เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม คดี 112 “นิว จตุพร”: เมื่อการล้อเลียนเสียดสีกลายเป็นความผิด

หลังจากเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาจำคุก 3 ปี “นิว” จตุพร แซ่อึง จากกรณีแต่งชุดไทยไปร่วมเดินแฟชั่นโชว์ ใน#ม็อบ29ตุลา ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นเงิน 1,500 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงนั้น ให้ยกทั้งหมด  

คดีนี้มีการสืบพยานเมื่อวันที่ 14, 17, 21, 22 และ 24 มิ.ย. 2565 โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุม โดยไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ไม่มีมาตรการป้องกันโควิด, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาต และที่สำคัญคือ ร่วมกันกระทำการล้อเลียน จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์และราชินี ซึ่งในกรณีของนิว จตุพร คือการแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง

ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยคือ การยืนยันในเรื่องการแต่งกายด้วยชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ ว่าเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และการกล่าวหาว่าการแต่งกายด้วยชุดไทยของจำเลยในวันเกิดเหตุเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นการตีความไปเองของผู้กล่าวหาและพยานโจทก์ทั้งสิ้น

ย้อนอ่าน พิพากษาจำคุก 3 ปี คดี 112 “นิว” จตุพร ศาลเห็นว่าการแต่งชุดไทยเป็นการล้อเลียนเสียดสีราชินี ก่อนถูกคุมตัวเข้าเรือนจำ ระหว่างรอประกันชั้นอุทธรณ์

ย้อนอ่าน ประมวลสืบพยานคดีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ วัดแขก สีลม: 112 และการแต่งกาย 

.

คำพิพากษาฉบับเต็ม

โดยสรุป ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาในประเด็นดังนี้

1. ยกฟ้องฐานร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด ระบุตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ผ่อนคลายมาตรการควบคุมดูแลการทำกิจกรรม การใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ สามารถกระทำได้

ศาลเห็นว่าแม้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ที่กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในสถานที่แออัดก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ฉบับที่ 13 ข้อ 1 ที่ระบุว่า การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย 

อันแสดงให้เห็นถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมดูแลการทำกิจกรรมของประชาชน โดยยินยอมให้การใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ สามารถกระทำได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งหมายถึง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 นั่นเอง 

ดังนั้น การห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด ตามข้อ 5 แห่งข้อกำหนดฉบับที่ 1 ข้างต้น จึงไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยในส่วนนี้

2. ลงโทษปรับ 1,500 บาท ฐานร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ

ศาลเห็นว่า แม้การชุมนุมดังกล่าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ซึ่งในหมวด 3 เรื่องหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม มาตรา 16 (1) บัญญัติให้ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธานณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร 

แต่ทางนำสืบของโจท์ฟังได้ว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมที่กระทำบนถนนสีลมทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก มีการนำแผ่นเหล็กมาปิดกั้นการจราจร เป็นเหตุให้ยานพาหนะของประชาชนไม่สามารถแล่นผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าวได้ ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงวันทำงานกลางสัปดาห์ และเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับเวลาเลิกงาน ย่อมต้องมีประชาชนใช้ยานพาหนะบนถนนสีลมเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าการชุมนุมดังกล่าวทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร ประกอบกับภายหลังผู้กำกับ สน.ยานนาวา ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะแห่งท้องที่ประกาศให้เลิกการชุมนุมแล้ว แต่จำเลยและผู้ชุมนุมอื่นๆ ไม่ปฏิบัติตาม เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานไม่อาจเปิดการจราจรได้ เป็นการขัดขวางหรือกระทำการใดอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ 

ดังนั้นจึงพิพากษาลงโทษจำเลยในฐานะผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ให้ปรับเป็นเงินจำนวน 1,500 บาท แต่ทางนำสืบให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือปรับ 1,000 บาท

3. ยกฐานร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

ศาลวินิจฉัยว่าคดีนี้จำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม มิใช่ผู้จัดการชุมนุมซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค แม้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรการที่กำหนดไว้ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประกาศกรุงเทพมหานครดังกล่าว 

