หลังจากเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักการสากล
จากนั้นก็ปรากฏรายงานข่าวว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา
ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีต่างๆ ได้เริ่มทยอยออกหมายเรียกนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมทางการเมืองมารับทราบข้อหานี้ กระทั่งแกนนำคณะราษฎร 5 ราย ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติมอย่างเป็นทางการที่สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 63 เนื่องจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เท่ากับการบังคับใช้ข้อกล่าวหานี้กำลังหวนคืนมาอย่างเป็นทางการ
การกลับมาบังคับใช้ข้อหามาตรา 112 ให้เป็นไปตาม “กระบวนการยุติธรรม” นั้น สอดคล้องกับ “หลักการสากล” จริงหรือไม่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนตอบคำถามนี้ โดยการย้อนทบทวนความเห็นของคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ และเคยมีการเสนอแนะให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งการบังคับใช้และตัวเนื้อหาของมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข กระทั่งสถานการณ์การบังคับใช้กำลังหวนกลับมาอีกครั้ง
.
เมื่อกษัตริย์เองไม่ต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์ ย่อมเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก้ไข-ยกเลิกม.112
วันที่ 10 มิถุนายน 2554 แฟรงค์ ลา รู ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก และมากาเร็ต เซกักเย ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้มีความเห็นถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ความว่า
เราขอย้ำข้อกังวลที่มีต่อบทลงโทษด้วยการจำคุกไม่เกิน 15 ปี จากการละเมิดกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งถือว่าไม่ได้สัดส่วนเหมาะสม ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก ได้กระตุ้นหลายครั้งแล้วให้รัฐต่างๆ ลดการเอาผิดทางอาญากับการหมิ่นประมาท
นอกจากนั้น เรายังเน้นย้ำว่าในบริบทของการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับบุคคลสาธารณะที่อยู่ในแวดวงการเมือง ย่อมมีการให้ความสำคัญอย่างสูงกับคุณค่าตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่คุ้มครองการแสดงออกโดยไม่จำกัดบุคคลสาธารณะทั้งปวง รวมทั้งผู้ซึ่งใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างประมุขของรัฐและของรัฐบาล ย่อมควรตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ และการต่อต้านทางการเมืองได้อย่างชอบธรรม
ในจดหมายลงวันที่ 30 เมษายน 2552 รัฐบาลของไทยระบุว่า “’องค์พระมหากษัตริย์เองก็ไม่ต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์’ ดังที่ได้มีพระราชดำรัสต่อคนทั้งประเทศ โดยพระองค์แสดงความไม่พอใจกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทำความผิดไม่ได้”
ในความเห็นของเรา ในเมื่อองค์พระมหากษัตริย์เองไม่ต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์ ย่อมถือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับข้อเสนอให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ เนื่องจากดูเหมือนจะมีประโยชน์อย่างจำกัด ตามข้อกังวลที่เราได้แสดงข้างต้น เราจึงขอย้ำถึงข้อเสนอของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก ให้ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อบทที่เป็นปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์
กฎหมายไม่ควรมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม เพียงเพราะอัตลักษณ์ของผู้ที่อาจถูกละเมิด
วันที่ 12 กันยายน 2554 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้ออกความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 วางหลักการเกี่ยวกับเนื้อหาคำอภิปรายหรือสุนทรพจน์ทางการเมืองไว้ว่า ในกรณีมีการอภิปรายสาธารณะของบุคคลที่ทำงานการเมืองและที่อยู่ในสถาบันรัฐ เป็นการแสดงออกที่ได้รับการให้คุ้มครองไว้ค่อนข้างสูงที่จะไม่ถูกปิดกั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงเพียงแค่ว่าเป็นแสดงออกรูปแบบที่ดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ จึงไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นเหตุในการลงโทษการแสดงความคิดเห็นนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลสาธารณะทุกคนรวมทั้งผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง เช่น ประมุขแห่งรัฐ และรัฐบาล ย่อมสามารถถูกวิพากษ์และคัดค้านทางการเมืองได้ เช่นเดียวกับการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของบุคคลสาธารณะต่อบุคคลสาธารณะก็จะได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองนี้
ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จึงห่วงกังวลกับกฎหมายที่เกี่ยวกับจำกัดการแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ กฎหมายหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นเจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรหรือสถาบันอำนาจรัฐ (desacato) การไม่เคารพรัฐ การไม่เคารพธงชาติและสัญลักษณ์ การทำให้ผู้นำรัฐเสื่อมเสียชื่อเสียง และการปกป้องเกียรติยศของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น กฎหมายไม่ควรมีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าเดิมเพียงเพราะอัตลักษณ์ (identity) ของบุคคลที่อาจถูกละเมิด และรัฐภาคีไม่ควรห้ามการวิพากษ์สถาบัน เช่น กองทัพหรือฝ่ายบริหาร
———————–
