รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จะถูกประกาศใช้ในวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์การดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือรณรงค์โดยสงบต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในช่วงของการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ยังคงอยู่และดำเนินต่อไป แม้การลงประชามติดังกล่าวจะผ่านพ้นไปกว่า 8 เดือนแล้วก็ตาม

สถานการณ์การดำเนินคดีดังกล่าว พอกล่าวได้ว่าเป็นภาพสะท้อนถึง “รอยด่างพร้อย” ตั้งแต่ที่ “จุดเริ่มต้น” ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการการออกเสียงประชามติที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เต็มไปด้วยการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และการใช้“กฎหมาย” ตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปิดกั้นกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ของประชาชน อีกทั้ง “รอยด่างพร้อย” ที่จุดเริ่มต้นดังกล่าว อาจยังส่งผลไปถึง “ระหว่างทาง” และกระทั่ง “ปลายทาง” ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปในอนาคตก็เป็นได้

ต่อไปนี้เป็นสรุปภาพรวมการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับประชามติร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด พร้อมกับสะท้อนความคิดเห็นที่ผ่านมาทั้งของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่มีต่อการดำเนินคดีประชาชนในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยต่างย้ำถึงข้อเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อ “ผู้ต้องหาประชามติ” ทั้งหมด

ผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กว่า 212 ราย

จากการติดตามสถานการณ์ประชามติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าทั้งก่อนและหลังที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือเรียกได้ว่าเป็น “ผู้ต้องหาประชามติ” เป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีเกี่ยวเนื่องกับประชามติอย่างน้อย 212 คน

ผู้ต้องหาประชามติดังกล่าว ถูกกล่าวหาในข้อหาต่างๆ กัน ทั้งข้อหาเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558, ข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ รวมทั้งข้อหาฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยผู้ถูกดำเนินคดีบางส่วนที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ได้ยินยอมเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อ 12 วรรคสอง ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าว ทำให้คดีบางส่วนยุติลง โดยพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคดี

ในจำนวนผู้ต้องหาประชามติ 212 คน ดังกล่าว สามารถจัดแบ่งรายละเอียดผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาได้ดังนี้ (ข้อมูลถึงวันที่ 4 เม.ย. 2560)

กรณีแจกใบปลิวและแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ (36 ราย)

  1. ตะโกนเชิญชวนให้ประชาชนโนโหวตจังหวัดอุบลราชธานี 1 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 อยู่ในการพิจารณาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี โดยกำหนดนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 15-18 สิงหาคม 2560
  2. โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดขอนแก่น 1 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด
  3. โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดสงขลา 1 คน ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด
  4. โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดอุบลราชธานี 1 คน ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด
  5. โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ 1 คน ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด
  6. โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดกระบี่ 1 คน ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด
  7. โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจังหวัดพัทลุง 1 คน อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี
  8. แปะใบปลิวโหวตโนจังหวัดเชียงใหม่ 1 คน ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 สืบพยานในชั้นศาลเสร็จสิ้น อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 24 เม.ย.2560
  9. ติดป้ายไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติจังหวัดปราจีนบุรี 1 คน ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด
  10. แจกใบปลิวโหวตโนจังหวัดสมุทรปราการ 13 คน ถูกฟ้องในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 ฟ้องคดีที่ศาลทหารกรุงเทพแล้ว 4 คน อีก 9 คนอยู่ระหว่างอัยการทหารทำความเห็นในคดี
  11. นิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์แจกเอกสารรณรงค์ประชามติ 7 คน ถูกฟ้องในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 อยู่ในชั้นสอบสวน ของสน.บางเขน
  12. แจกสติ๊กเกอร์โหวตโนจังหวัดราชบุรี 5 คน ถูกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 อยู่ในระหว่างการสืบพยานที่ศาลจังหวัดราชบุรี
  13. แจกใบปลิวโหวตโนจังหวัดชัยภูมิ 2 คน ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 อยู่ในการพิจารณาของศาลจังหวัดภูเขียว และศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากศาลจังหวัดขอนแก่นไม่อนุญาตให้ส่งตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หนึ่งในจำเลย ที่ถูกควบคุมตัวอยู่จากข้อหามาตรา 112 มาศาลในคดีนี้

กรณีเผยแพร่จดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (20 ราย)

