ประมวลสืบพยานคดีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ วัดแขก สีลม: 112 และการแต่งกาย

12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดี “นิว” จตุพร แซ่อึง ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ใน #ม็อบ29ตุลา รันเวย์ของประชาชน ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม โดยมีผู้กล่าวหาคือ วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง

อนึ่ง ในวันเกิดเหตุเดียวกันนี้ วริษนันท์ได้กล่าวหา “สายน้ำ” เยาวชนอายุ 17 ปี ว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกายด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกคดีความของสายน้ำออกมาเป็นอีกคดีหนึ่ง เพื่อส่งให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิจารณา

.

คำฟ้องระบุ “ใส่ชุดไทยสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง” ล้อเลียนราชินี เป็นการกระทำความผิดตาม ม.112

จากเอกสารคำฟ้องคดีระบุไว้ทำนองว่า จตุพรเข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุม โดยไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ไม่มีมาตรการป้องกันโควิด, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาต และที่สำคัญคือ แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง ขณะกำลังเดินไปมีพวกซึ่งเป็นชายแต่งกายชุดไทยโจงกระเบน ถือร่มกางให้ พวกอีกคนเป็นหญิงถือพานสีทองเดินตามหลัง อีกคนได้ก้มลงมาหมอบกราบที่เท้า จําเลยจึงหยุดเดิน และยื่นมือให้ผู้ชุมนุมคนอื่นได้จับ ในระหว่างนั้นมีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ และมีผู้ชุมนุมที่ไม่ทราบว่าเป็นใครตะโกนคำว่า “พระราชินี” และคำว่า “ทรงพระเจริญ”

ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ถูกตีความว่า เป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายให้แก่ผู้ชุมนุม หรือประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้าใจว่า จำเลยนี้คือราชินีใน ร.10 เป็นการล้อเลียน จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์และราชินี ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ทั้งนี้ ในวันที่เกิดเหตุไม่ปรากฏว่าบนเนื้อตัวร่างกายของจตุพรมีภาพหรือข้อความที่บ่งบอกว่าคือใคร และการกระทำทั้งหลายของผู้ร่วมชุมนุม จตุพรก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดแต่อย่างใด

ดังนั้น การต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นการยืนยันในเรื่องการแต่งกายด้วยชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ ว่าเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และการกล่าวหาว่าการแต่งกายด้วยชุดไทยของจำเลยในวันเกิดเหตุเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นการตีความไปเองของผู้กล่าวหาและพยานโจทก์ทั้งสิ้น

.

.

ศาลแนะให้ตรวจพยานใหม่และให้ทนายจำเลยรับข้อเท็จจริงถ้อยคำพยานโจทก์

การสืบพยานคดีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 14, 17, 21, 22 และ 24 มิ.ย. 2565 ณ ห้องพิจารณา 404 ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยก่อนเริ่มการสืบพยาน วัฒนพล ไชยมณี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้ชวนจตุพรพูดคุยเกี่ยวกับผลของคดี ในลักษณะที่โน้มน้าวให้เปลี่ยนใจเป็นไม่ต่อสู้คดี แต่จตุพรยืนยันให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ศาลจึงกล่าวในทำนองว่า ผลของคดีจะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวจำเลยเอง

จากนั้นภายหลังสืบพยานโจทก์ปากแรกเสร็จสิ้น ศาลเห็นว่าฝ่ายโจทก์มีพยานบุคคลเป็นจำนวนมาก จึงเห็นสมควรให้มีการตรวจพยานหลักฐานเฉพาะในส่วนพยานบุคคลใหม่ 

ศาลยังได้แนะนำให้ทนายจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ที่ได้ให้ไว้กับพนักงานสอบสวน จำนวน 11 ปาก และมีคำสั่งตัดพยานที่พนักงานสอบสวนไม่สามารถติดตามมาเบิกความต่อศาลได้ 2 ปาก

ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว คดีนี้มีพยานฝ่ายโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมด 14 ปาก จากเดิม 27 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีพยานเบิกความ 1 ปาก คือตัวจำเลยเอง แต่ได้ยื่นคำเบิกความของพยานนักวิชาการเป็นเอกสารอีก 1 ปาก

ทั้งนี้ บรรยากาศตลอดการสืบพยานใน 5 วัน นั้น ค่อนข้างตึงเครียด โดยศาลไม่จดคำถามในหลายๆ คำถามของทั้งพนักงานอัยการและทนายจำเลย ให้เหตุผลว่า ไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี, เป็นความเห็น หรือเป็นข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยเองได้ โดยเฉพาะการถามของทนายจำเลย ซึ่งมักถูกศาลตำหนิอยู่บ่อยครั้ง

.

พยานโจทก์ปากที่ 1: วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์  แอดมินเพจ #เชียร์ลุง ผู้ตีความการกระทำของจำเลยเป็นการด้อยค่ากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ ก่อนรวบรวมหลักฐานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย

วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดี เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ (29 ต.ค. 63) ได้ดูไลฟ์สดการชุมนุมที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม และได้เห็นจำเลยแต่งชุดไทยเดินแบบ โดยขณะกำลังเดินอยู่ชายคนหนึ่งเดินตามพร้อมถือร่มคันใหญ่คล้ายฉัตร ขณะที่หญิงอีกคนหนึ่งถือพาน ทั้งจำเลยซึ่งใส่ชุดไทยสีชมพูได้เดินหันซ้าย-ขวาทักทายผู้คนทั้งสองข้าง ประกอบกับมีผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า “ทรงพระเจริญ” และผู้ชุมนุมคนหนึ่งเอื้อมมาคว้าข้อเท้าของจำเลยไว้

จากทั้งหมด วริษนันท์เบิกความต่อศาลว่า เธอตีความการกระทำของจำเลยเป็นการจำลองการรับเสด็จกษัตริย์และราชินี เพราะมองว่าจำเลยมีท่าทางคล้ายคลึงกับราชินีสุทิดาขณะมีการรับเสด็จที่สนามหลวง ซึ่งเธอจำวันและเวลาที่แน่นอนไม่ได้

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

วริษนันท์กล่าวตอบทนายจำเลยว่า เธอเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในฐานะประชาชนคนธรรมดา พร้อมกับยอมรับว่าได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้อีกกว่า 5 คดี โดยหนึ่งในคดีดังกล่าวมีจำเลยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี เธอระบุว่า ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. เพียงแต่เคยเข้าร่วมกิจกรรมของทางกลุ่มเท่านั้น และปัจจุบันมีหน้าที่เป็นแอดมินเฟซบุ๊กเพจ #เชียร์ลุง, ภาคีปกป้องสถาบัน และศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด Bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.)

วริษนันท์เบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า ในวันและเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยและพวก (สายน้ำ) ได้แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน แต่เมื่อถูกทนายจำเลยถามซ้ำเธอก็ยอมรับว่าที่จริงแล้วไม่ทราบว่าทั้งสองได้มีการประชุมกันจริงหรือไม่ ส่วนที่เบิกความตอบไปนั้นก็เนื่องด้วยความเข้าใจของตัวเธอเอง

จากนั้นวริษนันท์ก็ได้รับว่า ที่เธอให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามที่ปรากฏในคำให้การ เป็นเพราะตีความว่าการกระทำของจำเลยทำให้กษัตริย์เสียเกียรติ เป็นที่เสื่อมศรัทธา แต่ ณ ปัจจุบัน ตนเองก็ยังคงเลื่อมใสและศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ เพราะเธอสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรืออะไรคือการกระทำที่ไม่สมควร

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พนักงานอัยการถามว่า การเดินแฟชั่นโชว์นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไรจึงได้นำมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งวริษนันท์ได้ตอบว่า จากการกระทำของจำเลยที่ใส่ชุดไทยเดินทักทายผู้คนสองข้างทาง มีคนถือร่มและพานเดินตาม ขณะที่สายน้ำใส่เสื้อครอปท็อปซึ่งเป็นการเลียนแบบมาจากการแต่งกายของ ร.10 นั้น เป็นการร่วมแสดงล้อเลียนคาแรกเตอร์ของกษัตริย์และราชินี

.

พยานโจทก์ปากที่ 2: พ.ต.ท.ประวิทย์ วงศ์เกษม ผู้กล่าวหาที่ 2 ย้ำจำเลยล้อเลียนกษัตริย์และราชินี ทั้งยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

พ.ต.ท.ประวิทย์ วงษ์เกษม รับราชการตำรวจที่กองกำกับการควบคุมฝูงชน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เบิกความว่า ตนเป็นผู้กล่าวที่ 2 ในคดีนี้ โดยในวันที่เกิดเหตุได้ทราบจากผู้บังคับบัญชาและรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งซึ่ง “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ประกาศว่า จะมีการชุมนุมที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม ในวันที่ 29 ต.ค. 2563 โดยเป็นการชุมนุมเกี่ยวกับศิลปะของราษฎร ตนจึงได้ตรวจสอบการขออนุญาตชุมนุม ซึ่งพบว่าไม่มีการขออนุญาตทั้งทางเอกสารและอีเมล จึงแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาและประสานกองกำลังต่างๆ เพื่อสนธิกำลัง

จากนั้นเบิกความต่อว่าในวันที่เกิดเหตุ ตนเองได้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมด้วย โดยได้ปะปนไปกับผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ซึ่งตนเองและทีมได้แบ่งงานกันถ่ายภาพและวิดีโอการชุมนุมเพื่อนำไปทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชา

พ.ต.ท.ประวิทย์ กล่าวว่า ทางผู้กำกับ สน. ยานนาวา ได้ออกคำสั่งให้ยุติการชุมนุม โดยให้รองผู้กำกับเป็นผู้ประกาศ และได้มีการแจกจ่ายสำเนาคำสั่งในที่ชุมนุมด้วย แต่ทางผู้ชุมนุมได้โห่ไล่เจ้าหน้าที่และดำเนินกิจกรรมต่อ โดยบรรยากาศในการชุมนุมมีกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งการร้องเพลง เต้น การแสดงภาพวาด แต่ที่น่าสนใจคือการปูพรมแดงเพื่อเดินแฟชั่นโชว์

