จับกุม “ไรเดอร์ฟู้ดแพนด้า” กล่าวหา วางเพลิงเผารูป-หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 10 ในชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ก่อนศาลให้ประกันวงเงิน 1 แสนบาท

เมื่อช่วงดึกวานนี้ (19 ก.ค. 64) ราว 21.50 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีการจับกุม  สิทธิโชค เศรษฐเศวต ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1189/2564 ลงวันที่วันเดียวกันนั้น ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหาว่า นำน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้รูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบราว 10 นาย ได้เข้าจับกุมสิทธิโชคในบ้านพักย่านรังสิต ก่อนที่จะควบคุมตัวมาที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม 

บันทึกการจับกุมบรรยายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมครั้งนี้ อันได้แก่ พ.ต.อ.ศราวุธ วินัยประเสริฐ ผกก.3 บก.ส.1, พ.ต.ท.ณพอนนต์ ส่องแสงจันทร์ รอง ผกก.1 บก.ส.1, พ.ต.ท.คชา ศรชัย รอง ผกก.3 บก.ส.1, ร.ต.อ.ชัชถทธิ์ ลาภักดิ์ รอง สว.กก.2 บก.ส.1, ร.ต.อ.ประพันธ์ ทองจันทร์ รองสารวัตร กก.1 บก.ส.1, ร.ต.อ.จรูญ ครึ่งค้างพลู รองสารวัตร กก.1 บก.ส.1 และ ด.ต.ชัยวัฒน์ ศรีจันทร์โฉม ผบ.หมู่ กก.1 บก.ส.1 

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้สืบว่า พบนายสิทธิโชคที่บ้านพักย่านรังสิต  จึงได้เฝ้าสืบสวนติดตาม จนเวลาประมาณ 21.15 น. พบนายสิทธิโชค ขับรถจักรยานยนต์ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน และมีกระเป๋าฟู้ดแพนด้าสีชมพูติดอยู่ด้านเบาะหลังเข้ามาในบ้านพัก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าแสดงหมายจับ

บันทึกจับกุมยังระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมยังยึดเสื้อคลุมสีดำมีตราโลโก้ไลน์แมน (Line Man) พร้อมกับรองเท้าแตะสีขาวที่สิทธิโชคสวมใส่ไปอีกด้วย 

ในชั้นจับกุมนี้ สิทธิโชคให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมข้างต้น

เมื่อจัดทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้น ชุดจับกุมจึงควบคุมตัวสิทธิโชคมาคุมขังที่ สน.ห้วยขวาง เพื่อรอสอบปากคำในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น (20 ก.ค. 64) เนื่องจาก สน.นางเลิ้ง ท้องที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดี ไม่มีที่คุมขัง อีกทั้งการจับกุมเกิดขึ้นในช่วงเคอร์ฟิว ทำให้ทนายความไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมการสอบสวนในช่วงกลางคืนได้

ทั้งนี้ เวลา 05.00 น. หลังพ้นเคอร์ฟิว มีประชาชนจำนวนหนึ่งไปที่ สน.นางเลิ้ง เพื่อเข้าเยี่ยมและนำข้าวกล่องไปให้สิทธิโชติ แต่ไม่พบตัว เนื่องจากสิทธิโชคยังถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.ห้วยขวาง 

ต่อมา เวลา 07.00 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามไปพบสิทธิโชคที่ สน.ห้วยขวาง ก่อนที่เวลา 09.00 น. พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้เดินทางมาควบคุมตัวสิทธิโชติไป สน.นางเลิ้ง เพื่อสอบปากคำต่อไป

แจ้งข้อหา ม. 112 – วางเพลิงเผาทรัพย์ ชี้มีเจตนาเผารูปรัชกาลที่ 10 และราชินี

เวลา 10.00 น. โดยประมาณ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เริ่มสอบปากคำสิทธิโชค โดยมี พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เดินทางมาร่วมสอบปากคำด้วย

หลังการสอบปากคำ ซึ่งสิทธิโชคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา  พนักงานสอบสวนได้ขอยึดโทรศัพท์มือถือของสิทธิโชคไว้เป็นของกลาง แม้ไม่ได้แสดงคำสั่งศาลในการขอเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 ทั้งยังไม่ใช่เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจแสดงหมายขอเข้าถึงข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

สำหรับพฤติการณ์คดี คำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 เวลาประมาณ 14.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า “เยาวชนปลดแอก” มาชุมนุมที่บริเวณหัวถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ และได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน และเผาหุ่นที่มีลักษณะคล้ายศพ 

