ข้อเสนอแนะในการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 – ปัจจุบัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

                                                                                          26 เมษายน 2566

เกริ่นนำ

ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เนื่องจากการจัดความสัมพันธ์และโครงสร้างอำนาจระหว่างรัฐและประชาชน และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ นั้นยังไม่เกิดความสมดุล ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และการหันไปใช้วิธีการนอกเหนือระบบประชาธิปไตยในการเข้าถือครองอำนาจ โดยเฉพาะในระลอกล่าสุดนั้นซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อนิติรัฐและประชาธิปไตยไทย คือ การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จไว้อย่างยาวนาน ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีมาตรา 44 ให้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการแก่คณะรัฐประหาร และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดปราบประชาชนควบคุม โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารกว่า 2,400 ราย

จนหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  และมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะมิได้ช่วยแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่แล้ว กลับสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารและองคาพยพของกองทัพ โดยเฉพาะการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเอง ในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

          ความขัดแย้งในระลอกถัดมา ก่อตัวอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้ง หลังเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  ต่อเนื่องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายใต้ข้อกล่าวอ้างเรื่องการควบคุมโรค และนำไปสู่การควบคุมการรวมตัว รวมถึงการชุมนุมทางการเมืองไปด้วย

          การชุมนุมเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2563 นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกล่าสุด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ราษฎร นักเรียนเลว เฟมินิสต์ปลดแอก เสรีเทยย์พลัส แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทะลุฟ้า ทะลุแก๊ซ ทะลุวัง โมกหลวงริมน้ำ ฯลฯ ภายในระยะเวลา 2 – 3 ปี  มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 1,800 ราย ด้วยข้อหาที่แตกต่างกัน ฐานความผิดที่มีประชาชนถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ฐานความผิดซึ่งเป็นที่ถกเถียงมากที่สุดในขณะนี้ และเป็นส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

          ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งขึ้นมาภายหลังการรัฐประหารเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร และปัจจุบันยังให้ความช่วยเหลือคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เห็นว่า โอกาสในการเลือกตั้งปี 2566 เป็นความหวังอีกครั้งในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ผลพวงของการรัฐประหาร และค่อยๆ นำสังคมไทยกลับสู่หนทางของระบอบประชาธิปไตย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเสนอนโยบายให้พรรคการเมืองดำเนินการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเปิดทางนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างประชาธิปไตยในก้าวต่อๆ ไป

.

สภาพปัญหาในคดีการเมือง พ.ศ. 2557 – 2562

  1. การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร และศาลยุติธรรม

หลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57, ฉบับที่ 38/57 และฉบับที่ 50/57 ให้ดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารในความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช.  ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และความผิดเกี่ยวกับฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ทำให้มีประชาชนกว่า 2,400 ราย[1] ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร และคดีซึ่งเกิดในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557 – 31 มี.ค. 2558 นั้น จำเลยไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ซึ่งโดยหลักแล้วการดำเนินคดีในศาลนั้นต้องสามารถถูกตรวจสอบโดยตุลาการในลำดับที่สูงขึ้นไป

การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (right to fair trial) เนื่องจากศาลทหารนั้นสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม และตุลาการองค์คณะในศาลทหารประกอบด้วยตุลาการพระธรรมนูญ ซึ่งจบกฎหมายและตุลาการศาลทหารซึ่งเป็นทหารและไม่ได้จบการศึกษากฎหมาย ซึ่งขัดกับหลักความเป็นอิสระและเป็นกลาง และขาดความเชี่ยวชาญทางกฎหมายอย่างเพียงพอ