สำหรับการนัดแนะกันเพื่อเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยและสายน้ำนั้น พ.ต.ท.ประวิทย์ เบิกความว่า อาจจะมองว่าทั้งสองทำหรือไม่ทำร่วมกันก็ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การแสดงของทั้งสองก็ทำให้คิดและเข้าใจได้ว่าเป็นการล้อเลียนกษัตริย์และราชินี

จากนั้น พ.ต.ท.ประวิทย์ ยังเบิกความอีกด้วยว่า ตนเองเป็นผู้สรุปรายงานการสืบสวนส่งผู้บังคับบัญชา โดยในรายงานนั้นมีทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ทั้งยังส่งรายงานดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนด้วย

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ท.ประวิทย์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนเองมีหน้าที่หาข่าวในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 อีกทั้งรู้จักด้วยว่า จำเลยเป็นการ์ดของกลุ่ม WeVo พ.ต.ท.ประวิทย์ ยังกล่าวอีกว่าสำหรับจำเลยนั้น แม้จะไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมก็ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เพราะอยู่ในการชุมนุมที่ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจในพื้นที่

จากนั้นพยานโจทก์ปากนี้ก็เบิกความยอมรับว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่มีผลบังคับใช้ขณะที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทนายจำเลยจึงถามต่อว่า แล้วพยานทราบหรือไม่ว่า คำสั่งให้ยุติการชุมนุมของผู้กำกับ สน. ยานนาวา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการขัดกันเองของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่ง พ.ต.ท. ประวิทย์ก็เบิกความตอบโดยเลี่ยงว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้ข้อกฎหมายแบบเทียบเคียง

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ประวิทย์ ยอมรับว่า การเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยในวันเกิดเหตุ ไม่มีชื่อ ภาพ หรือข้อความที่ระบุถึงกษัตริย์ ราชินี หรือรัชทายาท ปรากฏอยู่  ทั้งจำเลยก็ไม่ได้ทำการปราศรัยด้วย ในวันนั้นก็มีผู้เดินแฟชั่นหลายชุด ซึ่งในระหว่างที่มีการแสดงก็มีการส่งเสียงเชียร์ในหลายรูปแบบ ทั้งปรบมือ และการตะโกน โดยที่ตัวจำเลยไม่ได้พูดหรือทำอะไรให้มีการตะโกนคำว่า “ทรงพระเจริญ” เลย รวมทั้งยอมรับด้วยว่าการใส่ชุดไทยไม่ใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 112

แต่กระนั้นพยานก็ยังกล่าวว่า การกระทำของจำเลยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ การมีผู้ถือร่ม ถือพานเดินตาม ที่ทำให้ตีความได้ว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นประมาทกษัตริย์และราชินี

.

พยานโจทก์ปากที่ 3: ส.ต.ท.กรณินทร์ คุ้มกัน ตร.สืบสวน สน.ยานนาวา ผู้เข้าไปปะปนกับผู้ชุมนุมเพื่อหาข่าว

ส.ต.ท.กรณินทร์ คุ้มกัน ฝ่ายสืบสวน สน. ยานนาวา เบิกความว่า ในวันที่เกิดเหตุ เวลา 17.00 น. ตนเองได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุมแล้วเห็นว่ามีการปูพรมแดงยาว 10 เมตรโดยประมาณ จากนั้นมีหญิงคนหนึ่งประกาศผ่านโทรโข่งว่า จะมีการเดินแฟชั่นโชว์ในอีกสักครู่ โดยประกาศเชิญชวนอยู่ประมาณ 20 นาที ซึ่งขณะนั้นตนเองกำลังถ่ายภาพและวิดีโอการชุมนุมอยู่ก็ได้เห็นจำเลยใส่ชุดไทยสีชมพูกำลังเดินอยู่ โดยมีชายคนหนึ่งถือร่มและหญิงคนหนึ่งถือพานเดินตามมา ขณะเดียวกันก็มีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภผ่านโทรโข่งด้วย

อย่างไรก็ดี ส.ต.ท.กรณินทร์ เบิกความว่า พบเห็นการเดินแฟชั่นโชว์ชุดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการแสดงของจำเลยด้วย กล่าวคือ ในการชุมนุมนั้นไม่ได้มีแค่การเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว

จากนั้นเบิกความอีกว่า หลังจำเลยเดินแบบแล้ว ตนเองก็ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าให้ติดตามถ่ายภาพจำเลย และตนเองก็ได้ติดตามถ่ายภาพไปจนกระทั่งจำเลยเดินออกจากพื้นที่ชุมนุมไปยังซอยสีลม 13 และเมื่อเห็นจำเลยขึ้นรถคันหนึ่งออกไปจึงเลิกติดตาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ส.ต.ท.กรณินทร์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนเองเป็น ผบ.หมู่ชุดสืบสวน – หาข่าว และไม่รู้ว่าตามรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ทั้งยังระบุว่า จำไม่ได้ว่าได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาตอนไหน เรื่องให้เตรียมตัวรับมือการชุมนุม และไม่รู้ว่าใครคือผู้จัดการชุมนุม ตนเพียงแต่ทำตามหน้าที่

สำหรับลักษณะการชุมนุม ส.ต.ท.กรณินทร์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า บางคนเอางานศิลปะมาแสดง บางคนร้องรำทำเพลง และแสดงงานศิลปะผ่านทางร่างกาย ซึ่งในวันดังกล่าวตนเองสามารถเดินไปดูการแสดงตามจุดต่างๆ ได้ อีกทั้งระบุด้วยว่ามีการปราศรัยหลายอย่างในการชุมนุม

จากนั้นพยานได้เบิกความถึงเรื่องการเดินแฟชั่นโชว์ โดยกล่าวว่า ในวันดังกล่าวมีการเดินแบบทั้งหมด 5 ชุด และที่เนื้อตัวร่างกายของจำเลยไม่มีข้อความบ่งบอกว่า ตนเองเป็นใคร และไม่ได้บอกให้ใครเข้ามาหมอบกราบ การแสดงออกด้วยท่าทางต่างๆ ของผู้ชุมนุม เช่น การตะโกนทรงพระเจริญ หรือการหมอบกราบ เป็นการกระทำของผู้ชุมนุมเอง จำเลยไม่ได้เป็นผู้บอกให้ผู้ชุมนุมกระทำหรือแสดงกิริยาเหล่านั้น รวมทั้งเบิกความยอมรับด้วยว่า ผู้หญิงที่ถือโทรโข่งและเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภนั้นได้เปิดเพลงให้ผู้เดินแบบหลายคนด้วยกัน มิใช่แค่จำเลยเพียงคนเดียว

ทั้งนี้ ส.ต.ท.กรณินทร์ กล่าวว่า ตนเองไม่ทราบว่าร่มและสายสะพายที่อยู่ในการเดินแบบของจำเลยนั้นเป็นสินค้าที่ระลึกของทางกลุ่ม WeVo

ตอบอัยการถามติง

พนักงานอัยการได้ถามเรื่องร่มและสายสะพาย ซึ่ง ส.ต.ท.กรณินทร์ เบิกความตอบว่าตนเองเห็นร่มดังกล่าวเพียงแค่ตอนที่จำเลยเดินแบบอยู่เท่านั้น

.

พยานโจทก์ปากที่ 4: วีระกร เจริญศรี เจ้าของร้านย่านวัดแขก ผู้ระบุว่าการกระทำของจำเลยอาจทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

วีระกร เจริญศรี เจ้าของกิจการซึ่งมีร้านอยู่บนถนนสีลม เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ตนเองอยู่ที่ร้านเมื่อเวลา 10.00 น. เพื่อเปิดร้านตามปกติ และเมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ ก็มีพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นพากันมาตั้งร้าน จากนั้นตนก็ทราบจากสื่อออนไลน์ว่าจะมีการชุมนุม และเวลา 16.00 น. ตนเองก็ออกจากร้านเพื่อเดินทางกลับที่พัก โดยใช้วิธีการเดินเท้าผ่านวัดแขกไปทางถนนสีลม เดินไปจนถึง BTS สถานีสุรศักดิ์ ช่วงที่ออกจากร้านนั้นคนยังไม่เยอะมาก จึงใช้เวลาเดินประมาณ 4 – 5 นาที และเมื่อเวลา 18.00 น. ลูกน้องโทรมาบอกว่า มีปัญหาเรื่องระบบประปาที่ร้าน จึงเดินเท้ากลับมา ซึ่งขากลับนี้ใช้เวลา 15 – 20 นาที นับเป็นเวลาที่มากกว่าปกติ และเหตุที่ต้องใช้เวลานานขึ้นเป็นเพราะบริเวณที่ต้องเดินผ่านมีผู้คนหนาแน่นมาก โดยตลอดทางที่เดินผ่านไม่เห็นจุดให้บริการแอลกอฮอล์ และไม่เห็นว่ามีผู้ใส่แมสด้วย

สำหรับเรื่องการชุมนุม พยานเบิกความตอบว่า ตนเองเห็นว่ามีการจัดกิจกรรม มีการปราศรัย ตนไม่เข้าใจเนื้อหาของงาน แต่ก็สังเกตเห็นว่ามีป้ายผ้าขนาดยาวซึ่งมีข้อความว่า “สถาบันกษัตริย์” โดยตนเห็นวิดีโอในสื่อออนไลน์ในภายหลังว่า เป็นการเดินแฟชั่นโชว์ล้อเลียนสถาบัน พร้อมกับยืนยันด้วยว่าสิ่งที่เห็นจากสื่อออนไลน์เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับวันที่เกิดเหตุในคดีนี้

นอกเหนือไปจากนี้ วีระกรยังระบุอีกว่า การชุมนุมและการกระทำของจำเลยเป็นสิ่งที่ไม่ดี มีผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้มองได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร อาจทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังมีผลกระทบต่อกิจการของตนเองด้วย ก่อนจะกล่าวว่าในวันและเวลาที่มีการชุมนุม ร้านของตนไม่มีลูกค้าเลย

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

วีระกรเบิกความตอบทนายจำเลยว่า มาเป็นพยานในคดีได้เพราะพนักงานสอบสวนมาหาที่ร้าน โดยมาถามว่าเห็นเหตุการณ์หรือไม่ เป็นการถามด้วยวาจา แต่ตนเองก็จำไม่ได้ว่า เข้าไปพบพนักงานสอบสวนเมื่อไร อีกทั้งจำไม่ได้ว่า ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนหรือไม่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการล้อเลียนสถาบัน

ในวันที่มีการชุมนุม ตนเองเห็นว่ามีการเดินแฟชั่นโชว์ผ่านสื่อออนไลน์ แต่เมื่อเห็นว่ามีการแต่งกายคล้ายคนในสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ได้ดูต่อ ทั้งขณะเดินผ่านที่ชุมนุมก็ไม่ได้หยุดดู

อย่างไรก็ตาม วีระกรยอมรับว่า คนทั่วไปสามารถใส่ชุดไทยได้ และสามารถใส่ชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ได้ แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการแต่งกายคล้ายคนในสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งไม่สมควร และสำหรับการเดินแฟชั่นโชว์ในงานชุมนุมนี้ คิดว่าเป็นการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ เพราะมีเจตนาแต่งกายล้อเลียนคนในสถาบันกษัตริย์ และเป็นการล้อเลียนการจัดงานแฟชั่นโชว์ของคนในสถาบันกษัตริย์ด้วย

.