ต่อมา เวลา 16.40 น. มีชายรูปร่างท้วม สวมเสื้อคลุมสีดํา สวมกางเกงขาสั้นสีดํา สวมหน้ากากอนามัยสีแดงปิดปากและจมูก โดยมีหน้ากากอนามัยสีฟ้าปิดอยู่ที่บริเวณหน้าผาก กําลังใช้ขวดพลาสติกทึบบรรจุ ของเหลวลักษณะคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงพ่นใส่ที่กองเพลิงซึ่งลุกไหม้อยู่ที่บริเวณผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี บริเวณเกาะกลางถนน ถนนราชดําเนินนอก จนทําให้กองเพลิงดังกล่าวลุกไหม้เพิ่มขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน สามารถฉีดน้ำควบคุมเพลิงไว้ได้ เพลิงจึงไม่ลุกลามไหม้ไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบทางสังคมออนไลน์ พบภาพและคลิปวิดิโอจากเหตุการณ์ดังกล่าวโพสต์เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 ในบัญชึเฟซบุ๊กชื่อ “Kanok Ratwongsakul” โดยพบอีกว่า ชายลักษณะท้วม สวมเสื้อคลุมสีดำพร้อมลายปักสีขาวเป็นสัญลักษณ์ตัว “H” และข้อความว่า “LINEMAN” ได้ขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ทราบทะเบียน หลบหนีไปหลังใช้ขวดพลาสติกบีบของเหลวคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงใส่กองเพลิง โดยบริเวณด้านท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว มีกล่องใส่อาหารสีชมพูของฟู้ดแพนด้า ( foodpanda) 

พนักงานสอบสวนระบุว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชายคนดังกล่าวมีเจตนาที่จะเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนไม่ได้ฉีดน้ำดับเพลิง เพลิงอาจลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวได้ 

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาสิทธิโชครวม 4 ข้อหา ได้แก่ 

  1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ”
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” 
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์”
  4. ฝ่าฝืนข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548  

สิทธิโชคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสิทธิโชคในชั้นสอบสวน ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยระบุถึงเหตุผลของการฝากขังว่า เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 10 ปาก รอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา 

พร้อมกันนี้ พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน อ้างเหตุว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูง อาจหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดี อีกทั้งผู้ต้องหามีพฤติกรรมต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และกลุ่มผู้ต้องหาที่มาชุมนุมได้ใช้สีสเปรย์พ่นสี, ข้อความอันมิบังควร และสัญลักษณ์ที่ไม่สามารถจะรับได้ ที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินี ทั้งยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนว่า “กษัตริย์ออกไป” 

พนักงานสอบสวนระบุอีกว่า พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ และยังพบว่าผู้ต้องหาได้ไปร่วมชุมนุมหลายครั้ง และมีพฤติกรรมอันมิบังควรหลายครั้ง ถ้าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก 

ด้านทนายความได้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท เป็นหลักประกัน พร้อมยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า พฤติการณ์ที่กล่าวหานั้นเป็นข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิสูจน์โดยศาล และผู้ต้องหาพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลต่อไป ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน เมื่อถูกจับกุมยังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งผู้ต้องหายังคงเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด จึงต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และรัฐธรรมนูญของไทย

เวลา 17.00 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งอนุญาตฝากขังสิทธิโชค แต่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท เป็นหลักประกัน โดยระบุเหตุผลว่า ไต่สวนแล้ว พนักงานสอบสวนไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนข้อคัดค้านที่ว่า ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้าย หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทำให้สิทธิโชคได้รับการปล่อยตัวที่ สน.นางเลิ้ง แล้วเมื่อช่วงเย็น 

ด้านแฟนสาวของสิทธิโชคได้เปิดเผยกับสำนักข่าวราษฎรว่า ในวันดังกล่าว สิทธิโชคและตนเดินทางไปส่งอาหารในที่ชุมนุมเท่านั้น เมื่อขับรถผ่านสถานที่ชุมนุม พบเห็นไฟที่กำลังลุกติดผ้า จึงนำน้ำไปดับไฟเท่านั้น 

ทั้งนี้ เมื่อค่ำของวันที่ 18 ก.ค. 64 ยังมีกระแสจากโลกอินเทอร์เน็ต ให้แบนแอปพลิเคชั่นฟู้ดแพนด้า หลังทวิตเตอร์ของบริษัทได้ตอบกลับทวิตที่เผยแพร่รูปภาพของชายบุคคลหนึ่ง ซึ่งสวมเสื้อไลน์แมน และมีกระเป๋าฟู้ดแพนด้าอยู่ด้านหลังจักรยานยนต์ จอดรถจักรยานยนต์อยู่ที่บริเวณที่ชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ด้วยข้อความว่า “ทางบริษัทจะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาดของบริษัท โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที ขอเรียนให้ทราบว่าทางฟู้ดแพนด้ามีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่”

ข้อความดังกล่าวสร้างความไม่พอใจกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้ใช้บัญชีฟู้ดแพนด้าทยอยยกเลิกบัญชีผู้ใช้ รวมไปถึงร้านค้าพันธมิตรที่ยกเลิกการใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้เช่นกัน ก่อนที่ทางบริษัทจะออกแถลงการณ์ขอโทษ และยืนยันสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก

การจับกุมครั้งนี้นับเป็นการจับกุมคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นหลังเวลาเคอร์ฟิว หลังรัฐบาลประกาศข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 กำหนดเวลาออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้านหลังเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64 ในขณะที่ทนายความไม่สามารถที่จะเดินทางไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุมในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ถูกจับกุมไม่ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ตามสิทธิของผู้ถูกจับ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่การกลับมาใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เมื่อปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน (20 ก.ค. 64) พบมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหานี้แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 111 ราย ใน 108 คดี

X