ยื่นฟ้อง 12 ผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ชี้หมิ่นกษัตริย์ เหตุทำให้ปชช.เข้าใจว่า ร.10 ใช้อำนาจแทรกแซงการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (22 ก.ค. 64)  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นักกิจกรรมและประชาชนรวม 13 ราย ผู้ปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี #ม็อบ26ตุลา หรือ #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ในฐานความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112, “ร่วมกันยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้

ย้อนอ่านความเป็นมาในคดีนี้ > คดี 112 – 13 ปชช.-น.ศ.-นักกิจกรรม อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน

สำหรับวันนี้ มีผู้เดินทางมาฟังคำสั่งฟ้องทั้งหมด 12 ราย ได้แก่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (จำเลยที่ 1) นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, กรกช แสงเย็นพันธ์ (จำเลยที่ 2) นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, ชนินทร์ วงษ์ศรี (จำเลยที่ 3) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ชลธิศ โชติสวัสดิ์ (จำเลยที่ 4) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เบนจา อะปัญ (จำเลยที่ 5) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วัชรากร ไชยแก้ว (จำเลยที่ 6) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ (จำเลยที่ 7) นักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที, อัครพล ตีบไธสง (จำเลยที่ 8), โจเซฟ (นามสมมติ) จำเลยที่ 9, สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ (จำเลยที่ 10) นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รวิสรา เอกสกุล (จำเลยที่ 11) บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแอน (นามสมมติ) (จำเลยที่ 12)

ด้านณวรรษ เลี้ยงวัฒนา จะเดินทางมาฟังคำสั่งทางคดีในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค. 64) ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่สถานทูตจากประเทศเยอรมนี, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ มาร่วมสังเกตการณ์การยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอีกด้วย

ตัวแทนสถานทูตเข้าสังเกตการณ์การยื่นฟ้องคดีในวันนี้ (ภาพจากข่าวสด)

ขณะวานนี้ (21 ก.ค. 64) พรรคกรีนแห่งเยอรมนี (Bündnis 90/Die Grünen) ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนร่วมกับผู้ชุมนุมทั้ง 13 ราย พร้อมประณามการดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมอย่างสันติ (อ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย

.

“ครูใหญ่” แถลงต่อศาล ขอให้กำหนดเงื่อนไขประกันให้ชัดเจน ไม่กว้างขวางคลุมเครือ

เวลา 13.30 น. พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีพร้อมกับนำตัวจำเลยมาส่งศาล ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ประทับรับฟ้องไว้ ผู้พิพากษาเวรได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จำเลยทั้งหมดรับทราบคำฟ้อง และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ขณะที่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ หนึ่งในจำเลย ได้ขอแถลงต่อศาล ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขที่รัดกุมและชัดเจน เนื่องจากในคดีลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ การที่ศาลตั้งเงื่อนไขการประกันตัวที่กว้าง ทำให้ต้องมีการไต่สวนถอนประกันหลายครั้ง ต้องการข้อยุติเพื่อให้ยอมรับโดยสดุดี ด้านผู้พิพากษาผู้อ่านฟ้องขอให้อรรถพลและทนายความยื่นคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราวมา เนื่องจากตนมีหน้าที่อ่านฟ้องเท่านั้น ไม่ได้รับผิดชอบส่วนงานประกันตัว 

ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการทั้งหมด 7 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลอีก 3 คน เป็นหลักประกัน พร้อมกับระบุเหตุผลในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวว่า พฤติการณ์ตามฟ้องถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญไทย จำเลยนั้นยังให้ความร่วมมือในชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน และชั้นพนักงานอัยการเป็นอย่างดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีอิทธิพลยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ตามคำฟ้องไม่ปรากฎพฤติการณ์ของจำเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 

ทั้งนี้ อรรถพลยังได้ยื่นคำแถลงประกอบกับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเนื้อหาว่า จำเลยที่ 7 ขอให้ศาลได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ชัดเจนไม่คลุมเครือต่อการตีความ หรือเป็นการจำกัดสิทธิจำเลยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวทางที่ผ่านมาในคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะและข้อกล่าวหาเดียวกัน ศาลเคยวางแนวทางเงื่อนไขการประกันไว้ ดังนี้

1. ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เงื่อนไขนี้ จำเลยที่ 7 อยากขอความกรุณาต่อศาลให้ระบุให้ชัดเจนว่า กิจกรรมใดที่มีความวุ่นวาย เพราะถ้าหากจำเลยเข้าร่วมกิจกรรมที่มีเจตนาสงบ สันติ อหิงสา แต่มีผู้อื่นหรือเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดความวุ่นวาย จะถือว่าจำเลยละเมิดเงื่อนไขหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ศาลใช้คำว่า “เข้าร่วม” ในกิจกรรม ไม่ได้เขียนให้ชัดเจนว่า ห้ามจำเลยกระทำความวุ่นวาย หรือถ้าหากศาลจะกรุณาระบุให้ชัดว่า “ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายชัดเจน” จะถือเป็นความกรุณามาก