พยานโจทก์ปากที่ 5: เชษฐา แก้วขาว  จนท. ฝ่ายทะเบียน ผู้ยืนยันว่าคนทั่วไปไม่สามารถตั้งชื่อตนเองตามชื่อกษัตริย์ได้

เชษฐา แก้วขาว เจ้าพนักงานปกครองฝ่ายทะเบียน เขตสาทร เบิกความว่า ตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการขอตั้งชื่อ พร้อมระบุว่าโดยทั่วไปแล้วบุคคลไม่สามารถตั้งชื่อตนเองว่า “วชิราลงกรณ์” ได้  เพราะเป็นชื่อของกษัตริย์ ซึ่งมีข้อห้ามระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำชื่อกษัตริย์ไปตั้งเป็นชื่อของตนเอง

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยให้เชษฐาดูภาพของสายน้ำที่มีข้อความเขียนบนแผ่นหลังว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” แล้วถามว่า บุคคลในภาพเขียนสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงแล้วใช่หรือไม่ เชษฐาตอบว่าใช่ พร้อมยืนยันว่าชื่อ “วชิราลงกรณ์” นั้นไม่สามารถนำมาตั้งชื่อบุคคลทั่วไปได้อยู่แล้ว

.

พยานโจทก์ปากที่ 6: ณัฐกานต์ แฟงฟัก  นักวิชาการสุขาภิบาล เขตบางรัก ผู้ให้ความเห็นเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 ในการชุมนุม

ณัฐกานต์ แฟงฟัก นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ ฝ่ายสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม เขตบางรัก เบิกความว่า ตนเข้ามาเป็นพยานในคดีได้เนื่องจากตำรวจ สน. ยานนาวา เข้าไปขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่เขตบางรักมาเป็นพยาน และให้การเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ซึ่งตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว จึงได้เข้ามาเป็นพยาน และให้ปากคำ พร้อมกับนำประกาศ กทม. มาให้เป็นหลักฐานด้วย โดยประกาศที่นำมานั้นเป็นประกาศฉบับที่ 19, 20, 21, 22, 23 และ 25 ซึ่งเป็นประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ณัฐกานต์เบิกความตอบทนายจำเลยว่าทราบเรื่องการชุมนุมหน้าวัดแขกจากพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ที่เข้ามาพบ ประกอบกับเห็นภาพข่าวจากสื่อออนไลน์

ทนายจำเลยถามว่า ตามประกาศ กทม. ฉบับที่ 11 เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ระบุถึงการผ่อนคลายให้ประชาชนดำเนินกิจกรรมบางอย่างได้ แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค แสดงว่าช่วงการชุมนุมยังอยู่ในช่วงผ่อนปรนใช่หรือไม่ ซึ่งณัฐกานต์ตอบว่าใช่ แต่ศาลไม่บันทึกโดยบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่โจทก์ฟ้อง

จึงถามต่อว่า ในประกาศ กทม. ไม่ได้พูดถึงการชุมนุมใช่ไหม และณัฐกานต์ตอบว่า ถ้าตามประกาศก็ใช่ แต่ยังยืนยันว่าตามเอกสารแนบท้ายมีคำว่าสถานที่อื่นใด ซึ่งหมายรวมได้ว่าการชุมนุมก็อยู่ในคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวได้ โดยย้ำว่าต้องปฏิบัติตามมาตรการ และอธิบายว่าทั้งในฐานะประชาชนและผู้จัดกิจกรรมต่างต้องปฏิบัติตามมาตรการ เช่น มีอ่างล้างมือ เป็นต้น โดยตรงนี้ณัฐกานต์ได้อ้างเอกสารประกาศ กทม. ฉบับที่ 11 และ 13

จากนั้นทนายจำเลยได้ถามว่า ตามคำให้การของณัฐกานต์ในชั้นสอบสวน ที่ให้การว่าประกาศ กทม. ฉบับที่ 13 – 14 ให้อ้างจาก ประกาศ กทม. ฉบับที่ 9 นั้น หมายความ ประกาศ กทม. ฉบับที่ 13 ในข้อ 3 ที่ว่าการจัดกิจกรรมกลุ่มของประชาชนสามารถจัดทำได้ แต่คนรับผิดชอบและจัดงานต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการใช่ไหม

อย่างไรก็ดี ศาลไม่บันทึกคำถามนี้ พร้อมกับเรียกทนายจำเลยไปตำหนิทำนองว่าไม่ควรถามอย่างที่ต้องการทั้งหมด แบบการถามเช่นนั้นมันทำไม่ได้

ทนายจำเลยจึงเปลี่ยนไปถามว่า ในชั้นสอบสวนได้ดูทั้งภาพนิ่งและวิดีโอใช่หรือไม่ ซึ่งณัฐกานต์ตอบว่าใช่ แต่มีภาพอะไรบ้างและมีกี่วิดีโอนั้นจำไม่ได้ นอกจากนี้เธอยังบอกว่าได้ทราบข่าวเรื่องการชุมนุมจากสื่อออนไลน์ด้วย จึงได้ให้การไปตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้ เมื่อทนายจำเลยถามต่อไปว่า จากภาพที่เห็น ผู้คนในที่ตรงนั้นสามารถเดินผ่านไปมาได้หรือไม่ ศาลก็ได้ตำหนิทนายจำเลยอีกครั้งว่าเป็นการถามที่ดูเหมือนจะบังคับให้พยานตอบ ศาลจึงจะไม่บันทึกคำถามนี้เพื่อให้เป็นการปกป้องพยาน ก่อนจะวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าศาลจะไม่บันทึกในประเด็นนี้อีก

ในตอนท้าย ณัฐกานต์ได้เบิกความด้วยว่า จากพฤติกรรมของผู้ชุมนุมซึ่งเห็นได้จากเอกสารของพนักงานสอบสวนและภาพข่าวจากสื่อออนไลน์แล้วก็ยังดูเสี่ยงต่อการแพร่โควิด

ตอบอัยการถามติง

พนักงานอัยการถามเกี่ยวกับการรับเรื่องการขอใช้เครื่องขยายเสียง โดยณัฐกานต์ตอบว่า ในวันดังกล่าวไม่มีผู้ใดมายื่นคำร้องของใช้เครื่องขยายเสียงเลย และเรื่องการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อนั้น ซึ่งตามประกาศแล้วถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

.

พยานโจทก์ปากที่ 7: ตรีดาว อภัยวงศ์ นักวิชาการด้านการแสดงละคร ผู้ระบุว่าการจะดูว่าเหมือนหรือไม่เหมือนนั้นขึ้นอยู่กับการตีความของคนดู

ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ เอกการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความว่า ด้วยปริญญา 2 ใบ และประสบการณ์ในการทำงานด้านการละคร เช่น เขียนบท กำกับละครเวที ทำให้ตนเองมีความรู้เรื่องการละคร และเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีได้เพราะพนักงานสอบสวนมาหาเธอถึงที่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือให้เข้ามาเป็นพยานความเห็นในคดี ซึ่งเมื่อมาถึงพนักงานสอบสวนให้ดูวิดีโอเหตุการณ์ในคดีนี้

ตรีดาวเบิกความต่อไปว่า เมื่อพยานดูวีดิโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูแล้วเห็นว่า เป็นการสื่อให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ไม่น่ายกย่อง และเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่ตั้งใจสื่อสารว่าตนเองคือราชินีสุทิดา

ตรีดาวระบุว่า พฤติการณ์ของจำเลยนั้นคล้ายกันกับเหตุการณ์รับเสด็จราชินีสุทิดาที่ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เธอจำไม่ได้ว่าวันที่เท่าไร จากนั้นก็กล่าวว่า จากทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เธอเข้าใจว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต้องการสื่อว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนเกิดความไม่เคารพต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 6 ที่เธอยกมาอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งตลอดการสืบพยาน

ทั้งนี้ ตรีดาวยังระบุด้วยว่า จากวิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู เธอมองว่าเป็นการแสดงที่ด้อยค่า เสียดสี สถาบันหลักของไทย ทำให้คนไทยจำนวนมากเสียใจ และเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ที่บัญญัติว่าจะละเมิดสถาบันกษัตริย์มิได้ จากนั้นก็ยืนยันว่าตนเองเบิกความในฐานะนักวิชการและประชาชนที่มีความรู้สึก รวมทั้งได้เห็นการแสดงดังกล่าวของจำเลยแล้ว

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยถามว่า ในการเดินแฟชั่นโชว์จำเป็นต้องมีบทหรือไม่ ตรีดาวเบิกความตอบว่า การเดินแฟชั่นโชว์ไม่จำเป็นต้องมีบท แต่ผู้เดินแบบจะต้องสื่อสารตามวัตถุประสงค์ของผู้จัด เธอย้ำว่าผู้เดินแบบหรือผู้แสดงย่อมรู้ตัวอยู่แล้วว่าตนเองเป็นใคร และกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คำว่า บท นั้น อาจใช้คำว่าวัตถุประสงค์ในการแสดงก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แสดงรู้อยู่แล้วว่าการแสดงนี้ต้องการจะสื่อสารอะไร

ทนายจำเลยจึงถามว่า การเดินแฟชั่นโชว์เป็นการแสดงสดใช่ไหม เมื่อเปรียบกับละครเวทีก็จะเท่ากับว่าเราไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมปฏิกิริยาของผู้ชมได้ ใช่หรือไม่ ตรีดาวยอมรับว่าใช่ ก่อนจะพยายามอธิบายว่า สามารถกำหนดทิศทางได้ โดยยืนยันว่าแม้จะควบคุมปฏิกิริยาคนดูไม่ได้ แต่สามารถกำหนดทิศทางได้ โดยผู้จัดสามารรู้ล่วงหน้าได้ผ่านการกำหนดสาร หรือ Theme

