ศาลเชียงรายพิพากษาจำคุก “บัสบาส” 28 ปี เห็นว่าผิด 14 กรรม อีก 13 กรรมเป็นเรื่องอดีตกษัตริย์ไม่เข้า ม.112 ก่อนศาลอุทธรณ์ให้ประกัน

26 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 29 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ 

คดีนี้ บัสบาสถูกจับกุมดำเนินคดีสองครั้งภายหลังเดินทางไปนั่งอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญาในช่วงสงกรานต์ของปี 2564 โดยมี พ.ต.ท.ปราโมทย์ บุญตันบุตร จากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวหาในสองคดี ที่ถูกรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน

ก่อนหน้านี้ ศาลให้ประกันตัวเขาเรื่อยมา แต่ในชั้นพิจารณา ศาลได้สั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการพิจารณา โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และนัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 19-20 เม.ย. และ 27-30 ก.ย. 2565 

หลังจากนั้น ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษามาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 เนื่องจากสำนวนคดียังไม่กลับมาจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5

อ่านบันทึกการสืบพยานในคดีนี้ บันทึกจากห้องพิจารณาลับ “บัสบาส มงคล” ต่อสู้คดี ม.112 ถูกฟ้อง 27 กรรม ก่อนฟังคำพิพากษา

อ่านเรื่องราวชีวิตของบัสบาส เสียงเพลงพังก์ ในโลกขบถของ “บัสบาส” ผู้ต่อสู้คดี 112

.

การฟังคำพิพากษาในวันนี้ ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเข้าฟังคำพิพากษา ทนายความได้แถลงขอให้พ่อกับแม่ของจำเลย ซึ่งเดินทางมาด้วย ได้ร่วมเข้าฟัง และศาลได้อนุญาตตามคำขอ โดยในวันนี้อัยการโจทก์ไม่ได้เดินทางมาศาล

เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า จากการนำสืบของโจทก์และจำเลย จำเลยได้รับว่าโพสต์ข้อความทั้งหมดตามที่ถูกฟ้องจริง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโพสต์ดังกล่าว มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ แม้ทั้งโจทก์และจำเลย จะมีพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นนักวิชาการทางนิติศาสตร์เข้าให้ความเห็นว่าบางข้อความก็ไม่เป็นความผิดตามข้อหาดังกล่าว แต่พยานดังกล่าว ศาลจะรับฟังหรือไม่ก็ได้ ศาลสามารถวินิจฉัยโดยความคิดเห็นของวิญญูชนทั่วไปได้ 

ศาลได้วินิจฉัยในแต่ละข้อความ มีความเห็นยกฟ้องจำนวน 13 ข้อความ โดยเป็นข้อความที่กล่าวหาอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 หรือข้อความที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ ว่าโพสต์หมายถึงบุคคลใด และบางโพสต์แม้จะมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่ก็ไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทำให้ศาลเห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112

ขณะที่ศาลเห็นว่าข้อความ รูปภาพและวิดีโอที่ระบุได้ว่ากล่าวถึงพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 จำนวน 14 ข้อความ ถือว่ามีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นเกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย แม้ทางนำสืบของจำเลยจะต่อสู้ว่าไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย แต่การโพสต์ของจำเลยย่อมแสดงให้เห็นว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เรื่องการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

เมื่อการกระทำเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทที่หนักที่สุด คือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้เรียงโทษเป็นกระทงความผิดไป รวม 14 กระทง พิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี

ทั้งนี้ศาลไม่ได้อ่านโทษเต็ม ก่อนลดโทษให้เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา หลังอ่านคำพิพากษา บัสบาสได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องขังของศาล และทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี

ต่อมาเวลา 14.07 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย โดยเจ้าหน้าที่ให้รอฟังคำสั่งในช่วงเย็นวันนี้เลย

เวลา 16.50 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วิดีโอคอลมาแจ้งคำสั่งให้ครอบครัวของจำเลยที่เป็นนายประกัน และทนายความฟัง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยไม่เคยผิดสัญญาประกันตัว จึงอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ด้วยวงเงิน 300,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว 2 ประการ

  1. ห้ามกระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในชั้นสั่งฟ้องคดีต่อศาล นายประกันได้วางหลักทรัพย์ประกันตัวไว้แล้วคดีละ 150,000 บาท รวมสองคดีเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว 300,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ไม่ต้องวางหลักประกันตัวเพิ่มเติมอีกในชั้นอุทธรณ์คดีนี้

สำหรับอัตราโทษในคำพิพากษาของบัสบาส นับได้ว่าสูงสุดที่สุดในคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา แต่ยังต่ำกว่ากรณีของ “อัญชัญ” ซึ่งคดีเกิดขึ้นในยุค คสช. ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 87 ปี จากการเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน จำนวน 29 กรรม โดยเธอให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน (ราว 43.5 ปี) มากที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล ซึ่งปัจจุบันเธอก็ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมา

ขณะเดียวกันนอกจากคดีนี้ของบัสบาส เขายังถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดเชียงรายในภายหลังอีกคดีหนึ่ง จากการโพสต์อีก 2 ข้อความ ซึ่งอยู่ระหว่างรอนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 3 มี.ค. 2566 นี้ 

.

X