ทบทวนการต่อสู้คดี ม.112 ของ “บัสบาส” คดีที่สาม กรณีโพสต์ 2 ข้อความ ก่อนฟังคำพิพากษา

ในวันที่ 30 ต.ค. 2566 เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ โดยนับเป็นคดีที่สามที่เขาถูกกล่าวหาในข้อหานี้

ก่อนหน้านี้ ในสองคดีแรกซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายพิจารณารวมกัน มงคลถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กรวมถึง 27 โพสต์ หลังการต่อสู้คดี ศาลพิพากษาว่ามีความผิดใน 14 ข้อความ ลงโทษจำคุกเป็นกระทงความผิดไป รวม 14 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี โดยคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาและศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

.

บัสบาสถูกจับกุมจากบ้าน ยืนยันต่อสู้คดี จนท.อ้างว่าศาลพิจารณาคดีลับ แม้ไม่ได้สั่งในรายงาน เพื่อนจำเลยเข้าฟังไม่ได้

ในคดีที่สามนี้ มงคลถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 นาย ไปจับกุมจากบ้านในอำเภอพาน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 โดยมีการแสดงหมายจับและหมายค้นของศาล ตำรวจตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและเสื้อยืดที่มีข้อความทางการเมือง พร้อมกับนำตัวเขาไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองเชียงราย โดยตำรวจยังมีการแสดงหมายคำสั่งของศาล ให้สามารถเข้าถึงและคัดลอกข้อมูลโทรศัพท์มือถือที่ตรวจยึดด้วย

คดีนี้มี พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร ฝ่ายสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวหา และเป็นมติของคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ในระดับตำรวจภูธรภาค 5 ให้ดำเนินคดี ข้อความสองโพสต์ที่กล่าวหาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 โดยศาลจังหวัดเชียงรายอนุญาตให้ประกันตัวมงคลระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาต่อมา

จากนั้น อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 โดยกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความของจำเลยทําให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ว่าเป็นบุคคลที่ไม่ดี ไม่ควรเคารพ ในลักษณะด้อยค่า และด้อยพระเกียรติพระมหากษัตริย์

มงคลยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และศาลได้นัดสืบพยานไประหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. 2566

ในการสืบพยาน มีเพื่อนสนิทของมงคลเดินทางมาติดตามฟังคำพิพากษา แต่ในวันแรกของการสืบพยาน เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้เข้ามาแจ้งว่าคดีนี้ศาลให้พิจารณาเป็นการลับ ให้ออกจากห้องพิจารณา และเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลยังมาแจ้งในลักษณะเดียวกัน เพื่อนของมงคลจึงต้องออกจากห้องพิจารณาไป

แต่พบว่าศาลเจ้าของสำนวนไม่ได้มีการสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับอย่างเป็นทางการในกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด และยังมีเจ้าพนักงานตำรวจศาล (Court Marshal) และเจ้าหน้าที่ รปภ.ศาล มานั่งฟังการพิจารณาด้วยโดยตลอด

ทั้งนี้ในสองคดีแรกของมงคลนั้น ศาลได้สั่งให้พิจารณาเป็นการลับตามคำขอของพนักงานอัยการ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรายงานกระบวนพิจารณา ทำให้พ่อและแม่ของมงคลไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้ แต่ในคดีนี้ไม่ได้เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

ขณะเดียวกัน คดีนี้ศาลได้จดบันทึกคำเบิกความโดยการสรุปของศาลใส่เครื่องบันทึกเสียงตามปกติ ไม่ได้ใช้การบันทึกภาพและเสียงของการพิจารณาทั้งหมดเหมือนในสองคดีแรกของมงคล ทำให้พบว่ามีเนื้อหาบางส่วนที่ทนายจำเลยถามค้าน ศาลไม่ได้บันทึกในคำเบิกความพยานแต่ละปากด้วย

.

