UPR รอบ 3 สำรวจความคืบหน้าสถานการณ์สิทธิไทยผ่านเวทีโลก: นักปกป้องสิทธิฯ ยังตกอยู่ภายใต้การคุกคาม แม้รัฐไทยจะรับ 6 ข้อเสนอ บังคับใช้มาตราการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ

นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2561 จนถึงประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2564 นักกิจกรรมปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านอำนาจเผด็จการ และออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ได้เผชิญหน้ากับการคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในระดับที่น่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางออนไลน์ การสอดแนม การโจมตีลอบทำร้ายโดยตรงที่ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หรือการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาโจมตีเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเพื่อพรากสิทธิที่บุคคลสามารถประท้วงไป 

โดยรายล่าสุดคือ กรณี “อานนท์ นำภา” ได้ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 และ โดยที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวมาแล้ว 5 ครั้ง และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังในเรือนจำ จากการร่วมชุมนุมใน 3 คดี ได้แก่ คดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง, คดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย และคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันมาแล้ว 4 ครั้ง 

ซึ่งการคุมขังนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยเหล่านี้ ถือเป็นการพุ่งเป้าโจมตีและคุกคามผ่านการใช้การกลั่นแกล้งทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ การยัดเยียดข้อหารุนแรง หรือการละเมิดสิทธิการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดีหลายต่อหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้สวนทางโดยสิ้นเชิงกับคำมั่นของรัฐบาลที่สัญญาว่าจะผลักดันมาตราการการคุ้มครองสิทธิของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 

ในบทความนี้ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะพาทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจประเด็นการคุ้มครองปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ผ่านคำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยต่อคำแนะนำของนานาชาติ ในกระบวนการกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) รอบที่ 2 ปี 2559 และปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข ผ่านการรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ปี 2564  

ไทยรับข้อเสนอแนะนานาชาติ 6 ข้อ ระหว่าง UPR รอบ 2 ผลักดันมาตรการคุ้มครอง-อำนวยความยุติธรรมแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้เป็นรูปธรรม 

ระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเสนอจากทั้ง 6 ประเทศ ในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น เสนอให้มีการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐไทยจะต้องไม่ข่มขู่ คุกคาม หรือทำร้ายนักเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม รวมถึงยังเรียกร้องให้มีการอำนวยความยุติธรรมแก่นักกิจกรรมที่ตกเป็นเหยื่อ และหาตัวผู้กระทำผิดที่ก่ออาชญากรรมมารับโทษตามกฎหมาย 

โดยประเทศนิวซีแลนด์ได้นำเสนอให้มีการประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการปฏิบัติโดยสอดคล้องกับปฏิญญาสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่วนประเทศที่เสนอให้มีการอำนวยความยุติธรรมแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้ภาครัฐดำเนินการสอบสวนคดีข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อให้อาชาญกรได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย ได้แก่ ประเทศลักเซมเบิร์ก, บอสวานา, และนอร์เวย์ และโรมาเนีย ในขณะที่สาธารณะรัฐเช็คได้เสนอให้หยุดการคุกคามและการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบ และจัดทำมาตราการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความรุนแรงและก่ออาชญากรรมต่อบุคคลเหล่านี้ 

หลังจากรับปากต่อนานาชาติ รัฐบาลไทยได้กลับมาวางแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะ UPR รอบ 2 ไว้ในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (ยธ.) ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวของทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการเพื่อพิจารณามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และยกร่างมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในระหว่างปี 2559-2560 รวมถึงกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ผลักดันมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย จัดการประชุมเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบระยะเวลา ปี 2561-2563 และผลักดันให้มีการกําหนดมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 

ส่วนด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กําชับหน่วยปฏิบัติให้ดําเนินการเกี่ยวกับมาตรการเพื่อป้องกันการงดเว้นโทษแก่ผู้กระทําผิด รวมทั้งหากได้รับการแจ้งหรือร้องขอ ให้รีบดําเนินการตรวจสอบและส่งเจ้าหน้าที่เข้าคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงให้มีการสอบสวนและดําเนินคดีข้อกล่าวหาด้านการทรมานและการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดโดยพลัน

ขณะที่ด้านกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ได้จัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อรับผิดชอบดูแลคดีให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นความอิสระและความเป็นกลาง และวางแนวนโยบายให้ดูแลการสืบสวนสอบสวนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล

รัฐบาลไทย นิ่งเฉยต่อการลอบทำร้ายหนักและดำเนินคดีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นักต่อสู้หญิงถูกโจมตีทําร้ายด้วยเหตุทางเพศสภาพ -องค์กรสิทธมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐสอบสวนและยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิฯใน UPR รอบ 3 

เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ กระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน (UPR) ที่จัดทำทุกสี่ปี่ ได้เวียนมาถึงประเทศไทยเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2554 และปี 2559 ตามลำดับ โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมส่งรายงานกับองค์กรด้านสิทธมนุษยชนถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) 3 ฉบับ ได้แก่ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 1 ฉบับ, กรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) 1 ฉบับ และ Lawyers for lawyers (L4L) อีก 1 ฉบับ 

ถึงแม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนาว่าจะมุ่งมั่นปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน ตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากนานาชาติ แต่เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษชนต่าง ๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะร้ายแรงเป็นพิเศษเมื่อเกิดต่อนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย โดยมีสาระสำคัญที่รายงานไว้ในรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ดังนี้ 