2. ห้ามกระทำผิดซ้ำ หรือห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะที่เคยถูกกล่าวหา ข้อนี้จำเลยอยากขอให้ศาลระบุให้ชัดเจนว่า การกระทำดังกล่าวคือการกระทำในลักษณะเช่นใด และขอให้ศาลหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยความว่า “ห้ามกระทำผิดซ้ำ” เพราะในคดีนี้ยังไม่ได้มีการไต่สวนหาความจริง และพิพากษาว่าเป็นความผิด การตั้งเงื่อนไขด้วยข้อความเช่นนี้ เท่ากับให้เงื่อนไขตัดสินไปแล้วว่าเป็นความผิด ก่อนที่จะมีกระบวนการพิจารณาคดี

3. ห้ามกระทำการเข้าร่วมชุมนุม หรือกล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อันจะเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ เงื่อนไขข้อนี้อยากให้ศาลระบุให้ชัดเจนว่า การแสดงข้อมูล เช่น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่มีพยานหลักฐานชัดเจน รวมถึงแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้หรือไม่ 

อีกทั้ง การระบุในเงื่อนไขโดยใช้คำว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” มีความหมายกว้างเพียงใด ตีความครอบคลุมถึงบุคคล องค์กรหรือกรณีใดบ้าง เพราะไม่ใช่ข้อความในประมวลกฎหมายมาตรา 112 ที่ระบุถึงเพียงองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ จำเลยจึงขอให้ศาลใช้ถ้อยความ โดยยึดถ้อยความที่ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นหลักเท่านั้น แทนการใช้ความว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” เพราะจะทำให้การตีความกว้าง และคลุมเครือเกินกฎหมายกำหนด

อรรถพลยังระบุในคำแถลงอีกว่า ที่สุดนี้หากศาลตั้งเงื่อนไขที่กว้างและคลุมเครือต่อการตีความมากเกินไป ก็จะทำให้มีผู้ร้องขอถอนประกันจนเป็นที่รกศาล และเป็นภาระต่อจำเลย การระบุข้อความเงื่อนไขที่ชัดเจนจะทำให้จำเลยง่ายต่อการปฏิบัติตามต่อเงื่อนไขของศาล และป้องกันการร้องถอนประกันจากการตีความที่คลุมเครือ และจำเลยอยากขอให้ศาลพิจารณากำหนดเงื่อนไขการประกันใดๆ ก็ตาม ต้องไม่เป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพของจำเลยที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสากล

ราว 16.00 น. บัญญัติ ตังกบดี รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 12 คน ตีราคาวงเงินประกันคนละ 2 แสนบาท โดยให้ใช้ตำแหน่งนักวิชาการและ ส.ส. ตามคำร้อง พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก ให้มาศาลตามนัดทุกนัด โดยถือปฏิบัติเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากศาล มีหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ ทำให้ทั้ง 12 คน ได้รับการปล่อยตัวออกมาต่อสู้คดีต่อไป 

ศาลได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีต่อไปเป็นวันที่ 11 ตุลาคม 2564 เวลา 9.00 น.

.

ประชาชนทั้ง 12 รายที่ถูกยื่นฟ้องในฐานความผิดมาตรา 112 วันนี้

สำหรับคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 ลำดับที่ 33 แล้วที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล นับตั้งแต่มีการกลับมาใช้มาตรา 112 อีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ขณะที่จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรานี้พุ่งสูงถึงอย่างน้อย 111 ราย ภายในระยะเวลาราว 8 เดือน หลังการกลับมาใช้มาตรานี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

.

คำฟ้องชี้ แถลงการณ์หน้าสถานทูตฯ ทำให้ปชช.เข้าใจว่า ร.10 ใช้อำนาจโดยมิชอบ-อยู่เบื้องหลังการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นความเท็จ!