จำเลยรับว่าโพสต์จริง แต่ไม่ได้ผิด ม.112

ในการสืบพยาน ฝ่ายจำเลยรับคำให้การของพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. จึงไม่ต้องนำเข้าสืบ เหลือฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 9 ปาก และฝ่ายจำเลย มีมงคลเข้าเบิกความในฐานะพยาน 1 ปาก

คดีนี้ มงคลรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งสอง 2 โพสต์จริง แต่ต่อสู้ว่าข้อความไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีลักษณะเป็นการล้อเลียน ขณะเดียวกันก็พยายามต่อสู้ถึงปัญหาของมาตรา 112 และการสั่งให้บังคับใช้หรือหยุดบังคับใช้ไปตามสถานการณ์ทางการเมือง 

ในการยืนยันคำให้การก่อนสืบพยาน มงคลแถลงว่าตนเชื่อในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การใช้มาตรา 112 เป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์ด่างพร้อย ตนเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ด้วยจำนวนกรรมมากที่สุด ตั้งแต่มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นต้นมา

.

ภาพเจ้าหน้าที่จับกุมมงคลในคดีแรก วันที่ 14 เม.ย. 2564 (ภาพจากเพจ Thaivoice.ORG2)

.

ผู้กล่าวหาติดตามจำเลยในฐานะบุคคลเฝ้าระวัง มีชุดตำรวจคอยดูโพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ

พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร ผู้กล่าวหาในคดี ระบุว่าพยานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับคดีความมั่นคง ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ตั้งแต่ในช่วงปี 2564 โดยมีหน้าที่สืบสวนหาข้อมูลในคดีมาตรา 112

พ.ต.ต.ปราโมทย์ ระบุว่าการติดตามบุคคลเฝ้าระวัง ได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางเฟซบุ๊ก และจำเลยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลดังกล่าว ที่พยานติดตามในเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2564 โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวซึ่งเป็นของจำเลยมีการโพสต์หมิ่นเหม่ในประเด็นสถาบันกษัตริย์ จึงทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา และได้ดำเนินคดีไปบางส่วนแล้ว

พยานได้ให้ ด.ต.เฉลิมกิจ เฟื่องฟูกิจการ, ร.ต.อ.เขตต์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, ด.ต.สินชัย ศรีมนเทียร ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นชุดสืบสวนคอยติดตามเฝ้าระวังจำเลย โดยจะต้องรายงานโพสต์ที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทุกโพสต์ พร้อมได้จัดทำรายงานการเฝ้าระวังบัญชีเฟซบุ๊กเอาไว้ด้วย

พยานเบิกความถึงการพบโพสต์ของจำเลยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่เกี่ยวกับสถาบันฯ โดยมีภาพถ่ายจำเลยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงได้ประสานไปยัง ตำรวจ สน.ยานนาวา และสืบสวนพบว่าจำเลยไปอยู่ในกิจกรรมที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้จริง

ต่อมาพยานได้จัดทำรายงานผู้บังคับบัญชาไปตามลำดับขั้น ก่อนมีมติให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับจำเลย ในสองโพสต์ข้อความตามฟ้องนี้ และพยานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.เมืองเชียงราย หลังจากนั้น ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยพยานเป็นคณะทำงานด้วย และพยานยังไปร่วมจับกุมและตรวจค้นบ้านของจำเลยด้วย

พยานรับกับทนายจำเลย ว่าเคยให้ความเห็นในชั้นสอบสวนว่าข้อความของจำเลยเป็นการ “ล้อเลียน เปรียบเทียบ และด้อยค่า” แต่ไม่มีการระบุว่าเป็นการ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย” โดยพยานรับว่าเป็น “การแซว” แต่ต่อมาได้ตอบอัยการถามติง แม้จะเห็นว่าข้อความเกินกว่าคำว่า “แซว” แต่พยานไม่ได้ลงความเห็นไว้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจ

พยานยังรับว่าเคยเห็นรายงานข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112 และถ้าประชาชนทั่วไปได้อ่านข่าวดังกล่าว ก็เข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงไม่ให้ใช้มาตรา 112

.