นอกจากนั้นการดำเนินคดีพลเรือนภายใต้ศาลทหารในห้วงเวลาดังกล่าว ยังพบอุปสรรคหลายประการซึ่งมีมาตรฐานต่ำกว่าการพิจารณาของศาลยุติธรรม อาทิเช่น ปัญหาในการแจ้งนัดสอบคำให้การแก่ทนายความ การขอคัดถ่ายเอกสาร ขาดระบบทนายขอแรง ขาดหน่วยงานรองรับทำหน้าที่สืบเสาะพฤติกรรมของจำเลยเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา การนัดพิจารณาคดีที่ไม่ต่อเนื่อง หรือการลงโทษในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112) ในอัตราโทษสูงกว่าศาลยุติธรรมเกือบหนึ่งเท่าตัว เป็นต้น

แม้ คสช. จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ซึ่งให้ยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 ซึ่งมีผลเป็นการโอนคดีจากศาลทหารไปพิจารณาต่อที่ศาลยุติธรรม แต่ก็พบว่ายังมีคดีบางส่วนที่พิจารณาไม่เสร็จสิ้น[2] และแม้ในคดีจำนวนมากที่ได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาจนสิ้นสุดไปแล้ว แต่หมายความว่าพลเรือนกว่า 2,400 ราย นั้นถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมมาแล้ว

  • การคุกคามประชาชนโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึก มาตรา 44 และกระบวนการนอกกฎหมาย

นอกจากการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารแล้ว คสช. ยังใช้กฎอัยการศึก (20 พ.ค. 2557 – 31 มี.ค. 2558) คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 (1 เม.ย. 2558 – ก.ค. 2562) และคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา การบุกไปถึงบ้านหรือสถานที่ส่วนตัวของบุคคลที่แสดงออกทางการเมือง การคุกคามและการปิดกั้นกิจกรรม การเรียกรายงานตัว รวมถึงการบังคับให้บุคคลลงนามในบันทึกข้อตกลงเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งปราศจากข้อกฎหมายใดๆ รองรับ โดยจากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในห้วงเวลาที่ คสช. ดำรงอยู่ในอำนาจมี

(1) การเรียกรายงานตัว การคุมตัวในค่ายทหารและการติดตามตัวประชาชนที่บ้าน อย่างน้อย 1,501 คน

(2) การปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 353 กิจกรรม

(3) การปิดกั้นสื่อและการควบคุมการนําเสนอข้อมูลข่าวสาร โดย กสทช. ลงโทษสื่อมวลชนจากการ นําเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง อาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศ/คําสั่ง คสช. และมาตรา 37 ของ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 อย่างน้อย 55 ครั้ง

(4) การปิดกั้นการใช้สิทธิชุมชน และการแสดงออกของชุมชนท้องถิ่น ของกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ ชุมชน หรือประชาสังคม อย่างน้อย 155 กลุ่ม/องค์กร โดยประเด็นที่ถูกปิดกั้น เช่น สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน แม่นํ้า เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า สุขภาพ แรงงาน หรือนโยบายสาธารณะอื่นๆ

(5) การซ้อมทรมาน ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร ตามกฎอัยการศึก คําสั่ง คสช. หรือคําสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 18 กรณี

(6) การคุมขังพลเรือนในเรือนจําทหาร อย่างน้อย 33 กรณี

นอกจากนี้การใช้มาตรการทั้งทางกฎหมายและนอกกฎหมาย ยังนำไปสู่การลี้ภัยทางการเมืองของประชาชนชาวไทยไปยังประเทศที่สามไม่น้อยกว่า 100 ราย

.

สภาพปัญหาในคดีการเมือง พ.ศ. 2563 – 2566

ภายหลังการเลือกตั้ง 2562 สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายลง จนกระทั่งมีการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้เกิดการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ก่อนกระแสการชุมนุมจะเริ่มซาไปจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากสถานการณ์โควิดในปลายเดือนมีนาคม 2563

