“สายน้ำ” เยาวชนถูกฟ้องคดี 112 – 2 คดีรวด คดีใส่ชุดครอปท็อปเดินแฟชั่นสีลม-คดีแปะกระดาษพ่นสีสเปรย์รูป ร. 10

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 4 นัดฟังคำสั่งในคดีของสายน้ำ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกาย ในการชุมนุม #ภาษีกู เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณด้านหน้าของวัดแขกบนถนนสีลม

>>> เปิดข้อกล่าวหา ม.112 เยาวชน – ผู้แต่งคอสเพลย์ชุดไทย เหตุเดินพรมแดงม็อบแฟชั่นโชว์ที่สีลม 

ต่อมา อัยการได้มีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จากนั้นที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวคราว ในช่วงราว 15.00 น. ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสายน้ำ โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดจำนวน 12,000 บาท ซึ่งครอบครัวได้ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางต่อศาล ศาลกำหนดวันนัดสอบถามในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30 น. 

นอกเหนือจากสายน้ำ ยังมีอีกคดีมาตรา 112 ที่มีมูลเหตุจากการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่ง วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง เป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ นั่นคือคดีของ “จตุพร แซ่อึง” นักกิจกรรมวัย 23 ปี จากกรณีแต่งชุดไทยเข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ โดยคดีของจตุพรถูกพิจารณาโดยศาลอาญา กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น.  

เวลาประมาณ 16.00 น. หลังสายน้ำได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และกำลังจะเดินทางกลับ เจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนฯ ได้แจ้งแก่ที่ปรึกษากฎหมายของสายน้ำว่า พนักงานอัยการยังได้ยื่นฟ้องคดี 112 ของสายน้ำอีกคดีหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 เป็นคดีจากเหตุแปะกระดาษ-พ่นสีสเปรย์บนรูปรัชกาลที่ 10 จากเหตุชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564  โดยไม่ได้นัดหมายสายน้ำไปศาล เพราะคดีนี้เขาถูกปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นฝากขัง อำนาจควบคุมตัวจึงอยู่ที่ศาลแล้ว การฟ้องคดีจึงไม่ต้องนำตัวมาที่ศาลเยาวชนฯ  โดยคดีนี้ ศาลเยาวชนฯ กำหนดวันนัดสอบคำให้การในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.30 น.   

 >>>  “สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชนเข้ามอบตัว ก่อน ตร.แสดงหมายจับ ม.112 เหตุแปะกระดาษ-พ่นสีสเปรย์บนรูป ร.10 ในม็อบ #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต

รวมแล้วขณะนี้ มีจำนวนคดี 3 คดีแล้ว ที่อัยการสำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว) สั่งฟ้องเยาวชนในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ คดีต่อธนกร เหตุปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณวงเวียนใหญ่ และกรณีของสายน้ำจากเหตุในสองคดีนี้ 

.

คำฟ้องคดี ม.112 เหตุแต่งชุดคอสเพลย์เข้าร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ อัยการชี้จำเลยล้อเลียนกษัตริย์โดยไม่หวั่นเกรงใดๆ ทำเป็นเรื่องน่าตลกขบขัน 

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องในคดีแต่งกายในกิจกรรมแฟชั่นโชว์โดยสรุปนั้น เริ่มด้วยการเท้าความเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีผลใช้บังคับอยู่ จําเลยกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี กล่าวคือ   

1. จำเลยได้ร่วมกันเข้าร่วมการชุมนุมและจัดทำกิจกรรมกับประชาชนจำนวนมาก บริเวณพื้นผิวจราจรบนถนนสีลม ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นสถานที่แออัดในเขตพื้นที่ที่มีข้อกำหนดห้ามไว้ โดยในการชุมนุมพบว่ามีการทํากิจกรรม ดนตรี และงานแสดงศิลปะสื่อความหมายเสียดสีการเมือง วางอยู่บนท้องถนนในลักษณะกีดขวางทางจราจร 

อีกทั้ง มีป้ายข้อความว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” “หมุดราษฎร 2020” “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ) IRIVANNAVARI 13 ล้าน” “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และมีการเดินแบบแสดงแฟชั่น ซึ่งเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท เสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้   

จําเลยกับพวกได้ร่วมกับผู้จัดการชุมนุม ทำกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากทางเลือก และไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมในการทำกิจกรรม และยังมีการปิดถนนสาธารณะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ เกิดความเดือนร้อนเกินสมควร 

อีกทั้งยังเป็นการขัดขวางและกระทำอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการใช้ที่สาธารณะ อันเป็นการชุมนุมสาธารณะเกินขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนต่อข้อกําหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ออกไป  

2. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบุในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยคำว่า “ทรงพระเจริญ” เป็นคําที่ใช้ถวายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระราชวงศ์ชั้นสูง

ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุ จําเลยกับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี กล่าวคือ ปิดการจราจรด้วยป้ายข้อความว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เพื่อสื่อถึงเฟซบุ๊กของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านสถานบันพระมหากษัตริย์ และข้อความ “หมดุดราษฎร 2020” เพื่อสื่อความหมายถึงหมุดคณะราษฎรที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และฝังหมุดที่สนามหลวง จำเลยกับพวกและผู้จัดการแสดงจึงมีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในทางที่เสื่อมเสีย 

อีกทั้งมีการแสดงรูปกราฟฟิกของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งเป็นผู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็นการแสดงข้อความด้วยคำเขียนและภาพที่มีเนื้อหา ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี

และได้ร่วมกันนําพรมสีแดงผืนใหญ่หลายผืนมาปูที่พื้นถนน ทั้งฝั่งสีลมขาเข้าและขาออก มีการนําฉากผ้าใบกั้นด้านหลังฝั่งถนนสีลมขาเข้า เขียนข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ส่วนฉากผ้าใบฝั่งถนนสีลมขาออก เขียนข้อความบรรทัดบนว่า “งบกระทรวงพาณิชย์ (หนุนกิจการ)” บรรทัดล่างมีข้อความว่า “SIRIVANNAVARI 13 ล้าน” ซึ่งเป็นชื่อเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ ราชธิดาของรัชกาลที่ 10 ที่ได้ทรงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ 

พวกของจําเลยได้แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง ฝั่งถนนสีลมขาเข้า และขณะกําลังเดินไปมีพวกซึ่งเป็นชายแต่งกายชุดไทยนุ่งโจงกระเบน ถือร่มกางให้ ส่วนพวกของจําเลยอีกคนซึ่งเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ถือพานสีทองเดินตามหลังในระหว่างเดินบนพรมแดงดังกล่าว และพวกของจําเลยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหญิง ก็ได้ก้มลงมาหมอบกราบที่เท้าของจําเลย จําเลยจึงหยุดเดิน และหญิงที่สวมชุดผ้าไหมไทยสีชมพูได้ยื่นมือมาให้ผู้ชุมนุมได้จับ 

ในระหว่างนั้นผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครได้กล่าวคําว่า “พระราชินี” และเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภ ซึ่งเป็นเพลงประกอบข่าวในพระราชสํานัก ทั้งยังมีผู้ชุมนุมตะโกนขึ้นว่า “ทรงพระเจริญ” และ คําว่า “พระราชินี” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายให้แก่ผู้ชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลเข้าใจว่า พวกของจําเลยนี้เป็นพระราชินีองค์ปัจจุบัน จึงได้ถวายพระพรชัยมงคลให้พระองค์

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “สายน้ำ” จําเลยได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา บุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครที่ทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ ๆ” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายว่าสายน้ำเป็นพระมหากษัตริย์ มีกริยาและการแต่งกายดังกล่าว การแสดงกริยาและการเขียนข้อความพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบริเวณร่างกายเป็นการกระทําที่ไม่เหมาะสม และมิบังควร 

การแสดงออกของทั้งสองเป็นการแสดงเนื้อหาความหมายให้ปรากฏแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่าจําเลยเป็นรัชกาลที่ 10 และพวกของจําเลยเป็นราชินี และจําเลยกับพวกสามารถล้อเลียนกษัตริย์และราชินีได้โดยมิหวั่นเกรงใดๆ เป็นเรื่องน่าตลกขบขันไม่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีที่จะถวายพระเกียรติด้วยความเคารพ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ได้รับความเสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ และอาจเกิดความแตกแยกกับกลุ่มประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

3. จําเลยกับพวกยังร่วมกันทําการโฆษณาโดยใช้โทรโข่งและเครื่องกระจายเสียงอย่างอื่น โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

อัยการฟ้องสายน้ำ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), และ พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

ทั้งนี้ อัยการได้บรรยายฟ้องว่า คดีนี้อัยการไม่สามารถยื่นฟ้องจำเลยได้ภายในกำหนด คดีขาดผัดฟ้อง ต่อมารองอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย ได้อนุญาตให้ฟ้องจำเลยแล้ว และอัยการไม่ได้คัดค้านปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

>>> คดี 112 จตุพร – สายน้ำ (เยาวชน) ม็อบแฟชั่นโชว์ 29ตุลา  

.

.

คำฟ้องคดี 112 เหตุแปะกระดาษ-พ่นสีสเปรย์บนรูป ร. 10 อัยการชี้เป็นการแสดงออกที่เป็นภยันตรายที่ไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม

เนื้อหาโดยสรุปในคำฟ้องในคดีที่สองของสายน้ำ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงวันและเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยังมีผลใช้บังคับอยู่ จําเลยได้กระทําความผิดต่อพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ 

1. จำเลยได้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน ในกิจกรรมที่ชื่อว่า “ทวงคืนประเทศ ขับไล่ปรสิต” ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 800-900 คน เพื่อเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถนนนครสวรรค์ โดยเป็นการชุมนุมและทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุม โดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ฝ่าฝืนต่อประกาศและข้อกำหนด 

2. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบุในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ 

ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุ จําเลยได้หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และวางเพลิงเผาทรัพย์ของมหาวิทยาลัย โดยจำเลยได้ใช้กระดาษที่มีข้อความว่า “CANCLE LAW 112” จำนวน 1 แผ่น ข้อความ “เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา” จำนวน 1 แผ่น โดยกระดาษทั้งหมดปิดทับบนรูปพระมหากษัตริย์  และจำเลยยังใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” ด้วยคำหยาบบนรูปดังกล่าว 

อีกทั้ง จำเลยจุดไฟเผา จนมีไฟลุกไหม้ที่ผ้าประดับสีเหลืองและสีขาว พานพุ่มพร้อมกรวยธูปเทียน ถวายพระพรที่ใช้ประดับรูป และรวมถึงรูปที่ติดตั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร รวมราคาทั้งหมด 2,950 บาท ทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

พระบรมฉายาลักษณ์หรือรูปนี้หน่วยงานราชการจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี และเฉลิมพระเกียรติเชิดชูเทิดทูนพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการไม่สมควร เป็นการแสดงออกที่เป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณที่ไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม ถือเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์  

อัยการระบุฟ้องสายน้ำ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 (วางเพลิงเผาทรัพย์), และ 358 (ทำให้เสียทรัพย์) และข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล  

>>> คดี 112 เยาวชน “สายน้ำ” ถูกออกหมายจับ ม.112 เหตุแปะกระดาษ-พ่นสีสเปรย์บนรูป ร.10 ในม็อบ #18กรกฏา64

.

X