ตำรวจชุดสืบสวน คอยเฝ้าติดตามจำเลยต่อเนื่องตั้งแต่ปี 63

พยานโจทก์ปากที่ 2 ด.ต.เฉลิมกิจ เฟื่องฟูกิจการ กองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงราย ทำหน้าที่ด้านการข่าวเกี่ยวกับความมั่นคง เบิกความว่าตนได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ต.ปราโมทย์ ให้ทำหน้าที่เฝ้าระวังบุคคลเฝ้าระวังในสื่อออนไลน์

ด.ต.เฉลิมกิจ เบิกความว่าตนเฝ้าติดตามจำเลยในคดีนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณตั้งแต่ปี 2563 และเคยมีการดำเนินคดีมาก่อน จึงมีการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา ได้มีการติดตามโพสต์เกี่ยวกับสถาบันฯ บนเฟซบุ๊ก และได้พบข้อความที่เกี่ยวกับสถาบันฯ บนเฟซบุ๊กของจำเลย จึงได้ร่วมกันจัดทำรายงานผู้บังคับบัญชา โดยทีมสืบสวนยังได้ตั้งกล้องบันทึกวิดีโอบันทึกหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่พบข้อความ เพื่อยืนยันว่ามีการติดตามผ่านทางจอมอนิเตอร์จริงด้วย

ต่อมา พยานยังได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่มีหน้าที่สืบสวน ไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาว่าข้อความใดเป็นความผิดหรือไม่ โดยมีกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เป็นผู้พิจารณาว่าเป็นความผิดหรือไม่

ในการถามค้าน ทนายจำเลยพยายามสอบถามถึงการที่ตำรวจไปติดตามถึงบ้านของจำเลย ซึ่งพยานระบุว่าไม่ทราบ และรับว่านอกจากจำเลย มีประชาชนคนอื่น ๆ ที่ถูกติดตามเฝ้าระวังอีกด้วย

.

ประธานสภา อบจ.ทนายความ ถูกตำรวจเชิญให้ความเห็น

พยานโจทก์ปากที่ 3 สุธีระพงษ์ วันไชยธนวงศ์ ขณะเกิดเหตุเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เบิกความถึงการได้รับหนังสือจากตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย ให้มาให้ความเห็นในคดีนี้ และได้เข้าให้ปากคำเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565

พยานได้ดูโพสต์ของจำเลย และเห็นว่าทั้งสองโพสต์สื่อถึงรัชกาลปัจจุบันในแง่ลบ อาจทำให้บุคคลทั่วไปรู้สึกไม่ถูกต้อง-เหมาะสม พยานระบุว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ไม่ควรทำเช่นนี้ ตราบใดที่ยังมีระบอบนี้อยู่

พยานรับว่าสำหรับตนอ่านแล้ว ไม่ได้รู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง เนื่องจากสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ แต่อาจทำให้คนอื่นได้รับข้อมูลที่ผิด และพยานตอบแทนบุคคลอื่นไม่ได้ ว่าหากอ่านข้อความ จะสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้หรือไม่

พยานโจทก์ปากที่ 4 อภิชัย พรมมินทร์ อาชีพทนายความ เบิกความว่าได้รับการติดต่อจาก สภ.เมืองเชียงราย เพื่อขอความเห็นในคดีมาตรา 112 และได้ดูข้อความในคดีนี้ เห็นว่าสื่อความหมายไปในลักษณะหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เป็นข้อความในแง่ไม่ดี ดูหมิ่น เหยียดหยาม ในความรู้สึกของพยานเห็นว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากถือว่าเป็นสถาบันเบื้องสูง

พยานรับว่าในการมาให้การ เพราะตำรวจรู้จักเป็นการส่วนตัว จึงได้โทรติดต่อไป และรับว่าหลังดูข้อความ พยานก็ยังเคารพสถาบันกษัตริย์ แต่พยานไม่ทราบเรื่องพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องความเดือดร้อนของพระมหากษัตริย์ในการใช้มาตรา 112 และไม่ทราบเรื่องคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ให้ใช้มาตรา 112

.

นักวิชาการสามคน ถูกตำรวจไปขอความเห็นต่อข้อความถึงมหาวิทยาลัย

พยานโจทก์ปากที่ 5 วิวรรธน์ ดำรงค์กุลนันท์ อาจารย์สำนักนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เบิกความว่าพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้มีหนังสือมาถึงมหาวิทยาลัยขอความเห็นทางกฎหมาย ทางอธิการบดีจึงได้มอบหมายให้คณะ และทางคณบดีมอบหมายให้พยานให้ความเห็น ก่อนที่ทางตำรวจจะเข้าไปพบพยานที่มหาวิทยาลัย และนำภาพข้อความในคดีนี้ให้ดู โดยพยานเห็นว่าเป็นข้อความที่ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

