พิพากษาจำคุก 3 ปี คดี 112 “นิว” จตุพร ศาลเห็นว่าการแต่งชุดไทยเป็นการล้อเลียนเสียดสีราชินี ก่อนถูกคุมตัวเข้าเรือนจำ ระหว่างรอประกันชั้นอุทธรณ์

12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมการเมืองผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ในกิจกรรม “รันเวย์ประชาชน” ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563

คดีนี้จำเลยได้ต่อสู้ว่าการแต่งด้วยชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย การกล่าวหาว่าการแต่งกายด้วยชุดไทยของจำเลยว่าเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นการตีความไปเองของผู้กล่าวหาและพยานโจทก์ทั้งสิ้น อีกทั้งยังสู้ด้วยว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง

ศาลพิพากษามีความผิดตาม ม.112 โดยพิเคราะห์จากเหตุการณ์แวดล้อมทำให้เชื่อได้ว่าก่อนขึ้นเดินแบบ จำเลยมีการซักซ้อมกับ “สายน้ำ” เพื่อแสดงตนเป็นราชินีและ ร.10

วัฒนพล ไชยมณี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาระบุเนื้อหาโดยย่อคือ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ลงโทษปรับ 1,500 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ ให้ยกทั้งหมด 

อย่างไรก็ดี ศาลระบุจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา

โดยสรุปของคำพิพากษาในแต่ละข้อกล่าวหา มีดังนี้

  • ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเจ้าพนักงาน 

ศาลระบุว่าแม้จะมีข้อกำหนดห้ามมิให้ชุมนุมมั่วสุม แต่ขณะเกิดเหตุมีข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9  ใน ฉบับที่ 13 ข้อ 1 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2563 ระบุว่า “การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย” 

แสดงว่าผ่อนปรนให้ใช้สิทธิในการชุมนุมได้ ดังนั้นข้อบังคับในเรื่องการห้ามการชุมนุมมั่วสุมจึงใช้ไม่ได้ ทำให้ไม่ต้องวิเคราะห์การกระทำของจำเลยในข้อหานี้

  • ข้อกล่าวหาว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ  

จากการนำสืบของพยานโจทก์ฟังได้ความว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมบริเวณถนนสีลม อันเป็นพื้นที่สาธารณะ โดยการชุมนุมได้มีการนำแผงเหล็กมากั้นกีดขวางการจราจร ซึ่งวันที่เกิดเหตุเป็นวันทำงานธรรมดาย่อมมีประชาชนใช้ยานพาหนะสัญจรในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นที่ประจักษ์ว่าการชุมนุมสร้างความเสียหาย ผลกระทบต่อผู้ใช้พื้นที่สาธารณะ ผู้สัญจรไปมา และยังเป็นการไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ จึงลงโทษจำเลยในฐานะผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ให้ปรับเป็นเงินจำนวน 1,500 บาท 

  • ข้อกล่าวหาว่าตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 

เนื่องจากผู้จัดกิจกรรมมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาด แม้ว่าการนำสืบของพยานโจทก์จะฟ้องว่าจำเลยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าอยู่ตลอด เป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่จำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม จึงไม่ต้องรับผิดในข้อหานี้

  •  ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยระบุว่า แม้มีข้อเท็จจริงว่าการชุมนุมนี้ไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และมีผู้หญิงใช้โทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภขณะที่จำเลยกำลังเดินแบบ ซึ่งมีพยานโจทก์ 3 ปาก ได้แก่ ส.ต.ท.กรณินทร์ คุ้มกัน, พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร และพ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ เบิกความตรงกัน แต่เนื่องจากคำว่าโฆษณา หมายถึงการบอกกล่าว ชี้แจง แนะนำ แสดงความคิดเห็นกับประชาชน ซึ่งการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภจึงไม่ใช่การกระทำดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจึงไม่ต้องพิสูจน์ว่าหญิงคนดังกล่าวเป็นพวกของจำเลยหรือไม่ ข้อหานี้ให้ยกฟ้อง

  • ข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ศาลอ่านคำพิพากษาว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดตามหมาย วจ.1 และ วจ.5 คือแต่งกายด้วยชุดไทย ถือกระเป๋าสีทองขนาดเล็ก มีชายชุดไทยแต่งชุดไทยราชปะแตนเดินตามหลังคอยกางร่มให้ มีหญิงใส่ชุดลายดอกถือพานและถือโทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภเดินตาม โดยในขณะที่จำเลยเดินแบบ มีผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” มีผู้ชุมนุมยื่นมือไปจับข้อเท้า ซึ่งจำเลยได้หยุดยืนให้ผู้ชุมนุมจับข้อเท้า และจำเลยได้ยื่นมือไปจับมือทักทายกับผู้ชุมนุมอื่นๆ ก่อนเดินย้อนกลับเข้าไปหลังป้ายที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”  