รัฐบาลไทยนิ่งเฉยต่อนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกข่มขู่ คุกคาม และลอบทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2561 ถึง จนถึงประมาณเดือนพฤกษภาคม 2562 มีรายงานว่านักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 รายที่ถูกคุกคาม ก่อกวน และลอบทำร้ายร่างกายหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เช่น นายเอกชัย หงส์กังวาน ถูกทําร้ายร่างกายโดยคนร้ายนิรนามอย่างน้อย 7 ครั้ง และรถยนต์ของเขาถูกวางเพลิงจนได้รับความเสียหายอีก 2 ครั้ง โดยไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ ในขณะที่ เมื่อวันที่ 2 และ 28 มิถุนายน 2562 นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ถูกโจมตีโดยกลุ่มคนร้ายที่ไม่ทราบตัวตนถึง 2 ครั้ง จากการทําร้ายครั้งที่ 2 ทำให้สิรวิชญ์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องเข้ารักษาตัวในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก 

ทั้งนี้ มีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ กรณีอื่นที่เหลือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุและนําตัวมารับผิดได้

นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยถูกรัฐบาลไทยโจมตีและคุกคามผ่านระบบยุติธรรมทางอาญา  เช่น ถูกจับกุมโดยพลการ คุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถูกฟ้องดําเนินคดีหลายคดี นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อหาในฐานความผิด ”การหมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงและมีอัตราโทษจำคุกหลายปี ตัวอย่างเช่น ในกรณีของ นายอานนท์ นําภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และยุยงปลุกปั่น รวมทั้งสิ้น 21 คดีด้วยกัน 

นอกจากนี้ยังมี นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ถูกตั้งข้อหารวม 34 คดี นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” ถูกตั้งข้อหารวม 16 คดี นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกตั้งข้อหารวม 4 คดี และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ถูกตั้งข้อหารวม 3 คดี และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์” ถูกตั้งข้อหารวม 2 คดี โดยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 6 รายนี้ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 และ 116 อีกทั้งยังถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจํา ระหว่างรอการพิจารณาคดี ขณะที่จัดทำรายงานฉบับนี้ 

นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยหญิงถูกเอาผิดทางอาญา ถูกคุกคาม และถูกปฎิบัติโดยมิชอบที่มีลักษณะเฉพาะทางเพศสภาพ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีบทบาทหลักในการจัดตั้งและนําการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยต่าง ๆ ในปี 2563 ตกเป็นเป้าหมายอย่างเป็นระบบของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ เนื่องจากการเข้าร่วมประท้วง

และแสดงออกทางการเมือง

ทางการไทยได้เอาผิดทางอาญากับกิจกรรมทางการเมืองของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผ่านการใช้กฎหมายและข้อบัญญัติที่กดขี่ต่าง ๆ ซึ่งมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตัวอย่างเช่น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” นักกิจกรรมหญิงเพื่อประชาธิปไตย ถูกตั้งข้อหาทั้งสิ้น 15 ข้อหา รวมถึงมาตรา 112 และ 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการที่เข้าร่วมประท้วงโดยสันติ โดยปนัสยาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง ในกรุงเทพฯ ขณะรอการพิจารณาคดี ขณะที่จัดทํารายงานฉบับนี้

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังมักจะกระทําการคุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่หลายครั้ง การคุกคามและข่มขู่ในลักษณะนี้ ยังถูกนำมาใช้กับสมาชิกครอบครัวของพวกเธออีกด้วย โดยเป็นวิธีการขัดขวางผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ให้ปฏิบัติงานของพวกเธอหรือเข้าร่วมการประท้วงได้ 

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีการโจมตีทําร้ายด้วยเหตุทางเพศสภาพ ส่วนใหญ่จะกระทําในรูปแบบของการใช้คําพูดคุกคามทําร้าย และการโจมตีและคุกคามทางออนไลน์ที่มุ่งเป้ามายังพวกเธอโดยตรง เพียงเพราะเพศสภาพและการแสดงออกทางเพศสภาพของพวกเธอ 

ข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาสังคม ทางศูนย์ทนายความฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการในประเด็นเรื่องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สำหรับ UPR รอบที่ 3 ดังต่อไปนี้ 

  1. ให้รัฐบาลไทยดําเนินการสอบสวนอย่างละเอียด เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ต่อเหตุโจมตีทําร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนําตัวผู้กระทํามารับผิด ประกันให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนเพื่อให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิของตนได้ และยุติพฤติกรรมคุกคามทั้งหมดต่อพวกเขา รวมถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือคุกคามด้วย 
  2. งดเว้นการจับกุม ควบคุมตัว และการดําเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อันมาจากการใช้สิทธิของพวกเขาโดยชอบและโดยสงบ ตามที่ได้รับรองในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระดับสากล 
  3. คุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการโจมตีทําร้ายและการคุกคามและข่มขู่ในรูปแบบอื่น ๆ อันมีเหตุจากเพศสภาพ ทั้งโดยรัฐและผู้กระทําที่ไม่ใช่รัฐ รวมถึงทางออนไลน์ 
  4. ส่งคําเชิญอย่างเป็นทางการและจัดให้ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เดินทางเยือนประเทศไทย ในระหว่างวาระการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่ 3

อ่านเพิ่มเติม: 

วันผู้สูญหายสากล: ไทยรับข้อเสนอแนะ 10 ข้อบนเวทีโลกผ่านกลไก UPR ประเด็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ไร้การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากว่า 4 ปี

เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก

X