ที่มา: General Comment 34: Article 19 Freedom of Opinion and Expression ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 ประกอบเรื่องเสรีภาพทางความคิดและการแสดงความคิดเห็น https://www2.ohchr.org/english/bodies/hrc/docs/gc34.pdf
มาตรา 112 มีเนื้อหาคลุมเครือ กว้างเกินไป โทษรุนแรง ไม่ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองพระมหากษัตริย์
วันที่ 10 ตุลาคม 2554 แฟรงค์ ลา รู ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการสมาคม กระตุ้นรัฐบาลไทยให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
“ข้าพเจ้ากระตุ้นประเทศไทย ให้จัดการปรึกษาหารือในวงกว้างเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศ” ผู้ชำนาญการกล่าว “การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจและการพิจารณาของศาล แสดงให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเหล่านี้”
“ความน่ากลัวของโทษจำคุกเป็นเวลานาน และความคลุมเครือเกี่ยวกับเนื้อหาการแสดงออก ที่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กระตุ้นให้บุคคลเซ็นเซอร์ตนเอง และเป็นอุปสรรคต่อการอภิปรายที่สำคัญในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งย่อมส่งผลร้ายต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก ที่เลวร้ายไปกว่านั้น กฎหมายนี้ยังเปิดช่องให้บุคคลใดก็ตามสามารถแจ้งความได้ และการพิจารณาคดีมักปิดลับจากสาธารณะ”
ลา รู ยอมรับว่า ในการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก ย่อมส่งผลให้เกิดหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษของบุคคล ด้วยเหตุดังกล่าว ในบางพฤติการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น จึงอาจมีการจำกัดสิทธินั้นได้ รวมทั้งกรณีเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลและเพื่อคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ
อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันการนำข้อยกเว้นไปใช้อย่างมิชอบ เพื่อประโยชน์นอกเหนือจากเป้าหมายที่กำหนด กฎหมายใดๆ ที่จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก ต้องมีเนื้อหาชัดเจนและไม่คลุมเครือในแง่ที่ว่าการแสดงออกแบบใดเป็นเรื่องต้องห้าม และต้องผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นข้อบทที่มีความจำเป็นและได้สัดส่วนกับเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้
“ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ของไทย ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือและกว้างเกินไป รวมทั้งกำหนดโทษอาญาที่รุนแรง ซึ่งทั้งไม่มีความจำเป็นหรือไม่ได้สัดส่วน ในการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์หรือความมั่นคงของรัฐ”
———————–
ที่มา: https://newsarchive.ohchr.org/en/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx
คณะทำงาน/ผู้เชี่ยวชาญพิเศษฯ UN หลายคณะ ย้ำม.112 ไม่สอดคล้องกับกติกาสิทธิมนุษยชน
หลังการรัฐประหาร 2557 ท่ามกลางการจับกุมดำเนินคดีประชาชนด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 รัฐบาลไทยเคยอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งยืนยันความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยระบุว่าข้อบทดังกล่าว “มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของรัฐ”
คณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญพิเศษฯ ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายคณะ ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความไม่เห็นด้วยกับการตีความเช่นนี้ และย้ำข้อกังวลว่ามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ตามที่รับรองไว้ในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีนับแต่ปี 2539 และคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษฯ ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดี การควบคุมตัว และการกำหนดโทษอย่างไม่ได้สัดส่วน รวมทั้งการกำหนดโทษจำคุกเป็นเวลานาน รวมทั้งเจตนาที่จะเพิกถอนหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นบทลงโทษตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ต่อการกระทำที่ดูเหมือนเป็นเพียงการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออกโดยชอบธรรม และมีความกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่สร้างความหวาดกลัวจากข้อกฎหมายเหล่านี้ และจากกฎหมายหมิ่นประมาทโดยทั่วไป ซึ่งจะมีผลต่อการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในประเทศไทย
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษฯ กังวลว่าอาจมีการใช้กฎหมายเหล่านี้เพื่อปราบปรามความเห็นต่างและการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลหรือองค์พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งศาลมักไม่ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมทั้งกรณีที่จำเลยเป็นผู้มีอาการทางจิตร้ายแรง และยังห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในสถานที่คุมขังที่อาจไม่เพียงพอ
———————–
ที่มา: เอกสารหนังสือถึงรัฐบาลไทย ส่งโดยคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการสมาคม ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิของบุคคลทุกคนในการเข้าถึงมาตรฐานสูงสุดที่เป็นได้ด้านสุขภาพกายและใจ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2557
การคุมขังอย่างกว้างขวาง/เป็นระบบ จากการใช้ม.112 อาจถึงขั้นเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