จากนั้น “สายน้ำ” ได้ออกมาเดินแบบในชุดเสื้อกล้ามครอปท็อบสีดำ มีข้อความที่แผ่นหลังว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” แล้วมีผู้ชุมนุมตะโกนว่า “ในหลวงสู้ๆ”

จากการกระทำของจำเลยและสายน้ำเกิดขึ้นโดยต่อเนื่องกัน ศาลพิพากษาโดยนำพฤติการณ์มาพิเคราะห์กับสภาพแวดล้อมแล้วเข้าใจว่า จำเลยและสายน้ำมีการซักซ้อมกันมาก่อนว่าจำเลยแสดงตนเป็นราชินี และสายน้ำแสดงตนเป็นรัชกาลที่ 10 

โดยจากพฤติการณ์เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี ในเชิงล้อเลียนเสียดสี ก่อให้เกิดความตลกขบขัน เป็นการไม่แสดงความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นกระทำที่ไม่บังควร

ต่อมาหลังฟังคำพิพากษา ทนายจำเลยได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ จำนวน 300,000 บาท  ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งส่งคำร้องต่อไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งออกมาในอีก 2-3 วันข้างหน้า  และในระหว่างนี้ จตุพรจะถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางก่อน

บรรยากาศการฟังคำพิพากษา: ตร.ศาลระบุ “ท่าน” อนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาได้เฉพาะจำเลยและทนายจำเลย

โดยภาพรวมของการอ่านคำพิพากษา จตุพรปรากฏตัวในชุดไทยสีชมพูคล้ายคลึงกับชุดที่แต่งเดินแฟชั่นโชว์เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 โดยรอบมีสื่ออิสระ และเพื่อนพ้องที่มาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง และในบริเวณใกล้ๆ กันก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจศาลยืนสังเกตการณ์อยู่ประมาณ 4-5 นาย

เมื่อใกล้ถึงเวลาอ่านคำพิพากษา ทั้งจตุพรและผู้ติดตามได้พากันขึ้นมาที่หน้าห้องพิจารณาที่ 402 ทั้งนี้ ผู้ติดตามจำนวนหนึ่งได้เข้าไปนั่งรอภายในห้อง ก่อนที่ตำรวจศาลประมาณ 5-7 นาย จะเข้ามา โดยนายหนึ่งได้แจ้งกับทนายจำเลยว่า “ท่าน” มีคำสั่งอนุญาตให้เพียงแค่จำเลยและทนายจำเลยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปฟังคำพิพากษาภายในห้องพิจารณาได้

อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ถามถึงเหตุของคำสั่งดังกล่าวว่าเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 หรือไม่ เมื่อตำรวจศาลตอบว่าใช่ ทนายจำเลยจึงได้ต่อรองเพื่อขอให้ทีมทนายและผู้สังเกตการณ์จำนวน 5 คน เข้าไปด้วย ซึ่งทางตำรวจก็ยินยอม

ภายในห้องพิจารณา จตุพรได้แจ้งกับทางตำรวจศาลว่าต้องการผู้ไว้วางใจเข้ามาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งได้ถามขึ้นเชิงตำหนิว่า ในเมื่อมีทนายแล้วทำไมจะต้องมีผู้ไว้วางใจอีก ซึ่งจตุพรก็ได้ย้อนถามไปว่า แล้วเหตุใดตนเองจึงจะมีผู้ไว้วางใจไม่ได้

เรื่องราวดังกล่าวจบลงที่จตุพรแถลงต่อศาลในฐานะจำเลยว่าต้องการมีผู้ไว้วางใจเข้ามาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย ซึ่งศาลก็อนุญาต แต่กำหนดให้เข้าได้เพียง 1 คนเท่านั้น

อนึ่ง เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จตุพรได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าการแต่งกายด้วยชุดไทยของตนเองไม่ได้มีเจตนาที่จะล้อเลียนใคร ซึ่งผู้พิพากษาได้กล่าวเพียงว่าให้ต่อสู้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อไป.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :

>> ฟ้อง “จตุพร” ม.112 เหตุแต่งคอสเพลย์ชุดไทยร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ อัยการชี้เจตนาล้อเลียนราชินี ก่อนศาลให้ประกัน

>> ความเปลี่ยนแปลงของรอยสักเลข “๙” ผลกระทบจากคดี 112 และการเตรียมใจของ “นิว จตุพร”

>> ประมวลสืบพยานคดีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ วัดแขก สีลม: 112 และการแต่งกาย

X