อย่างไรก็ตามกระแสการชุมนุมทางการเมืองเริ่มกลับมาอีกครั้งในช่วงครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 และข่าวการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยในประเทศกัมพูชา กระแสการชุมนุมทางการเมืองเป็นไปอย่างต่อเนื่องในห้วงกลางปี 2563 พร้อมกับการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ผ่านการชุมนุม จนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “สำนึกไว้ด้วยว่ามาตรา 112 ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดี และทำไมถึงมีคนฉวยโอกาสตรงนี้ขึ้นมา ทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ กำชับมากับผมโดยตรง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการใช้ 112 ทำไมไม่คิดตรงนี้ ลามปามกันไปเรื่อย ทุกคนที่มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต้องช่วยกัน”[3] เพื่อปรามการชุมนุมไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

จนกระทั่งมีการชุมนุมใหญ่ของ “เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และการชุมนุมใหญ่ 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง ทำให้เกิดการรวมตัวหลวมๆ ของกลุ่มกิจกรรมเรียกว่า “ราษฎร” ในช่วงค่อนหลังของปี 2563 แม้จะมีกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองชุมนุมอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย แต่ข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุมนั้นเหมือนกันกับกลุ่มราษฎร คือ 1. ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

กระทั่งการชุมนุมเดินขบวนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาล จนเกิดเหตุขบวนเสด็จผ่านพื้นที่ชุมนุม นำไปสู่การสลายการชุมนุมและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2563 – 22 ตุลาคม 2563

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์บังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา[4] ซึ่งในความหมายโดยนัยแล้ว คือ การนำมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญากลับมาบังคับใช้ หลังจากในห้วงเวลา 2-3 ปีก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่รัฐมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบังคับใช้มาตรา 112 โดยไม่นำมาใช้กล่าวหาหรือลงโทษโดยตรง แต่ไปใช้ข้อกฎหมายอื่นๆ แทน[5] หลังจากนั้น จากเดิมที่มักใช้ข้อหาตามมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเป็นหลักในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมแล้ว ตำรวจก็หันมาใช้ข้อหามาตรา 112 เป็นหลักแทน ในกรณีการแสดงออกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ต่อมาในปี 2564 กระแสการชุมนุมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องพร้อมๆ กับการจับกุม การดำเนินคดีนักกิจกรรมด้วยฐานความผิดที่แตกต่างกันออกไป ในปีนี้มีการใช้กระบวนการยุติธรรม การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว คุมขังไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนให้ประกันตัว และกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หรือกำหนดระยะเวลาในการอยู่ภายในเคหสถาน ในปีเดียวกันนี้ ช่วงเดือนสิงหาคมเกิดการชุมนุมรายวันของกลุ่มทะลุแก๊ส และทำให้เห็นภาพการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมบ่อยครั้ง

ขณะที่ในปี 2565 ได้เกิดกลุ่มกิจกรรมทะลุวัง ซึ่งริเริ่มจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จและประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อื่นๆ จนถึงทุกวันนี้แม้ประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 2566 แต่กิจกรรมทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับคดีความทางการเมืองซึ่งมีประชาชนถูกดำเนินคดีในจำนวนที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

.

สถิติคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

1. สถิติโดยภาพรวม จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,898 คน ในจำนวน 1,196 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 213 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

  • ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี
  • ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 
  • ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 137 คน ในจำนวน 78 คดี
  • ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 166 คน ในจำนวน 185 คดี
  • ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 28 คน ใน 9 คดี
  • คดีเด็กและเยาวชน

ตั้งแต่ปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 284 ราย นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการดำเนินคดีทางการเมืองกับเยาวชนนับร้อยราย โดยหลังจากปรากฏการณ์การชุมนุมไร้แกนนำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ถึงช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 บริเวณทางแยกดินแดง และมีการนิยามตนเองว่าการชุมนุม #ทะลุแก๊ซ ในภายหลัง มีเยาวชนทั้งที่ถูกจับกุมระหว่างชุมนุมและถูกดำเนินคดีภายหลังจากเหตุการณ์ชุมนุมต่อเนื่องดังกล่าวอย่างน้อย 210 คน ใน 104 คดี เยาวชนถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 18 ราย ใน 21 คดี

