“ความเป็นธรรมหาได้จากที่ไหน”: ‘บัง’ นศ.ผู้ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เหตุเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เผยไม่ได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564  “บัง” (สงวนชื่อสกุลจริง) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช วัย 22 ปี ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มโมกหลวงริมน้ำและกลุ่มทะลุฟ้า ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ที่ สน.นางเลิ้ง โดยได้ถูกกล่าวหาจากกรณีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564  เจ้าตัวเผยหลังรับทราบข้อกล่าวหาว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว ทั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานชัดเจน จึงพร้อมจะต่อสู้คดีต่อไป และรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากการถูกกล่าวหานี้

บังระบุว่าตนได้รับหมายเรียกจาก สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการนำมาส่งที่บ้านในวันนั้นเลย คดีมี พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี เป็นผู้กล่าวหา หมายระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เพียงวันเดียวหลังออกหมาย โดยไม่ให้เวลาเตรียมตัวใดๆ

“ตอนได้หมายก็รู้สึกตกใจมาก เพราะเป็นข้อหา 112 เลย เป็นคดีการเมืองแรกในชีวิต ก็กลายเป็น 112 เลย วันนั้นมีตำรวจ 4 นาย มาส่งหมายให้แม่ที่บ้าน แม่ได้รับหมายก็ตกใจ ตำรวจให้แม่ผมดูรูปถ่าย แล้วก็พยายามให้ยืนยันว่าผมคือคนในรูป โดยมีรูปถ่ายปกติของตัวผม กับรูปจากกล้องวงปิดที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร”

ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม  บัง พร้อมทนายความ ได้เดินทางไปพบ พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ซึ่งเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาในคดี โดยได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 10

.

าพกิจกรรมช่วงสุดท้ายของคาร์ม็อบ19กันยา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ภาพจากมติชนออนไลน์)

.

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมคาร์ม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังแยกนางเลิ้ง ซึ่งเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการขว้างปาสิ่งของ ประทัด ยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน บริเวณแนวสะพานชมัยมรุเชษฐฯ

ผู้กล่าวหาอ้างว่า ระหว่างนั้นได้พบ “บัง” ซึ่งได้ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดที่แยกนางเลิ้ง ต่อมาเวลาประมาณ 19.14 น. ได้มีชายคนหนึ่งใช้วัตถุขว้างขึ้นไปบนสะพานลอยคนข้าม ไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ “บัง” หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ

ผู้กล่าวหาอ้างว่าการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งที่คนไทยเคารพเทิดทูนเสมอกับพระองค์จริง พิจารณาได้จากตำแหน่งที่ประดิษฐาน เราจะไม่ตั้ง วาง ติด หรือแขวนพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ไว้ในที่อันไม่สมควร และจะไม่ข้ามกรายพระบรมฉายาลักษณ์ฯ อันเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพ ความสำคัญของพระบรมฉายาลักษณ์ฯ คือเป็นสื่อให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีที่ก่อสร้างชาติไทยสืบมาแต่บรรพกาล เป็นเหตุให้ลูกหลานไทยมีแผ่นดินถิ่นเกิดถิ่นอาศัยในโลกอยู่ทุกวันนี้ การระลึกถึงคุณของผู้มีพระคุณเป็นคุณธรรมสำคัญของความเป็นมนุษย์ เป็นการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชีวิตของคนไทยมาแต่โบราณกาล

พฤติการณ์ข้อกล่าวหามีเพียงในลักษณะดังกล่าว บังจึงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป โดยพนักงานสอบสวนได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงบันทึกประจำวันไว้ และให้ปล่อยตัวไป โดยนัดหมายให้มารายงานอีกครั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564

หลังรับทราบข้อกล่าวหา บังเปิดเผยว่าตนยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แม้ตนจะเข้าร่วมการชุมนุมวันดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้ไปก่อเหตุร่วมเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติแต่อย่างใด เพื่อนๆ ตนจะทราบดีว่าที่ผ่านมา ตนระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยง การถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าความไม่เป็นธรรมกำลังมาเยือนเราแล้ว ตนเข้าใจว่าพยานหลักฐานที่ตำรวจมีเป็นเพียงรูปจากกล้องวงจรปิดที่ไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน บังยังเปิดเผยว่าหนึ่งวันหลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมถึง 10 นาย เดินทางไปพบแม่ที่บ้าน ทั้งที่ตนก็ไปรับทราบข้อหามาแล้ว ทราบว่าเป็นตำรวจจาก สน.นางเลิ้ง ได้เข้าพูดคุยกับแม่ในลักษณะกดดัน ว่าไม่อยากให้ลูกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ไม่ไปเกี่ยวกับการจัดม็อบอีก ทั้งยังกล่าวหาในลักษณะว่า “น้องโดนล้างสมองอะไรมาหรือเปล่า” และ “มีใครเขาให้ข้าวให้น้ำกินหรือเปล่า” ด้วย ทำให้แม่เกิดความกังวลต่อการถูกดำเนินคดีที่เกิดขึ้น

การถูกดำเนินคดียังก่อให้เกิดผลกระทบ โดยแม้ทางครอบครัวของบังจะเข้าใจ แต่ญาติที่เป็นข้าราชการ กลัวจะมีผลกระทบเกิดขึ้น จึงขอให้บังย้ายออกจากทะเบียนบ้านที่เคยอยู่ ส่วนทางมหาวิทยาลัย ก็มีอาจารย์มาถามไถ่ถึงคดีที่เกิดขึ้น บังก็พยายามชี้แจงว่าตนไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหา นอกจากนั้นยังกังวลต่อเรื่องการเรียน ที่กำลังใกล้จะจบการศึกษาแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่

“ก่อนหน้านี้เราระมัดระวังเรื่อง 112 อยู่แล้ว และคิดว่าไม่ควรมีใครโดนกล่าวหาด้วยข้อหานี้ แต่กลับเป็นผมเองที่โดน ก็ตื่นเต้น ตอนต้องปั๊มลายนิ้วมือเป็นครั้งแรกในชีวิต พอได้สัมผัสมันเอง ก็ทำให้ผมเกิดคำถามว่า ที่ผ่านมาทำไมเราถึงถูกทำให้กลัว โทษของมัน หรือความร้ายแรงของมัน ทำให้เกิดความรู้สึกแบบพอโดนแล้ว มันต้องใช้ชีวิตต่อไปยังไง จะเสียอิสรภาพไปหรือไม่ เราคาดเดาอะไรจากคดีแบบนี้ไม่ได้เลย แล้วความเป็นธรรมมันจะหาได้จากที่ไหน แต่พอคิดว่าเราไม่ได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา ก็คงต้องต่อสู้ไปให้ถึงที่สุด จนกว่าความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น และบ้านเมืองจะมีประชาธิปไตย” บังกล่าว

ดูตาราง สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X