ทบทวนไทยไม่รับข้อเสนอที่ประชุม UN แก้ไขกฎหมายไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อหา ม.112 ทั้งยังดำเนินคดีปชช.เกินร้อยคน

นับตั้งแต่มีการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามในการควบคุมและจำกัดประชาชนในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือการชุมนุมสาธารณะ ด้วยการดำเนินคดีประชาชนเป็นจำนวนมากโดยกฎหมายที่ไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ  ถึงแม้ว่าจะหมดยุค คสช. ไปแล้ว แต่การดำเนินคดีในรัฐบาลปัจจุบันที่สืบทอดต่อจาก คสช. ยังคงมีความคล้ายคลึงที่ไม่ต่างกันมากนัก 

เดือนพฤศจิกายน 2564 การประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodical Review หรือ UPR) ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่จัดทำทุกสี่ปี ได้เวียนมาถึงประเทศไทยเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2554 และปี 2559 ตามลำดับ โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมส่งรายงานกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) 3 ฉบับ ได้แก่ ร่วมกับสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 1 ฉบับ, ร่วมกับกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) 1 ฉบับ และร่วมกับ Lawyers for lawyers (L4L) อีก 1 ฉบับ 

ในบทความนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะย้อนกลับไปสำรวจประเด็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ที่ถูกจำกัดโดยการใช้ข้อกฎหมายเพื่อดำเนินคดีประชาชนทั่วไป

ไทยรับ 11 ข้อเสนอ เคารพความคิดเห็นและการแสดงออก – ไม่รับ 14 ข้อเสนอทบทวน แก้ไข ยกเลิก กฎหมายที่ไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ

ตามรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ระบุว่าระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเสนอแนะ 11 ข้อ จากประเทศเชคโกสโลวาเกีย กัวเตมาลา ญี่ปุ่น เลบานอน สาธารณรัฐเกาหลี แอลเบเนีย ชิลี ฝรั่งเศส คอสตาริกา โคลอมเบีย และ ออสเตรีย ที่เสนอให้รับรองและเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น 

แผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจ ภายใต้กลไก UPR รอบที่ 2 ระหว่างปี 2559 ถึง 2563 ได้กำหนดแผนงานเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองไว้ว่า ให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมศึกษาแนวปฏิบัติและกฎหมายของประเทศอื่นๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย รวมถึงให้ทุกหน่วยงานจัดเวทีหารือเพื่อส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในช่วงปี 59 ถึง 63

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอแนะ 14 ข้อ จากประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ อังกฤษ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน ลัตเวีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี บอสสวานา อิตาลี ไอซ์แลนด์ ลัตเวีย และบราซิล   ที่เสนอให้ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายและข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก 

ไทยใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ ดำเนินคดีปชช.อย่างต่อเนื่อง 

กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อดำเนินคดีประชาชนในวงกว้าง ได้แก่ ข้อ 5 คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารในการออกคำสั่ง “ห้ามการเสนอข่าวการ จำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสืออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน”  ยังไม่ถูกยกเลิกและยังคงมีผลบังคับใช้หลังการยุบ คสช. ในเดือน ก.ค. 62

ข้อหามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีในช่วงคสช.ตั้งแต่ พ.ค. 57 ถึง ก.ค. 62 อย่างน้อย 124  คน และหลัง คสช. ตั้งแต่เดือน 17 ก.ค. 62 ถึง มี.ค. 64 อย่างน้อย 115 คน 

ข้อหามาตรา 326 (หมิ่นประมาท) และ 328 (หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา) ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 59 ถึง ปี 63 กว่า 22 คน ใน 37 คดี อาทิ ในกรณีบริษัทธรรมเกษตร ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มไก่ ฟ้องคดีอาญาดังกล่าวต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนงาน และนักข่าว โดยเกิดมาจากการที่จำเลยได้บันทึกข้อมูล สื่อสาร และรณรงค์เกี่ยวกับข้อกล่าวหาต่อธรรมเกษตรเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน

ข้อหาละเมิดอำนาจศาล  ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 – 33 ตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 ถึง ต.ค. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 25 คน ใน 15 คดี จำนวนนี้เป็นคดีที่มีมูลเหตุจากการเรียกร้องสิทธิประกันตัว 13 คดี