ต่อมา ทนายจำเลยถามโดยใช้ข้อเท็จจริงจากวันเกิดเหตุ ซึ่งโฆษกในงานประกาศว่า การเดินแฟชั่นนั้นเปิดให้ใครก็สามารถเข้าร่วมเดินได้โดยเสรี แล้วถามว่า ลักษณะแบบนี้จะควบคุมอากัปกิริยาผู้ชมไม่ได้ใช่หรือไม่ ตรีดาวเบิกความตอบว่า ตามศิลปะและรสนิยมชั้นสูงแล้วจะไม่มีการปล่อยให้มีคนเดินแฟชั่นโชว์โดยเสรี แบบไม่มีการซักซ้อมมาก่อน

เมื่อทนายจำเลยถามต่อว่า การทำให้เหมือนในการแสดงนั้น สามารถทำให้เหมือนได้คล้ายมากที่สุดใช่ไหม ซึ่งตรีดาวตอบว่าใช่ โดยเธออธิบายว่า การทำให้เหมือนขึ้นอยู่กับความต้องการว่าจะมากน้อยแต่ไหน บางครั้งไม่ต้องทำให้เหมือนเป๊ะ แต่สามารถใช้องค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วยก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี เธอยืนยันว่าการจะดูว่าเหมือนหรือไม่เหมือนนั้นขึ้นอยู่กับการตีความของคนดูด้วย

ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้เปิดวิดีโอการเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยให้ตรีดาวดูอีกครั้ง พร้อมถามว่า ในวันเกิดเหตุ เมื่อมีผู้ตะโกนเรียกด้วยคำว่า “พระราชินี” จำเลยไม่ได้ตอบรับคำเรียกนั้นใช่ไหม และจากวิดีโอจะเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วมาก มีความยาวเพียง 19 วินาที ดังนั้นแล้วอากัปกิริยาของผู้ชมจึงอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้เดินแบบใช่หรือไม่?  โดยตรีดาวได้เบิกความยอมรับว่า ใช่ ในทั้งสองคำถาม

อย่างไรก็ดีเมื่อทนายจำเลยถามความเห็นเฉพาะของตรีดาวว่า โดยส่วนตัวแล้วพยานตีความการกระทำของจำเลยเป็นการล้อเลียนราชินีหรือไม่ และการตีความว่าจำเลยกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 นั้น ก็เป็นการตีความของพยานเองอีกเช่นกันใช่หรือไม่ ซึ่งตรีดาวตอบว่า ใช่ ทั้งสองคำถาม หากแต่ศาลไม่บันทึกคำถามนี้ ทนายจำเลยจึงถามใหม่พร้อมให้ตรีดาวดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะมาตรา 6 แล้วถามว่าในรัฐธรรมนูญระบุถึงเพียงแค่กษัตริย์เท่านั้นใช่หรือไม่ ตรีดาวตอบว่า ใช่ ก่อนทนายจำเลยจะอ้างส่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นพยานหลักฐานของจำเลย

ในตอนท้ายนั้น ตรีดาวเบิกความว่า เธอรู้ว่าคำว่า “ทรงพระเจริญ” นั้นมีไว้ใช้กับทั้งกษัตริย์ ราชินี และเชื้อพระวงศ์ และยืนยันว่า การกระทำทั้งหมดทั้งมวลของจำเลยไม่ได้ทำให้เธอเสื่อมศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ มิหนำซ้ำยังทำให้ให้จงรักภักดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ตอบอัยการถามติง

พนักงานอัยการถามว่า จากวิดีโอที่มีผู้ตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” นับเป็นองค์ประกอบที่สื่อให้คนเข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนราชินีหรือเป็นการจัดเตรียมได้หรือไม่ และตรีดาวเบิกความตอบว่า ใช่ โดยอธิบายว่าเธอไม่รู้ว่าการเดินแบบของจำเลยมีการซักซ้อมหรือไม่ แต่การแสดงนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างที่สื่อถึงสถาบันกษัตริย์ โดยผู้ชุมนุมมีความคิดไปในทางเดียวกัน คือต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทั้งหมดทำให้เธอเข้าใจการแสดงนี้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากการแสดงเพื่อล้อเลียนราชินี

จากนั้นตรีดาวยืนยันว่า ในชั้นสอบสวนเธอได้ตอบคำถามพนักงานสอบสวนตามหลักวิชาการและตามความเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนที่เป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ถามชี้นำหรือทำให้คำให้การผิดเพี้ยนไป พร้อมทั้งเน้นย้ำอีกครั้งในตอนท้ายด้วยว่า การแสดงของจำเลยมีความต้องการสื่อถึงราชินี ขณะที่การแสดงของสายน้ำเป็นการสื่อถึง ร.10 ซึ่งตรงนี้ทนายจำเลยได้คัดค้านคำถามติงของอัยการ เนื่องจากว่าทนายจำเลยไม่ได้ถามค้านถึงสายน้ำเลย ศาลจึงไม่บันทึกคำเบิกความขอพยานที่เกี่ยวกับสายน้ำ

.

พยานโจทก์ปากที่ 8: กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ พยานนักวิชาการผู้มองว่า งบสถาบันกษัตริย์และภาษีประชาชนนั้นเป็นคนละส่วนกัน

กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง เบิกความว่า ตนเองรับรู้และติดตามข่าวสารการชุมนุมอย่างใกล้ชิดในฐานะของอาจารย์ที่ห่วงใยนักศึกษาของตนเองที่เข้าร่วมชุมนุม พร้อมกับกล่าวว่า ตนเองทราบว่า มีการปราศรัยที่เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ และตนเองได้เขียนบทความที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวแล้วตีพิมพ์ลงในสำนักข่าวอิศรา

ต่อมากิตติพงศ์ได้แจกแจงรายละเอียดว่าใน 10 ข้อเรียกร้องนั้นเป็นการกระทำผิดอย่างไร ซึ่งโดยสรุปแล้วกล่าวได้ว่า กิตติพงศ์มีความเห็นว่ากษัตริย์ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ดังนั้นเขาจึงเห็นว่า มาตรานี้มีความเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของรัฐ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเท่ากับเครื่องคุ้มครองกษัตริย์หรือประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามหลักการเฉพาะในประเทศที่มีกษัตริย์ ทั้งนี้เขายังมีความเห็นด้วยว่าการยกเลิกมาตรา 112 มีปัญหา และพฤติการณ์ต่างๆ ในคดีนี้เป็นการละเมิดสถาบันกษัตริย์ด้วย

กิตติพงศ์เบิกความถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่า เป็นการทำให้เข้าใจผิดว่ากษัตริย์เอาเงินภาษีไปใช้ เพราะตามหลักการแล้วงบประมาณมีการจัดสรรอยู่แล้ว เป็นคนละส่วนกัน จึงมองว่าการบอกว่า กษัตริย์เอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้เท่ากับการทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันกษัตริย์ เรื่องการเสนอให้ยกเลิกส่วนงานราชการในพระองค์นั้น ก็เป็นเพราะความไม่เข้าใจความเป็นมาของหน่วยงานดังกล่าว และในตอนท้ายเขายังบอกด้วยว่าการบริจาคเงินให้กษัตริย์เท่ากับการกระทำโดยความสมัครใจของผู้บริจาคเงิน การบอกให้ยกเลิกจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ

อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้ศาลได้กล่าวติงว่า ขอให้พยานเบิกความแต่พอสังเขป เพราะแต่ละข้อเรียกร้องไม่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลย ศาลขอว่า “อย่าขยายประเด็น” และบันทึกแต่เพียงว่า พยานได้เบิกความไว้ตามความคิดเห็นที่พยานเขียนเป็นบทความ และตามที่ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนเท่านั้น

จากนั้นกิตติพงศ์จึงเบิกความต่อไปว่า ตนเองเข้ามาเป็นพยานได้เพราะเป็นนักวิชาการและได้เขียนบทความที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น โดยในวันให้การ พนักงานสอบสวนได้เอาภาพนิ่งและวิดีโอมาให้ดู ตนจึงรู้ว่าจำเลยเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม และจากภาพรวมทั้งหมดทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการสื่อถึงในหลวง ร.10 และราชินี พร้อมทั้งระบุด้วยว่าในชั้นสอบสวน ตนเองได้ให้ความเห็นไปว่าการกระทำของสายน้ำถือเป็นการทำที่เข้าข่ายด้อยค่า ร. 10 แต่ศาลจะพิพากษาอย่างไรนั้นให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

กิตติพงศ์ตอบทนายจำเลยว่า ตนเองสำเร็จการศึกษาปริญญาโท โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยตรงในระบบกฎหมายไทย แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ตนเคยเขียนบทความเกี่ยวกับมาตรา 112 เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศรา และเขียนหนังสือเรื่อง “การให้ความคุ้มครองกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” และอธิบายต่อด้วยว่า สำหรับเรื่องข้อเรียกร้องทั้ง 10 ประการ มีการถกเถียงกันอยู่โดยทั่วไปทั้งในหมู่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว และยอมรับว่ามีนักวิชาการอื่นๆ ที่มีความเห็นตรงข้ามกับตนเอง เช่น อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล

จากนั้นกิตติพงศ์ก็เบิกความถึงเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ในฐานะวิญญูชนทั่วไปสามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นการกระทำด้วยความเป็นธรรม ไม่ใส่ร้าย และเบิกความเพิ่มเติมว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ผู้ร้องเข้ารับการไต่สวน หรือการที่ไม่เปิดให้ผู้ถูกร้องทำคำแถลงและยื่นพยานนั้น เป็นเพราะผู้ถูกร้องไม่ยื่นในเวลาที่เหมาะสมซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดปกติ จึงมองว่าการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการตามกฎหมายอยู่แล้ว โดยระหว่างนี้ศาลได้ติงขึ้นอีกครั้ง เพราะไม่ต้องการให้มีการขยายประเด็น

