 

ในวันนี้ พ.ต.ท.พิภัสสร์ พูนลัน สารวัตร (สอบสวน) สน.พหลโยธิน และคณะพนักงานสอบสวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจิรฐิตา ว่าได้ร่วมกับแกนนำคนอื่นๆ ในการชักชวนคนมาร่วมชุมนุม และขึ้นเวทีปราศรัยโดยมีการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการถอดเทปเนื้อหาคำปราศรัยของจิรฐิตาที่ขึ้นพูดในเวทีดังกล่าว โดยสรุปเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนได้ร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำที่ผสมสารเคมีเข้าใส่ ทำให้เกิดบาดแผล รอยไหม้และพุพองบนร่างกาย ซึ่งเป็นความรุนแรงอย่างมาก และยังกล่าวถึงการใช้มาตรา 112 เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งประเด็นการเลือกข้างทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และการตัดสินของศาลที่อ้างว่ากระทำภายใต้พระปรมาภิไธย

พนักงานสอบสวนระบุว่าถ้อยคำการปราศรัยดังกล่าวนั้น มีบริบทในสาระเนื้อหา ทำให้ประชาชนทั่วไปฟังแล้วเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง ขาดความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการร่วมกันหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีเจตนาร่วมกันทำให้ปรากฏแก่วาจา เพื่อยุยงให้ประชาชนแสดงออกถึงการวิพากษ์วิจารณ์และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาจิรฐิตารวม 8 ข้อหา เช่นเดียวกับแกนนำอีก 5 รายก่อนหน้านี้ ได้แก่

  1. ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112)
  2. ร่วมกันทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116)
  3. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215)
  4. เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกการกระทำแต่ไม่เลิก (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216)
  5. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10)
  6. ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385)
  7. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4)
  8. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย (ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)

จิรฐิตาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ได้เขียนข้อความ “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ลงไปแทน โดยตำรวจกำหนดวันยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 3 ก.พ. 64 และได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

ขณะเดียวกันยังพบว่าคดีนี้มีผู้แจ้งความร้องทุกข์เป็นประชาชนทั่วไป ได้แก่ นางชุติมา เลี่ยมทอง กับพวก ซึ่งจากรายงานข่าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ระบุว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มพลังประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (พปปส.)

ทั้งนี้คดีนี้เป็นตัวอย่างปัญหาการบังคับใช้ข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 คือเปิดช่องให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แม้จะมีกระบวนการกลั่นกรองในชั้นตำรวจและอัยการ แต่ก็พบว่ากฎหมายมาตรานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาได้ง่าย 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ทั้งหมดอย่างน้อย 25 คดี มีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีเอง จำนวน 12 คดี

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

X