จับตาหลังตั้งรัฐบาล ฟัง 4 พรรคการเมืองร่วมเสนอนโยบายในเวทียุติการดำเนินคดีทางการเมือง

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 เวลา 17.30 – 20.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดเวทีเสนอนโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยมีทั้งประชาชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว ตัวแทนจากสถานทูต ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และตัวแทนพรรคการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคสามัญชน พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคเสรีรวมไทย มาร่วมงานเพื่อนำเสนอนโยบายก่อนการเลือกตั้งปี 2566

.

ช่วงที่ 1: สรุปสถานการณ์ “คดีการเมืองจัดการอย่างไร: เวทีเสนอนโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมือง”

พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้นำเสนอข้อมูลสถิติผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพในระหว่างวันที่ 22 พ.ค. 2557 ถึง 16 ก.ค. 2562 หรือห้วงเวลา 5 ปี ที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาส่วนมากขึ้นสู่ศาลทหารซึ่งมีข้อน่ากังขาในความเชี่ยวชาญ ความเป็นอิสระ และความเป็นกลาง และสถิติคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 18 เม.ย. 2566 

พูนสุขได้นำเสนอข้อเสนอแนะในการแก้ไขและยุติการดำเนินคดีทางการเมืองของศูนย์ทนายฯ ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

1. ให้ตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อยุติการดำเนินคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารและ การดำเนินคดีทางการเมืองหรือคดีที่มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  – ปัจจุบัน

1.1 ให้สภาผู้แทนราษฎรกำหนดกรอบโดยกว้างของเกณฑ์การพิจารณาคดีทางการเมืองและคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และให้คัดเลือกกรรมการพิจารณาคดีการเมือง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย องค์กรในกระบวนการยุติธรรม นักวิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์ประกอบมีความหลากหลายและสมดุลทางเพศ โดยคณะกรรมการพิจารณาคดีการเมืองต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากอคติ

คดีการเมือง คือ คดีสามารถระบุฐานความผิด หรือ เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุได้ เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับประกาศและคำสั่งของ คสช. คดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร คดีมาตรา 112 เป็นต้น

คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คือ คดีที่อาจไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่ระบุว่าเป็นคดีการเมืองหรือเกิดเหตุการณ์ในวันที่ระบุไว้ แต่สามารถพิสูจน์แรงจูงใจในการดำเนินการได้ว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

1.2  ในกรณีเกิดข้อโต้แย้งว่าคดีใดเป็นคดีการเมืองหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้คณะกรรมการพิจารณาคดีการเมือง มีอำนาจในการพิจารณาว่า คดีใดเป็นคดีทางการเมือง และคดีใดเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

1.3 ให้รัฐสภาตรากฎหมายรับรองการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 – ปัจจุบัน ไม่ให้ถือว่าคดีดังกล่าวมีความผิดอีกต่อไป หรือให้คดีเหล่านั้นสิ้นสุดไป

1.4 ให้รัฐสภาตรากฎหมายรับรองให้ คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารแต่ไม่ได้เป็นคดีการเมือง หรือคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง สามารถขอพิจารณาคดีใหม่ในศาลยุติธรรม หรือสามารถขอใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาสำหรับคดีที่เกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกได้

2. ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง

เพื่อสร้างกลไกในการค้นหาความจริงต่างๆ และทำความจริงให้ปรากฏที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีจำเลยที่เป็นพลเรือนภายหลังรัฐประหาร และการใช้อำนาจรัฐคุกคามประชาชน รัฐสภาสมควรตรากฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบรูปแบบการใช้อำนาจ และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายหลังการรัฐประหาร

ภารกิจหลักควรมุ่งค้นหาข้อมูลและข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง และมีอำนาจในการเก็บรักษาพยานหลักฐาน นำมาสู่เปิดเผยข้อค้นพบหลังจากการค้นหาความจริงต่อสาธารณะ โดยทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเอกสาร หรือหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญอย่างเป็นทางการ (Official Archives) เพื่อทำความจริงดังกล่าวเป็นฐานในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป 

3. รัฐควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน

เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาสมควรออกแถลงการณ์ขอโทษกับเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับข้อเท็จจริง ที่ได้ร่วมกันค้นหาและผลกระทบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสดงการรับรองว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ (Guarantees of non-repetition) โดยรัฐบาลสมควรต้องพิจารณาถึงการเยียวยา ในระดับสังคม อาทิ ด้านการศึกษาโดยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวให้ประชาชนทราบ, สร้างกลไกป้องกันและติดตามความขัดแย้งทางสังคมและการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นต้น 

.

ช่วงที่ 2 : แลกเปลี่ยนและให้ความเห็นต่อนโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมืองจากนักวิชาการและนักกิจกรรม

เวลา 18.25 น. เข้าสู่กิจกรรมแลกเปลี่ยนและให้ความเห็นจากนักวิชาการและนักกิจกรรมทั้ง 3 ท่าน ได้แก่  จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทางการเมือง, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมทางการเมือง และ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำถาม 1 ความเห็นต่อข้อเสนอนโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมืองของศูนย์ทนายฯ

ประเด็นเรื่องขอบเขตของคดีทางการเมืองที่ควรได้รับการยุติการดำเนินคดี

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอ เพราะเมื่อคดีทางการเมืองเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก คดีในการพิจารณาของศาลเดิมทีก็มีเยอะอยู่แล้ว มาบวกกับคดีทางการเมืองอีก และในการสืบพยานเอง ทั้งเหตุผลและวิธีคิดในคำฟ้องก็เป็นเรื่องที่ตลกมาก ทำให้กระบวนการยุติธรรมเองก็เสียหายทั้งตำรวจ อัยการ และศาล

จตุภัทร์ยืนยันว่า คดีทั้งหมดที่เกิดจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและเคลื่อนไหวต้องเคารพหลักการว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนพึงมี ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร อยากให้พรรคการเมืองทุกฝ่ายเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการเมืองในรอบต่อไป คือ การนิรโทษกรรม เรื่องกรอบเวลาก็ถกกันไป แต่สาระสำคัญคือต้องมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย 

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ระบุว่า มีความเห็นที่เหมือนกันและต่างกันกับศูนย์ทนายฯ อย่างแรกที่เห็นเหมือนกันคือการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง เห็นได้ชัดว่าคดีทางการเมืองของหลายคนเป็นเรื่องที่ไม่สมควรโดนแต่แรก คดีทางการเมืองที่เห็นได้ชัด เช่น คดีมาตรา 112 หรือคดีจากการไปชุมนุมต่างๆ เช่น ป้าอัญชันที่โดนคดี 112 และยังคงอยู่ในเรือนจำ, คุณวรรณภาซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและโดนคดีอั้งยี่-ซ่องโจรจากการที่ไปแจกเสื้อยืดที่มีโลโก้สหพันธรัฐไท และยังคงอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว หากไม่มีการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง คนเหล่านี้ที่อยู่ในเรือนจำก็ยังคงต้องอยู่ในเรือนจำต่อไป 

อีกส่วนที่เห็นด้วยกับศูนย์ทนายฯ คือ คดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง เพราะคนส่วนใหญ่จะมองคดีบางอย่างแตกต่างกัน เช่น คดีทะลุแก๊ส หรือคดีระเบิดต่างๆ บางคนอาจมองว่าคดีนี้เป็นคดีทางการเมือง แต่บางคนอาจมองว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีทางการเมือง ทั้งๆ ที่เขาก็มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่จะออกมาเรียกร้อง สิ่งที่เขาเจอ คือ โครงสร้างที่กดทับ และความเหลื่อมล้ำต่างๆ 

