นัดตรวจพยานคดี #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน ศาลไม่ให้นำสืบข้อมูลการเดินทางเข้าออกนอกประเทศของ ร.10 ก่อนนัดสืบพยาน มี.ค. 66

วันนี้ (17 ธ.ค. 64) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีที่นักกิจกรรมและประชาชน 13 ราย ถูกสั่งฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์”, มาตรา 116 “ยุยงปลุกปั่น” และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุร่วมชุมนุมปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี หรือม็อบ #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 

การนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งนี้ ถูกเลื่อนมาจากวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เนื่องจากพบว่าพนักงานอัยการติดเชื้อโรคระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างกะทันหัน และทนายจำเลยแถลงว่า “เบนจา” จําเลยที่ 5 มีความประสงค์จะขอตรวจพยานหลักฐานของโจทก์ แต่เนื่องจากยังถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ จึงไม่อาจตรวจพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จึงขออนุญาตศาลเลื่อนคดีไปนัดหนึ่ง และขอให้เบิกตัวเบนจามาศาลในวันนี้

.

ศาลไม่ให้สืบข้อมูลการเดินทางเข้าออกนอกประเทศของ ร.10 – รายจ่ายหน่วยราชการส่วนพระองค์ ชี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นคดี

ณ ห้องพิจารณา 601 เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ โดยก่อนจะเริ่มพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยพกโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าเข้าห้องพิจารณาคดี รวมถึงมีการใช้เครื่องตรวจโลหะตรวจสอบจำเลยและผู้ที่ต้องการจะเข้าฟังการพิจารณาคดีอย่างเข้มงวด 

นอกจากนี้ ก่อนเข้ามาในศาล เจ้าหน้าที่ศาลมีความพยายามที่จะห้ามไม่ให้ญาติและผู้ที่จะมาให้กำลังใจจำเลยเข้าร่วมการฟังพิจารณาคดี โดยอ้างเหตุผลเรื่องป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) โดยหลังจากมีการพูดคุยเจรจาแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลจึงได้ยอมให้เข้ามาในห้องพิจารณาคดีได้ตามปกติ 

สำหรับวันนี้ จำเลยทั้ง 12 ราย ได้แก่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, กรกช แสงเย็นพันธ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, วัชรากร ไชยแก้ว, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, อัครพล ตีบไธสง, โจเซฟ (นามสมมติ), สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ, รวิสรา เอกสกุล, แอน (นามสมมติ) และณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ได้มาปรากฎตัวต่อศาลตามนัดหมาย ก่อนที่ศาลจะเบิกตัวเบนจา อะปัญ จากทัณฑสถานหญิงกลาง มาร่วมตรวจพยานหลักฐาน นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเยอรมนีเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย 

จำเลยทั้ง 13 ราย ยืนยันให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกันนี้ ทั้งโจทก์และจำเลยแถลงไม่สามารถรับข้อเท็จจริงกันได้ จึงไม่มีการตัดพยานและนำพยานเข้าสืบทุกปาก

อัยการโจทก์แถลงจะสืบพยาน จำนวน 29 ปาก ซึ่งพยานแต่ละคนจะเบิกความถึงการกระทำของจำเลยทั้งสิบสามคน รวมถึงพยานเอกสารและวัตถุพยานอีกหลายรายการ ด้านฝ่ายจําเลยแถลงขอนําสืบพยานจําเลยทั้งหมดร่วมกัน จํานวน 23 ปาก และยื่นพยานเอกสารกับวัตถุพยานหลายรายการเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ศาลได้แจ้งกับทนายจำเลยว่า ไม่สามารถนำพยานเอกสารบางรายการเข้าสืบได้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศของรัชกาลที่ 10 จากสามหน่วยงาน คือ การบินไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานกงสุลใหญ่นครมิวนิค, ข้อมูลงบประมาณการใช้จ่ายของหน่วยงานราชการในพระองค์ รวมไปถึงพยานบุคคลที่ศาลสั่งไม่ให้ออกหมายเรียกมานำสืบ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ศาลเห็นว่าพยานเอกสารเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นคดี เนื่องจากในคดีนี้ ศาลไม่ได้จะพิสูจน์ว่าคำพูดปราศัยของจำเลยนั้นเป็นจริงหรือเท็จ แต่จะพิสูจน์ว่าคำปราศัยของจำเลยนั้นเข้าข่ายองค์ประกอบข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่

ทนายจำเลยจึงจะยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลภายใน 8 วัน ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ยื่นคำคัดค้านภายใน 8 วันนับตั้งแต่วันนี้ หากไม่ยื่น ถือว่าไม่ติดใจ 

ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานรวมทั้งหมด 13 นัด เป็นนัดสืบพยานโจทก์ 7 นัด และนัดสืบพยานจำเลย 6 นัด

ต่อมา คู่ความได้กำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความ โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 2-3, 7-10, 14 มีนาคม 2566 ส่วนนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 15-17, 21-23 มีนาคม 2566

.

ย้อนอ่านความเป็นมาในคดีนี้ > คดี 112 – 13 ปชช.-น.ศ.-นักกิจกรรม อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน

ยื่นฟ้อง 12 ผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ชี้หมิ่นกษัตริย์ เหตุทำให้ปชช.เข้าใจว่า ร.10 ใช้อำนาจแทรกแซงการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชน

X