พรุ่งนี้ (26 ก.ย.60) เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาในคดี 3 นักกิจกรรม “ฉีกบัตรประชามติ” ที่อัยการฟ้องนายปิยรัฐ จงเทพ เป็นจำเลยที่ 1 ใน 4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตาม พ.ร.บ.ประชามติ, ข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่นายจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ จำเลยที่ 2 และนายทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จำเลยที่ 3 ก็ได้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน จากการถ่ายวีดีโอขณะที่นายปิยรัฐทำการฉีกบัตร
รายงานชิ้นนี้ประมวลเหตุการณ์ในคดีนี้ ตั้งแต่ก่อนคดีเข้าสู่ศาล และประเด็นที่ต่อสู้กันในชั้นศาล ผ่านปากคำของพยานที่ขึ้นเบิกความ ทั้งฝ่ายคณะกรรมการออกเสียงประชามติประจำหน่วยออกเสียงเขตบางนา ตำรวจประจำหน่วยออกเสียง ตำรวจชุดจับกุม เจ้าหน้าที่บริษัทผู้ให้การบริการโทรศัพท์มือถือ และจำเลยทั้งสามคนในคดี พร้อมย้อนชวนทบทวนไปถึงคำพิพากษาของศาลในคดีของไชยันต์ ไชยพร ซึ่งเคยฉีกบัตรออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อประท้วงการออกเสียงเลือกตั้งเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้
ในคูหาเกิดเหตุ
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในเวลา 12.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งในสำนักงานเขตบางนา นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” นายกสมาคมเพื่อเพื่อน (FFA) องค์กรที่ทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเนื่องจากได้ฉีกบัตรลงคะแนนภายในหน่วยออกเสียงประชามติ พร้อมกับตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ขณะทำการฉีกบัตร โดยเขาระบุว่าการกระทำนี้เป็นการเรียกร้องและยืนยันสิทธิเสรี และยืนยันว่าจะขอสู้คดีในศาลเพื่อให้เห็นว่ากระบวนการทำประชามติครั้งนี้ทำขึ้นภายใต้การจับกุมผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวปิยรัฐไปสอบปากคำที่ สน.บางนา โดยมีนายทรงธรรมและนายจิรวัฒน์ติดตามไปที่สถานีตำรวจด้วย
เหตุการณ์ฉีกบัตรลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.59
จนเวลาประมาณ 18.00 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาปิยรัฐในสามข้อหา ได้แก่ ข้อหาทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188, ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามมาตรา 358 และข้อหาทำลายบัตรประชามติตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ โดยปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ในเวลาต่อมา พนักงานสอบสวนยังได้แจ้งข้อกล่าวหากับนายทรงธรรมและนายจิรวัฒน์ ในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตามมาตรา 60 (9) พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาคือทั้งสองคนได้เดินทางมาพร้อมปิยรัฐและได้ใช้มือถือถ่ายวิดีโอไว้ตั้งแต่ก่อนที่นายปิยรัฐจะฉีกบัตรลงคะแนน ภายหลังยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนนดังกล่าวเพิ่มเติมกับนายปิยรัฐด้วยเช่นกัน
พนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสามคน โดยให้ประกันนายปิยรัฐด้วยหลักทรัพย์ 20,000 บาท ส่วนนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมวางหลักทรัพย์ประกันคนละ 10,000 บาท ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือซัมซุงของนายทรงธรรมที่ใช้ถ่ายภาพดังกล่าวเอาไว้ด้วย
ในเรือนจำ
