เสียงเพลงพังก์ ในโลกขบถของ “บัสบาส” ผู้ต่อสู้คดี 112

พูดตรงไปตรงมา ตัวเขาเองยังคาดคะเนว่าอาจจะถูกตัดสินโทษจำคุกในหลัก 10 ปี

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ “บัสบาส” หรือมงคล ถิระโคตร ในวัย 29 ปี กลายเป็นคนที่ถูกกล่าวหาด้วยจำนวนกรรมที่มากที่สุดในคดีมาตรา 112 ในยุคหลังปี 2563 เป็นต้นมา จากการที่เขาพูดและโพสต์เรื่องสถาบันกษัตริย์ตรงไปตรงมาอย่างต่อเนื่อง และคดีของเขากำลังเดินหน้าสู่การฟังคำพิพากษา

ณ เดือนธันวาคม 2565 เขาโดนฟ้องคดีตามมาตรา 112 ไปแล้ว 3 คดี คิดรวมเป็นจำนวน 29 กระทง จากการโพสต์ข้อความทั้งหมด 29 โพสต์ จำนวนนับเท่ากับ “อัญชัญ” ผู้ยังถูกจองจำในคดีข้อหานี้ด้วยโทษที่มากเป็นประวัติการณ์ แต่บัสบาสเลือกที่จะต่อสู้คดี ซึ่งหากศาลลงโทษด้วยอัตราโทษขั้นต่ำของข้อหานี้คือจำคุก 3 ปี และเห็นว่าผิดทุกกระทง เขาจะถูกตัดสินโทษจำคุก 87 ปี โดยไม่ได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่งเหมือนกับอัญชัญ นั่นไม่ต่างจากตลอดชีวิตของคนหนึ่งคน

วิธีการเคลื่อนไหวหรือแสดงออกของเขา อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ อาจถูกมองได้ว่าสุ่มเสี่ยงเกินไป อาจถูกมองได้ว่าไม่ก่อให้เกิดมรรคผลใด แต่ก็เป็นการทดลองที่เขากำลังเรียนรู้และพร้อมรับผลของมัน รวมทั้งยังมีที่มาที่ไปอันเกี่ยวพันกับมุมมองและการเติบโตในชีวิตของเขา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดคุยกับ “บัสบาส” ถึงบางเศษเสี้ยวเหล่านั้น ในวันที่เขากำลังรอคอยฟังคำพิพากษา 23 ธ.ค. นี้

ก่อนอ่านเรื่องราวของเขา ชวนเสาะหาดนตรีพังก์สักเพลงเปิดฟังประกอบ พังก์…อันเร่าร้อน ปลุกเร้า และท้าทาย

.

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบัสบาสเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 (ภาพจากเพจ Thaivoice.ORG2)

.

Smells Like Teen Spirit: “บัสบาส” ในวัยวันเกกมะเหรก

เรื่องเล็กๆ เรื่องแรกที่เขาอยากให้รู้ คือชื่อเล่นจริงๆ ของเขานั้นไม่ใช่ “บาส” แต่เป็น “บัส” แต่จะเรียกเขาว่า “บัสบาส” ก็ได้

“ชื่อเล่นผม คือ ‘บัส’ แล้วตั้งแต่เด็ก เพื่อนมันก็เรียกกันไม่ถนัด มันก็บัสบ้าง บาสบ้าง เราก็จะเรียกแบบไหนก็เอา ยังไงก็ได้ ก็เลยเป็น ‘บัสบาส’ เราก็เลยตั้งเป็นชื่อเฟซบุ๊กตั้งแต่แรก กลายเป็น Aka เหมือนแรปเปอร์ กลายเป็นนามแฝง”

แม้ปัจจุบัน บัสบาสจะอาศัยอยู่ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แต่เขาก็เพิ่งย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านของแม่นี้ได้ไม่กี่ปีนี้ เพราะจริงๆ เขาเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ บริเวณย่านอ่อนนุช

ช่วงนั้น พ่อของเขาซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ทำงานอยู่ที่บริษัทเกี่ยวกับยา ส่วนแม่ที่เป็นคนเชียงราย เปิดร้านกับข้าว ขายอาหารเหนืออยู่ เขาเข้าเรียนทั้งประถมและมัธยมในโรงเรียนแถบนั้น  บัสบาสเล่าว่าแม้ครอบครัวไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจ แต่เขาก็ไปทำงานหารายได้สารพัดมาตั้งแต่ช่วงเรียน ม.ต้น