ทนายจำเลยจึงถามว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การมีเสรีภาพเหนือเนื้อตัวร่างกาย หมายความว่าจะแต่งกายอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ ซึ่งกิตติพงศ์ตอบว่า ใช่ ทนายจำเลยก็ถามต่อว่า แล้วการแต่งกายที่ว่าเป็นการสื่อความหมายของผู้แต่งกายนั้น ผู้รับสารอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ใช่หรือไม่ ตรงนี้กิตติพงศ์เบิกความตอบว่า โดยทั่วไปคือมีได้ แต่ต้องดูจากภาพรวมด้วย ซึ่งในคดีนี้เมื่อตนเองดูภาพรวมแล้วก็เข้าใจได้ว่า เป็นการสื่อความถึงการรับเสด็จ จากนั้นก็ระบุว่า จากการร้องตะโกนว่า “ราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” ของกลุ่มผู้ชุมนุม ก็สื่อได้ถึงราชินีมากกว่าจะสื่อถึงฟ้าหญิงสิริวัณณวรี เพราะจากภาพข่าวในพระราชสำนักมักไม่ค่อยเห็นฟ้าหญิงสิริวัณณวรีใส่ชุดไทย แต่จะใส่ชุดแบบตะวันตกมากกว่า ด้วยความที่เป็นดีไซเนอร์

ต่อมา ทนายจำเลยถามถึงเรื่องการกระทำที่เป็นการ “ดูหมิ่น” ว่า ต้องได้ความหมายว่า ระบุเจาะจงถึงบุคคลใดใช่หรือไม่ พร้อมกับให้กิตติพงศ์อ่านคำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนม แล้วถามอีกว่า คำจำกัดความตามที่ทนายกล่าวนั้นตรงตามคำพิพากษานี้ใช่หรือไม่ และกิตติพงศ์ยอมรับว่า ใช่

ทั้งนี้ในตอนท้าย ทนายจำเลยได้ถามกิตติพงศ์ว่า ประเทศไทยให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือลและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ใช่หรือไม่ ซึ่งกิตติพงศ์ยอมรับว่า ใช่ แต่ศาลไม่บันทึกคำถามนี้ โดยบอกว่าเอาแค่รัฐธรรมนูญไทยก็พอ และบอกด้วยว่าศาลบันทึกไปแล้วในตอนแรกและศาลจะไม่บันทึกซ้ำเดิมอีก

ตอบอัยการถามติง

พนักงานอัยการถามติงว่า คำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนม ที่ทนายจำเลยนำมาให้ดูนั้น ตัวกิตติพงศ์ไม่ทราบว่า อัยการมีการอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อหรือไม่ ใช่ไหม และในวิดีโอเห็นว่าจำเลยไม่มีการพูด มีข้อความ หรือการกระทำที่ผิดตามกฎหมาย มาตรา 112 แต่จากภาพแล้วเข้าข่ายกระทำความผิดใช่หรือไม่ ทั้งนี้ื กิตติพงศ์เบิกความตอบว่า ใช่ ทั้งสองคำถาม และอธิบายต่อว่า การกระทำของจำเลยและสายน้ำนั้นเข้าใจได้ว่าต้องการสื่อถึง ร.10 และราชินี แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะตัดสินอย่างไร ซึ่งศาลไม่บันทึกประโยคหลังนี้

.

พยานโจทก์ปากที่ 9: ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อังกนะ ตำรวจสันติบาลผู้อยู่ใกล้พรมแดงเดินแฟชั่นรับ จำเลยไม่ได้ประกาศว่าแสดงเป็นใคร

ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อังกนะ รับราชการอยู่ที่กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 7 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล เบิกความว่า ตนมีหน้าที่สืบสวนหาข่าวผ่านสื่อออนไลน์ในพื้นที่การชุมนุม โดยจะดูเกี่ยวกับการกระทำความผิดในพื้นที่ชุมนุม และในวันที่ 29 ต.ค. 2563 ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าให้เข้าไปสังเกตการณ์ชุมนุมที่บริเวณหน้าวัดแขก ทั้งนี้ตนได้แต่งกายเหมือนมวลชนในที่ชุมนุมด้วย

พยานเบิกความอีกว่า ตนเองได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาข่าว โดยไม่ได้ติดตามใครเป็นพิเศษ แต่จะอยู่ในจุดที่มีมวลชน หรือมีเสียงดัง และในวันนั้นตนก็ได้อยู่ในจุดที่ห่างจากการแสดงแฟชั่นโชว์ราว 5 เมตร ทำให้สามารถมองเห็นกิจกรรมได้อย่างชัดเจน

ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ระบุว่า ตนเองทราบว่าจำเลยเป็นนักกิจกรรมการเมืองอยู่กลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก เมื่อมากรุงเทพฯ ก็มากับกลุ่ม WeVolunteer แล้วบอกด้วยว่า ตนเองได้เข้าไปถ่ายรูปและวิดีโอการเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยเอาไว้ด้วย โดยเข้าไปกับเจ้าหน้าที่อีกหลายคน

สำหรับการเดินแฟชั่นของจำเลยนั้น ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เบิกความว่า เมื่อเห็นการแสดงของจำเลยแล้วมองออกว่าจำเลยต้องการสื่อถึงราชินีสุทิดา ขณะที่อีกคนหนึ่งคือสายน้ำทำการแสดงแฟชั่นโชว์โดยเขียนข้อความไว้บนตัว แต่ตนเองจำข้อความดังกล่าวไม่ได้แล้ว

ทั้งนี้ เมื่อพนักงานอัยการนำรายงานการสืบสวนมาให้ดู ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ก็ระบุว่ารายงานฉบับนี้ไม่มีภาพหรือวิดีโอที่ตนเองเป็นผู้ถ่ายรวมอยู่ด้วย พนักงานอัยการยังพยายามให้พยานดู แต่ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ก็ยังยืนยันว่า ไม่มี ศาลจึงได้บอกให้พยานเบิกความตามข้อเท็จจริง ขณะที่ทนายจำเลยค้านขึ้นว่าอัยการพยายามถามนำ แต่ศาลก็บอกเพียงแค่ศาลดูอยู่และอนุญาตให้อัยการสืบต่อไป แต่อัยการไม่ได้ถามคำถามกับ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อีก เพียงอ้างส่งคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานปากนี้แทน

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนทราบว่าจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม โดยผู้จัดคือ คณะราษฎร 63 และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากนั้นอธิบายลักษณะของพื้นที่ชุมนุมว่าคือถนนสีลมทั้งสาย ซึ่งมีลักษณะเป็นที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนการทำกิจกรรมในที่ชุมนุมก็ถูกแบ่งออกตามจุดต่างๆ โดยผู้ชุมนุมก็จะกระจายตัวกันไปดู และแต่ละกิจกรรมนั้นไม่ได้มีการยืนรวมกลุ่มกันแต่อย่างใด

สำหรับการเดินแฟชั่นโชว์ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ ระบุว่าตนเองได้เข้าไปดูด้วย และเบิกความว่า จำเลยไม่ได้แสดงตัว หรือประกาศว่าตนเองแสดงเป็นใคร อีกทั้งพิธีกรก็ไม่ได้ประกาศให้มีการเตรียมถวายการต้อนรับราชินี หรือให้มีการกล่าวคำว่า “ทรงพระเจริญ” แต่อย่างใด

จากนั้นทนายจำเลยถามเรื่องการแต่งกายด้วยชุดไทย โดยนำภาพหญิงแต่งกายด้วยชุดไทยลักษณะเดียวกับที่จำเลยใส่ในวันเกิดเหตุให้ ร.ต.อ. กิตติศักดิ์ดู ก่อนจะถามว่า ทั้งสองภาพนี้พยานมองว่าเป็นการล้อเลียนหรือไม่ ซึ่ง ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ เบิกความตอบว่า การตีความเป็นเรื่องส่วนบุคคล และบุคคลจะตีความอย่างไรก็เป็นเรื่องของบุคคลนั้น แล้วเมื่อทนายจำเลยถามต่อไปอีกว่า เมื่อพิจารณาป้ายฉากหลังที่มีข้อความระบุไว้เรื่องกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนแบรนด์ SIRIVANNAVARI แล้ว การกระทำของจำเลยสามารถมองเป็นการล้อเลียนฟ้าหญิงสิริวัณณวรีแทนราชินีได้หรือไม่ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ร.ต.อ. กิตติศักดิ์ เบิกความวกวน ศาลจึงบันทึกไว้แต่เพียงว่า เขาเบิกความว่า จำเลยต้องการให้คนดูเข้าใจว่าเป็นราชินีมากกว่า ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ขอให้ศาลบันทึกเพิ่มเติมด้วยว่า ร.ต.อ. กิตติศักดิ์ รับรู้เรื่องการสนับสนุนแบรนด์ดังกล่าวด้วย 

อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ. กิตติศักดิ์ เบิกความในตอนท้ายว่า จากที่เห็นในพื้นที่ชุมนุม ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ยกเว้นคนที่กำลังกินอาหาร และเขายังระบุด้วยว่า ผู้ที่มีหน้ารับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตราการควบคุมโรคติดต่อนั้นคือ ผู้จัดการชุมนุม

.