และ มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีการนิยามการกระทำผิดที่มีลักษณะคลุมเคลือและสามารถตีความได้กว้าง จึงถูกใช้เพื่อเอาผิดการแสดงความคิดเห็นโดยสงบทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 57 ถึง เม.ย. 63 มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 239 คน จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เจ้าหน้าที่กองทัพ และสถาบันกษัตริย์

ในช่วงเดือน ต.ค. 63 ที่มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในกรุงเทพฯ มีการเตือนผู้เข้าร่วมชุมนุมที่่ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียว่าอาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกาศว่าจะดำเนินคดีผู้ใช้โซเชียลมีเดียกว่า 300,000 URLs ซึ่งต่อมีการดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯก ว่า 10 คน จากการแสดงออกทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

รวมถึงทางกระทรวงได้ยื่นคำร้องขอปิดเนื้อหาต่อศาล ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์กว่า 4,024 URLs ในช่วงเดือน ส.ค. ถึง ก.ย. 63 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกลุ่ม Royalist Marketplace ที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 63 ทั้งนี้ทางกระทรวงอ้างว่าจะดำเนินคดีทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากไม่ยอมปิดกั้นเนื้อหาตามคำสั่งศาล ทำให้ทางเฟซบุ๊กประกาศว่าจะเตรียมดำเนินคดีรัฐไทยเช่นกัน

ไทยไม่รับ 8 ข้อเสนอ ยกเลิก-แก้ไข กฎหมาย“หมิ่นพระมหากษัตริย์” แถมใช้อย่างเข้มข้นขึ้น 

ไทยไม่ยอมรับข้อเสนอแนะ 8 ข้อ จากประเทศสเปน แคนาดา ลัตเวีย ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เยอรมนี และเบลเยียม ที่เสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ และให้ยุติการใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวโดยมิชอบเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

อีกทั้ง รัฐบาลไทยประกาศรับทราบข้อเสนอ 2 ข้อ จากประเทศสหรัฐอเมริกา และเบลเยียม ที่เสนอแนะเพิ่มเติมให้ยกเลิกการบังคับโทษจำคุกขั้นต่ำภายใต้มาตรา 112 อีกด้วย 

“คดี 112” “คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์” หมายถึงคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี”

ในช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 57 ถึง ม.ค. 61 ทางการยังดำเนินการจับกุม ควบคุมตัว ดำเนินคดี และจำคุกบุคคลภายใต้ข้อหา 112 กว่า 50 คน และมี 14 คนที่ถูกจำคุก โดยมีการตัดสินโทษจำคุกที่สูงที่สุดภายใต้มาตรา 112 อยู่ 2 คดี ได้แก่ คดีของวิชัย (สงวนนามสกุล) จากการโพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก 10 ครั้ง ศาลทหารเห็นว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท 10 กรรมและตัดสินจำคุกเป็นเวลาถึง 70 ปี โดยลดโทษให้เหลือ 35 ปี เนื่องจากรับสารภาพในชั้นศาล 

และคดีของอัญชัญ ปรีเลิศ จากการโพสต์เนื้อหาออนไลน์ ศาลอาญาเห็นว่าเป็นความผิด 29 กรรมและตัดสินจำคุก 87 ปี โดยลดโทษให้เหลือ 43 ปีกับ 6 เดือน เนื่องจากสารภาพในชั้นศาล จนทำให้ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติแสดงความวิตกต่อการใช้กฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรงในกรณีนี้

ปัญหาที่พบเจอภายใต้การดำเนินคดีด้วยข้อหา 112 ได้แก่ 

  • ศาลทหารและศาลยุติธรรมมีแนวโน้มพิพากษาลงโทษผู้ต้องคดีนี้ด้วยอัตราโทษที่สูงขึ้น จากเดิมกรรมละ 5 ปี เป็นกรรมละ 8-10 ปี 
  • การพิจาณาคดีพลเรือนที่ศาลทหาร 
  • จำเลยถูกตัดสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา อย่างน้อย 10 คดี 
  • ไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย อย่างน้อย 18 คดี  
  • ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อย่างน้อย 46 คน ในกรณีของสิรภพที่โดนคุมขังระหว่างพิจารณานานกว่า 5 ปี
  • ไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วทำให้จำเลยจำนวนมากเลือกรับสารภาพแทนการต่อสู้คดี
  • 11 คดีถูกโอนมาที่ศาลยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งศาลยุติธรรมพิจารณาและทำคำพิพาษาต่อ โดยไม่ได้สืบพยานเอง       

ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 61 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ออกแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีเพื่อควบคุมการใช้มาตรา 112 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องกับพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 10 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ทรงมีเมตตา ไม่ให้ใช้มาตรา 112” 

ทั้งนี้การดำเนินคดีประชาชนด้วยข้อหาอื่นๆ เช่น ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน อีกทั้ง คนที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 โดยตำรวจ ถูกเปลี่ยนเป็นข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 63 การจับกุม ดำเนินคดี และควบคุมตัวด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เกิดขึ้นเป็นระลอกสอง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่ามาตรา 112 จะเป็นหนึ่งใน “กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” ที่จะถูกบังคับใช้กับผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตรย์มากขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 จนถึง 31 ต.ค. 64 มีผู้ดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวแล้วกว่า 154  คน รวมเยาวชน 12 คน แทบทั้งหมดเป็นการตั้งข้อหาต่อนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและผู้เข้าร่วมการประท้วง ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับกษัตริย์ไทยในระหว่างการประท้วงหรือบนโซเชียลมีเดีย

อีกทั้งในช่วงระหว่างวันที่ 9 ก.พ. ถึง 25 มี.ค. 64 ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาดังกล่าว 12 คน ถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีและระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน 

ผู้ต้องหาและจำเลยที่ได้รับสิทธิในประกันตัว แต่กลับโดนจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกและเข้าร่วมการชุมนุมด้วยเงื่อนไขการประกัน ได้แก่ ห้ามกระทำการตามที่ถูกฟ้องหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่รับอนุญาตจากศาล 

ข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาสังคม ทางศูนย์ทนายความฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ดังต่อไปนี้ 

1. แก้ไขมาตรา 326 และ 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทย โดยมุ่งหมายที่จะยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

2. แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อยกเลิกโทษจำคุกต่อการกระทำผิดอันเกิดจากการใช้โดยชอบธรรมซึ่งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก

3. ยกเลิกข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยทันที

4. ยุติการจับกุม ดำเนินคดี และควบคุมตัวภายใต้กฎหมายต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศของไทยว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก รวมถึงมาตรา 112, 116, 326 และ 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

5. แก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทย เพื่อยกเลิกโทษจำคุกต่อการกระทำผิดอันเกิดจากการใช้โดยชอบธรรมซึ่งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก

6. ประกันถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมแก่จำเลยข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ย์ รวมถึงสิทธิในการประกันตัว

7. กำหนดให้ระงับและชะลอ การดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ต่อบุคคลซึ่งเพียงแค่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก

8. ปล่อยตัวบุคคลทั้งหมดที่ถูกคุมขังในเรือนจำภายใต้มาตรา 112 เพียงเพราะการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก

9. สงวนอำนาจที่จะแจ้งความฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 ให้แก่สำนักพระราชวังแต่เพียงผู้เดียว

10. จัดให้มีการเยือนประเทศอย่างเป็นทางการของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่สาม

11. ให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Optional Protocol to the ICCPR) ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่สาม

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับคำแนะนำของนานาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ปัญหาและความท้าทายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพการชุมนุมทางการเมืองได้รับการแก้ใข 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
รัฐไทยใช้กฎหมายควบคุม-สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ แม้รับข้อเสนอประกันสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมรัฐไทยใช้กฎหมายควบคุม-สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ แม้รับข้อเสนอประกันสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม
สิทธิเด็กถูกรัฐไทยใช้กฎหมายควบคุม-สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ แม้รับข้อเสนอประกันสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมละเมิดหนัก แม้รัฐไทยรับ 10 ข้อเสนอ ปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชนจากความรุนแรง
ไทยประกาศกลางยูเอ็น ไม่พร้อมยกเลิกคำสั่ง คสช.  และรับข้อเสนอจัดอภิปราย-ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกติการะหว่างประเทศ แต่กลับดำเนินคดีประชาชนสวนทาง
วันผู้สูญหายสากล: ไทยรับข้อเสนอแนะ 10 ข้อบนเวทีโลกผ่านกลไก UPR ประเด็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ไร้การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากว่า 4 ปี

X