ทานตะวันกล่าวต่อไปว่า เขาออกมาเรียกร้องเหมือนเราแต่ทำไมจึงโดนคดีระเบิด เพราะการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ มันเป็นเรื่องปกติที่เราออกมามือเปล่า แต่โดนสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง แล้วจะให้กลับมาด้วยมือเปล่าอีกหรือ เธอมองว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนจะโกรธ และจะหยิบอะไรที่สามารถหยิบได้ขึ้นมาสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีรถฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง มีโล่ มีอาวุธ ในขณะที่เขาไม่มีอะไรเลย ดังนั้นสำหรับเธอแล้วคดีของทะลุแก๊สไม่ว่าจะเป็นคดีระเบิดหรืออื่นๆ ล้วนเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ระบุว่า ตัวเลขสถิติการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายฯ แสดงเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากๆ ส่วนในประเด็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของศูนย์ทนายนั้น โดยรวมๆ กว้างๆ เห็นด้วย แต่มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญที่ยังไม่ชัดเจน ดังนี้

ประเด็นแรก ข้อเสนอที่ 1.3 ในส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะรวมไปถึงคดีที่สิ้นสุดแล้ว ศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว แล้วคนเหล่านั้นอาจจะออกมาจากเรือนจำแล้วก็ได้ หรือคนที่รอลงอาญา คนเหล่านี้จะถูกล้างความผิดหรือนิรโทษกรรมหรือไม่ หรือเอาเฉพาะคนที่คดียังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่โทษจำคุกสั้น ส่วนตัวของ รศ.ดร.พวงทอง เห็นว่าสมควรจะล้างความผิดของคนเหล่านี้ทั้งหมด เนื่องจากมันกระทบกับชีวิตของพวกเขามากทั้งปัจจุบันรวมถึงอนาคตระยะยาว

ประเด็นที่สอง เห็นว่าควรต้องมีการอธิบายให้ชัดเจนว่าทำไมจึงสนับสนุนให้ลบล้างความผิดของคนเหล่านี้ ต้องแยกให้ออกระหว่างการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลกับการให้นิรโทษกรรมหรือยุติการดำเนินคดีทางการเมือง เพราะหากมองจุดยืนของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามทางการเมือง เขาก็จะบอกว่าการนิรโทษกรรมคนเหล่านี้ต่างอะไรจากคณะรัฐประหารนิรโทษกรรมตัวเอง จึงต้องมีคำอธิบายให้ชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.พวงทอง ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธรุนแรง อาวุธปืน และระเบิดที่สามารถสร้างความเสียหายต่อชีวิตคนได้ หรือคดีเผาก็ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม แต่หากย้อนไปถึงเรื่องการนิรโทษกรรมคนเสื้อแดง ในรายงานวิจัยของเธอตอนนั้นระบุชัดเจนว่า เธอไม่เชื่อว่าคนเสื้อแดงเผา ในช่วงนั้นเธอจึงเรียกร้องว่าคดีเผาทั้งหมดต้องได้รับการนิรโทษกรรม 

เธอเห็นว่า ข้อเรียกร้องของศูนย์ทนายฯ จำกัดอยู่กับคดีความที่เห็นชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจ การตีความกฎหมายที่เกินเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อหามาตรา 112 และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะฉะนั้นเธอจึงพูดได้อย่างชัดเจนว่าเธอสนับสนุน เพราะกฎหมายที่มีอยู่นั้นละเมิดต่อหลักนิติรัฐ ไม่มีความยุติธรรม ผู้ที่ถูกตัดสินโดยคดีเหล่านี้จึงควรได้รับการลบล้างคดีออกจากประวัติ 