คดีเด็กและเยาวชนนับว่ามีความซับซ้อนกว่าคดีประชาชนทั่วไป เพราะใช้วิธีการพิจารณาคดีที่แตกต่างกัน โดยคดีเด็กและเยาวชนนั้นจะต้องคำถึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก (The Best interest of the child) ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1969 ด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า การตรวจสอบการจับกุมในคดีเด็กและเยาวชนนั้น ศาลตรวจสอบเพียงระยะเวลาในการควบคุมตัวของเยาวชนไม่ให้เกิน 24 ชั่วโมง แต่ไม่พบในคดีใดว่าศาลได้ตรวจสอบว่ามีการจับกุมโดยละมุนละม่อม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 69 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เลย อีกทั้งการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาและการหันเหคดี ยังมีข้อจำกัดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นเยาวชนนั้นต้องรับสารภาพ อาจกล่าวได้ว่ามาตรการดังกล่าวออกแบบมาเพื่อรองรับเด็กและเยาวชนที่ก่ออาชญากรรม อาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับคดีเด็กและเยาวชนที่มีความเห็นต่างหรือแสดงออกในทางการเมือง

นอกจากนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังออกหมายจับเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 30 หมายจับในข้อหาต่างๆ โดยล่าสุดคือ กรณีของ  “หยก” เด็กหญิงวัย 14 ปี[6] ในคดี 112 จากการแสดงออกจากกิจกรรมชุมนุมบริเวณลานเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 โดยหยกปฏิเสธไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ทำให้ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี

  • คดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

นับตั้งแต่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 จนถึงการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 30 ก.ย. 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมจำนวนอย่างน้อย 1,469 คน ใน 663 คดี จากสถิติดังกล่าว จนถึงต้นเดือนเมษายน 2566 มีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจำนวน 138 คดี เท่ากับมีคดีอีกกว่า 525 คดี ที่ยังไม่สิ้นสุดลง โดยแยกเป็น

  • คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน 299 คดี
  • คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น 143 คดี
  • คดีที่อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ หรือรอว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ จำนวน 79 คดี
  • คดีที่อยู่ระหว่างชั้นฎีกา หรือรอว่าจะมีการฎีกาคดีหรือไม่ จำนวน 4 คดี
  • ในส่วนคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว แยกเป็นคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง 40 คดี

แนวโน้มคำพิพากษา ในคดีที่ต่อสู้คดี พบว่ามีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 63 คดี โดยแนวคำพิพากษาในหลายคดี เห็นว่าการชุมนุมยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมเกิดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมมีการเว้นระยะห่าง ไม่ได้ถึงขนาดแออัดเต็มพื้นที่ มีการระวังป้องกันโรค และไม่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคจากการชุมนุม

ขณะที่มีคดีที่ต่อสู้คดี และศาลพิพากษาว่ามีความผิดอย่างน้อย 31 คดี (ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 2 คดี) สำหรับแนวโน้มการลงโทษ ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำนวน 14 คดี รอการกำหนดโทษ 1 คดี พิพากษาให้มีโทษจำคุกจำนวน 16 คดี โดยส่วนใหญ่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้

คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับเป็นฐานความผิดที่มีประชาชนถูกดำเนินคดีมากที่สุดกว่า 1,469 ราย เนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ สาธารณสุข และการเมือง ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมจำนวนมาก แม้ปัจจุบันจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากสถานการณ์โควิด -19 แล้ว และสถิติคดียกฟ้องมากกว่าพิพากษาว่ามีความผิด แต่คดีความดังกล่าวก็ยังต้องขึ้นสู่การพิจารณาของศาล เสียเวลาและทรัพยากรในการดำเนินคดีประชาชนซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด

  • คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

การบังคับใช้มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา นับเป็นข้อหาที่มีความผันผวนไปตามกระแสการเมือง ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2557 ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนหนึ่งและสูงขึ้นในช่วงปี 2553 ส่วนใหญ่ศาลลงโทษกรรมละ 5 ปี เมื่อมีการรัฐประหาร มาตรา 112 เป็นหนึ่งในนโยบายในการปราบปรามของ คสช. มีการดำเนินคดีในศาลทหารและลงโทษสูงกว่าศาลยุติธรรมถึงเกือบเท่าตัว (ประมาณกรรมละ 8-10 ปี) มีคดีในห้วงดังกล่าวกว่า 169 คดี

ต่อมาในห้วงปี 2561 -2563 มีแนวโน้มในการเปลี่ยนนโยบายการบังคับใช้ ทำให้มีคดีสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง หรือไปลงโทษด้วยข้อหาอื่น อย่างน่าแปลกใจ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้อีกครั้งในปลายปี 2563 ภายในระยะเวลาเพียงสองปีกว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 239 คน ใน 258 คดี พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 137 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของคดีทั้งหมด รวมทั้งเป็นคดีจากการปราศรัยในการชุมนุมครั้งต่างๆ อีก 48 คดี

ท่ามกลางคดีที่ถูกสั่งฟ้องดังกล่าว มีคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 52 คดี โดยแยกเป็นกรณีที่จำเลยต่อสู้คดี 33 คดี และกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 19 คดี โดยผลของคำพิพากษาโดยสรุป

  • ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำนวน 11 คดี
  • ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่น โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 3 คดี
  • คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอการลงโทษ จำนวน 25 คดี
  • คดีที่ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก 11 คดี 
  • คดีที่ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ 2 คดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตถึงสถานการณ์การใช้มาตรา 112  ตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 คือ

  • มาตรา 112 เป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถกล่าวโทษได้ แม้ไม่ใช่ผู้เสียหาย ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้มีทั้งประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง และหน่วยงานรัฐเป็นผู้กล่าวโทษ ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 122 คดี, คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี, คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี, คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
  • สิทธิในการประกันตัวในคดีส่วนใหญ่ในช่วงหลังปี 2563 ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา แต่แกนนำหรือนักกิจกรรมทางการเมืองที่มีบทบาทในการชุมนุม มักถูกกล่าวหาดำเนินคดีและไม่ได้รับการประกันตัว โดยมีการจับกุม เพิกถอนประกัน ให้ประกัน และกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวอยู่หลายระลอก มีการคุมขังนักกิจกรรมในเคหสถานตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง นำไปสู่การประท้วงโดยการอดหารและอดนอนของนักกิจกรรมหลายราย ก่อให้ปัญหาต่อความเชื่อมั่นในศาลและกระบวนการยุติธรรมอย่างหนัก

ปัจจุบันผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาในคดีมาตรา 112 อยู่จำนวน 2 ราย ได้แก่ “วุฒิ” ผู้ถูกฟ้องคดีที่ศาลอาญามีนบุรี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ และศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา และ “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ต่อสู้โดยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว รับโทษอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 3 รายด้วย