สำหรับ คำฟ้องของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษ​ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3) บรรยายพฤติการณ์คดีโดยย่อว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 63 จำเลยทั้งสิบสองคนได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ดังนี้

1. จำเลยทั้งสิบสองได้ใช้รถซาเล้งเครื่องเสียงติดตั้งเครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า เพื่อปราศรัยแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชน เพื่อการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บริเวณหน้าสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจําประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

2. เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 63 จำเลยทั้งสิบสองยังได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่บริเวณหน้าสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยแบ่งหน้าที่กัน

กล่าวคือ ภัสราวลี (จำเลยที่ 1) เป็นตัวแทนจำเลยอื่นไปยื่นหนังสือที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้กับเอกอัครราชทูต ที่สถานทูตเยอรมนี ส่วน กรกช (จำเลยที่ 2) ชนินทร์ (จำเลยที่ 3) ชลธิศ (จำเลยที่ 4) และเบนจา (จำเลยที่ 5) ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทยที่จัดเตรียมมาแจกประชาชนที่มาร่วมชุมนุม 

จากนั้น วัชรากร (จำเลยที่ 6) โจเซฟ (จำเลยที่ 9) และณวรรษ ได้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ ส่วนอัครพล (จำเลยที่ 8) สุธินี (จำเลยที่ 10) รวิสรา (จำเลยที่ 11) และแอน (จำเลยที่ 12) และพวกอีก 2 คน ที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง ได้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ในภาษาอังกฤษและเยอรมันนั้นมีเนื้อหาเหมือนฉบับภาษาไทย

เนื้อหาของแถลงการณ์ได้ทวงถามถึง ผลของการยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ลาออกในการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 63 และขอให้สหพันธรัฐเยอรมนีตรวจสอบการใช้อำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ขณะพำนักอยู่ในประเทศเยอรมนี เพราะเหตุดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

หลังจำเลยทั้ง 12 ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ดังกล่าว อรรถพล (จำเลยที่ 7) และภัสราวลี (จำเลยที่ 1) ได้กล่าวคำปราศรัยต่อประชาชน รวมทั้ง พ.ต.ท.อนันต์ วงศ์คำ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลรักษาความเรียบร้อยในบริเวณนั้น 

อรรถพลได้ปราศรัยในประเด็นการขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การออก พ.ร.บ.เกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฯ และการพำนักอยู่ต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พร้อมกับตั้งคำถามว่าพระองค์ได้ใช้พระราชอำนาจขณะพำนักอยู่ประเทศเยอรมนีหรือไม่ และย้ำว่าสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่คู่สังคมไทยอย่างสง่างาม และเหนือการเมือง ก่อนที่จะประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ในด้านการทหาร, ยกเลิก พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ ที่ให้พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของทรัพย์สินเพียงผู้เดียว และยกเลิกพระราชอำนาจในการแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ

ส่วนภัสราวลีได้ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะเดียวกับจดหมายที่ยื่นต่อเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญ คือ ตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์นอกเขตแดนประเทศไทย โดยขอให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบและเปิดเผยประวัติการเดินทางเข้าออกประเทศเยอรมนีของรัชกาลที่ 10 เพื่อสืบทราบว่ามีการลงนามในประกาศพระบรมราชโองการ และการลงนามใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขณะพำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมนีหรือไม่ และกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จำเป็นต้องเสียภาษีมรดกตามกฎหมายของประเทศเยอรมนีหรือไม่ และถ้าหากต้องเสีย เสียเท่าใด 

ทั้งยังขอให้ประเทศเยอรมนีตรวจสอบว่า มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น เช่น การอุ้มหาย ซ้อมทรมาน ขณะกษัตริย์รัชกาลที่ 10 พำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมนี หรือไม่ และขอให้ตรวจสอบถึงการติดรูปของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ในห้องพัก ใช้ที่พักส่วนตัวในประเทศเยอรมนีเป็นฮาเร็มส่วนพระองค์ ขณะที่ประชาชนเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนที่จะยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องว่า แถลงการณ์และคำปราศรัยดังกล่าวทำให้ผู้อ่าน ฟัง และทราบข้อความเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอํานาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองและการปกครอง ทรงใช้พระราชอํานาจบนดินแดนประเทศเยอรมันโดยมิชอบ ทรงเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายข้าราชการ ทรงอยู่เบื้องหลังการใช้กําลังทรมานกับประชาชนก่ออาชญากรรมร้ายแรงกระทําการเป็นอันเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชน นิยมฝักใฝ่ในระบอบเผด็จการนาซี อันเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อบุคคลที่สามด้วยความเท็จ ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ

ทั้งนี้ การกระทำข้างต้นยังถือเป็นการยุยงปลุกปั่นปลุกเร้าให้กลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนอื่นทั่วไป ทำให้เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเกิดความเกลียดชังองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังชักจูงให้ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายอันบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ และพูดชักชวน หรือโน้มน้าวให้ประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อจํากัดพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ในด้านต่างๆ อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

ดังนั้นพนักงานอัยการจึงระบุว่า การกระทำข้างต้นถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ทั้งยังเป็นการร่วมกันกระทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ อันความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4

ท้ายฟ้องยังระบุอีกว่า ขอให้ศาลนับโทษในคดีนี้ของเบนจาต่อจากคดีมาตรา 112 จากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 63

สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้าน ระบุว่า ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล 

.

X