ประเด็นเรื่องกรอบเวลาของคดีทางการเมืองที่ควรได้รับการการยุติการดำเนินคดี

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กล่าวว่า ตนมีความเห็นที่แตกต่างกับศูนย์ทนายในเรื่องกรอบเวลา เนื่องจากได้รับรู้มาว่ายังมีคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2553 ยังคงอยู่ในเรือนจำ ทั้งๆ ที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นกัน จึงอยากให้ครอบคลุมไปถึงปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวว่า ควรล้างคดีไปถึงช่วงเวลาภายหลังปี 2553 ด้วย เพราะมีคนเดือดร้อนจำนวนมาก เช่น คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเหมือนว่าจะไม่ร้ายแรง แต่สิ่งนี้จะประทับอยู่ในประวัติของพวกเขา เป็นตราบาปปิดกั้นหนทางในชีวิต

ประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ระบุว่า ตนเห็นด้วยกับการสืบหาความจริงว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง และดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่วนตัวเธอเองก็ถูกดำเนินคดีและถูกคุกคาม เงื่อนไขการประกันตัวก็ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ต้องอยู่ในบ้าน 24 ชั่วโมง ซึ่งหากเดินออกจากบ้านเกินระยะที่กำหนด กำไล EM จะเตือนไปที่ศูนย์ EM ในการออกจากบ้านแต่ละครั้งจึงต้องโทรไปแจ้งกับศูนย์ EM ก่อน จากนั้นต้องไปยื่นที่ศาลบอกศาลว่า จะไปที่ไหน ทำอะไร เพราะอะไร และขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้หรือไม่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

คำถามที่ 2 นโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมืองมีความจำเป็นหรือเร่งด่วนอย่างไรบ้าง ที่ทำให้พรรคการเมืองควรหยิบไปเป็นหนึ่งในนโยบายและผลักดันให้มันเกิดขึ้นจริง

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ระบุว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญมาก ถ้าถามว่าเพื่ออะไร ก็เพื่อให้ มะ ณัฐชนน ได้ออกมาเจอหน้าลูก, เพื่อให้ ธี ถิรนัย ออกมาเรียนนิติศาสตร์, เพื่อให้ ป้าอัญชัญ ที่ไม่รู้ว่าต้องใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในเรือนจำตลอดไปหรือไม่, เพื่อให้วรรณภาออกมาเจอลูกชาย หรือเพื่อให้ หยก เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ตอนนี้ปฏิเสธอำนาจศาลอยู่ได้ออกมาใช้ชีวิต และเพื่อให้ประชาชนทุกคนที่ออกมาเรียกร้องแต่โดนเอากฎหมายมารังแก เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นมากที่จะต้องมีนโยบายการยุติดำเนินคดีหรือนิรโทษกรรม เพื่อจะช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้

เธอเห็นว่า ต้องไม่ใช่แค่พรรคการเมืองที่พูดถึง เสนอ หรือผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้เป็นจริงในสภา  แต่เป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่จะพูดถึงพวกเขาให้มากๆ เพื่อให้รับรู้ว่าพวกเราไม่ได้ลืมพวกเขา  ดังนั้นควรพูดถึงการเลือกตั้ง ผลักดันนโยบายให้เกิดการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ไปพร้อมๆ กับพูดถึงคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระบุว่า การยุติการดำเนินคดีทางการเมือง คือ การทำให้ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำให้กระบวนการยุติธรรมกลับมาปกติ ทำให้สังคมกลับมาเป็นปกติ

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์  ระบุว่า การนิรโทษกรรมหรือให้ยุติการดำเนินคดีต่างๆ โดยวิธีทางรัฐสภาเป็นวิธีทางที่สง่างามที่สุดสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีความเหล่านี้ ขอให้ผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นคนของประชาชน ได้รับการรับเลือกจากประชาชน จึงมีหน้าที่จะต้องสร้างนิติรัฐขึ้นมา 

.