ทั้งสามคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอดระหว่างการสอบสวน จนวันที่ 13 ธ.ค.59 พนักงานอัยการพระโขนงได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดพระโขนง ก่อนที่ศาลจะรับฟ้องและอนุญาตให้ขังจำเลยทั้งสามระหว่างการพิจารณาคดี ฝ่ายจำเลยจึงขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้ตำแหน่งราชการของอาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ในตอนแรก ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 3 คน โดยให้เหตุผลว่านักวิชาการทั้งสองคนไม่ใช่ญาติและนายจ้างของจำเลย จึงไม่ให้ใช้ตำแหน่งราชการมาเป็นหลักทรัพย์ประกัน ทั้ง 3 คน จึงจะถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
จนวันที่ 14 ธ.ค.59 นักวิชาการทั้งสองคนได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามอีกครั้ง โดยใช้หลักประกันคนละ 200,000 บาท ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวจำเลยทั้งสาม โดยระบุว่าศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำร้องผู้ร้องเป็นอาจารย์มีความสัมพันธ์กับจำเลย ถือได้ว่ามีส่วนได้เสีย อนุญาตให้ปล่อยจำเลย ตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท รวมแล้วทำให้ทั้งสามคนถูกคุมขังในเรือนจำ 2 วัน 1 คืน
สามจำเลยคดีฉีกบัตรประชามติหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.59 (ภาพจาก Banrasdr Photo)
ในศาลพระโขนง: ปากคำ กกต. ตำรวจ ถึงสามจำเลย
การสืบพยานมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 มิ.ย.60 และนัดสุดท้ายในวันที่ 13 ก.ค.60
คดีนี้พยานที่ขึ้นให้การในศาลมีสามกลุ่มหลัก ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ประจำอยู่ในหน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตที่สำนักงานเขตบางนา ตำรวจชุดจับกุม และสามจำเลยในคดี ประเด็นที่ต่อสู้กันในคดีนี้ ได้แก่
1) การฉีกบัตรของนายปิยรัฐ และการถ่ายคลิปวิดีโอของนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมนี้ เป็นการสร้างความวุ่นวายขึ้นภายในหน่วยลงคะแนนเสียงหรือไม่ เพราะนายปิยรัฐยืนยันว่าตนได้ฉีกบัตรจริงโดยมีเจตนาเพื่อประท้วงการออกเสียงประชามติครั้งนี้
2) ประเด็นการจับกุมนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ามีการจับกุมทั้งสองคนจากที่เกิดเหตุ โดยที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ปรากฏว่าทั้งสองคนเดินทางไปที่สถานีตำรวจด้วยตนเอง และไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ระหว่างอยู่ในที่เกิดเหตุและสถานีตำรวจในตอนแรก
สามจำเลย: ยืนยันคัดค้านประชามติที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
นายปิยรัฐได้เบิกความต่อศาลในฐานะจำเลยว่าในวันนั้น ตนได้ไปที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตที่สำนักงานเขตบางนา และยังได้นัดนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมไปที่สำนักงานเขตบางนาด้วย เนื่องจากต้องการคุยธุรกิจกันต่อในตอนบ่าย เมื่อไปถึงที่หน่วยตนได้หาชื่อของตัวเอง ก่อนเข้าไปรับบัตรออกเสียง และเดินเข้าไปยังหีบใส่บัตรออกเสียง พร้อมกับทำการฉีกบัตรที่หน่วยออกเสียง หากแต่ที่ทำไปนั้นเพราะเห็นว่าสถานการณ์ในช่วงก่อนถึงวันออกเสียงประชามติมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกว่าไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งประกาศใช้ไป ทั้งยังมีการจับกุมบุคคลเข้าค่ายทหาร ดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นอยู่ฝ่ายเดียว แต่กับบุคคลที่ออกมาสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ
ส่วนนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมเบิกความคล้ายกันว่าพวกตนเดินทางมาที่หน่วยออกเสียงเขตบางนาในช่วงสายของวัน โดยนายทรงธรรมได้ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตเอาไว้ที่เขตบางนา โดยทั้งสามคนมีนัดพูดคุยเรื่องธุรกิจกันต่อที่ร้านของนายปิยรัฐในตอนบ่าย เมื่อพวกเขาทั้งสามคนได้พบกันที่หน้าหน่วยออกเสียงแล้ว ก็ได้ติดตามนายปิยรัฐไปที่หน่วยออกเสียงที่ 3 และได้ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายขณะที่นายปิยรัฐกำลังเดินเข้าไปใช้สิทธิ แต่คณะกรรมการฯ ได้เข้ามาห้าม และเรียกตำรวจประจำหน่วยมากันนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมออกไป พวกเขาจึงออกไปยืนที่หลังบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงและใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปนายปิยรัฐเอาไว้ ซึ่งขณะนั้นนายปิยรัฐกำลังฉีกบัตรออกเสียง ทั้งสองคนยืนยันว่าระหว่างที่ถ่ายวิดีโออยู่นั้นไม่เห็นว่าเกิดความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงแต่อย่างใด
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วย: ไม่ได้มีความวุ่นวายระหว่างเกิดเหตุ
ทางด้านพยานในกลุ่มคณะกรรมการออกเสียงประชามติได้เบิกความในประเด็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกันว่าในเวลาประมาณ 12.00 น. นายปิยรัฐ จงเทพ ได้เดินเข้ามาที่หน่วยออกเสียงประชามติหน่วยที่ 3 โดยมีนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมเดินตามเข้าไปในหน่วย และมีการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูป เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจึงเข้าไปห้าม บอกให้ทั้งสองคนออกจากหน่วย และได้ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยมากันทั้งสองคนออกไปข้างนอกหน่วย พยานทั้งหมดเห็นว่าหลังทั้งสองคนถูกกันออกไปแล้ว มีการถ่ายภาพหรือวิดีโอจากด้านหลังกระดานรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งเป็นด้านนอกของหน่วยออกเสียง
จากนั้น นายปิยรัฐได้ทำการฉีกบัตรออกเสียงที่ข้างกล่องใส่บัตร พร้อมกับพูดว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” แต่พยานกลุ่มนี้ก็ให้การตรงกันด้วยว่าทั้งในขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุประชาชนที่มาใช้สิทธิก็ยังคงดำเนินการลงคะแนนไปได้เป็นปกติ
พยานกลุ่มคณะกรรมการฯ ได้เบิกความด้วยว่าก่อนมาทำหน้าที่ทางเขตบางนามีการจัดอบรมคณะกรรมการประจำเขต ในที่ประชุม มีการออกข้อกำหนดเรื่องการห้ามถ่ายภาพภายในหน่วยออกเสียง แต่พวกเขาไม่ทราบว่าหน่วยออกเสียงเขตอื่นๆ มีข้อกำหนดลักษณะนี้หรือไม่ แต่ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่ได้มีข้อกำหนดห้ามการถ่ายรูปภายในหน่วยออกเสียงเอาไว้
ทั้งนี้ ประธานกรรมการประจำหน่วยออกเสียงซึ่งเป็นพยานปากสำคัญในกลุ่มนี้ ยังเบิกความตอบอัยการด้วยว่าคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนนั้น บางส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้บอกให้พยานตอบ และในส่วนของคำให้การเพิ่มเติมของพยานบางส่วน ตำรวจก็พิมพ์รอไว้ก่อนแล้ว เพียงแต่ให้พยานลงลายมือชื่อ ซึ่งพยานปากนี้เป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้งสามคนด้วย
ภายหลังวันออกเสียงประชามติ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญพวกเขาไปสถานที่เกิดเหตุและจำลองเหตุการณ์ขึ้น แล้วให้พวกเขาลงลายมือชื่อในเอกสารภาพถ่าย แต่ในประเด็นที่ตำรวจได้ทำการจำลองเหตุการณ์ ณ วันเกิดเหตุ และมีการบันทึกภาพไว้ จำเลยทั้ง 3 คน กลับไม่ได้ถูกเรียกให้มาร่วมหรือรับทราบว่ามีการจำลองเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุด้วยแต่อย่างใด
สามจำเลยคดีฉีกบัตรประชามติขณะเข้าให้การเพิ่มเติมในชั้นสอบสวน (ภาพจากมติชนออนไลน์)
เจ้าหน้าที่ตำรวจ: ความขัดแย้งในปากคำเรื่องเหตุการณ์จับกุม
พยานกลุ่มตำรวจที่มาเบิกความเป็นชุดรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม และพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ในส่วนของชุดรักษาความปลอดภัยเป็นตำรวจ 2 นายที่อยู่ในหน่วยออกเสียง โดยนายหนึ่งเป็นผู้จับกุมนายปิยรัฐ อีกนายหนึ่งเป็นผู้ห้ามนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมไม่ให้ถ่ายภาพ เบิกความว่าการห้ามไม่ให้ถ่ายภาพนั้น เพียงแค่ยกมือกันออกไปนอกหน่วยออกเสียง ไม่ได้มีการผลักดัน และหลังเกิดเหตุการณ์ใช้สิทธิออกเสียงของประชาชนยังเป็นไปปกติ
คำให้การในส่วนของเหตุการณ์ขณะที่นายปิยรัฐฉีกบัตรนั้นใกล้เคียงกันกับพยานปากอื่นๆ และจำเลยทั้งสามคน แต่พยานตำรวจ 2 นายนี้ให้การถึงตำแหน่งซึ่งมีการถ่ายรูปและวิดีโอด้านหลังบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงขัดแย้งกันว่าเป็นข้างในหรือข้างนอกหน่วยออกเสียงกันแน่ ต่อมาหลังเกิดเหตุ นายปิยรัฐถูกควบคุมตัวออกไปข้างนอกหน่วยออกเสียง แล้วจึงมีตำรวจจาก สน.บางนามาควบคุมตัวไป โดยที่นายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมติดตามไปทีหลัง
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงในการจับกุมนายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมจากตัวจำเลยทั้งสองเอง กับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม กลับมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง กล่าวคือ ร.ต.อ.คำสอน ไมสุวรรณ รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.บางนา เบิกความว่าตำรวจและคณะกรรมการประจำหน่วย แจ้งแก่ ร.ต.อ.คำสอน ว่าจำเลยทั้งสองได้ก่อความวุ่นวายและเป็นอุปสรรคในการออกเสียงประชามติ ร.ต.อ.คำสอนจึงเข้าแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิแก่จำเลยทั้งสองคน แต่นายจิรวัฒน์บอกว่าตนเอารถยนต์มาเอง จึงขอเอารถไปสน.ด้วย ร.ต.อ.คำสอนจึงให้นายจิรวัฒน์นำรถตนเองไป โดยมีพยานและผู้ใต้บังคับบัญชาขึ้นรถไปด้วย เมื่อไปถึงสน.บางนา พยานได้นำตัวจำเลยทั้งสองคนมอบแก่พนักงานสอบสวน ส่วนที่ร.ต.อ.คำสอนไม่ได้ลงชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากต้องไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ จึงเพียงแค่นำจำเลยทั้งสองคนไปส่ง
แต่นายจิรวัฒน์และนายทรงธรรมเบิกความในส่วนนี้ว่าหลังจากนายปิยรัฐถูกตำรวจนำตัวไปแล้ว พวกตนก็เดินไปขึ้นรถของนายจิรวัฒน์ที่จอดอยู่ตรงลานจอด นายจิรวัฒน์เบิกความว่าเมื่อขึ้นรถแล้ว ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาขอตนติดรถไปที่สน.บางนาด้วย เพราะรถของตำรวจเต็ม และเมื่อพวกเขาไปถึง สน.บางนาแล้วตำรวจนอกเครื่องแบบทั้งสองนายก็เดินหายไป ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใดๆ จากนั้นพวกเขาทั้งสองคนก็อยู่ที่สน.บางนาจนค่ำ โดยที่สามารถเดินไปมาในสถานีได้ และเมื่อเห็นว่ากระบวนการของนายปิยรัฐจวนจะเสร็จแล้ว พวกเขาจึงจะเดินทางกลับ แต่ขณะกำลังจะขึ้นรถกลับ ก็มีตำรวจ 2 นาย เดินเข้ามาแจ้งว่าตนกับนายทรงธรรมถูกตั้งข้อกล่าวหา แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นข้อหาอะไร และพาตัวพวกเขาไปที่ชั้น 2 ของสถานี การแจ้งข้อกล่าวหาจึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น
เจ้าหน้าที่บริษัทเอไอเอส: เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้บริการ
ขณะเดียวกัน ควรบันทึกไว้ด้วยว่าคดีนี้ยังมีพยานโจทก์ในปากของผู้ชำนาญการฝ่ายกฎหมายของบริษัทเอไอเอส ซึ่งจำเลยทั้งสามเป็นผู้ใช้บริการของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือดังกล่าวอยู่ พยานปากนี้ได้เบิกความถึงการตรวจสอบการใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย เพื่อยืนยันในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสามคนได้มีการรู้จักและติดต่อกันมาโดยตลอด โดยพยานได้เป็นผู้รวบรวมการใช้งานโทรศัพท์ทั้ง 3 หมายเลขของจำเลย ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ถึงวันที่ 18 ส.ค. 59 จัดทำเป็นเอกสาร แล้วส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเป็นข้อมูลการติดต่อ ระยะเวลาการติดต่อ ข้อมูลการรับส่ง SMS และรายการระบุพิกัดตำแหน่งของทั้งสามหมายเลขจากเสาสัญญาณของผู้ให้บริการ