พยานรับว่าทราบว่ามาตรา 112 มีการถูกบังคับใช้และไม่ใช้ไปตามนโยบาย สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง และรับว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 6 เป็นคนละเรื่องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้นำมาพิจารณาร่วมกัน โดยบุคคลสาธารณะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต และเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ประเด็นส่วนตัว

พยานโจทก์ปากที่ 6 ดิเรก ควรสมาคม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เบิกความว่าพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ไปพบพยานที่มหาวิทยาลัยในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2565 และให้ดูข้อความตามฟ้องในคดีนี้ พยานอ่านแล้วเห็นว่าเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และน่าจะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112 เป็นการใส่ความ ให้ร้าย หรือกล่าวถึงความประพฤติในแง่ที่ลดเกียรติของผู้อื่น

พยานไม่ทราบว่าการตีความมาตรา 112 ไม่ได้เกี่ยวกับการตีความมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเห็นว่าการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เป็นหลักทั่วไป ข้อความของจำเลยไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด  โดยการหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 นั้น ใช้องค์ประกอบความผิดเดียวกันกับตามมาตรา 326

พยานโจทก์ปากที่ 7 รุ่งโรจน์ ต้นประดิษฐ อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เบิกความว่าพนักงานสอบสวนได้ไปพบพยานที่มหาวิทยาลัย และให้ดูข้อความตามฟ้องในคดีนี้ พยานตีความหมายว่าน่าจะหมายถึงรัชกาลที่ 10 มีลักษณะเป็นการกล่าวร้าย ด้อยค่า และบุคคลทั่วไปก็สามารถตีความได้

.

.

พนักงานสอบสวน 2 ปาก เบิกความถึงการสอบสวนก่อนมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ

พยานโจทก์ปากที่ 8 ร.ต.อ.ศรีเดช สุวรรณ์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เบิกความว่าประมาณวันที่ 28 ก.ค. 2565 ผู้กล่าวหาประสานว่าได้ตรวจพบข้อความหมิ่นเหม่เรื่องสถาบันฯ พยานได้รับคำสั่งให้สอบสวนเบื้องต้น ร่วมกับ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ

ต่อมาพยานได้ทำการสอบสวนพยานบุคคลและนักวิชาการ รวม 2 ปาก เพื่อขอความเห็นว่าข้อความเข้าข่ายความผิดหรือไม่ แต่ยังไม่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ  ต่อมาวันที่ 3 ส.ค. 2565 คณะกรรมการคดีความมั่นคงของตำรวจภูธรภาค 5 ได้ประชุมพิจารณาและมีความเห็นว่าข้อความเป็นความผิดสองโพสต์ จึงมีมติให้ดำเนินคดี และให้ พ.ต.ต.ปราโมทย์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์

ร.ต.อ.ศรีเดช ได้ร่วมสอบสวนทั้งผู้กล่าวหา และพยานความเห็นเพิ่มเติม ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับจากศาลจังหวัดเชียงราย พยานเดินทางไปร่วมจับกุม และตรวจยึดของกลาง โดยพยานตรวจโทรศัพท์มือถือของจำเลย และพบว่ามีการใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่กล่าวหา และพบโพสต์ข้อความจริง

ต่อมาพยานได้รับการแต่งตั้งร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ตามคำสั่งของตำรวจภูธรภาค 5 จากนั้นจึงสรุปสำนวนและพยานหลักฐาน มีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีเสนอต่อผู้บังคับบัญชา

ร.ต.อ.ศรีเดช รับว่าการสอบปากคำพยานความเห็น ส่วนของทนายความนั้น รู้จักเป็นการส่วนตัวกับตนมาก่อน และรับว่าก่อนการสอบสวน ต้องมีการร้องทุกข์ก่อน แต่คดีนี้มีการสอบสวนก่อน เนื่องจากมีการรายงานการกระทำความผิด จึงรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น

พยานรับว่าในช่วงปี 2562-63 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เท่าที่ทราบไม่มีคดีมาตรา 112 แต่พยานไม่ทราบเรื่องไม่ให้มีการบังคับใช้มาตรานี้ โดยพยานได้อ่านข้อความของจำเลย แต่ยังเคารพรักสถาบันฯ อยู่ และสถาบันฯ ก็ยังคงดำรงอยู่ ไม่ได้สูญสลายไป