อีกทั้ง ประกาศกรุงเทพฯ มิได้ออกมาตรการหรือคำสั่งเพื่อบังคับแก่บุคคลธรรมดา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 51 แต่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 34 (6) และมาตรา 51 ซึ่งเป็นโทษบังคับแก่บุคคลธรรมดาทั่วไปมาด้วย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ให้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้

4. ยกฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องไฟฟ้าขยายเสียงฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต

ศาลเห็นว่าคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในการชุมนุมที่จำเลยเข้าร่วมไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อเจ้าพนักงาน และระหว่างที่เดินแฟชั่นมีพวกของจำเลยถือโทรโข่งซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภเดินตามหลัง แต่ตาม พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียงฯ 2493 มาตรา 3 บัญญัติคำว่า “โฆษณา” หมายถึงการบอกกล่าว ชี้แจง แนะนำ แสดงความคิดเห็นกับประชาชน ตามคำนิยามนี้การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิด โดยไม่จำต้องวินิจฉัยอีกว่าผู้ที่ใช้โทรโข่งเปิดเพลงใช่พวกของจำเลยหรือไม่

5. พิพากษาจำคุก 3 ปี ความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และราชินี ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพ 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าจำเลยกระทำการตามที่โจทก์บรรยายฟ้องคือ แต่งกายด้วยชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีทอง เดินไปบนพรมแดง โดยมีชายสวมชุดไทยราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน ถือร่มในลักษณะบังให้จำเลยเดินตามหลัง และมีหญิงอีกคนหนึ่งสวมชุดลายดอกเดินอยู่ข้างหน้า ในมือข้างหนึ่งถือพานทอง มืออีกข้างถือโทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ขณะที่จำเลยเดินไประหว่างนั้นมีเสียงผู้ชุมนุมตะโกนว่า “พระราชินี” “ทรงพระเจริญ” “พระราชินีสวยมาก” ผู้ชุมนุมบางคนที่นั่งอยู่ข้างพรมแดงแสดงอาการหมอบกราบไปกับพื้น และยื่นมือไปจับข้อเท้าของจำเลย 

ต่อมามีพวกของจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนแต่งกายด้วยเสื้อยืดกล้าวเอวลอยสีดำ กางเกงยีนส์ขายาว บนแผ่นหลังมีข้อความเขียนด้วยปากกว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” เดินไปบนพรมแดง โบกมือให้ผู้ชุมนุม ระหว่างนั้นมีผู้ตะโกนว่า “ในหลวงสู้ๆ” “ทรงพระเจริญ” และมีผู้ชุมนุมบางคนพยายามเอื้อมมือไปจับข้อเท้า

การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องกันในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อนำลักษณะและรูปแบบของการกระทำมาพิเคราะห์ร่วมกับบริบทอย่างอื่นที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์ เขื่อว่าจะต้องมีการซักซ้อมและเตรียมการกันมาก่อน จึงจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สอดรับกันได้เช่นนี้

ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่าจำเลยและพวกที่เป็นเยาวชนมีเจตนาร่วมกันที่จะสื่อให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า จำเลยแสดงตนเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 10 และพวกของจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนแสดงตนเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่ยกย่องเชิดชูของปวงชนชาวไทย

การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

นอกจากนี้แล้ว ศาลยังเห็นว่าที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยกระทำโดยไม่มีเจตนานั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยง่ายแก่การยกขึ้นกล่าวอ้าง ขัดแย้งกับบริบทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งไม่เชื่อว่ามีความบังเอิญ จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังและหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ 

พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี

ทั้งนี้ ฝ่ายจำเลยจะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษานี้ต่อไป

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :

ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน “นิว จตุพร” หลังใช้ชีวิตในเรือนจำ 3 วัน ตีราคาประกัน 200,000 บาทสำหรับคดี ม.112 กรณีแต่งชุดไทย

ความเปลี่ยนแปลงของรอยสักเลข “๙” ผลกระทบจากคดี 112 และการเตรียมใจของ “นิว จตุพร”

X