พยานปากนี้ยังเบิกความตอบทนายจำเลยว่าตนทราบว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลส่วนตัว มีกฎหมายให้ความคุ้มครองไว้ และทราบว่าการจะให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจกระทำได้เป็นการเฉพาะ ไม่สามารถให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกรายได้ แต่พยานเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหนังสือให้ส่งหลักฐานดังกล่าวไปให้มีอำนาจ จึงได้ปฏิบัติตาม ทนายความยังถามเพิ่มเติมว่าการจะกระทำดังกล่าวจะต้องมีการขอออกหมายศาลด้วยใช่หรือไม่ พยานปากนี้ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนในคดีมีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในคูหาเลือกตั้ง: การฉีกบัตรเมื่อ 10 ปี ก่อน
หากย้อนไปก่อนหน้าคดีนี้ เคยมีเหตุการณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคดีของนายปิยรัฐอยู่เช่นกัน กล่าวคือเมื่อวันที่ 2 เม.ย.49 นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ฉีกบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ในคูหาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ต่อมานายไชยันต์ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำบัตรเลือกตั้งดีให้เป็นบัตรเสีย และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์ ต่อศาลจังหวัดพระโขนง
เหตุการณ์ฉีกบัตรเลือกตั้ง ของไชยันต์ ไชยพร เมื่อวันที่ 2 เม.ย.49
ในคดีนี้ ศาลจังหวัดพระโขนงได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2553 โดยให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 บัตรเลือกตั้งที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงไม่ใช่บัตรเลือกตั้ง เป็นเพียงแบบพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิด และการกระทำของจำเลยก็ไม่ได้ก่อความวุ่นวาย แต่เป็นการต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยสันติวิธี อีกทั้ง บัตรเลือกตั้งยังเป็นสิ่งที่ กกต.ในขณะนั้น ใช้ในการกระทำความผิดและมีราคาเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการได้อำนาจปกครองประเทศมาโดยไม่ชอบ
แต่ต่อมา ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาในปี 2557 เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จขณะที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง ตามมาตรา 358 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันดังกล่าว และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.49 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยที่ว่าเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 นั้น ศาลเห็นว่าการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีจะต้องเป็นการกระทำที่มิได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด
ศาลฎีกาจึงได้พิพากษาโทษยืนตามศาลอุทธรณ์ คือเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน อีกทั้งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถโดยรับราชการอยู่ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ระดับ 9 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดห้าปี (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 7008/2557)
10 ปีผ่านไปหลังเหตุการณ์ฉีกบัตรเลือกตั้งครั้งนั้น มาสู่การฉีกบัตรลงประชามติครั้งนี้ อาจเป็นเหตุบังเอิญที่การพิจารณาคดีเกิดขึ้นในศาลจังหวัดพระโขนงเช่นเดียวกัน การพิจารณาพิพากษาของศาลในวันพรุ่งนี้จึงเป็นที่น่าติดตามจับตาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากทั้งสองคดีมีความคล้ายคลึงกันทั้งพฤติการณ์และแรงจูงใจในการก่อเหตุ นอกจากนั้นทั้งปิยรัฐและไชยันต์ยังเห็นว่าการกระทำของตนเป็นการต่อต้านอย่างสันติต่อกระบวนการที่ตนเห็นว่าไม่เป็นธรรม แม้ว่าบริบทการเมืองในปี 2549 และ 2559 จะแตกต่างกันก็ตาม