บันทึกจากห้องพิจารณาลับ “บัสบาส มงคล” ต่อสู้คดี ม.112 ถูกฟ้อง 27 กรรม ก่อนฟังคำพิพากษา

“บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 29 ปี นับได้ว่าเป็นประชาชนผู้ถูกฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยจำนวนกระทงที่มากที่สุดใน “ยุคการนำข้อหามาบังคับใช้ใหม่” ตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา คือรวมแล้ว 29 กรรม แยกเป็น 3 คดี

ในสองคดีแรก ซึ่งมีข้อความจากโพสต์เฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหารวมกัน 27 โพสต์ มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยร่วมกันที่ศาลจังหวัดเชียงรายตั้งแต่วันที่ 19-20 เม.ย. และอีกครั้งในวันที่ 27-30 ก.ย. 2565 โดยศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ทำให้นอกจากจำเลย ทนายความ อัยการโจทก์แล้ว ครอบครัวของจำเลยหรือบุคคลภายนอกไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาคดีได้

เดิมหลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 1 ธ.ค. 2565 แต่ได้เลื่อนไปเป็นวันที่ 23 ธ.ค. 2565 เวลา 9.00 น. เนื่องจากสำนวนคดียังไม่กลับมาจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5

* ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ศาลได้แจ้งเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปอีกครั้งเป็นวันที่ 26 ม.ค. 2566

.

สำหรับโพสต์ที่ถูกกล่าวหา 25 ข้อความในคดีแรก เป็นโพสต์ข้อความในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564 ขณะที่โพสต์อีก 2 ข้อความที่ถูกแยกเป็นอีกคดีหนึ่ง เป็นโพสต์ในช่วงวันที่ 8-9 เม.ย. 2564 จากเฟซบุ๊กเดียวกัน

บรรยากาศการพิจารณาคดีในช่วงการสืบพยานทั้งสองช่วงนั้น พ่อและแม่ของมงคลจะเดินทางจากอำเภอพาน ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงรายด้วยเวลาเดินทางราวหนึ่งชั่วโมง มากับเขาในทุกๆ นัดหมาย แต่ทำได้เพียงนั่งรออยู่ภายนอก เพื่อคอยฟังกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาช่วงพักเที่ยงและเย็น หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาจากมงคลหรือทนายความ

ส่วนบรรยากาศการสืบพยาน มีความตึงเครียดเป็นช่วงๆ เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดีหลายครั้งที่ทนายจำเลยได้โต้แย้งทั้งข้อกฎหมายและวิธีการในการถามความกับผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี โดยมีครั้งหนึ่งที่ทนายความต้องขอพักการพิจารณาไว้ก่อนเพื่อปรึกษาหารือระหว่างทนายความและจำเลย หลังจากมีข้อถกเถียงในห้องพิจารณา

ทั้งนี้การสืบพยานระหว่างวันที่ 19-20 เม.ย. 2565 ยังเป็นการสืบพยานแบบปกติ ที่ศาลทำการบันทึกถ้อยคำเบิกความของพยานออกมาเป็นเอกสารคำเบิกความอีกทอดหนึ่ง แต่ในการสืบพยานระหว่างวันที่ 27-30 ก.ย. 2565 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลใช้การสืบพยานโดยระบบการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงภายในห้องพิจารณา เพื่อให้การสืบพยานเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้นด้วย และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ใช้ระบบดังกล่าว

การสืบพยานโจทก์และจำเลยตลอด 6 วัน ฝ่ายอัยการโจทก์นำพยานบุคคลเข้าเบิกความจำนวน 7 ปากด้วยกัน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 ปาก, นักวิชาการมหาวิทยาลัย 1 ปาก และนักวิชาการอิสระ 1 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 3 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย 1 ปาก และนักวิชาการด้านกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีก 2 ปาก

.

.