ช่วงที่ 3 : พรรคการเมืองร่วมเสนอนโยบายในการจัดการความขัดแย้งและคดีทางการเมือง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ดำเนินรายการจาก iLaw ได้กล่าวสรุปเนื้อหาและข้อเสนอจากการแลกเปลี่ยนและให้ความเห็นเรื่องการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองในช่วงที่ 2 และกล่าวเปิดเวทีในช่วงที่ 3 อย่างเป็นทางการ โดยตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ได้แก่ ขัตติยา สวัสดิผล พรรคเพื่อไทย, ชัยธวัช ตุลาธน พรรคก้าวไกล, เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน, อรัญ พันธุมจินดา พรรคชาติพัฒนากล้า และ พล.ต.ท.จุตติ ธรรมมโนวานิช พรรคเสรีรวมไทย (ผู้สังเกตการณ์)

คำถามที่ 1 นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองในเรื่องการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง

ชัยธวัช ตุลาธน กล่าวว่า ข้อเสนอของศูนย์ทนายฯ ใกล้เคียงมากกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ก้าวไกลกำลังทำอยู่และเตรียมตัวจะเสนอต่อสภาในสมัยหน้า และมีหลายอันที่ลงรายละเอียดไว้ค่อนข้างดีซึ่งจะเอาไปปรับใช้ ปัจจุบันก้าวไกลก็มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก ต้องทบทวนการดำเนินคดีทางการเมืองในปัจจุบันเพื่อที่จะไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่ม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ แต่หมายถึงว่าจะดำเนินคดีอะไรก็ต้องได้สัดส่วนกับพฤติกรรมและข้อหา คดีทางการเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างพฤติกรรมกับข้อหา เช่น การทำโพลติดสติ๊กเกอร์แล้วโดนดำเนินคดีมาตรา 112

ประการที่สอง ยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งเห็นสอดคล้องกับ รศ.ดร.พวงทอง ว่าจะต้องแบ่งเป็น 2 ก้อน คือ ก้อนที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมหรือตัดสินไปแล้วแต่ยังถูกจำคุกอยู่ ต้องนิรโทษกรรมไม่ให้มีความผิดอีกต่อไปหรือให้คดีสิ้นสุดไป ส่วนในคดีอีกจำนวนมากหากนับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน คือ ก้อนที่คดีสิ้นสุดไปแล้ว, พ้นโทษไปแล้ว, ออกจากเรือนจำไปแล้ว, ถูกปรับไปแล้ว หรือรอลงอาญา ก็จำเป็นที่จะต้องล้างความผิดหรือล้างมลทินไปด้วย 

ขัตติยา สวัสดิผล ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยและพร้อมผลักดันข้อเสนอของศูนย์ทนายฯ เข้าไปสู่กลไกของรัฐสภา ใช้สภาผู้แทนราษฎรในการตรากฎหมาย หากก้าวไกลเสนอร่างนี้เข้าสู่สภา เพื่อไทยพร้อมผลักดันไปด้วย แต่ทั้งนี้นอกจากกลไกในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กลไกนอกสภาคือการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งกฎหมายมีส่วนร่วมของประชาชนมากเท่าใด ความชอบธรรมในการออกกฎหมายนั้นๆ ก็จะมีมากขึ้น ดังนั้นต้องทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมที่จะออกมีความชอบธรรมมากที่สุด หมายความว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย 

กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ พรรคเพื่อไทยเคยมีประวัติศาสตร์แล้วว่า ถ้าไม่ได้ฟังการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายฝ่ายจะมีปัญหาและข้อขัดแย้งตามมา จนทำให้ได้รัฐบาลเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงทุกวันนี้ จะต้องมีคนปลุกปั่นทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างแน่นอน แต่หากกฎหมายนี้เข้าสู่สภา พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำตัวเป็นศัตรูกับกฎหมายนี้ จะเป็นมิตร และช่วยผลักดันให้ข้อขัดแย้งหมดไป และให้ทุกคนกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด 