พยานโจทก์ปากที่ 10: สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ ผอ.กองกฎหมาย ม.สวนดุสิต ยอมรับว่าคนทั่วไปสามารถใส่ชุดไทยได้ ใส่เดินแฟชั่นโชว์ก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย

สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ ผอ.กองกฎหมาย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เบิกความว่า พนักงานสอบสวนให้ตนดูภาพถ่ายที่มีการเดินบนพรมแดงซึ่งมีชายแต่งกายด้วยเสื้อเอวลอย หญิงใส่ชุดไทย มีคนทั้งสองข้างทาง เมื่อดูภาพผู้ชายที่บนตัวปรากฏชื่อของ ร.10 นั้น ตนมองว่าเป็น ร.10 ส่วนภาพผู้หญิงเป็นภาพแยก ซึ่งตนมองแล้วไม่เข้าใจเพราะเป็นภาพนิ่ง แต่ถ้าดูจากวิดีโอจะเข้าใจได้ว่าเป็นราชินี ทั้งนี้ พยานระบุด้วยว่า ตนเองเคยเห็นภาพดังกล่าวจากสื่อออนไลน์อื่นๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี สฤษดิ์กล่าวว่า จากภาพนิ่งและวิดีโอ รวมทั้งภาพจากสื่ออื่นๆ ตนเองเข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้อเลียนกษัตริย์และราชินี

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

สฤษดิ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า วิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำไปให้ดูนั้นมีจำนวน 2 วิดีโอ และตนเองไม่ทราบว่ามีการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดอื่นๆ ด้วย เพราะตอนพนักงานสอบสวนให้ดูวิดีโอนั้นไม่ได้อธิบายหรือเกริ่นนำอะไร

สฤษดิ์ตอบทนายจำเลยอีกว่า คนทั่วไปสามารถใส่ชุดไทยได้ และสามารถใส่ชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ด้วยก็ได้ ไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเมื่อทนายจำเลยให้ดูภาพจากพยานหลักฐานของโจทก์ เขาก็ระบุว่าภาพดังกล่าวเหมือนคนใส่ชุดไทยกำลังเดินอยู่ ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นใคร

ทั้งนี้ สฤษดิ์ยังยอมรับด้วยว่า คำให้การในชั้นสอบสวนนั้นเป็นการตีความของตนเอง และเกิดจากการตีความโดยมองภาพรวม ซึ่งเขายังยอมรับอีกด้วยว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นใคร ส่วนเรื่องการตะโกนคำว่า “ราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” ของผู้ชุมนุมนั้น สฤษดิ์ก็ยอมรับว่า จำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้สั่งแต่อย่างใด อีกทั้ง พิธีกรในงานก็ไม่ได้ประกาศให้ผู้ชมเตรียมการแสดงความเคารพหรือแนะนำว่าจำเลยแสดงเป็นใครด้วยเช่นกัน

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พนักงานอัยการต้องการถามติงในประเด็นที่ทนายจำเลยถามสฤษดิ์ว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นการหมิ่นฟ้าหญิงสิริวัณณวรีหรือไม่ และสฤษดิ์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยไปว่า เหมือนคนใส่ชุดไทยเดินเป็นปกติ หากแต่ศาลกล่าวว่า ได้จดบันทึกไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องถามติง

.

พยานโจทก์ปากที่ 11: ภัทร วงศ์ทองเหลือ  ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ยอมรับว่าใครก็ใส่ชุดไทยได้ แต่ไม่ยืนยันว่าคนใส่ชุดไทยจะมีเจตนาเช่นไร ขึ้นอยู่กับการตีความ

ภัทร วงศ์ทองเหลือ เบิกความว่า ตนเองจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ และได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาการจัดการวัฒนธรรม ปัจจุบันรับราชการอยู่กระทรวงวัฒนธรรม และเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีได้เพราะพนักงานสอบสวนเชิญไปให้ปากคำ 

จากนั้นภัทรได้ตอบคำถามของอัยการเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่อสถาบันกษัตริย์ตามที่สำนักนายกฯ เป็นผู้กำหนดแล้วเผยแพร่ว่า ให้ประชาชนทั่วไปปฏิบัติ โดยถือเอาสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ จะกระทำการละเมิดมิได้ โดยอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า กระทรวงวัฒนธรรมเองก็ได้ให้คำแนะนำในทางเดียวกันกับสำนักนายกฯ

สำหรับภาพและวิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูนั้น ภัทรกล่าวว่า เนื่องจากสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ควรเคารพ ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการล้อเลียน ซึ่งไม่เหมาะสมตามที่ตนได้เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ภัทรเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนเองทำงานอยู่กระทรวงวัฒนธรรม และยอมรับว่ารัฐบาลมีการสนับสนุนให้ประชาชนใส่ชุดไทยในฐานะชุดประจำชาติ คนทั่วไปสามารถใส่ชุดไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภัทรไม่ยืนยันว่า ผู้สวมใส่ชุดไทยจะมีเจตนาอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตีความ โดยระบุว่าตนเองไม่มีความเห็นในเรื่องเจตนาของผู้สวมใส่ชุดไทย

.

พยานโจทก์ปากที่ 12: ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ผู้ยืนยันแข็งขันว่าการใส่ชุดไทยของจำเลยเป็นการเลียบแบบราชินี อันเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ก่อนรับว่าเป็นการตีความของตนเองเท่านั้น

ว่าที่ ร.ต.นิรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ทนายความ เบิกความว่า ตนเองทราบเรื่องการชุมนุมก่อนที่พนักงานสอบสวนจะเชิญมาให้ปากคำ และเมื่อพนักงานสอบสวนมาพบก็ได้ให้การในฐานะทนายความ โดยระบุว่า เมื่อได้ดูภาพและวิดีโอแล้วรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ดูหมิ่น ไม่ให้เกียรติสถาบันกษัตริย์ เพราะจำเลยแต่งกายเลียนแบบราชินีในชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าเล็กๆ มีคนเดินตามคอยกางร่มให้ ทั้งยังมีผู้ชมตะโกนคำว่า “พระราชินีๆ” อีกด้วย

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ตอบทนายจำเลยว่า นอกจากจะมาเป็นพยานในคดีนี้แล้ว ตนเองยังได้ไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจมีมากถึง 10 คดี  โดยไปในฐานะพยานผู้ให้ความเห็นต่อการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

จากนั้นพยานเบิกความเรื่องวิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู โดยบอกว่าตนเองจำไม่ได้ว่า พนักงานสอบสวนนำวิดีโอมาให้ดูจำนวนกี่ไฟล์ และจำไม่ได้ด้วยว่า ได้ดูวิดีโอตั้งแต่ต้นหรือไม่ แต่กระนั้น นรินทร์ก็เบิกความยอมรับว่า ในการเดินแฟชั่น จำเลยไม่ได้ประกาศตัวว่าตนเองแสดงเป็นใคร แค่เดินแบบเฉยๆ ส่วนการตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” นั้น เป็นการกระทำของผู้ชุมนุมเอง อีกทั้งจำเลยและสายน้ำไม่ได้เดินร่วมกันด้วย

ต่อมาทนายจำเลยถามว่า ใครก็สามารถใส่ชุดไทยได้ใช่หรือไม่ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์จึงตอบว่า ใช่ พร้อมกับระบุว่า ที่ตนเบิกความว่า จำเลยแต่งกายเลียนแบบราชินีสุทิดานั้นเป็นการตีความของตนเอง

ตอบอัยการถามติง

พนักงานอัยการถามเรื่องที่ว่า เข้าใจได้อย่างไรว่าการแสดงของจำเลยเป็นการล้อเลียนคนในสถาบันกษัตริย์ ซึ่งว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ตอบว่า การกระทำของจำเลยนั้นสามารถเข้าใจความหมายที่จะสื่อได้ถ้าติดตามข่าวสาร เพราะพฤติการณ์กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์และราชินีนั้นมีมาอยู่ตลอด ดังนั้นตนเองในฐานะพยานจึงเข้าใจได้ว่าจำเลยแต่งกายล้อเลียนราชินี ส่วนการกระทำของสายน้ำคือการล้อเลียน ร.10

.

พยานโจทก์ปากที่ 13: พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา หนึ่งในคณะทำงานสอบสวนคดีนี้

พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร  พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา เบิกความว่า ตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานสอบสวนคดี ซึ่งตอนเข้ามาทำคดีพบว่า มีการสอบสวนผู้กล่าวหาที่ 1, 2 และผู้ต้องหาที่ 1,2 แล้ว จากนั้นก็เบิกความต่อไปว่า ในคดี 112 จะมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยในส่วนของตนเองนั้นมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานประกอบสำนวนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.คมสัน ระบุว่า ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุตนเองยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี เพิ่งจะเข้ามาในตอนหลัง แต่ก็พอได้ทราบข่าวการชุมนุมจากสื่อออนไลน์อยู่บ้าง และได้ดูวิดีโอการชุมนุมจากสื่อดังกล่าวด้วย

จากนั้นพยานได้เบิกความถึงประกาศ กทม. ฉบับที่ 13 ซึ่งระบุว่า การชุมนุมกระทำได้แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ต้องกำหนดให้มีการเว้นระยะห่าง ส่วนเรื่องการจราจรพยานเบิกความว่า ตนเองทราบว่าในขณะที่เกิดเหตุประชาชนทั่วไปไม่สามารถสัญจรได้โดยสะดวก เพราะผู้ชุมนุมปิดถนน โดยไม่มีการขออนุญาต รวมทั้งไม่ขออนุญาตชุมนุมด้วย กล่าวโดยสรุปคือ ประชาชนสามารถชุมนุมได้ แต่ต้องขออนุญาตและเชื่อฟังเจ้าหน้าที่

จากนั้น พ.ต.ท.คมสัน เบิกความถึงการเดินแฟชั่นโชว์ว่า ก่อนการเดิน พิธีกรได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงที่ตนเองไม่ทราบว่าเป็นชนิดใด มีการเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ปูพรมแดงบนถนนสีลม และการเดินแบบดำเนินไปตามปกติจนกระทั่งถึงการแสดงของจำเลยที่อยู่ในชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าเล็กๆ และมีผู้เดินตามถือร่มและพาน โดยการเบิกความตรงนี้ พ.ต.ท. คมสัน อ้างอิงจากคำให้การของพยานปากอื่นๆ เนื่องจากตนเองไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมทั้งได้เบิกความถึงการกระทำของสายน้ำด้วย ก่อนจะตีความจากพฤติการณ์ว่าจำเลยและสายน้ำมีการแบ่งงานกันทำ และการกระทำของจำเลยเหมือนกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของราชินี

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ท.คมสัน เบิกความตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของสำนวนคดี เพราะในการทำคดี 112 จะมีการตั้งคณะทำงาน ซึ่งตนเองเป็นหนึ่งในคณะทำงานดังกล่าวที่มีคำสั่งแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร

ทั้งนี้ พยานเบิกความต่อไปว่า ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ตนเองทราบว่าถ้ามีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพียงแต่ว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 13) มีการระบุให้ ผู้จัดการชุมนุมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ จึงนำเอา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาบังคับใช้ชั่วคราว ซึ่งตรงนี้ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า เหตุที่ต้องถามเรื่อง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ด้วย 

