ในวันจันทร์ที่ 24 เม.ย. 60 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดหมายฟังคำพิพากษาในคดีของนายสามารถ ขวัญชัย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61(1) และวรรค 2 จากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถราว 10 คัน ในลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(1) และวรรคสอง ระบุความผิดเรื่อง “การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง” โดยในวรรคสามระบุโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
สำหรับจำเลยคือนายสามารถ ปัจจุบันอายุ 63 ปี จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยประกอบอาชีพเป็นวิศวกร แต่ปัจจุบันประกอบอาชีพช่วยครอบครัวขายภาพโมเสคที่ร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในฐานะมวลชนอิสระ และเคยร่วมเป็นพยาบาลอาสาในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 (อ่านรายละเอียดในคดีและภูมิหลังของจำเลย)
การสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดี ได้เสร็จสิ้นไปในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข้อต่อสู้ของจำเลยที่สำคัญในคดีนี้ คือการยืนยันว่าใบปลิวที่นำไปติดนั้น ไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ โดยในใบปลิวไม่ได้มีถ้อยคำ รุนแรง หยาบคาย หรือเป็นการปลุกระดมแต่อย่างใด แม้จำเลยจะยอมรับว่าเป็นผู้นำใบปลิวไปแปะไว้จริง แต่ก็เป็นการกระทำในฐานะคนไทยที่มีสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้ประชาชนได้สำนึกและหวงแหนในประชาธิปไตย ไม่ได้มีเจตนาในการก่อความไม่สงบ หรือมุ่งร้ายต่อคนอื่น สังคม หรือประเทศชาติแต่อย่างใด (อ่านประมวลการสืบพยานในศาล)
ภายหลังการสืบพยาน ทีมทนายความยังได้ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาล โดยแถลงในสองประเด็นหลัก ได้แก่ การกระทำของจำเลย และข้อความที่ปรากฎในใบปลิว ไม่ถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61(1) และวรรค 2 และประเด็นความพิรุธของพยานฝ่ายโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารจากการนำสืบ โดยเฉพาะการเบิกความขัดแย้งกันเอง รายงานนี้สรุปเนื้อหาของคำแถลงปิดคดีดังกล่าว ก่อนร่วมกันจับตาว่าศาลจะวินิจฉัยประเด็นเหล่านี้ในคำพิพากษาอย่างไร
ใบปลิวอันเป็นมูลเหตุตามฟ้องในคดีนี้
การกระทำของจำเลยและข้อความที่ปรากฎในใบปลิวผิดพ.ร.บ.ประชามติหรือไม่?
ประเด็นแรก คำแถลงปิดคดีได้แถลงถึง การกระทำของจำเลยโดยการแจกใบปลิวที่ลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค (รูปภาพมือชูสามนิ้ว) VOTE NO” นั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นข้อกฎหมาย ประกอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดีของจำเลย
คำแถลงปิดคดีได้ระบุว่า นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ ได้เบิกความต่อศาลหลังจากได้อ่านมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติ ที่ระบุว่า “…บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” โดยเห็นว่ามาตรานี้เป็นหลักการพื้นฐานของการออกเสียงประชามติ รวมทั้ง พ.ร.บ.ประชามตินั้นมีการกำหนดโทษทางอาญา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด การที่จะพิจารณาถ้อยคำของตัวบทพ.ร.บ.นี้ โดยเฉพาะมาตรา 61 วรรคสองนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าตัวบทในวรรคดังกล่าวข้างต้น มีทั้งการกระทำโดยเจตนาที่มีลักษณะเฉพาะในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับเจตนาพิเศษของผู้กระทำ คือต้องกระทำไป “โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง” ให้ครบทั้งสองภาคแห่งองค์ประกอบด้วย
นายสมชายยังเบิกความโดยเห็นว่า ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองกติกาดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ยังคงรับรองพันธกรณีตามกติกาดังกล่าวไว้ โดยข้อ 19 นั้นบัญญัติรับรองสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ดังนั้นรัฐไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้น การจะตีความว่าการกระทำใดเข้าข่ายผิดมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัตินี้ จึงต้องทำโดยเคารพและมุ่งคุ้มครองต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐาน
นอกจากนี้ การตีความถ้อยคำตามใบปลิวจะต้องพิจารณากับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งนายณัฐกร วิทิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และการสื่อสารมวลชน ได้เบิกความต่อศาลถึงลำดับเหตุบ้านการเมืองที่เกี่ยวข้อง มีใจความสำคัญอยู่ที่สถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายลงในช่วงก่อนลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รวมทั้งหลังจากนั้นสื่อมวลชนได้สอบถามนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ซึ่งนายสมชัยให้ความเห็นว่า การรณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญหลายฝ่ายทั้งที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ ซึ่งเมื่อประชาชนธรรมดาอย่างจำเลยได้รับข่าวสารทางสื่อว่าบุคคลที่ดูแลรับผิดชอบให้การลงประชามติเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยอย่างนายสมชัยออกมากล่าวเช่นดังข้างต้น ก็ย่อมเข้าใจโดยสุจริตใจว่าการรณรงค์เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยได้เบิกความต่อศาลอย่างชัดแจ้งแล้วว่าเป็นผู้ทำใบปลิว แต่เหตุที่จัดทำเนื่องจากจำเลยเชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนที่จะแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมืองได้ โดยไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายกลุ่มบุคคลใด สังคม หรือประเทศชาติ ให้เกิดความเสียหาย เพียงแต่ทำขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกของคนไทยทุกคนให้รักประชาธิปไตย จำเลยมิได้มีเจตนาปลุกระดมแต่อย่างใด อีกทั้งการที่จำเลยพิมพ์คำว่า “7 ส.ค.” และ “VOTE NO” ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านว่าจะตัดสินใจเลือกทางใด ดังที่พยานฝ่ายโจทก์เองเมื่อได้อ่านถ้อยคำนี้ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งคล้อยตามและไม่คล้อยตาม ดังนั้นใบปลิวข้อความของจำเลยจึงมิอาจเป็นการปลุกระดมได้เลย และในส่วนของภาพประกอบรูปมือชูสามนิ้วนั้น เป็นเพียงสัญลักษณ์ซึ่งมีความหมายสื่อถึงสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ ซึ่งเป็นความหมายในแง่บวก ทั้งสัญลักษณ์ดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แต่ประการใด
ส่วนของข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” นั้นเป็นข้อความที่จำเลยพิมพ์ไว้ก่อนหน้าจะมีการประกาศให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จึงไม่ใช่ข้อความที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงไม่อาจตีความถ้อยคำนี้ให้เป็นการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ผิดไปจากข้อเท็จจริงได้
ทั้งนายสมชายยังเบิกความต่อศาลโดยชัดเจนอีกว่า ข้อความที่ปรากฏอยู่ในใบปลิวที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เป็นการกล่าวถึงหลักการปกครองในเชิงนามธรรม ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือผู้ปกครองประเทศเป็นการเฉพาะ นายสมชายเห็นว่าเป็นข้อความที่แสดงถึงเจตนาของผู้เผยแพร่ข้อความว่าเห็นด้วยกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่อาจตีความรวมไปถึงว่าข้อความดังกล่าวเป็นการปลุกระดม รวมทั้งไม่ถือเป็นถ้อยคำรุนแรงอันจะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรคสอง แต่กลับแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนให้คนไปออกเสียงประชามติ ดังนั้น ถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่เข้าองค์ประกอบในส่วนของวิธีการหรือลักษณะการกระทำผิดแต่ประการใด
ดังนั้น ถ้อยคำ รวมถึงรูปภาพตามใบปลิวของจำเลย จึงไม่มีส่วนใดที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 แต่อย่างใด
นายสามารถ ขวัญชัย จำเลยในคดีนี้
พยานโจทก์เจ้าหน้าที่ทหารมีพิรุธในการนำสืบ เบิกความขัดแย้งกันเอง
ประเด็นที่สอง คำแถลงปิดคดียังได้ระบุถึงข้อสงสัยในพยานโจทก์ที่มีลักษณะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขัดแย้งกันเองจนอาจเห็นเป็นพิรุธในคดีได้ ทั้งเรื่องเอกสารที่ปรากฎภายในคดีและอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำการสืบสวน เข้าจับกุม และตรวจค้นบ้านของจำเลย ดังนี้