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้ ได้แก่ จำเลยรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องมาจริง แต่เห็นว่าการกระทำของตนเองเป็นการแสดงออกที่สามารถกระทำได้ ข้อความหลายข้อความ พยานโจทก์เองก็ไม่เห็นว่าเป็นความผิดตามฟ้อง อีกทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ให้นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชนยิ่งสร้างความมั่นใจให้จำเลย ทั้งเห็นว่าการตีความและบังคับใช้ข้อหาตามมาตรา 112 แบบที่เป็นอยู่นี้ไม่เป็นประโยชน์สถานะของสถาบันกษัตริย์

นอกจากนั้นการกระทำของจำเลยไม่ได้สร้างผลกระทบต่อเนื้อตัวร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้ใด การโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหาหลายโพสต์เป็นการโพสต์ถึงอดีตพระมหากษัตริย์ บางโพสต์เป็นเพียงบางช่วงของสารคดีที่มีการเผยแพร่สาธารณะอยู่ก่อนแล้ว บางส่วนเป็นเพียงเนื้อหาข่าวจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์หรือส่งผลต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

ขณะเดียวกัน มีประเด็นที่ทนายความโต้แย้งการแก้ไขฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ ที่ยื่นเข้ามาในการสืบพยานวันแรก โดยมีการขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องเพิ่มเติม โดยเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรื่องการขอให้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อปรากฏว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยศาลอนุญาตให้แก้ไขฟ้อง ด้วยเห็นว่าเป็นการขอแก้ไขรายละเอียดให้ครบถ้วนเท่านั้น ทั้งในคำฟ้องได้บรรยายการกระทำเป็นรายกระทงมาแล้ว และจำเลยให้การปฏิเสธโจทก์โดยมิได้อ้างข้อต่อสู้ใดๆ ไว้ในคำให้การ จึงมิใช่เรื่องการหลงต่อสู้

แต่ฝ่ายทนายจำเลยได้โต้แย้งในแถลงปิดคดี ว่าเดิมนั้นโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยเรียงกรรมตามกระทงความผิด แต่การเพิ่มเติมท้ายฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นการนับเพิ่มจำนวนการกระทำและให้ศาลลงโทษจำเลยเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งคดี ทั้งยังเป็นการยื่นแก้ไขในนัดสืบพยานวันแรก มิใช่นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานแต่อย่างใด  

ก่อนจะถึงวันพิพากษาในคดีนี้ ชวนอ่านประมวลประเด็นคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย จากการสัมภาษณ์ทนายความและจำเลยที่อยู่ในห้องพิจารณาลับ

.

พยานปากที่ 1 และ 2 ที่โจทก์นำเข้าเบิกความได้แก่ พ.ต.ท.โชคชัย พรหมประเสริฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจังหวัดเชียงราย มีหน้าที่ในการสืบสวนหาข่าวของกลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และ พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ มณีจันสุข สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงราย ที่เข้ามาเบิกความคล้ายกันถึงการติดตามพฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่จำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมในจังหวัดเชียงรายและมีการขึ้นกล่าวปราศรัย หลังจากนั้นจำเลยมักจะเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย และพยานก็ได้ติดตามโซเชียลมีเดียของจำเลยเรื่อยมา

จนกระทั่งจำเลยได้มีการประกาศจัดกิจกรรมด้วยตนเอง และมีการเดินทางมาจากบ้านในอ.พานเพื่อมาทำกิจกรรมในเมืองเชียงราย พยานก็ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายฝ่ายติดตามตลอดการมาทำกิจกรรมตั้งแต่ออกจากบ้านจนจำเลยเดินทางกลับบ้าน โดยจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าเฟซบุ๊กที่คาดว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานเป็นตัวจำเลยจริง เมื่อเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงกับการโพสต์ในเฟซบุ๊ก

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 ได้แก่ พ.ต.ท.ปราโมทย์ บุญตันบุตร กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการรับผิดชอบเกี่ยวกับงานความมั่นคง รวมถึงคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและคดีเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เข้าเบิกความในเรื่องที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้รับรายงานเกี่ยวกับเฟซบุ๊กที่มีการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ จึงได้สั่งการให้พยานรวบรวมข้อมูล

พยานได้รวบรวมพยานหลักฐานตามเอกสารที่ส่งต่อศาลใน 2 คดีนี้ แต่ผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวคือ ด.ต.เฉลิมกิจ เฟืองฟูกิจการ และเมื่อพยานได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งไปยังกองกำกับการตำรวจภูธรภาค 5 ก็ได้รับคำสั่งให้พยานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย

สำหรับพยานหลักฐานที่พยานได้รวบรวมนั้น พยานได้เบิกความไล่ไปอย่างละเอียดรวมท้งหมด 27 โพสต์ ใน 2 คดี พร้อมกับให้ความเห็นว่าแต่ละโพสต์นั้นน่าจะเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ตามมาตรา 112

.

ภาพเจ้าหน้าที่จับกุมมงคล วันที่ 14 เมษายน 2564 (ภาพจากเพจ Thaivoice.ORG2)

.

พยานโจทก์ปากที่ 4 ได้แก่ ด.ต.เฉลิมเกียรติ เฟืองฟูกิจการ ผู้บังคับหมู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ มีหน้าที่ด้านการข่าวและความมั่นคง สืบสวนติดตามบุคคลเฝ้าระวัง บุคคลที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และบุคคลที่มีผลเกี่ยวกับความมั่นคง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เบิกความโดยสรุปว่าประมาณปลายปี 2563 พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามจำเลยในคดีนี้ โดยพบว่าจำเลยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวและมีการโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์หลายครั้ง พยานจึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาเป็นระยะ

จนกระทั่งพบการกระทำความผิดในคดีนี้ราวเดือน มี.ค. 2564 พยานก็ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งการบันทึกภาพหน้าจอโพสต์และคัดลอกวิดีโอที่มีการโพสต์ พร้อมจัดทำรายงานส่งต่อผู้บังคับบัญชา จากนั้นพยานได้ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย ผ่านการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์จริงและภาพถ่ายที่ถูกโพสต์ ซึ่งหลายกิจกรรมที่เฟซบุ๊กจำเลยโพสต์ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ไปทำกิจกรรมดังกล่าวจริง ส่วนในเอกสารที่มีข้อมูลผิดพลาดบางส่วนเช่น วันที่ไม่ตรงกับโพสต์ต่างๆ เพราะพยานพิมพ์ผิดพลาดบางส่วน แต่ยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องตามคำฟ้องแล้ว

.

พยานโจทก์ปากที่ 5 ได้แก่ สุรชัย อุฬารวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นพยานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำโพสต์ที่จำเลยถูกกล่าวหาทั้ง 27 กรรม ไปสอบถามความเห็นทางกฎหมาย โดยพยานเบิกความถึงแต่ละโพสต์หากว่าเป็นของจำเลยจริง พยานเห็นว่ามีบางโพสต์จำนวนประมาณ 6-7 โพสต์เท่านั้น ที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนโพสต์อื่นๆ นั้น เห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย

พยานโจทก์ปากที่ 6 ได้แก่ สว่าง กันศรีเวียง นักวิชาการอิสระ ได้เข้ามาเบิกความสั้นๆ ให้ความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ที่จำเลยถูกกล่าวหาเช่นกัน โดยพยานระบุว่า โดยภาพรวมแล้วโพสต์ของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งหมด เนื่องจากมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายต่อทั้งกษัตริย์ ราชินี และอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 โดยที่พยานไม่แยกดูแต่ละโพสต์ แต่ดูโดยภาพรวมและให้ความเห็น

.

พยานโจทก์ปากที่ 7 และ 8 ได้แก่ พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ และ พ.ต.ท.สันติ ศิริสำราญ ทั้งสองเป็นพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้เบิกความคล้ายกันว่า เมื่อราวกลางปี 2564 มีคำสั่งจากกองกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับจำเลย หลังได้รับการแจ้งความร้องทุกข์พร้อมกับพยานหลักฐานในคดีแล้ว พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบปากผู้กล่าวหาไว้ จากนั้นสอบปากคำผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ของจำเลยที่มีการรวบรวมมา

ต่อมาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมาย จึงได้มีการขอศาลจังหวัดเชียงรายออกหมายจับจำเลย โดยครั้งแรกเป็นการจับกุมจำเลยที่กรุงเทพฯ และครั้งที่สองเป็นการจับกุมที่บ้านพักของจำเลย ก่อนจะมีการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยและนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งสองครั้งจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องจำเลย

.

.

การสืบพยานฝ่ายจำเลย

พยานจำเลยปากที่ 1 มงคล ถิระโคตร จำเลย ขึ้นเบิกความถึงประวัติส่วนตัวด้านการศึกษา อาชีพการงาน และสถานะในปัจจุบันที่จำเลยอาศัยอยู่กับพ่ออายุ 70 ปีและแม่อายุ 60 ปี จากนั้นได้เบิกความถึงความสนใจทางการเมืองของตนเอง ที่ได้เข้าร่วมการชุมนุมเนื่องจากเห็นว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถกระทำได้ และจากการร่วมกิจกรรมทางการเมืองนั้นก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาคุกคามที่บ้านอย่างต่อเนื่องก่อนถูกดำเนินคดีนี้