จากนั้นทนายจำเลยได้ถามต่อว่า ตามหลักการของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้กำกับ สน. ในพื้นที่คือผู้ดูแลการชุมนุม แต่ถ้าไม่มีการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้กำกับฯ จึงไม่เท่ากับเจ้าพนักงานควบคุมดูแลการชุมนุมใช่หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ท.คมสัน เบิกความตอบว่า ใช่ ก่อนจะอธิบายว่าเพราะในข้อกำหนด ( ฉบับที่ 13) กำหนดให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดังนั้นแล้วจึงถือว่า ผู้กำกับ สน.ยานนาวา มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานดูแลและกำกับการชุมนุมอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.คมสัน ระบุว่า ตนเองไม่ทราบว่าใครคือผู้จัดการชุมนุม เพราะในคดีนี้ไม่ได้มีการดำเนินคดีผู้จัดการชุมนุม ทั้งยังยอมรับด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือการบุกทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด เป็นเพียงแต่การปราศัรย แสดงศิลปะ และเดินแฟชั่นโชว์เท่านั้น

ส่วนบรรยากาศของการชุมนุม พ.ต.ท.คมสัน เบิกความว่า มีลักษณะไม่ตรงตามความหมายของคำว่า “แออัด” ในคำพิพากษาของศาลจังหวัดพะเยา, ศาลแขวงอุดรธานี และศาลแขวงลพบุรี ที่ทนายจำเลยให้ดู ซึ่งทนายจำเลยได้อ้างส่งคำพิพากษาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของจำเลย 

จากนั้นทนายจำเลยถามว่า ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานสอบสวนคดีนี้ ได้มีการเชิญพยานที่ทำข้อมูลผู้ติดเชื้อรายวันในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มาให้การบ้างหรือไม่? ซึ่ง พ.ต.ท. คมสัน ตอบว่า ไ่ม่เคย เพียงแต่ตนเองเคยเห็นว่า ศบค. ได้เผยแพร่ข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตรายวันในช่วงที่มีโรคดังกล่าวระบาด อีกทั้งยอมรับด้วยว่า ตนเองไม่ได้รับรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 หรือไม่ 

ทั้งนี้ พ.ต.ท.คมสัน เบิกความว่า ตนเพิ่งได้ทำคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก ในส่วนการเลือกพยานมาให้ปากคำในคดีมาตรา 112 นั้น มี 2 ส่วนคือ พยานนักวิชาการ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีบัญชีรายชื่อพยานระบุไว้ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชิญมาเป็นพยานในคดีของตนเอง อีกส่วนคือพยานผู้ให้ความคิดเห็น ที่ตนเรียกนายวราวุธ สวาย มาเป็นพยานนั้น ตนไม่ทราบมาก่อนว่า วราวุธเป็นผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับผู้อื่นด้วย ทราบเพียงแต่ว่า วริษนันท์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาได้พามา เช่นเดียวกับว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้สอบคำให้การพยานทั้ง 2 ปากนี้ในชั้นสอบสวน

ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานพนักงานสอบสวนปากนี้ถึงวิธีการทำบันทึกคำให้การของพยานด้วย โดยทนายจำเลยมีข้อสังเกตว่า พนักงานสอบสวนอาจใช้วิธีการ copy and paste ทำให้คำให้การของพยานหลายปากมีข้อความที่เหมือนกันทุกตัวอักษร ทั้งในส่วนคำถามและคำตอบ ซึ่ง พ.ต.ท. คมสัน พยายามอธิบายว่า เป็นเพราะเป็นการพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงอาจทำให้มีการใช้วิธีดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ศาลไม่บันทึกในประเด็นนี้ พร้อมกับตำหนิทนายจำเลยด้วยว่า ในบางประเด็นก็ไม่ต้องนำสืบลงลึกมาก

ทนายจำเลยถามต่อว่า ในชั้นสอบสวน สายน้ำให้การว่าไม่รู้จักกับจำเลยในคดีนี้ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.คมสัน ตอบว่า ใช่ และยอมรับด้วยว่า จำเลยในคดีนี้ได้ให้การปฏิเสธไว้ในชั้นสอบสวน แต่ตนเองไม่ทราบว่าจำเลยได้ทำหนังสือคำร้องขอความเป็นธรรมไม่ให้สั่งฟ้องคดีด้วย

ตอบอัยการถามติง

พนักงานอัยการถามว่า ที่สายน้ำให้การในชั้นสอบสวนว่าไม่รู้จักจำเลยในคดีนั้น สายน้ำให้การในฐานะอะไร พ.ต.ท.คมสัน ตอบว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา จากนั้นอัยการจึงถามต่อถึงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งสามคดีที่ทนายจำเลยยกมาอ้างว่า เป็นแค่เรื่องควาหมายของคำไม่ใช่คำพิพากษาใช่หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ท.คมสัน ก็ตอบว่า ใช่ เช่นกัน

.

พยานโจทก์ปากที่ 14: พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์  ตร.ยานนาวา ผู้ขึ้นเบิกความโดยอ้างอิงจากรายงานการสืบสวนหาข่าว

พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ พนักงานสอบสวน สน. ยานนาวา เบิกความว่า ตนได้รับรายงานการสืบสวนหาข่าวจากเจ้าหน้าที่หน่วยอื่น โดยไม่ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมแต่อย่างใด 

จากนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ เบิกความถึงการทำงานของคณะทำงานสอบสวนว่า ในขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหานั้นได้แจ้งว่าเป็นการกระทำความผิดร่วมกันระหว่างจำเลยและสายน้ำ โดยดูจากวิดีโอและรายงานสืบสวนแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดร่วมกัน คือมีการตระเตรียมกันมาก่อน และมีการแบ่งหน้าที่กันทำว่า ใครแสดงเป็นใครตามที่ได้กำหนดกันไว้

ตอบทนายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนเองไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า ในการชุมนุมมีการแจกจ่ายแอลกอฮอล์ล้างมือหรือไม่ ที่ตนเบิกความตอบอัยการว่า ไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโควิดนั้น ตนเบิกความตามที่สอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ จากนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับคดีนี้ในชั้นตำรวจกำหนดไว้ว่ามีผู้ต้องหา 4 คน แต่พอมาถึงชั้นศาลแล้วเหลือผู้ต้องหาเพียง 2 คน เพราะไม่ทราบชื่อ-นามสกุลของอีก 2 คนที่เหลือ พร้อมกันนั้นยังยอมรับด้วยว่า รายงานการสืบสวนซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้จัดทำขึ้นหลังวันที่รับแจ้งความจากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ 

นอกจากนั้น พยานตำรวจปากนี้ยังเบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่า ตนเองทราบข้อเท็จจริงคดีจากคำให้การของ ส.ต.ท.กรณินทร์ ซึ่งเป็นฝ่ายสืบสวนของ สน.ยานนาวา แต่ไม่ได้เป็นผู้สอบปากคำ ส.ต.ท.กรณินทร์ จึงไม่ทราบว่าเหตุใดจึงส่งมอบภาพนิ่งและวิดีโอให้คณะทำงานสอบสวนในวันที่ 29 ม.ค. 2564 อีกทั้งยอมรับด้วยว่า พ.ต.ท.ประวิทย์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาที่ 2 นั้น ไม่ได้ส่งมอบหลักฐานเป็นวีดิโอและภาพถ่ายให้พนักงานสอบสวนในวันที่สอบคำให้การ แต่ได้ส่งหลักฐานที่เป็นรายงานการสืบสวนมาก่อนหน้านั้นแล้ว 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยพยายามหาเอกสารดังกล่าวปรากฏว่าไม่มีอยู่ในพยานหลักฐานที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล หากแต่ทาง พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ยังคงยืนยันว่า ได้นำใส่สำนวนมาให้อัยการแล้ว จากการถามตอบกันสักครู่ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ก็เบิกความใหม่ว่า รายงานการสืบสวนที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นถูกส่งมาให้พนักงานสอบสวนภายหลังวันแจ้งข้อกล่าวหาจำเลย แต่ยังคงยืนยันอีกว่ามีการรายงานด้วยวาจามาก่อนหน้านั้นแล้ว 

พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ รับกับทนายจำเลยว่า จากการสอบสวน ไม่ปรากฏว่า จำเลยกับพวกได้มีการประชุมวางแผนเพื่อแบ่งหน้าที่ จากนั้นทนายจำเลยได้ถามว่า การจะแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยในข้อหาใดบ้าง เป็นความเห็นของพยานใช่หรือไม่  พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ระบุว่า เป็นมติของคณะทำงานซึ่งมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตนจำได้ว่า ได้นำคำสั่งดังกล่าวส่งมอบให้พนักงานอัยการแล้ว 

ส่วนเรื่องการทำบันทึกคำให้การพยานนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ยอมรับว่า ใช้วิธีคัดลอกข้อความมา ทำให้เกิดข้อความซ้ำกันหลายจุดในบันทึกคำให้การของพยานแต่ละคน แต่กระนั้น พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ก็บ่ายเบี่ยงว่า ตนไม่ได้สอบปากคำพยานทั้งหมดด้วยตนเอง ในการสอบพยานบางคน ตนเพียงแต่นั่งอยู่ในบริเวณที่มีการสอบปากคำเท่านั้น

ทนายจำเลยนำภาพของฟ้าหญิงสิริวัณณวรีและเจ้าคุณพระสินีนาฏ ซึ่งแต่งกายด้วยชุดไทยให้ พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ดู แล้วถามว่า ในชั้นสอบสวน พยานได้นำภาพถ่ายลักษณะเช่นนี้ให้พยานบุคคลดูแล้วสอบถามว่า จำเลยประสงค์จะแต่งกายเลียนแบบบุคลลทั้งสองนี้หรือไม่ พ.ต.ต.กิตติศักดิ์ ตอบว่า ไม่เคย ทนายจำเลยขออ้างส่งภาพถ่ายดังกล่าวต่อศาลเป็นพยานหลักฐานของจำเลย

ในตอนท้ายทนายจำเลยถามทวนถึงข้อกฎหมายมาตรา 112 ว่า ครอบคลุมแค่บุคคลใน 4 ตำแหน่ง คือ กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช่หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ตอบว่า ใช่ แต่ศาลไม่บันทึก ระบุว่า เป็นข้อกฎหมาย ซึ่งศาลวินิจฉัยได้เอง

ตอบอัยการถามติง

พนักงานอัยการถามติงในประเด็นการจัดทำบันทึกคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ซึ่ง พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ ได้เบิกความตอบว่า บันทึกคำให้การนั้นจะจัดทำขึ้นด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ หากแต่พยานแต่ละคนได้ลงชื่อรับรองในเอกสารเหล่านั้นแล้ว ทั้งยังตอบในประเด็นที่ตนเบิกความว่า ในชั้นตำรวจกำหนดว่าจะแจ้งข้อหา 4 คน แต่ในชั้นศาลมีจำเลยแค่ 2 คนนั้น เป็นเพราะติดตามตัวอีกสองคนมาแจ้งข้อหาไม่ได้ และในภาพนิ่งและวิดีโอที่เป็นหลักฐานไม่มีบุคคลอื่นๆ นอกเหนือจากจำเลยทั้งสอง

.