  • การกลั่นกรองคดีจากพนักงานอัยการ จากสถิติของศูนย์ทนายความฯ มีคดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อศาลไปแล้วจำนวน 184 คดี โดยเท่าที่ทราบข้อมูล ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยมีเพียงกรณีของ “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหามาตรา 112 นี้ ในคดีชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 แต่ยังสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 เช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ถูกฟ้องทั้งสองข้อหา กล่าวได้ว่า แนวโน้มการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แทบจะถูกสั่งฟ้องคดีทั้งหมด
  • คำพิพากษาเกินกว่าตัวบท เป็นหนึ่งในปัญหาของคดี 112 ที่พบเจอ ในขณะที่คดีอาญาต้องยึดหลักการตีความโดยเคร่งครัด ไม่สามารถตีความแบบขยายความได้เพราะเป็นกฎหมายที่ให้โทษต่อบุคคล แต่ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ กลับพบการตีความเกินกว่าตัวบทในหลายคดี อาทิเช่น คดีจรัสที่ศาลอุทธรณ์ตีความรวมไปถึงอดีตกษัตริย์, คดีแปะสติ๊กเกอร์พระบรมฉายาลักษณ์, คดีสมบัติ ทองย้อย กรณีโพสต์กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ, คดี “เพชร” ธนกร ที่ศาลเยาวชนฯ ตีความให้มาตรา 112 คุ้มครองไปถึงกษัตริย์ทุกพระองค์ เป็นต้น
  • อัตราโทษสูงเมื่อเทียบกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิด กล่าวคือโทษขั้นต่ำของมาตรา 112 นั้นสูงถึง 3 – 15 ปี ต่างจากโทษหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปซึ่งไม่มีขั้นต่ำและโทษจำคุกขั้นสูงไม่เกินหนึ่งปี  กรณีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โทษจำคุกขั้นสูงไม่เกินสองปี จะเห็นได้ว่าอัตราโทษนั้นมีความแตกแต่งกันมากและไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด  แม้จะเป็นพฤติการณ์เดียวกัน อีกทั้งมาตรา 112 ยังไม่มีบทยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ และไม่แบ่งแยกการกระทำดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ออกจากกัน ต่างจากหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป โดยอัตราโทษดังกล่าวนี้ ยังเกิดจากการแก้ไขโดยคำสั่งคณะรัฐประหารหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกด้วย

ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้มคำพิพากษาในคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด พบว่าศาลลงโทษกรรมละ 3-5 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้ว (จำนวน 25 คดี) ศาลลงโทษกรรมละ 3 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำสุดที่ตัวบทกำหนด  ในส่วนคดีที่ถูกพิพากษาลงโทษมากที่สุดในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา คือคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ที่จังหวัดเชียงราย ถูกพิพากษาจำคุกรวม 28 ปี จากข้อความจำนวน 14 กระทง ที่ศาลเห็นว่ามีความผิด

ทั้งนี้จะเห็นว่าแม้แต่โทษของมาตรา 112 นั้นก็มีความผันผวนไปตามสถานการณ์ทางการเมือง       ก่อนรัฐประหาร 2557 ศาลยุติธรรมลงโทษเฉลี่ยกรรมละ 5 ปี หลังรัฐประหาร 2557 ศาลทหารลงโทษกรรมละ 8-10 ปี ปัจจุบันศาลยุติธรรมลงโทษเฉลี่ยกรรมละ 3 ปี ซึ่งหมายความว่าหากศาลเห็นว่าการกระทำความผิดนั้นไม่ได้รุนแรง แต่ศาลก็ไม่อาจกำหนดโทษต่ำกว่า 3 ปี ได้

  • บทบัญญัติมาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทั้งนี้กลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีความเห็นต่อรัฐบาลไทยหลายครั้งต่อมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาไทยว่า บทบัญญัติดังกล่าวนั้นกว้างและโทษสูงเกินความเหมาะสม การควบคุมตัวโดยมาตรา 112 การควบคุมตัวโดยพลการ (Arbitrary Detention) และ บทบัญญัติว่าด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่มีที่ทางในประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย[7]
  • คดี 112 มีความเป็นการเมืองสูง และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ดังจะเห็นได้จากความผันผวนในการบังคับใช้กฎหมายเพียงมาตราเดียว แต่มีความแตกต่างกันทั้งการให้ประกัน จำนวนคดี อัตราโทษ ศาลที่พิจารณา แตกต่างไปตามห้วงเวลาแล้วแต่สถานการณ์ทางการเมือง ไม่มีข้อหาใดจะมีความผันผวนและความไม่แน่นอนเช่นนี้แล้วในทางกฎหมาย ขณะเดียวกันการใช้และตีความมาตรา 112 อย่างเข้มข้นและกว้างขวางเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์เองอีกด้วย

ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทางกฎหมายหรือทางการเมือง คดีทั้งหมดย่อมต้องถูกผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของศาล และมีแนวโน้มว่าจะมีประชาชนถูกคุมขังเพราะการแสดงออกทางการเมืองอีกเป็นจำนวนมาก

.

คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

          ประเทศไทยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 23 ครั้ง[8] โดย 11 ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร นิรโทษกรรมคดีกบฎ 6 ครั้ง นิรโทษกรรมให้กับการชุมนุม 3 เหตุการณ์  และนิรโทษกรรมกรณีอื่นๆอีก 3 ครั้ง การนิรโทษกรรมทั้งหมดล้วนเป็นการแก้ไขปัญหาในทางการเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นและจบลงแล้ว แต่ภายหลังการรัฐประหาร 2557 นั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจที่สร้างผลกระทบและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง  ต่อเนื่องและยาวนานกว่า 8 ปี ประชาชนผู้ถูกละเมิดยังต้องเผชิญหน้ากับเครื่องมือทางการเมืองที่มาในรูปแบบของกฎหมายและคดีความ หากไม่มีการจัดการยุติการดำเนินคดีทั้งหมด ก็ยากที่จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยได้ กล่าวได้ว่าการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความขัดแย้ง คืนความเป็นธรรมให้ประชาชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเสนอข้อเสนอแนะในการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 – ปัจจุบัน เพื่อให้เป็นข้อมูลและเป็นวัตถุดิบเบื้องต้นในการชวนถกเถียงเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

ข้อเสนอแนะในการแก้ไขและยุติการดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 – ปัจจุบัน

(1) ให้ตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อยุติการดำเนินคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารและ การดำเนินคดีทางการเมืองหรือคดีที่มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 – ปัจจุบัน

1.1 ให้สภาผู้แทนราษฎรกำหนดกรอบโดยกว้างของเกณฑ์การพิจารณาคดีทางการเมืองและคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และให้คัดเลือกกรรมการพิจารณาคดีการเมือง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย องค์กรในกระบวนการยุติธรรม นักวิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์ประกอบมีความหลากหลายและสมดุลทางเพศ โดยคณะกรรมการพิจารณาคดีการเมืองต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากอคติ

คดีการเมือง คือ คดีสามารถระบุฐานความผิด หรือ เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุได้ เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับประกาศและคำสั่งของ คสช. คดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร คดีมาตรา 112 เป็นต้น

คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คือ คดีที่อาจไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่ระบุว่าเป็นคดีการเมืองหรือเกิดเหตุการณ์ในวันที่ระบุไว้ แต่สามารถพิสูจน์แรงจูงใจในการดำเนินการได้ว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

1.2  ในกรณีเกิดข้อโต้แย้งว่าคดีใดเป็นคดีการเมืองหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้คณะกรรมการพิจารณาคดีการเมือง มีอำนาจในการพิจารณาว่า คดีใดเป็นคดีทางการเมือง และคดีใดเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

1.3 ให้รัฐสภาตรากฎหมายรับรองการยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 – ปัจจุบัน ไม่ให้ถือว่าคดีดังกล่าวมีความผิดอีกต่อไป หรือให้คดีเหล่านั้นสิ้นสุดไป

1.4 ให้รัฐสภาตรากฎหมายรับรองให้ คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารแต่ไม่ได้เป็นคดีการเมือง หรือคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง สามารถขอพิจารณาคดีใหม่ในศาลยุติธรรม หรือสามารถขอใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาสำหรับคดีที่เกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกได้

(2) ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง

เพื่อสร้างกลไกในการค้นหาความจริงต่างๆ และทำความจริงให้ปรากฏที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีจำเลยที่เป็นพลเรือนภายหลังรัฐประหาร และการใช้อำนาจรัฐคุกคามประชาชน รัฐสภาสมควรตรากฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบรูปแบบการใช้อำนาจ และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายหลังการรัฐประหารปี 2557 กลไกในการค้นหาความจริงดังกล่าว ควรจัดตั้งในรูปแบบคณะกรรมการ (A Truth Commission) ที่มีหน้าที่ในการค้นหาความจริงตามหลักการสิทธิที่จะทราบความจริง (Right to Truth) ของผู้เสียหาย ครอบครัว และสังคมโดยรวมนี้