พันโทพิษณุพงศ์ ใจพุทธ และพันตรีโสภณ ภัคดิ์เกษม ได้อ้างอำนาจพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ในการเข้าร่วมเป็นเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ และพันตรีโสภณ ภัคดิ์เกษม ยังได้อ้างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 อีกฉบับ ในการนำกำลังทหารเข้าตรวจค้นและตรวจยึดสิ่งของภายในบ้านพักจำเลย รวมทั้งร่วมจับกุมตัวจำเลยด้วย ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับนี้จะระบุความผิดที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน แต่ไม่ปรากฏว่ามีความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 รวมอยู่ด้วยแต่อย่างใดทั้งสิ้น และในการถามค้านจากทนายจำเลย เจ้าหน้าที่ระดับทหารสัญญาบัตรทั้งสองก็ไม่สามารถให้คำตอบที่สมเหตุผลได้ว่าเหตุใดจึงไม่ปรากฏความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับ ดังนั้นจึงน่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่มีอำนาจหน้าที่ในคดีนี้
อีกทั้ง พยานปากพันโทพิษณุพงศ์ยังเบิกความต่อศาลว่า ในวันที่เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ตนไม่ได้นำเอาเอกสารติดตัวไปด้วย และในบันทึกคำให้การต่อพนักงานสอบสวนของพันโทพิษณุพงศ์ ก็ไม่มีการกล่าวอ้างถึงการนำพยานเอกสารใดๆ มาให้ แต่พยานปากร้อยตำรวจเอกชยพล ทาอุปรงค์ พนักงานสอบสวนคดีนี้กลับเบิกความต่อศาลว่าพันโทพิษณุพงศ์นำบัญชีรายชื่อกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (เฉพาะ) เรื่อง ให้เจ้าหน้าที่พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีการอ้างส่งต่อศาลระหว่างการสืบพยาน ซึ่งเป็นการที่พยานโจทก์เบิกความขัดแย้งกันเองอย่างน่าสงสัยว่าจะมีพิรุธ
คำแถลงปิดคดีได้ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาในคดีโดยที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายและไม่มีความเข้าใจในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติอย่างเหมาะสมเทียบเท่ากับเจ้าพนักงานตำรวจนั้น จำเลยเข้าใจว่าอาจเป็นส่วนสำคัญที่กดดันฝ่ายตำรวจทำการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้เป็นไปโดยเร่งรีบเกินสมควร รวมระยะเวลาเพียง 3-4 วัน ก็รวบรวมพยานหลักฐานขอหมายจับอย่างเร่งด่วนในเวลา 5 นาฬิกาเช้ามืด ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2559 และจับกุมจำเลยในเวลา 8 นาฬิกาของวันเดียวกัน
เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแม้จะมีโทษจำคุกในอัตราสูง แต่ก็ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงสะเทือนขวัญต่อสาธารณะแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่กลับรีบเร่งดำเนินคดีกับจำเลยจนสำนวนคดีไม่รัดกุม และเป็นโทษต่อตัวจำเลย ซึ่งในขณะนั้นย่อมต้องอยู่ในฐานะผู้ต้องหา กล่าวคือไม่มีการรวบรวบพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยอย่างเพียงพอ อาทิ ไม่มีการเรียกผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ วรรณกรรม หรือนักนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตีความตัวบทกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประชามติ มาให้ปากคำในชั้นสอบสวน อาศัยแต่เพียงคำให้การในลักษณะความเห็นของผู้กล่าวหาและพยานเพียงไม่กี่ปากเท่านั้น
ดังนั้นแล้ว การกระทำและข้อความในใบปลิวของจำเลย จึงเป็นการกระทำตามสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประชามติ และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้การยอมรับ ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองการกระทำของจำเลย จึงมิใช่การกระทำที่ผิดต่อกฎหมายเป็นอันตรายต่อสังคม อีกทั้งพิรุธของพยานโจทก์ในคดีที่ดังที่กล่าวมาข้างต้น จำเลยจึงเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องของโจทก์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
รธน.ประกาศใช้ แต่คดีประชามติยังไม่จบ: ประมวลปากคำพยานคดี “ลุงสามารถ” แปะใบปลิวโหวตโน
รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี