คดีเสียบใบปลิว ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ ถึงที่สุดแล้ว หลังอัยการไม่อุทธรณ์อีก

หลังจากเมื่อวันที่ 24 เม.ย.60 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดีของนายสามารถ ขวัญชัย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง จากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถราว 10 คัน ในลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59

ต่อมา ทางอัยการโจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คดีออกไป จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน 2560 ก็ไม่ได้มีการขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก ทำให้เมื่อวันที่ 6 ก.ย.60 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เนื่องจากไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์อีก คดีจึงเป็นอันสิ้นสุดลง

เปิดคำพิพากษา ศาลชี้ไม่ควรตีความพ.ร.บ.ประชามติไปจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในส่วนคำพิพากษายกฟ้องของศาลจังหวัดเชียงใหม่ในคดีนี้โดยสรุป ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามฟ้องของโจทก์ กล่าวคือศาลเห็นว่าการกระทำอันจะถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1) นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นการกระทำที่ก่อนความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ส่วนการกระทำที่จะถือเป็นความผิดตามวรรคสองของมาตรานี้ ซึ่งเป็นบทขยายของวรรคที่หนึ่งนั้น ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง 4 ประการ ได้แก่

  1. ต้องมีการดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอื่นใด
  2. ข้อความ ภาพ หรือเสียงดังกล่าวต้องเข้าลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
  3. ผู้กระทำต้องมีเจตนาธรรมดาในการกระทำตามองค์ประกอบในข้อ 1 และ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59
  4. ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ คือโดยมุ่งหวังเพื่อให้มีผู้สิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง

ศาลได้วินิจฉัยว่าถ้อยคำ “เผด็จการจงพินาศ” มีลักษณะเป็นนามธรรมและเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายที่จะกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นเผด็จการ ทั้งหากจะตีความให้หมายความถึงรัฐบาลในขณะเกิดเหตุก็ไม่อาจโยงไปถึงร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้ประชาชนลงประชามติได้ว่าเป็นเผด็จการได้เช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลชุดดังกล่าวมิได้เป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เมื่อบุคคลธรรมดาทั่วไปอ่านข้อความดังกล่าวแล้วจึงไม่เกิดความรู้สึกหรือมีความเห็นคล้อยตาม จนนำไปสู่การไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ประกอบกับผู้ที่จะมีสิทธิออกเสียงประชามติต้องเป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง จึงย่อมเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะตัดสินใจไปหรือไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง รวมทั้งจะออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง ลำพังเพียงแค่ข้อความใบปลิวตามฟ้องจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ

อีกทั้งข้อความที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” นั้น ก็เป็นถ้อยคำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และมีการใช้กันอย่างทั่วไปในกลุ่มผู้รักประชาธิปไตย ก่อนที่จำเลยจะนำมาใช้ในใบปลิว

นอกจากนั้น ศาลยังระบุในคำพิพากษาด้วยว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของผู้มีสิทธิออกเสียง มิใช่มุ่งจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในทุกเรื่อง ดังจะเห็นได้จากมาตรา 7 ของพ.ร.บ.นี้ ที่ยังคงรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียง หากดำเนินการไปโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย อันเป็นหลักการพื้นฐานของการออกเสียงประชามติ

ดังนั้นจึงไม่อาจตีความกฎหมายให้ไปกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินกว่าจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 61 วรรคสอง ยังเป็นบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญา การตีความจึงต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย

(ดาวน์โหลดไฟล์คำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ Samart_Verdict)

จากอดีตจำเลยถึงผู้ต้องหาคดีประชามติรายอื่นๆ

นายสามารถเปิดเผยหลังทราบเรื่องคดีสิ้นสุดแล้วว่าตั้งแต่หลังจากฟังคำตัดสินของศาล ตนก็รู้สึกโล่งและดีใจในระดับหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าอย่างน้อยการต่อสู้ของตนก็ไม่สูญเปล่า และระบบยุติธรรมยังพอมองเห็นความถูกต้องได้อยู่บ้าง จึงคิดว่าเป็นชัยชนะส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ตนอยากย้ำอย่างที่เคยเบิกความในศาลว่ากรณีนี้ตนกระทำไปเพราะอยากกระตุ้นจิตสำนึกของผู้คน ไม่ให้นิ่งเฉย และเมินเฉยต่อสิ่งไม่ยุติธรรมต่างๆ ทั้งการกระทำดังกล่าวก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่สองมือสองขาของประชาชนคนหนึ่งพอจะสามารถทำได้

นายสามารถยังระบุว่าตนทราบว่ายังมีคดีของผู้ต้องหาประชามติอีกหลายคดียังต้องต่อสู้อยู่ จึงอยากฝากเป็นกำลังใจถึงพวกเขาและเธอที่ไม่อยู่นิ่งเฉย แต่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

สำหรับนายสามารถ ขวัญชัย ปัจจุบันอายุ 64 ปี ประกอบอาชีพช่วยครอบครัวขายภาพโมเสคที่ร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ นายสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในฐานะมวลชนอิสระ เคยร่วมเป็นพยาบาลอาสาในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 การถูกดำเนินคดีนี้ทำให้เขาถูกคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 9 วัน ในช่วงของการฝากขังระหว่างสอบสวน ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี (อ่านรายละเอียดคดี และ ประมวลสรุปการสืบพยานในศาล)

 

ยังมีผู้ต้องหาประชามติต่อสู้คดีอยู่อีกกว่า 103 คน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าทั้งก่อนและหลังที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 มีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ เนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือเรียกได้ว่าเป็น “ผู้ต้องหาประชามติ” อย่างน้อย 212 คน โดยจนถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2560) แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว แต่ยังคงมีผู้ต้องหาประชามติที่ยังต้องต่อสู้คดีอยู่อีกอย่างน้อย 103 ราย

ทั้งนี้ มีคดีฉีกบัตรประชามติของนายปิยณัฐ จงเทพ และเพื่อน ที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาแล้วเช่นกัน แต่ยังต้องรอว่าคู่ความจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่

ในจำนวนผู้ที่ต้องต่อสู้คดีนี้ แยกเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในศาลพลเรือนจำนวน 11 ราย และศาลทหารจำนวน 92 ราย มีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วอย่างน้อย 102 ราย และยังมีผู้ต้องหาประชามติที่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดอีกอย่างน้อย 12 ราย โดยมี 5 รายที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี (ดูเพิ่มเติมในรายงาน)

 

X