พยานโจทก์ปากที่ 9 พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ ผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เบิกความว่าเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ได้รับการประสานจากฝ่ายสืบสวน พบว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กของบุคคลเฝ้าโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันฯ พยานจึงทำการสอบสวนเบื้องต้นร่วมกับ ร.ต.อ.ศรีเดช โดยขอความเห็นต่อนักกฎหมายและนักวิชาการเพิ่มเติม ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ก่อนรวบรวมรายงานส่งคณะกรรมการของตำรวจภูธรภาค 5

ต่อมาที่ประชุมมีความเห็นให้ดำเนินคดีในสองโพสต์ข้อความ และวันที่ 3 ส.ค. 2565 ผู้กล่าวหาจึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษ และคณะพนักงานสอบสวนได้สอบสวนพยานความเห็นปากต่าง ๆ เพิ่มเติมถึงความเข้าใจและความรู้สึกต่อข้อความ ก่อนมีการร้องขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาต่อมา

.

จำเลยขึ้นเบิกความ ที่มาที่ไปการโพสต์ และปัญหาของ ม.112

มงคล ถิระโคตร ขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลย ระบุว่าตนประกอบอาชีพเป็นค้าขายออนไลน์ อยู่กับบิดามารดาที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว เนื่องจากมีโรคประจำตัว บิดาอายุ 71 ปี มารดาอายุ 60 ปี บิดาเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ มารดาเป็นไมเกรน

มงคลสนใจการเมืองในประมาณปี 2562-63 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ จึงเข้าร่วมการชุมนุมทั้งที่จังหวัดเชียงรายและกรุงเทพฯ พยานเคยไปร่วมปราศรัยสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งประเด็นการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

หลังพยานร่วมปราศรัย ในช่วงปี 2563-64 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาคอยติดตามพยานถึงบ้าน ระบุว่ามาเยี่ยมเยียนตามคำสั่งนาย และบ่อยครั้งพบว่ามีรถที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยวนเวียนมาที่บ้านพยานทุก ๆ วัน เพราะซอยที่บ้านพยานเป็นซอยตัน ปกติจะไม่มีรถเข้ามา บางครั้งมีการถ่ายรูปหน้าบ้านอย่างชัดเจน

มงคลเบิกความรับว่าตนเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งสองโพสต์ตามฟ้อง แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย เป็นเพียงการล้อเลียนเท่านั้น เนื่องจากในช่วงนั้นมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการทำโพลสำรวจความเห็นต่อขบวนเสด็จ และไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในการต่อสู้คดี ก่อนมีการเคลื่อนไหวอดอาหารประท้วงในเรือนจำ

มงคลยังเบิกความถึงความเข้าใจของตนเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปมา มีทั้งข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกว่ารัชกาลที่ 10 ไม่ให้ใช้มาตรานี้ ก่อนในช่วงปลายปี 2563 จะมีการเปลี่ยนแปลงให้ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา และเริ่มมีการดำเนินคดีมาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การใช้ปราบปรามผู้ชุมนุมหรือผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยมงคลยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดึงสถาบันกษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน

มงคลรับกับอัยการว่าโพสต์ทั้งสองของเขาไม่ใช่เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แต่เป็นการพูดถึงเรื่องส่วนตัว และรับทราบว่าการล้อเลียนเสียดสีมีขอบเขต หากกระทบต่อผู้อื่นให้เสียชื่อเสียง ก็อาจเป็นความผิดต่อกฎหมาย

มงคลระบุว่า เขาเป็นเพียงสามัญชนธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือชื่อเสียง ข้อความไม่ได้ทำให้สถาบันกษัตริย์ด่างพร้อยได้ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หมายถึงการทำให้สถาบันฯ มีความทันสมัย เป็นสากล และยึดโยงกับประชาชน

หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาต่อมา โดยต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อนด้วย

.

อ่านเรื่องราวชีวิตของบัสบาส

เสียงเพลงพังก์ ในโลกขบถของ “บัสบาส” ผู้ต่อสู้คดี 112

อ่านฐานข้อมูล คดี 112 “บัสบาส” นักกิจกรรมเชียงราย คดีที่ 3 โพสต์ 2 ข้อความ เมื่อ ก.ค. 65

.

X