  1. จังหวัดเชียงใหม่ 15 คน แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และมาตรา 210 ฐานความผิดอั้่งยี่และซ่องโจร, ความผิดตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.ประชามติ อัยการทหารสั่งฟ้องคดีต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 33 คดีอยู่ในระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล
  2. จังหวัดลำพูน 1 คน ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด
  3. จังหวัดลำปาง 4 คน ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด

กรณีจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ (147 ราย)

  1. ศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดแพร่ 23 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ผู้ต้องหายอมรับการอบรม ทำให้คดีสิ้นสุดลงทั้งหมด
  2. ศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดราชบุรี 27 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน
  3. ศูนย์ปราบโกงประชามติกรุงเทพมหานคร 19 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ
  4. ศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดหนองบัวลำภู 15 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ผู้ต้องหายอมรับการอบรมคดีสิ้นสุด 12 คน อีก 3 คน ให้การรับสารภาพในชั้นศาล ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 พิพากษาให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 2,500 บาท จำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุก มีกำหนด 1 ปี
  5. ศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดอุดรธานี 23 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ผู้ต้องหายอมรับการอบรมคดีสิ้นสุดจำนวน 19 คน ขณะที่อีก 4 คน ให้การรับสารภาพในชั้นศาล ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกเช่นเดียวกับคดีศูนย์ปราบโกงประชามติหนองบัวลำภู
  6. ศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดสุรินทร์ 17 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ผู้ต้องหายอมรับการอบรม ทำให้คดีสิ้นสุดลงทั้งหมด
  7. ศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดสกลนคร 22 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  ผู้ต้องหายอมรับการอบรมคดีสิ้นสุดจำนวน 2 คน ขณะที่อีก 20 คน ให้การรับสารภาพในชั้นศาล ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกเช่นเดียวกับคดีศูนย์ปราบโกงประชามติหนองบัวลำภู โดยหนึ่งใน 20 ราย เป็นรายเดียวกับคดีศูนย์ปราบโกงประชามติกรุงเทพมหานครด้วย
  8. ศูนย์ปราบโกงประชามติจังหวัดนครพนม 1 คน ไม่ทราบสถานะทางคดีแน่ชัด

กรณีฉีกบัตรออกเสียงประชามติ (3 ราย)

  1. กรณีฉีกบัตรในวันออกเสียงประชามติ 3 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 60 อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดพระโขนง โดยกำหนดนัดสืบพยานในระหว่างวันที่ 13-16 มิถุนายน 2560

กรณีจัดกิจกรรมเสวนาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ (11 ราย)

  1. จัดกิจกรรมเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ”ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น 11 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน

สรุปแล้ว ยังคงเหลือผู้ต้องหาประชามติที่ถูกดำเนินการทาง “กฎหมาย” อยู่อีกอย่างน้อย 104 ราย (ในจำนวนนี้ แยกเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในศาลพลเรือนจำนวน 12 ราย และศาลทหารจำนวน 92 ราย) คดีสิ้นสุดไปแล้วอย่างน้อย 101 ราย และยังมีผู้ต้องหาประชามติที่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดอีกอย่างน้อย 12 ราย โดยมี 5 รายที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี ทำให้รวมแล้วมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดอย่างน้อย 212 ราย

การดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ” ต่อไป ยิ่งตอกย้ำความอยุติธรรมของการใช้อำนาจ

ภายหลังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้จัดทำความเห็นทางกฎหมายต่อการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ” (เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2559) โดยมีความเห็นในสามประเด็นหลัก ได้แก่

1. กฎหมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือรัฐได้นำมาบังคับใช้กับประชาชนที่แสดงออกเกี่ยวกับการลงประชามติ ทั้งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 /58 และมาตรา 61 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 นั้น ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และสิทธิในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง แม้เสรีภาพดังกล่าวรัฐจะสามารถออกกฎหมายมาจำกัดได้ในบางกรณี แต่การจำกัดเสรีภาพนั้นจะบัญญัติให้กระทบกระเทือนสาระสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นไม่ได้ ในขณะที่กฎหมายทั้งสองฉบับนั้นกลับไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลงประชามติซึ่งเป็นห้วงเวลาอันสำคัญที่ประชาชนจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลและสามารถตัดสินใจได้ ประชาชนก็ต้องสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็น ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ บทบัญญัติดังกล่าวยังมีถ้อยคำที่มีลักษณะครอบคลุมความหมายอย่างกว้างขวางและไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจได้ ประกอบกับการบังคับใช้ที่เจ้าหน้าที่ตีความแบบขยายความจนเกินกว่าความหมายของตัวบท อาทิเช่นกรณีการครอบครองเอกสารคดีประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีนั้น ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้การครอบครองเป็นความผิด แต่เจ้าหน้าที่ยังดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีอยู่

คดี 5 ผู้ต้องหาครอบครองเอกสารประชามติที่จังหวัดราชบุรี ข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ ยังอยู่ในระหว่างสืบพยานในชั้นศาล

2. การแสดงออกและเผยแพร่ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสงบสันติต้องได้รับความคุ้มครอง ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีกรณีใดใน 212 รายนั้น แสดงออกโดยใช้ความรุนแรงหรืออาวุธ จึงไม่มีเหตุผลอันสมควรใดที่เจ้าหน้าที่รัฐจะทำการจับกุม คุมขัง และลิดรอนสิทธิของบุคคลคนหนึ่งให้สูญสิ้นไปด้วยความผิดทางอาญา การกระทำของผู้ต้องหาประชามตินั้นก็มิใช่การกระทำที่เป็นความผิดร้ายแรงอยู่ในตัวเอง (mala in se) อย่างเช่นการฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นที่กฎหมายอาญามีเป้าประสงค์ลงโทษ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำเช่นนั้น หากแต่เป็นการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองและก็เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองเพียงเท่านั้น

3. การดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาทั้งหลายเกี่ยวกับการทำประชามติที่ผ่านพ้นไปด้วยความสงบ และทราบผลอย่างเป็นทางการแล้วนั้น จะไม่เป็นการก่อประโยชน์ใดๆ ให้แก่สาธารณะ กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม ทั้งในแง่ที่อารยประเทศจะตั้งข้อสังเกตเรื่องความน่าเชื่อถือด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพประชาชนชาวไทย ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการสร้างความร่วมมือในหลายด้าน ทั้งยังไม่เป็นการสร้าง “ความยุติธรรม” และ “ความปรองดอง” ที่มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายให้เกิดขึ้นภายในสังคม หากการดำเนินคดีต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปแล้ว จะยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความอยุติธรรมของการใช้อำนาจจนเกินขอบเขตไปกว่าเพื่อความสงบเรียบร้อย และเป็นการทำลายบรรยากาศ “ความปรองดอง” ให้ยากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN เสนอยุติการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ” ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังได้จัดทำข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observations) เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ภายหลังการประชุมทบทวนการปฏิบัติตามพันธกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ตามวาระฉบับที่สองของประเทศไทย โดยคณะกรรมการฯ ได้แสดงความกังวลต่อการจำกัดอย่างรุนแรงและโดยพลการต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งรวมไปถึงการขัดขวางการอภิปราย การรณรงค์ และการตั้งข้อหาอาญาต่อบุคคลในช่วงก่อนจะมีการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญในปี 2559

คณะกรรการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังยืนยันว่ารัฐภาคีของกติกา ICCPR ควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งปวงเพื่อประกันให้บุคคลมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออกในทุกรูปแบบ สอดคล้องกับข้อ 19 ของกติกานี้ การจำกัดใด ๆ ควรสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดตามข้อ 19 (3) และตามคำอธิบายเพิ่มเติมในความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการที่ 34 (2554) รวมทั้งบททดสอบที่เข้มงวดว่าด้วยความจำเป็นและความได้สัดส่วน ทั้งยังเสนอให้รัฐไทยควรใช้มาตรการทั้งปวงเพื่อยุติการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่าใช้เสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในระหว่างการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ

ภาพการประชุมทบทวนการปฏิบัติตามกติกา ICCPR รอบของประเทศไทย ที่นครเจนีวา ระหว่างวันที ่13-14 มี.ค.60 โดยข้อเสนอหนึ่งของคณะกรรการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คือขอให้ไทยยุติการดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกในการระหว่างการออกเสียงประชามติ

“รอยด่าง” ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนั้น ควรบันทึกไว้ด้วยว่าองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีกหลายองค์กรที่ติดตามสถานการณ์ในประเทศไทย ล้วนมีความเห็นว่าการลงประชามติที่นำไปสู่การผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งประกาศใช้นี้ ดำเนินไปโดยขัดแย้งกับหลักการสากล โดยมีความไม่เสรีและไม่เป็นธรรมหลายประการ