ภายหลังศาลทหารพิพากษาคดีมาตรา 112 กรณีของ “พงษ์ศักดิ์” อดีตมัคคุเทศก์ ผู้ถูกจับกุมในเดือนธ.ค. 2557 หลังการรัฐประหาร โดยลงโทษจำคุกถึง 60 ปี แต่ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ ซึ่งนับเป็นคดีมาตรา 112 ที่มีการลงโทษจำคุกสูงมาก โดยเขาไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เนื่องจากคดีเกิดขึ้นภายใต้กฎอัยการศึก
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ภายใต้กลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ความคิดเห็น ความคิดเห็นอันดับที่ 44/2016 รับรองเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2559 เห็นว่ากรณีนี้เป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ยังต้องได้รับการเคารพ แม้ในสภาวะฉุกเฉิน
คณะทำงานฯ ยังได้อ้างอิงถึงรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ว่าตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้คณะทำงานฯ ยังมีความเห็นโดยแสดงความกังวลถึงรูปแบบของการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของไทยทั้งหมด โดยระบุว่ากรณีของพงษ์ศักดิ์เป็นเพียงไม่หนึ่งในกรณีจำนวนมากที่มีการร้องเรียนมาที่คณะทำงานฯ ในไม่กี่ปีนี้ คณะทำงานฯ จึงเห็นว่าภายใต้บางสถานการณ์ การแพร่กระจายของการคุมขังอย่างกว้างขวางหรืออย่างเป็นระบบ หรือการลิดรอนอิสรภาพอื่นๆ ตามข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างรุนแรง อาจนับเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (crimes against humanity) ได้
คณะทำงานฯ ยังประเมินว่าท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมในฐานะวิธีการสื่อสาร การควบคุมตัวบุคคลที่ใช้สิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีแนวโน้มจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลไทยจะปรับกฎหมายมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
———————–
ดูเพิ่มเติมใน https://tlhr2014.com/?p=3587 และ https://tlhr2014.com/?p=5483
บทบัญญัติในลักษณะมาตรา 112 ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นายเดวิด เคย์ (David Kaye) อดีตผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรี ได้เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อระงับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยในช่วงดังกล่าวมีการจับกุมและดำเนินคดีต่อ “ไผ่” นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในข้อหานี้เป็นรายแรกนับตั้งแต่การเปลี่ยนรัชสมัย และเขายังถูกเพิกถอนสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว
“บุคคลสาธารณะรวมถึงผู้มีอำนาจการเมืองสูงสุด พึงถูกวิจารณ์ได้ และแม้ว่าการแสดงออกบางรูปแบบจะถือว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะก็ตาม แต่นั่นก็ไม่เพียงพออยู่ดี ที่จะนำไปสู่การจำกัดการแสดงออกหรือการลงโทษ” นายเคย์ กล่าว
“บทบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประมวลกฏหมายอาญาไทย ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” นายเคย์ กล่าว “นี่คือความกังวลที่ผมและผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับทางการไทยแล้วหลายครั้ง”
“บทบัญญัติว่าด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่มีที่ทางในประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผมขอเรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนประมวลกฎหมายอาญาของตน และยกเลิกกฎหมายที่อนุญาตให้มีบทลงโทษทางอาญา”
———————–
ที่มา: https://www.facebook.com/OHCHRAsia/photos/a.657330534369993/915273288575715/
บุคคลสาธารณะ รวมถึงประมุขแห่งรัฐ ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่จำต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มีความเห็นฉบับที่ 4/2019 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ต่อกรณีการคุมขัง “สิรภพ” ผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในช่วง คสช. โดยเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ
“รูปแบบในการแสดงออกในลักษณะที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ยังไม่เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมมากเพียงพอให้ต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญา บุคคลสาธารณะทุกคน ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุด เช่น ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่จำต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ และการมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หลักกฎหมายไม่ควรบัญญัติให้มีการลงโทษที่สาหัสขึ้น เพียงเพราะสถานะหรือตัวตนของบุคคลซึ่งไม่อาจกล่าวหาได้
“กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มีความคลุมเครือและกว้างขวางอย่างมาก โดยมาตรา 112 ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการแสดงออกแบบใดถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และยังให้ดุลยพินิจทั้งหมดแก่เจ้าหน้าที่ในการตัดสินว่าเกิดการกระทำผิดขึ้น ในลักษณะคล้ายกันกับมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไขใน พ.ศ. 2560) ล้วนขัดกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องร่างกฎหมายด้วยความละเอียดชัดเจนเพียงพอให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจกฎหมายได้ จึงร้องขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกหรือทบทวนให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ”
———————–
ดูเพิ่มเติมใน https://tlhr2014.com/?p=12695
อ่านเพิ่มเติมสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 ในช่วงก่อนหน้านี้
การใช้ ม.112 ลดน้อยลงหรือดำรงอยู่ในรูปแบบอื่น
เปิดฐานข้อมูลคดี 112 ที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทาง กม.