ไทยประกาศกลางยูเอ็น ไม่พร้อมยกเลิกคำสั่ง คสช. และรับข้อเสนอจัดอภิปราย-ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกติการะหว่างประเทศ แต่กลับดำเนินคดีประชาชนสวนทาง

เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ กระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน (UPR) ที่จัดทำทุกสี่ปี่ ได้เวียนมาถึงประเทศไทยเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2554 และปี 2559 ตามลำดับ โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมส่งรายงานกับองค์กรด้านสิทธมนุษยชนถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) 3 ฉบับ ได้แก่ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 1 ฉบับ, กรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) 1 ฉบับ และ Lawyers for lawyers (L4L) อีก 1 ฉบับ 

ในบทความนี้ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะพาทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจประเด็นการจัดการคำสั่ง/ประกาศ ที่ออกมาในยุค คสช. ซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ของรัฐบาล คสช.  ผ่านคำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยต่อคำแนะนำของนานาชาติ โดยคำมั่นนี้อยู่ในกระบวนการกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) รอบที่ 2 ปี 2559 อีกทั้งบทความจะชี้ให้ทุกท่านเห็น ปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข ผ่านการรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชนที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ปี 2564 นี้

ไทยประกาศ ”ยังไม่พร้อมรับข้อเสนอแนะในช่วงเวลาพ.ค. 2559” ที่ให้ยกเลิกคำสั่งคสช. ทั้งหมด – ปัจจุบันบางประกาศยังไม่ถูกยกเลิก

ตามรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า ระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเสนอแนะ 4 ข้อจากประเทศลักเซมเบิร์ก แคนนาดา เบลเยี่ยมและออสเตรเลีย ที่เสนอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 รวมถึงข้อเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง/ประกาศ คสช. ทั้งหมดที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ถึงแม้รัฐบาลไทยจะยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ แต่ก็ประกาศว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะยอมรับข้อเสนอแนะเหล่านี้ในช่วงเวลานี้

ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลยกเลิกคำสั่งและประกาศหลายฉบับที่เป็นการจำกัดอย่างเกินควรต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ที่ออกเมื่อ 11 ธันวาคม 2561 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ที่ออกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562 ส่งผลให้มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คำสั่ง และประกาศของ คสช. ทั้งฉบับและบางมาตราในบางฉบับแล้ว

หนึ่งในบางมาตราที่ถูกยกเลิก คือ มาตรา 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งห้ามการชุมนุมของบุคคลมากกว่าสี่คนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ตั้งแต่เดือน เมษายน 2558 ถึง ธันวาคม 2561 อย่างไรก็ตาม ก่อนการยกเลิกกลับมีผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. นี้กว่า 428 คน ซึ่งมี 28 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว และถึงแม้ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. นี้จะถูกยกเลิกไปแล้ว รัฐบาลยังคงดำเนินการพิจารณาคดีต่อบุคคลอย่างน้อย 38 คน ด้วยข้อหานี้

รัฐบาลยังได้ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 และ 38/2557 ส่งผลให้มีการโอนย้าย 162 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารไปอยู่ในศาลยุติธรรม จากทั้งหมด 1,886 คดีที่ถูกพิจารณาในศาลทหาร ทั้งนี้การพิจารณาคดีที่ศาลทหารนั้น มีประเด็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งถูกดำเนินคดีระหว่างประกาศกฎอัยการศึก

ในรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชนเน้นย้ำว่า ถึงแม้คำสั่ง/ ประกาศ คสช. หลายฉบับและหลายมาตราจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ยังคงเหลืออีก 65 ฉบับที่ยังไม่ถูกยกเลิกและ มีผลบังคับใช้ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเรียกบบุคคลมารายงานตัวยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผย และควบคุมตัวบุคคลได้สูงสุดถึงเจ็ดวันโดยไม่ผ่านกระยวนการยุติธรรมใดๆ หากบุคคลนั้นต้องสงสัยว่ากระทำความผิดบางประการ

และ 13/2559 ที่ให้อำนาจอย่างกว้าวขวางแก่เจ้าพนักงานในการยังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบางประการ เจ้าพนักงานสามารถควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวันในสถานที่ที่ไม่ปิดเผยโดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเข้าถึง

รวมถึง ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งคสช. และ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประกาศ คสช. ทั้ง 2 ฉบับ1 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังต่อคดีที่ได้ตัดสินไปก่อนหน้านี้แล้วและไม่มีการเยียวยาผู้ที่ถูกลงโทษแล้วด้วย ส่งผลให้ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องคดีของ อ.วรเจนตน์ ภาคีรัตน์ และศาลอาญสพิพากษายกฟ้องคดีของจาตุรนต์ ฉายแสง

ไทยรับข้อเสนอแนะ ดำเนินจัดอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ แต่กลับดำเนินคดีนักกิจกรรมกว่า 389 คน

ตามรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเสนอแนะทั้งสองข้อที่เรียกร้องให้มีการอภิปรายสาธารณะที่ครอบคลุมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดทำประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลีและออสเตรีย แต่ทางข้อเท็จจริงกลับมีการจำกัดสิทธิด้วยการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ต่อประชาชนกว่า 389 คน

แผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจ ภายใต้กลไก UPR รอบที่ 2 ระหว่างปี 2559 ถึง 2563 ได้กำหนดแผนงานเรื่องรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า ให้ทุกหน่วยงานจัดเวทีหารือ หรือเวทีสาธารณะอย่างสม่ำเสมอเพื่อส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ในส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงานด้วย

ทั้งนี้ ตามรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธมนุษยชน รายงานว่าในทางข้อเท็จจริง ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นั้น ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ครอบคลุมและถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์เรียกร้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อนการลงประชามติ ด้วยเหตุผลว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิก 21 คน ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. อีกทั้งไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือหรือการมีส่วนร่วมสาธารณะที่สำคัญใดๆ

ในช่วงก่อนการทำประชามติที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีการจำกัดสิทธิต่างๆ อย่างร้ายแรง ได้แก่ การบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ดำเนินคดีอย่างน้อย 177 คน เนื่องจากจัดตั้ง เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะหรือการรณรงค์ และการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ดำเนินคดีอย่างน้อย 212 คน ซึ่งในภายหลังศาลได้ตัดสินว่าไม่มีความผิดอย่างน้อย 25 คนและหนึ่งคนที่ถูกตัดสินจำคุกสองปีโดยให้รอลงอาญาและปรับ 20,000 บาท

อีกประเด็นที่ทางรัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอแนะ คือ ประเด็นที่เรียกร้องให้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่สอดคล้องกับพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วม ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ประกาศใช้จริงมีบทบัญญัติที่สะท้อนไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน

อย่างเช่น มาตรา 269 ที่กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งเต็มไปด้วยคนที่ คสช. แต่งตั้งมา และ มาตรา 272 ที่่กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากเสียงข้างมากในการประชุมร่วมกันของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2567

รวมถึงมาตรา 279 ตามรัฐธรรมนูญที่ให้บรรดาการใช้อำนาจพิเศษยุค คสช. รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจพิเศษที่ คสช. ประกาศใช้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทำให้การตรวจสอบอำนาจหรือลบล้างผลพวงจากการใช้อำนาจดังกล่าว หรือการเอาผิดการใช้อำนาจโดยมิชอบไม่สามารถกระทำได้ และอาจนำไปสู่การสร้างวัฒธรรม “ลอยนวลพ้นผิด”

ในรายงานองค์กรสิทธมนุษยชนได้ทิ้งท้ายว่า นับตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 ภาคประชาสังคมพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อได้ถึง 100,732 ลายมือชื่อแต่กลับถูกปิดกั้นในรัฐสภาโดยได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐบาลทหารไม่เพียงพอ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยภาคประชาสังคมต้องถูกปัดตกไป

ข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาสังคม ทางศูนย์ทนายความฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการในประเด็นเรื่องการจัดการคำสั่ง/ประกาศ คสช. และรัฐธรรมนูญ ต่อรัฐไทย ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ดังต่อไปนี้ 

  1. ยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. ที่เหลือทั้งหมด ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นรัฐภาคี รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 
  2. ยุติการดำเนินคดีทั้งหมดที่มีข้อหามาจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยทันที
  3. ยกเลิกข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นรัฐภาคี รวมถึงมาตรา 279 ตามรัฐธรรมนูญไทย ปี 2560 ซึ่งขัดขวางการส่งเสริมให้มีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. รับรองว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมและครอบคลุม โดยผ่านการปรึกษาหารืออย่างแท้จริงและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของภาคประชาสังคม 
  5. รับรองการเข้าถึงกระบวนการตุลาการอย่างรวดเร็วและมีการเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจาก ประกาศ/คำสั่งของ คสช. และหัวหน้า คสช. โดยให้มีการพิจารณาคดีอีกครั้งในศาลยุติธรรมสำหรับจำเลยที่ถูกตัดสินในศาลทหารและมีความต้องการให้มีการพิจารณาคดีอีกครั้ง

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับคำแนะนำของนานาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ปัญหาและความท้าทายเกี่ยวกับคำสั่ง/ประกาศ คสช. และรัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไข

อ่านเพิ่มเติม: 

วันผู้สูญหายสากล: ไทยรับข้อเสนอแนะ 10 ข้อบนเวทีโลกผ่านกลไก UPR ประเด็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ไร้การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากว่า 4 ปี

เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก 

UPR รอบ 3 สำรวจความคืบหน้าสถานการณ์สิทธิไทยผ่านเวทีโลก: นักปกป้องสิทธิฯ ยังตกอยู่ภายใต้การคุกคาม แม้รัฐไทยจะรับ 6 ข้อเสนอ บังคับใช้มาตราการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ 

X