เธอกล่าวต่อไปว่า พรรคเพื่อไทยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะทำร่างกฎหมายเสนอเองหรือไม่ เพราะจากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ และจากอดีตที่ผ่านมา เรามีข้อมูลอยู่และต้องมานั่งคุยกัน เธอคิดว่าพรรคเพื่อไทยเองน่าจะเป็นพรรคที่รู้ดีที่สุดว่าปัญหาของการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นจึงมีข้อให้โต้เถียงมากมาย 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ระบุว่า สำหรับพรรคสามัญชนนั้น หากได้เข้าไปในสภา พรรคสามัญชนมีข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม 2 ฉบับ หนึ่ง คือ กฎหมายนิรโทษกรรมที่คุยกันอยู่ในวันนี้ และ สอง คือ กฎหมายนิรโทษกรรมของพี่น้องที่ถูกทวงคืนผืนป่า หรืออาจจะรวมถึงพี่น้องที่ต่อสู้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

อรัญ พันธุมจินดา ระบุว่า พรรคชาติพัฒนากล้ายังไม่มีนโยบายเรื่องการยุติการดำเนินคดีทางการเมือง 

ในมุมมองของพรรคชาติพัฒนากล้าเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคมไม่ว่ามุมใดมุมหนึ่ง  รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนเรื่องคดีการเมือง สามารถแก้ไข ยุติ และป้องกันได้โดยอาศัยกลไกของรัฐสภา

เขานำเสนอว่า กระบวนการให้อภัยกันในกฎหมายไทยมีอยู่แล้ว หากเราดูจากกฎหมายอาญาทั่วไป หากโจทก์ไปฟ้องจำเลยแล้วมีการชดใช้เยียวยาเกิดขึ้น เขาไม่ติดใจเอาความ เขาถอนคำร้องทุกข์ เขาถอนฟ้อง คดีก็จบ 

คดีที่เป็นอาญาแผ่นดินไม่สามารถถอนฟ้องหรือถอนคำร้องทุกข์ได้ ถ้าคนๆ นั้นสำนึกผิด คนๆ นั้นชดใช้เยียวยารับผิดชอบต่อการกระทำของตน และศาลเห็นว่าสำนึกผิดแล้ว ศาลก็จะใช้ดุลพินิจพิจารณาลงโทษในสถานเบาได้ 

นี่คือคำตอบว่าเราจะก้าวข้ามความขัดแย้งโดยการไม่คำนึงถึงกฎหมายหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เราคำนึงถึงกฎหมาย แต่เราหยิบกฎหมายมาใช้ในสถานการณ์แบบนี้ โดยกำหนดแนวทางให้เหมาะสม 

ประเด็นต่อไป คือ การแก้กฎหมาย การปรับปรุงกฎหมาย หากกฎหมายเกิดความไม่ชัดเจนขึ้น ก็แก้ให้เกิดความชัดเจน ถ้าความชัดเจนของตัวบทปรากฏแล้วว่าอะไรผิดอะไรไม่ผิด หลักการของคดีอาญาคือ ถ้าการกระทำนั้นกฎหมายบัญญัติว่าไม่ผิด ทุกอย่างจบ อาจจะไม่ต้องไปพูดถึงนิรโทษกรรมก็ได้

ประเด็นเรื่องขอบเขตของคดีทางการเมืองที่ควรได้รับการยุติการดำเนินคดี

ชัยธวัช ตุลาธน กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคดีการเมืองในความเห็นของพรรคก้าวไกล คำจำกัดความอย่างง่ายๆ ไม่ได้หมายถึงเพียงคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือไปฟ้องร้องประชาชนด้วยเหตุผลทางการเมืองเท่านั้น แต่คงต้องรวมถึงคดีที่ในสถานการณ์ปกติก็เป็นความผิดได้ แต่เป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองด้วย เช่น ต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่, ปาระเบิดปิงปองที่ดินแดง, เผาป้าย, เผารูป หรือคดีที่ปกติเข้าองค์ประกอบการหมิ่นประมาท รวมถึงมาตรา 112 แต่ถือว่าเป็นคดีทางการเมืองเพราะมีความเกี่ยวเนื่องหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