ภาพรวมการสืบพยานโจทก์

โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า พยานโจทก์เกือบทุกปากมองว่า การกระทำของจำเลยที่แต่งชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าเล็กๆ ก้าวเดินอย่างเชื่องช้าบนพรมแดง โดยมีผู้ติดตามชายถือร่มให้ ขณะที่ผู้ติดตามหญิงถือพานเดินตาม ท่ามกลางบริบทการชุมนุมที่พูดถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์ การสนับสนุนแบรนด์แฟชั่น SIRIVANNAVARI การเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ และมีการตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” ของผู้ร่วมชุมนุมขณะที่จำเลยกำลังเดินแบบ เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากพยานโจทก์ตีความไปเองทั้งสิ้นว่า จำเลยเจตนาเลียนแบบราชินีสุทิดา

.

พยานจำเลยปากที่ 1: จตุพร แซ่อึง จำเลยซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน ระบุ ไม่ได้อยากเป็นใคร แค่อยากเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นชุดไทยเท่านั้น

จตุพร แซ่อึง จำเลย อายุ 25 ปี เบิกความว่า ปัจจุบันตนช่วยทำธุรกิจของครอบครัว ในชั้นสอบสวนตนเองได้ให้การปฏิเสธ พร้อมกับได้ทำคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ และในชั้นอัยการก็ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมยื่นต่ออัยการ ขอให้ไม่สั่งฟ้องคดี

จากนั้นจตุพรเบิกความต่อไปอีกว่า การเข้าร่วมการชุมนุมของตนเองมีกฎหมายรองรับ อันได้แก่ รัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ด้วย และในการชุมนุมในคดีนี้ตนเองไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เพียงแต่ทราบว่าจะมีการชุมนุมจากเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเพจเฟซบุ๊กกลุ่มราษฎร 63 ทั้งนี้ ตนเองเข้าร่วมการชุมนุมแทบทุกครั้งที่มีโอกาส โดยจะเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

สำหรับการแต่งกายด้วยชุดไทยในวันที่เกิดเหตุนั้น ตนเองแต่งออกมาจากที่พักเลย โดยเป็นชุดที่ไปเช่ามาจากร้านแถวพระราม 2 ในราคา 700 บาท ซึ่งตอนแรกตนได้เลือกชุดไทยสีเขียว แต่ชุดที่อยากได้นั้นมีขนาดใหญ่เกินไป ร้านจึงแนะนำชุดสีชมพูให้ สำหรับเหตุผลที่เลือกใส่ชุดไทยเพราะมองว่าเป็นชุดประจำชาติ ใส่แล้วน่าจะดูดี โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะล้อเลียนใคร เพียงแต่ต้องการเป็นตัวเองในรูปแบบที่ใส่ชุดไทย

ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุพิธีกรไม่ได้ประกาศลำดับการเดินแฟชั่นโชว์ แต่ที่ตนเองได้เดินคนแรกนั้นเพราะอยู่ ณ ที่ตรงนั้นพอดี อีกทั้งพิธีกรไม่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเตรียมทำความเคารพ และไม่ได้บอกว่าตัวพยานแสดงเป็นใคร สำหรับเหตุการณ์ที่มีบุคคลพุ่งตัวมาจับข้อเท้านั้น ตนเองเข้าใจว่าบุคคลนั้นจะเข้ามาขอถ่ายรูป ระหว่างนั้นก็มีผู้ชมตะโกนขึ้นว่า “เจ้าคุณพระ” และ “พระราชินี” ซึ่งทำให้ตนรู้สึกตกใจ และไม่ได้แสดงอาการตอบรับใดๆ เพียงแต่พยายามเดินต่อไปให้จบ โดยใช้เวลาเดินทั้งหมดไม่เกิน 30 วินาที

ส่วนที่คนเดินแบบด้วยกันนั้น ตนเองรู้จักเพียงคนที่ถือร่ม คนที่ถือพาน คนที่สวมชุดราตรีและสายสะพายสีเขียวซึ่งเดินแบบต่อจากตนเอง โดยเดินคู่กับอีกคนหนึ่งที่สวมชุดสูท ทั้งนี้ ร่มที่ตนถือในการเดินแบบเป็นสินค้าของกลุ่ม WeVo ที่ตนนำมาถือด้วยนั้นก็เพื่อโฆษณาขาย ส่วนปลอกแขนและสายสะพาย เนื่องจากทางกลุ่ม WeVo ต้องการรับสมัครสมาชิกใหม่ จึงได้นำสิ่งของดังกล่าวที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่มมาร่วมเดินแบบเพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการรับสมัคร

จตุพรเบิกความอีกว่า ตนเองไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่กับใคร มีเพียงแค่ตกลงกันว่า จะไปเดินแบบเท่านั้น จากนั้นต่างคนก็ไปเช่าชุดของตนเอง ทั้งไม่ได้เตรียมการกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เพราะไม่รู้จักใคร รวมทั้งไม่รู้จักกับสายน้ำด้วย โดยระบุว่า ตนเองเพิ่งมารู้จักกับสายน้ำในวันรับทราบข้อกล่าวหา 

จากนั้นจตุพรก็เล่าถึงบรรยากาศและลักษณะของสถานที่เกิดเหตุ โดยทนายจำเลยได้อ้างส่งวิดีโอที่ศาลรับไว้โดยที่อัยการไม่ได้คัดค้าน และจำเลยได้เบิกความต่อไปว่า ตนทราบข่าวที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนแบรนด์แฟชั่น SIRIVANNAVARI จากนั้นก็เล่าถึงสาเหตุที่รู้ว่าตนเองได้รับหมายเรียกจากการที่เห็นบุคคลหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่ามีคนแต่งชุดไทยโดน 112 และเมื่อตนทักไปสอบถามเพิ่มเติมก็ทราบว่าคนที่โดนหมายเรียกคือตนเอง

ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั้น จตุพรเบิกความว่า ตนเองรู้ว่ามีคำพิพากษายกฟ้องของศาลทั้ง 3 แห่ง ตามที่ทนายจำเลยได้อ้างส่งเอกสารไปแล้ว ซึ่งความหมายของคำว่า “แออัด” ในความเข้าใจของตนเองนั้น ต้องมีลักษณะอัดกันแน่นจนเหมือนกับปลากระป๋อง คือมีคนอยู่แน่นจนเต็มพื้นที่ ตนยังทราบด้วยว่า ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ นั้นระบุไว้ว่า ผู้จัดกิจกรรมมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งรู้ด้วยว่า มีหน่วยงานชื่อ ศบค. คอยทำข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19

ต่อมา จตุพรเบิกความอีกว่า มีพยานอีกปากหนึ่งที่ทำคำให้การมาเป็นลายลักษณ์อักษร และทนายจำเลยได้อ้างส่งต่อศาล พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ตนเองทราบว่าวราวุธ สวาย เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดี 112 คดีอื่นๆ เช่นเดียวกับว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ที่เป็นสมาชิกกลุ่มไทยภักดี และเป็นผู้กล่าวหาผู้อื่นในคดี 112 อีกหลายคดี ซึ่งทนายจำเลยได้อ้างส่งเอกสารที่เป็นข้อมูลเรื่องนี้ให้ศาลรับไว้เป็นพยานหลักฐานของจำเลย

ทั้งนี้ ทนายจำเลยพยายามถามเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อพยานโจทก์ แต่ถูกศาลห้ามไม่ให้ถาม ทนายจำเลยจึงได้ถามถึงผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในคดีนี้ ซึ่งจำเลยก็ได้เบิกความต่อศาลว่า ตนเองถูกผู้คนในสังคมออนไลน์รวมทั้งเพื่อนบ้านตราหน้าว่าเป็นผู้ชังชาติ ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าผู้คนเหล่านั้นนำเกณฑ์ใดมาตัดสิน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากการที่หางานทำไม่ได้ ไม่มีใครรับทำงาน ทั้งถูกขู่ทำร้ายจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จตุพรกล่าวในตอนท้ายว่า ตนเองมีรอยสักที่มีความหมายถึง ร.9 ด้วย

.

พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลย: พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้จำเลยใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบ ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชากฎหมายการชุมนุมสาธารณะและวิชาเสรีภาพในการชุมนุมกับกฎหมาย ให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในฐานะพยานจำเลย มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

พยานเห็นว่า ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 13 ที่โจทก์กล่าวหาจำเลย จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความชัดเจน ไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน ด้วยเหตุผลหลักๆ ว่า การชุมนุมที่จำเลยเข้าร่วมเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ 

อีกทั้งพยานเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และการต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เพราะบรรดากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นก็เพียงพอแล้วที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในช่วงแรก ๆ ของการประกาศฯ ก็อยู่ในระดับต่ำ 

อนึ่ง ภายใต้กรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 4(1) ได้วางหลักไว้ว่า สถานการณ์ฉุกเฉินที่จะใช้ยกเว้นการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ จะต้องเป็นกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ พยานเห็นว่า เหตุที่ยกขึ้นอ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการต่ออายุแต่ละครั้งนั้น ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นภัยที่รุนแรงถึงระดับคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ  

นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council:  UNHRC) ยังได้มีมติที่ 44/20 รับรองเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมโดยสงบ เน้นย้ำว่ารัฐไม่ควรอ้างการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อจำกัดสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วน  

พยานยังเห็นว่า การที่ข้อกำหนดฉบับที่ 13 กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อกำหนดฉบับที่ 13 นี้มีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 

.

อ่านข้อมูลคดีทั้งหมด >> คดี 112 จตุพร – สายน้ำ (เยาวชน) ม็อบแฟชั่นโชว์ 29ตุลา

อ่านบทสัมภาษณ์ >> ความเปลี่ยนแปลงของรอยสักเลข “๙” ผลกระทบจากคดี 112 และการเตรียมใจของ “นิว จตุพร”

X