ภารกิจหลักควรมุ่งค้นหาข้อมูลและข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง และมีอำนาจในการเก็บรักษาพยานหลักฐาน นำมาสู่เปิดเผยข้อค้นพบหลังจากการค้นหาความจริงต่อสาธารณะ โดยทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเอกสาร หรือหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญอย่างเป็นทางการ (Official Archives) เพื่อทำความจริงดังกล่าวเป็นฐานในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป

ทั้งนี้ รัฐต้องรับรองกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการแต่ละรายตามหลักความเป็นอิสระ ปราศจากอคติ และสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นความโปร่งใสในการคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนจากหลากหลายสาขา รวมถึงตัวแทนของผู้เสียหาย นักกฎหมาย นักจิตวิทยา นักพัฒนาสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและสมดุลทางเพศ

(3) รัฐควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน

เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาสมควรออกแถลงการณ์ขอโทษกับเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับข้อเท็จจริง ที่ได้ร่วมกันค้นหาและผลกระทบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสดงการรับรองว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ (Guarantees of non-repetition) โดยรัฐบาลสมควรต้องพิจารณาถึงการเยียวยา ในระดับสังคม อาทิ ด้านการศึกษาโดยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวให้ประชาชนทราบ, สร้างกลไกป้องกันและติดตามความขัดแย้งทางสังคมและการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

.


.

อ้างอิงท้ายเรื่อง

[1] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหารสถิติคดีพลเรือนในศาลทหาร[ออนไลน์], 22 พฤษภาคม 2562. แหล่งที่มา https://tlhr2014.com/archives/12492

[2] ประชาไท, ศาลยกฟ้องคดีก่อการร้าย ‘ขอนแก่นโมเดล’ หลังรัฐประหาร 9 ปี[ออนไลน์], 31 มีนาคม 2566. แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2023/03/103416

เช่น คดีที่ถูกเรียกว่า “ขอนแก่นโมเดล” ที่ถูกโอนย้ายจากศาลทหารมาพิจารณาต่อที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลชั้นต้นเพิ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 รวมใช้ระยะเวลาเกือบ 9 ปีหลังเกิดเหตุ และคดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาต่ออีกด้วย ดูรายงานข่าว

[3] ไทยรัฐออนไลน์, ประยุทธ์” เผย “ในหลวง” ทรงมีพระเมตตาไม่ให้ใช้ ม.112 ซัดพวกฉวยโอกา[ออนไลน์], 15 มิถุนายน 2563. แหล่งที่มา https://www.thairath.co.th/news/politic/1869400

[4] สำนักนายกรัฐมนตรี, แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี 19 พฤศจิกายน 2563[ออนไลน์], 19 พฤศจิกายน 2563. แหล่งที่มา https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/36935

[5] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, การเปลี่ยนแปลงของแนวทางการบังคับใช้มาตรา 112 ในรอบปี 2561[ออนไลน์], 28 ธันวาคม 2561. แหล่งที่มา https://tlhr2014.com/archives/10309

[6] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, รู้จัก “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กับการตระหนักรู้ว่าประเทศไม่ได้เป็นอย่างในนิทานที่ถูกเล่า[ออนไลน์], 31 มีนาคม 2566. แหล่งที่มา https://tlhr2014.com/archives/55017

[7] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN [ออนไลน์], 5 ธันวาคม 2563. แหล่งที่มา https://tlhr2014.com/archives/23726

[8] ไอลอว์, ย้อนดูกฎหมายนิรโทษกรรมของไทย 23 ฉบับ เว้นโทษให้คณะรัฐประหารไปแล้วถึง 11 ครั้ง[ออนไลน์], 27 กันยายน 2564. แหล่งที่มา https://ilaw.or.th/node/5982

.

X