ทั้งนี้ ขอบเขตจะไม่รวมถึงข้อหาที่เป็นคดีทุจริตเพื่อป้องกันแรงเสียดทานทางการเมือง และคดีที่เกี่ยวข้องกับอันตรายต่อชีวิตและร่างกายไม่ว่ากระทำกับฝ่ายไหน เพื่อปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป เพราะการละเมิดชีวิตและร่างกายถือเป็นความร้ายแรงที่ไม่ควรนิรโทษกรรม 

ขัตติยา สวัสดิผล กล่าวว่า ตั้งแต่การยึดอำนาจปี 2549 จนถึงปี 2557 มีการกระทำหลายการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การกระทำที่รัฐใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสร้างความผิดจนเป็นคดีเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยเห็นควรนิรโทษกรรมในคดี ดังนี้ 1. คดีการเมือง, 2. คดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน, 3. คดีความมั่นคง, 4. คดีที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด และ 5.คดีที่รัฐสร้างขึ้นโดยใช้อำนาจรัฐประหาร เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมคดีที่เป็นความผิดต่อชีวิต เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมในการค้นหาความจริงดำเนินต่อไป 

เธอเห็นว่า กระดุมเม็ดแรกที่ติดผิดและควรปลดออกคือการดำเนินคดีกับเยาวชนในฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ต้องปลดออกและติดให้ถูกต้อง 

ความยาก คือ จะกำหนดอะไรบ้างว่าเป็นคดีการเมือง, คดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน, คดีเกี่ยวกับความมั่นคง และคดีที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด เราจะนิยามคดีเหล่านี้ได้อย่างไร ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้หลักนิติรัฐและนิติธรรมที่ผิดเพี้ยนจะอยู่ในนี้หรือไม่ ผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรา 112 จะได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ ต้องหานิยามเหล่านี้และต้องมีคณะกรรมการมาพูดคุย เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งตามมา 

ประเด็นเรื่องกรอบเวลาของคดีทางการเมืองที่ควรได้รับการยุติการดำเนินคดี

ชัยธวัช ตุลาธน กล่าวว่าเรื่องระยะเวลานั้น พรรคก้าวไกลจะเสนอให้ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมทุกเฉดทางการเมือง 

ขัตติยา สวัสดิผล ระบุว่า หากต้องมีการนิรโทษกรรม ควรต้องย้อนไปถึงปี 2548 หรือปี 2549 เพื่อความเท่าเทียม เสมอภาค ของทุกๆ คน ต้องมีการยอมรับทางสังคมเพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาว่าเหตุใดคนกลุ่มนี้ถึงได้และคนกลุ่มนี้ถึงไม่ได้ 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ระบุว่า กฎหมายนิรโทษกรรมจำเป็นต้องย้อนหลังไปถึงปี 2549 เป็นอย่างต่ำ แต่จากที่พูดคุยกันในพรรคเห็นว่า คำว่านิรโทษกรรมค่อนข้างมีปัญหา ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ถูกดำเนินคดี ก็จะเห็นว่าในเมื่อไม่ได้ทำผิด ทำไมจึงต้องมานิรโทษกรรมด้วย สิ่งที่สำคัญในตัวร่างกฎหมาย คือ นิยามของนิรโทษกรรม ต้องระบุให้ชัดเจนว่าไม่ใช่การลบล้างการกระทำความผิดของประชาชน แต่เป็นการลบล้างการกระทำความผิดของรัฐ 

ประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง

ชัยธวัช ตุลาธน ระบุว่า ร่างของพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการมากลั่นกรองและพิจารณาว่า คดีไหนจะเข้าข่ายที่จะต้องนิรโทษกรรมหรือล้างความผิด โดยตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรเพราะถือว่าเป็นอำนาจที่มาจากประชาชนโดยตรง และทยอยออกประกาศเพื่อนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดไป คิดว่าภายในระยะเวลา 2 ปีจะทำเสร็จเรียบร้อย และคดีไหนที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ประสงค์จะใช้สิทธินี้ก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวหาหรือโจมตีว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองเอง 