อาทิเช่น สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ออกรายงานระบุว่าทางรัฐบาลได้ใช้อำนาจตามประกาศคำสั่งของคสช.และกฎหมายอื่นๆ เพื่อทำการปิดกั้นประชาชนจากการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในหลายรูปแบบ ทั้งการถูกคุกคาม ควบคุมตัว และดำเนินคดีต่อผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ, การเข้าร่วมและสอดส่องในการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสั่งให้ยกเลิกการจัดสัมมนาและอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายกรณี ขณะเดียวกัน คสช.กลับใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อรณรงค์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ การรณรงค์เพื่อเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปอย่างขาดความสมดุลทางการเมือง

ทางด้านเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรืออันเฟรล (ANFREL) ได้ออกแถลงการณ์สรุปการติดตามสถานการณ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการลงประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับหลักสากลว่าด้วยการลงประชามติหรือการเลือกตั้ง โดยข้อห้ามที่เข้มงวดในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐบาลทหารกำหนดสำหรับการอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้จำกัดการเข้าถึงข้อมูลของผู้มีสิทธิลงคะแนนอย่างมาก ทำให้เกิดภายใต้บรรยากาศที่ผู้ลงคะแนนถูกปฏิเสธสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการที่เป็นอิสระและไม่ต้องกลัวต่อการลงโทษ รวมทั้งทำให้เกิดบรรยากาศของการข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นสภาพที่ฝ่าฝืนอย่างชัดแจ้งต่อหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการชุมนุม และการรวมตัวทางการเมือง

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ก็แถลงเช่นเดียวกันว่าการลงประชามติครั้งนี้ขาดปัจจัยที่เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยการลงประชามติที่เป็นธรรมหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการรวมตัวทางการเมืองอย่างสันติ รัฐบาลทหารได้ใช้กฎหมายอย่างรุนแรงในการจำกัดสิทธิเหล่านี้ โดยการปิดกั้นอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทหารต่อผู้ที่เห็นต่างกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการยืนยันว่าการลงประชามติไม่เป็นธรรม

ทางสำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ณ กรุงลอนดอน เองก็ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีของไทย แสดงความกังวลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าในการลงประชามติ ประชาชนควรสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างสงบและเสรี สามารถรับและเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างเสรี สามารถเข้าร่วมการอภิปรายสาธารณะและการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ และสามารถแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาลได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกคุกคาม จับกุม หรือดำเนินคดี

ทางเลขาธิการใหญ่แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีต่อประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือการรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น

คดีผู้ต้องหา 27 รายถ่ายภาพกับป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี ยังดำเนินอยู่ โดยคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน (ภาพจากประชาไท)

สรุปแนวทางการยุติการดำเนินคดี “ประชามติ” โดยกระบวนการทางกฎหมายปกติ

ในการยุติการดำเนินคดีประชามติทั้งหมดนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เคยจัดทำข้อเสนอ โดยเรียกร้องให้ผู้ดำเนินการใน “กระบวนการยุติธรรม” ทั้งหมด ใช้กระบวนการทางกฎหมายตามปกติ เพื่อยุติการดำเนินคดีของผู้ต้องหาประชามติทั้งหลาย ที่กำลังถูกดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่

  1. คดีที่ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีที่เกิดจากการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชนในช่วงที่มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
  2. คดีที่อยู่ในชั้นพนักงานอัยการหรือชั้นศาลแล้ว ให้พนักงานอัยการอาศัยหลักแห่งความเป็นภาวะวิสัยปราศจากทัศนคติทางการเมือง มีความอิสระและเป็นกลางจากอำนาจทางการเมืองใดๆ ทั้งนี้ไม่ว่าอัยการพลเรือนและอัยการทหาร สามารถมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีตลอดจนถอนฟ้องได้ที่เกิดจากการแสดงออกของประชาชนโดยสงบสันติ ในช่วงที่มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เหตุเพราะการดำเนินคดีต่อไป ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยพนักงานอัยการสามารถอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ได้

ถึงปัจจุบัน (เมษายน 2560) ผ่านไปกว่า 8 เดือนหลังการลงประชามติ พร้อมกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ถูกประกาศใช้ แต่ยังคงไม่มีเสียงตอบรับใดๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้องใน “กระบวนการยุติธรรม” ทั้งหมด ต่อข้อคิดเห็น ข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่างๆ ข้างต้น

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ความเห็นทางกฎหมายต่อการดำเนินคดี “ผู้ต้องหาประชามติ”

X