เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 องค์การสหประชาชาติเผยแพร่เอกสาร 2 ฉบับสู่สาธารณะ คือ จดหมายของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม และคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการถึงรัฐบาลไทย (AL THA 2/2023) ลงวันที่ 5 พ.ค. 2566 และจดหมายตอบรับจากรัฐบาลไทย ลงวันที่ 9 พ.ค. 2566 เผยความกังวลถึงการควบคุมตัวเยาวชนหญิงที่ถูกดำเนินคดีอาญาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ม. 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกฎหมายหมิ่นประมาทกษัติริย์นี้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเป็นจำนวนมากโดยองค์การและกลไกระหว่างประเทศหลายปีผ่านมา
จากกรณีเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2566 “หยก” นักกิจกรรมเยาวชน วัย 15 ปี อนุญาตให้ ยื่นคำร้องเร่งด่วน (An urgent appeal) ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention; UN WGAD) ในรายงานระบุว่าเธอถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 ในขณะอายุ 14 ปี โดยมีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา และในขณะนั้น หยกได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 หยกจึงได้รับการปล่อยตัวออกจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี หลังศาลเยาวชนเเละครอบครัวกลางยกคำร้องขอผัดฟ้องและควบคุมตัวหยกของพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ รวมระยะเวลาที่หยกถูกคุมขังนานถึง 51 วัน
.
ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติระบุขอให้รัฐไทยชี้แจงข้อมูลในคดีอาญาของหยก-หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน-ทบทวน ม.112
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2566 หลังจาก UN WGAD ได้รับข้อมูลจากการยื่นคำร้องเร่งด่วนเกี่ยวกับหยก Irene Khan ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression), Matthew Gillett รองประธานคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Vice-Chair on Communications of the Working Group on Arbitrary Detention) และ Clement Nyaletsossi Voule ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association) ได้มีหนังสือข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของหยก
ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติทั้ง 3 คน ได้แสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อหยก โดยระบุว่า ไม่มีบุคคลใดควรถูกดำเนินคดีทางอาญาจากการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ หรือการแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยหากข้อกล่าวหาตามคำร้องเร่งด่วนได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง การดำเนินการของรัฐนับว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะข้อ 19 (สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก) และข้อ 21 (สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539
หนังสือข้อเสนอแนะดังกล่าวยังอ้างถึงความเห็นทั่วไปที่ 34 (CCPR/C/GC/34) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งระบุว่า กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปและกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ควรได้รับการบัญญัติขึ้นด้วยความระมัดระวัง เพื่อความสอดคล้องกับ ICCPR ข้อ 19 (3) และประกันว่า กฎหมายเหล่านี้จะไม่ถูกใช้เพื่อลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกในทางปฏิบัติ
ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันอีกครั้งถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และแนะนำให้รัฐบาลไทยทบทวนมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสมาชิกราชวงศ์ในที่สาธารณะ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 19 ของ ICCPR (อ้างอิง CCPR/C/THA/CO/2, ย่อหน้า 18)
นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาในคำร้องเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการสืบสวนสอบสวนหยก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 อีกด้วย
สุดท้าย ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติได้ขอให้รัฐบาลไทยตอบรับหนังสือข้อเสนอแนะฉบับนี้ภายใน 60 วัน โดยต้องชี้แจงข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
- โปรดชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม และ/หรือข้อคิดเห็นที่อาจมีเกี่ยวกับข้อกล่าวหาข้างต้น
- โปรดชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับคดีอาญาต่อหยก และอธิบายว่าการดำเนินคดีดังกล่าว สอดคล้องกับข้อ 9, 14, 19 และ 21 ของ ICCPR อย่างไร หากไม่มีฐานทางกฎหมายดังกล่าว ขอให้โปรดชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับวันที่จะปล่อยตัวเธอ
- โปรดอธิบายว่ารัฐไทยมีมาตรการอย่างไรบ้าง เพื่อปฏิบัติตามข้อเสนอแนะโดยกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อนึ่ง ทั้งสองกลไกได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงให้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนที่ได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงให้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
ระหว่างรอการตอบรับ ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติได้ร้องขอให้รัฐไทยใช้มาตรการชั่วคราวอันจำเป็นในรูปแบบใดก็ตาม เพื่อหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่มีการกล่าวหาขึ้น และป้องกันไม่ให้การละเมิดนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต และหากการสืบสวนพบว่ามีหลักฐานสนับสนุนหรือพบข้อมูลซึ่งบ่งชี้ว่าข้อกล่าวหาในคำร้องเร่งด่วนเป็นเรื่องจริง ขอให้มีการรับประกันว่าบุคคลใดที่รับผิดชอบจะต้องได้รับผิดจากการละเมิดนี้
ในตอนท้ายของหนังสือข้อเสนอแนะได้แนบภาคผนวกสำหรับการอ้างอิงหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งอ้างอิงถึงกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา เพื่อให้ศึกษาเอกสารเหล่านั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวา ได้มีจดหมายตอบรับ ระบุว่า ได้รับหนังสือข้อเสนอแนะฉบับนี้แล้ว และจะส่งต่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา โดยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรณีจะถูกส่งถึงคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN WGAD) ในเวลาที่เหมาะสม
______________________________
หนังสือข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม (ฉบับแปลไทย)
ย้อนอ่านข้อมูลกรณีของหยก:
ลำดับเหตุการณ์คดีของ “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี ม.112
เอกสารที่เกี่ยวข้อง:
Mandates of the Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression; the Working Group on Arbitrary Detention and the Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association (ฉบับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่)
จดหมายตอบรับจากรัฐบาลไทย (ฉบับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่)