ประเด็นเรื่องรัฐควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขัตติยา สวัสดิผล ระบุว่า หากไปถึงการนิรโทษกรรมแล้วจริงๆ สังคมต้องยอมรับว่า การแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง คดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง เป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และนั่นไม่ใช่ความผิด เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับร่วมกัน 

ส่วนคำถามว่าเราจะเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีได้อย่างไรนั้น คิดว่าจำเป็นจะต้องมี เช่น ผู้ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ ต้องเยียวยาคนกลุ่มนี้ให้กลับมาโดยไม่มีความผิด ต้องเยียวยาเป็นตัวเงิน โอกาส และรวมถึงการแสดงออกทางสังคมของคนที่บังคับใช้กฎหมายด้วย 

คำถามที่ 2 ความเป็นไปได้ในการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งในปี 2566

ชัยธวัช ตุลาธน ระบุว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองเป็นไปได้ โดยเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในอดีต โดยสิ่งที่เคยเกิดขึ้นดูเหมือนจะนิรโทษกรรมประชาชน เช่น 6 ตุลา, 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ แต่ลึกๆ แล้วเป็นคดีที่จะนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐหรือป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจรัฐเสียหายไปมากกว่านี้ แต่ถ้ารัฐบาลสมัยหน้าจะมีนิรโทษกรรมประชาชนจริงๆ เป็นไปได้หรือไม่นั้น เห็นว่าเป็นไปได้สูง

เรื่องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112  ที่มีคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ตนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ เป็นไปได้ก่อนแก้ไขมาตรา 112 แน่ เหตุที่คิดว่าเป็นไปได้เนื่องจากสังคมไทยเคยนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 มาแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ในคดี 6 ตุลา คดีที่ถูกนิรโทษกรรมก็คือมาตรา 112 เพราะฉะนั้นไม่ใช่ครั้งนี้ที่จะเสนอเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และทำไมเขาถึงยอม เพราะผู้มีอำนาจรู้ว่า หากเขายังดันต่อเรื่องนี้ มันจะกลายเป็นระเบิดทางการเมืองในสถานการณ์นั้น จึงเป็นเรื่องที่สามารถหาจุดประนีประนอมเพื่อไม่ให้บานปลายและกระทบกับหลายฝ่ายได้

ข้อเสนอของคณะกรรมการปรองดอง สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เคยเสนอนิรโทษกรรมคดีการเมือง หรือแม้กระทั่งเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ด้วยซ้ำ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และอย่าทำให้เรื่องนี้เป็นของก้าวไกลเพียงคนเดียว ให้เป็นของทั้งสภาผู้แทนราษฎร และเชื่อว่าเป็นไปได้ สิ่งที่กำลังพูดกันอยู่คือการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ไม่ใช่อนาคต อย่างคดีของหยก หากยืนยันปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ทางที่ดีที่สุดคือให้เข้ากระบวนการนี้ ให้คณะกรรมการพิจารณาว่าเป็นคดีการเมือง

ส่วนปัญหาในอนาคตต้องไปแก้ไขกฎหมาย รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ในช่วงสุดท้ายของเวทีเสนอนโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ยิ่งชีพได้กล่าวสรุปเนื้อหาที่ได้แลกเปลี่ยนกันในวันนี้ และกล่าวขอบคุณตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเวทีในวันนี้ พร้อมทิ้งท้ายว่า หวังว่าการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และหลังจากนั้นอาจเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ได้มีจุดเปลี่ยนในปัญหาสิทธิมนุษยชนและปัญหาคดีการเมืองที่กำลังดำรงอยู่ในปัจจุบัน 


ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมออกความเห็นต่อข้อเสนอแนะการยุติดำเนินคดีทางการเมือง เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอด และผลักดันเป็นนโยบายในการยุติความขัดแย้งร่วมกันต่อไป (สามารถออกความเห็นได้ที่นี่)

X