เหตุที่จำเลยถูกจับกุมในคดีนี้ โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนทั้งสองครั้ง ครั้งแรกมาจากการที่ได้เดินทางไปทำการอดอาหารหน้าศาลอาญา ในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองหลายรายที่ไม่ได้สิทธิในการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ขณะจับกุม ตำรวจได้มีความพยายามให้จำเลยทำการเซ็นเอกสารเพื่อรับสารภาพโดยไม่มีทนายความ แต่จำเลยก็ยืนยันให้การปฏิเสธ

ครั้งที่สอง เป็นการจับกุมก่อนที่จำเลยจะเดินทางลงไปทำกิจกรรมที่กรุงเทพฯ โดยมีการประกาศผ่านเฟซบุ๊กไว้ก่อนแล้ว ก็ถูกตำรวจเข้าจับกุมและดำเนินคดีอีกครั้ง ทั้งสองครั้งหลังถูกจับก็มีการนำตัวส่งมาที่ สภ.เมืองเชียงราย เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา

ตอนนั้นจำเลยเห็นว่าบริบททางสังคมที่มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวาง และมีการใช้กฎหมายมาตรา 112 จำนวนมาก อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงไม่ให้ใช้กฎหมายมาตรา 112 เมื่อเห็นแบบนั้นจำเลยจึงโพสต์ข้อความต่างๆ ลงเฟซบุ๊ก ทำให้ถูกดำเนินคดีทั้งสองนี้ โดยคดีที่ 2 นั้นเป็นโพสต์ข้อความที่เกิดขึ้นก่อนการถูกจับกุมครั้งแรกแล้ว แต่มีการดำเนินคดีแยกกัน ไม่ใช่การโพสต์ภายหลังถูกจับกุม

มงคลยืนยันว่ายังคงสนใจสถานการณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์ทั้งในไทย รวมถึงต่างประเทศ แม้จะถูกดำเนินคดีก็ยังคงสนใจเรื่องเหล่านี้อยู่ การโพสต์ข้อความต่างๆ ก็เป็นสาธารณะมาตลอด มีคนมาแสดงความคิดเห็นตามปกติ มีหลากหลายประเด็นทั้งการเมือง ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่จำเลยโพสต์มาและถูกดำเนินคดีมา ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาบอกให้ลบโพสต์แต่อย่างใด

มงคลระบุว่าเดิมตนเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว เมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม เฝ้าดู หรือกระทั่งประชาชนคนอื่นๆ ที่อาจไม่ชอบความเห็น การที่จำเลยจะออกจากบ้านไปไหน ก็ต้องระแวงว่าจะโดนอะไรหรือไม่ กรณีตัวอย่างก็มีให้เห็นอย่างเช่น กรณีของ “จ่านิว” หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ถูกทำร้ายร่างกาย มีภาพกล้องวงจรปิดชัดเจน ก็ยังไม่สามารถจับคนทำได้

เนื่องจากจำเลยมีบ้านอยู่ในอำเภอห่างไกลจากเมือง กล้องวงจรปิดใดๆ ก็ไม่มี ไม่มีกลุ่มก้อนใดๆ คอยดูแล อาจจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ กับตัวจำเลยก็เป็นไปได้ อีกทั้งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพขายของหารายได้ที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจ พ่อแม่ของจำเลยก็อายุมากทั้งคู่

จำเลยยืนยันว่าอยากให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ร่วมกับสังคมไทยสมัยใหม่ไปได้ อยากให้ประชาชนเข้าถึงสถาบันกษัตริย์ได้ สามารถวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบได้ อย่างในประเทศอังกฤษก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี หรือกระทั่งด่าทอได้ เท่าที่ทราบในอังกฤษก็มีกฎหมายคล้ายๆ มาตรา 112 แต่ไม่ใช้กับประชาชน จำเลยก็อยากจะเห็นประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ จำเลยเพียงคนเดียวไม่สามารถล้มล้างสถาบันฯ ได้ การใช้มาตรา 112 ต่างหากที่จะทำให้สถาบันฯ เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ

หากมองในมุมมองของต่างประเทศจะเห็นว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ป่าเถื่อนและมีโทษสูง จำเลยไม่ได้มีความเกลียดชังต่อราชวงศ์ และสุดท้ายจำเลยก็อยากเห็นศาลเชิดชูความคิดเห็นที่แตกต่าง ยึดมั่นในหลักของความเที่ยงธรรม ความเห็นต่างไม่ทำให้ประเทศชาติหรือสถาบันกษัตริย์ล่มสลายได้

.

พยานจำเลยปากที่ 2 ได้แก่ กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นเบิกความโดยให้ความเห็นต่อโพสต์ของจำเลย โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นคือ

1. การเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกอยู่ในบริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เป็น New social movement ที่ลดการเผชิญหน้าลง แต่เปลี่ยนมาเป็นการเสียดสี ด่าทอ ที่เป็นวิธีการโดยสันติ ทำให้มาตรฐานทางสังคมเปลี่ยนไป อย่างในสื่อต่างๆ จะพบเห็นว่ามีการใช้คำหยาบคายโดยทั่วไปมากขึ้น ตัวอย่างในประเทศสเปน มีการเผารูปกษัตริย์ ศาลสิทธิมนุษยชนก็มีความเห็นว่าไม่เป็นความผิด หรือ ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการเผาธงชาติ ศาลก็พิจารณาว่าอาจกระทบต่อจิตใจ แต่ไม่กระทบต่อความมั่นคง มาตรฐานการแสดงความคิดเห็นการแสดงออกได้เปลี่ยนไป

2. การกระทำของจำเลยทั้งหมด พยานเห็นว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่ได้ใช้กำลังปะทะกับใคร จึงเข้าข่ายปฏิบัติการทางการเมืองต่อสาธารณะที่เป็น Civil resistance หรือการต่อต้านของพลเมือง และการดื้อแพ่ง พยานไม่ได้อ้างว่าจะไม่ต้องมีความรับผิดใดๆ แต่หากจะเป็นความผิดได้ จะต้องมีเหตุผลรองรับอย่างหนักแน่นพอ

3. ประเด็นเรื่องความมั่นคง จะต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน หมายถึงต้องเป็นการรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สิน ร่างกาย หรือชีวิตของประชาชน เมื่อการแสดงออกไม่กระทบกับสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องไปดูว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญเรื่องการแสดงออกนั้น ถ้ามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายเรื่องความมั่นคงของรัฐ ก็ไม่อาจจำกัดสิทธิการแสดงความเห็นหรือการแสดงออกได้

พยานเห็นว่าโพสต์ทั้งหมดของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นที่สามารถกระทำได้ แม้จะมีคำหยาบคายอยู่บ้าง แต่หากมองมาตรฐานสากลแล้วก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ อีกทั้งเมื่อสถาบันกษัตริย์ได้ขยายอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว มาตรฐานการวิพากษ์วิจารณ์จึงอยู่ในระดับเดียวกับสถาบันทางการเมืองหรือนักการเมือง พยานเห็นว่าความจงรักภักดีมาจากเหตุและผล การทำให้กระทบกระเทือนจิตใจ ไม่กระทบต่อความจงรักภักดีที่มาจากเหตุผล การโพสต์ข้อความต่างๆ ของจำเลยไม่ได้ทำให้ความจงรักภักดีนั้นเปลี่ยนไป

.

พยานฝ่ายจำเลยปากสุดท้ายที่ขึ้นเบิกความ ได้แก่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความในประเด็นเรื่องการทำกิจกรรมอดอาหารของจำเลยหน้าศาลอาญา จนกระทั่งถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีนี้ และการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน ต่อมาก็ได้มีการให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้งว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา หลังจากนั้นก็พบว่ามีสถิติการใช้มาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ชี้ให้เห็นปัญหาการบังคับมาตรา 112 ที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและมีการใช้เพื่อกลั่นแกล้งจากกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างกัน แม้หลายคดีศาลจะยกฟ้อง แต่ประชาชนที่ต้องตกเป็นจำเลยได้เกิดความลำบากมีภาระตั้งแต่ตอนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว

หลังฝ่ายโจทก์และจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความต่อศาลจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจังหวัดเชียงรายได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 1 ธ.ค. 2565 โดยต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาให้กับอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจดูก่อน และต่อมาเมื่อสำนวนยังไม่กลับมา เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 23 ธ.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

.

อ่านเรื่องราวของ “บัสบาส” เพิ่มเติม เสียงเพลงพังก์ ในโลกขบถของ “บัสบาส” ผู้ต่อสู้คดี 112

.

X