“ตั้งแต่มัธยม ป้าผมทำงานเกี่ยวกับอู่ซ่อมรถ ผมก็ไปช่วยทำช่วงปิดเทอม ประมาณสัก ม.1-2 พอเปิดเทอม ก็กลับมาเรียน ช่วง ม.3 ผมก็ไปเป็นเชฟ ทำงานหน้าเตาสเต็ก พอจบ ม.3 ก็ไปสมัครงานเป็นผู้ช่วยกุ๊ก อยู่ร้านอาหารญี่ปุ่น ก็คลุกคลีแบบนั้น ตอนแรก ไม่ได้ชอบเรื่องทำอาหาร อย่างอาหารญี่ปุ่น ผมไม่ชอบ แต่พอไปทำจริงๆ รู้สึกมันน่าสนใจดี พบว่ามันมีเสน่ห์ของมัน” 

หลังจบมัธยมต้น บัสบาสหันไปเรียนสายอาชีพ ที่ไทยวิจิตรศิลป ในสาขาวิชาออกแบบภายใน เขารับตรงไปตรงมาว่าชีวิตในช่วงนั้นกลายเป็นเด็กเกเร กระทั่งได้ผ่านคุกผ่านตารางมาแล้วในประสบการณ์ช่วงนั้น

“ตอนนั้นยังเด็ก และไปแนวเกเร พื้นฐานผมเป็นเด็กเกเร ผมลุยไปหมด ตีรันฟันแทง ผ่านมาหมด มีทั้งโดนจับติดคุก มีประสบการณ์ติดคุกมาก่อนแล้ว ผมโดนตอนอายุ 19 ออกมาตอนอายุ 20

“ในชีวิตช่วงนั้น คือมันก็ย้อนกลับไปไม่ได้แหละ ด้วยความที่เรายังเด็ก โลกเรามันยังกว้างไม่พอ สังคมที่เราอยู่มันหล่อหลอมเราแบบนั้น ท้ายที่สุด เราย้อนไปแก้ไขได้ แต่เราก็จะไม่กลับไปทำอะไรที่มันเป็นแบบนั้นอีก

“พอผ่านจุดนั้นมาได้แล้ว ผ่านอะไรหลายอย่าง ทั้งเรื่องความรุนแรง เราก็เรียนรู้มัน เรากลับไปอ่านหนังสือ ศึกษาเพิ่มเติมภายหลัง มันก็ได้เรียนรู้ว่าการใช้ความรุนแรงมันไม่ใช่สิ่งที่ดี

“แต่อีกมุมหนึ่ง มันก็เป็นภูมิคุ้มกันขึ้นมาในชีวิต อย่างผมเรียนอาชีวะ มันก็มีสกีล เวลามีใครมาติดตาม มีใครมาคุกคาม หรือรถอะไรแปลกๆ ขับมา ผมก็พยายามสังเกตก่อน อันนี้ก็ยังมีมา จนในช่วงเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็มีสกีลการระวังตัว ตัวผมเองก็ไม่ได้มีกลุ่มมีก้อน แต่เป็นแบบมวลชนอิสระ ก็เลยต้องระวังตัวเอง”

หลังจากวันคืนอันเกเรนั้น เขาไปเป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่ค่ายทหารในพื้นที่เพชรบุรี ซึ่งเป็นช่วงหลังรัฐประหาร 2557 พอดี แล้วหันมาเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อน โดยไปขายเสื้อผ้ามือสอง เน้นเสื้อผ้าเกี่ยวกับดนตรีตามความสนใจในช่วงนั้น

“พอเริ่มมีตลาดนัดรถไฟ ก็ไปขายเสื้อผ้า เสื้อผ้ามือสอง เสื้อวงดนตรี เป็นการหุ้นกับเพื่อน เปิดร้านขายเสื้อผ้า แล้วเรามาทำค้าขาย ช่วงเดียวกับที่มีรัฐประหาร คสช. ดันไปทำช่วงนั้น เศรษฐกิจก็แย่ลง คนเดินมันก็น้อย ตอนนั้นจำได้ว่ามีทหารเดินอยู่ในตลาด เดินอยู่ในซีคอนฯ เลยนะ”

แม้ธุรกิจที่มีหน้าร้านจะไปไม่รอด ประกอบกับต้องย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเชียงราย บัสบาสจึงพยายามเปลี่ยนมาขายเสื้อผ้าทางออนไลน์อยู่อีกช่วงใหญ่ โดยที่ความสนใจในด้านดนตรี และวัฒนธรรมพังก์ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญในชีวิต

.

.

Punk Rock Rebel: พังก์กับวิถีชีวิตขบถ

บัสบาสรับว่าเขานิยมชมชอบวัฒนธรรม “พังก์” (Punk) แต่สำหรับเขา พังก์ไม่ใช่แค่แนวดนตรี ไม่ใช่แค่การทำทรงผมหรือรูปแบบเครื่องแต่งกาย แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นชีวิตแบบที่มีความขบถต่ออำนาจกดขี่ต่างๆ

เขาเริ่มเรียนรู้เรื่องของพังก์จากการฟังเพลง โดยเริ่มฟังเพลงหลากหลายแนวมาตั้งแต่ช่วงเรียนชั้นมัธยมต้น จนเริ่มลุ่มหลงในแนวทางพังก์ในช่วงเรียน ปวช. เพลงที่ทำให้เขาตื่นตะลึงคือ God Save the Queen ของ Sex Pistols ที่มีการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร โดยไม่เคยมีใครต้องติดคุกจากเพลงนี้

“เราเองเรียนรู้เรื่องนี้ จากการฟังเพลง ถ้าเริ่มเลย อย่างเพลง God Save the Queen ของ Sex Pistols เราฟังแล้วก็แม่ง ทำไมมันพูดเรื่อง Queen ได้ว่ะ ทำให้เรามีคำถามในเชิงเปรียบเทียบ แล้วในไทยมันจะร้องได้ไหม ทำแบบนี้ได้ไหม แล้วก็ฟังต่อยอดไปอีกหลายๆ วง

“สำหรับผม พังก์ มันไม่ใช่แค่การแต่งกาย แต่มันคือวิถีชีวิตในการมีความขบถ ผมเองพบว่าตัวเองก็มีความต่อต้านมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วเราก็โตมากับดนตรีพังก์ เมื่อก่อนก็แต่งตัวแรง ทำผมทำอะไรด้วย แต่พอเราเริ่มโตขึ้น เราก็เริ่มเห็นว่าการแต่งตัวมันก็เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง แต่ในบริบทไทย มันต่างจากของอังกฤษ ที่ culture มันเป็นอีกแบบ

“ผมมองว่าวัยรุ่นเจนที่เติบโตขึ้นมาในการรับรู้เกี่ยวกับพังก์ เขาอาจจะมองแค่เป็นการแต่งตัว ทำผม อะไรแบบนี้ ตอนนี้คำว่าพังก์ในไทย เองก็ถูกตีความไปหลากหลายมาก ก็มีการตีความว่าพังก์เป็นแบบนั้น เป็นแบบนี้”

แม้พังก์จะแตกแขนงไปหลายแนว แต่สำหรับบัสบาส เขาคิดว่าตนเองนิยมไปในทาง “พังก์ร็อค” โดยวงที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับเขาคือ Nirvana

“จริงๆ ผมก็ฟังหลากหลายแนว วงเก่าๆ อย่าง Frank Sinatra ผมก็ฟัง จริงๆ เป็นคนชอบฟังเพลง Oldies เหมือนกัน อย่าง The Beatles, Led Zeppelin, Queen ก็ฟังหมด แต่ Nirvana คืออันดับหนึ่ง เป็นวงที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผม คือผมชอบในความพังก์ร็อคมากกว่า ไม่ได้พังก์เพียวอะไรขนาดนั้น ไม่ได้ฟิวส์แบบสตรีทพังก์แบบนั้น

“Nirvana ผมถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการดนตรี มันมีความขบถ สามารถขึ้นบิลบอร์ดชาร์ท แซงหน้าไมเคิล แจ็กสัน ได้ ทั้งที่อยู่อันดับ 1 มาตั้งนาน พออัลบั้ม Never mind ขึ้นมา เพลง Smells Like Teen Spirit ขึ้นมา ก็ขึ้นอันดับ 1 บิลบอร์ด ถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการดนตรีเลย แล้วยุค Hair Band ก็ล้มหายตายจากกันไปเลย วงการดนตรียุค Alternative ก็มากันเลย วงไทยๆ ก็มาด้วยเลย รู้สึกมันเป็นวงที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลง ผมชอบอะไรที่มันปฏิวัติๆ แบบนี้”

นอกจากอยู่ในฐานะคนฟัง บัสบาสยังเคยทำวงดนตรีกับเพื่อน โดยเขาทำหน้าที่เป็นมือกลองของวง ทั้งมีการทำเพลงเองและเอาเพลงของต่างประเทศมา cover เล่นกัน ตอนนั้นเขาเล่าว่ามีมือกลองที่เป็นไอดอล อย่าง Dave Grohl ของ Nirvana, Travis Barker ของวง Blink-182, Joey Jordison แห่ง Slipknot

“แต่ก่อนก็เคยเล่นดนตรีในแนววง Underground แนวแบบใต้ดิน ผมก็ไปตีกลอง โดยไม่ได้ไปเรียนที่ไหน สมัยก่อนคือเสียบหูฟัง แล้วแกะเสียงเอา ว่าจังหวะนี้มันตียังไง ลำบากกว่าสมัยนี้

“ต้องบอกว่ามันจะมียุคที่พังก์บูมอยู่เหมือนกัน ในกลุ่ม Underground อย่างที่สวนจตุจักร จะมีการจัดงานทุกวันเสาร์ ก็เล่นคอนเสิร์ตอะไรกัน แต่พอคนมันโตขึ้นๆ ก็เริ่มซาไป ไม่มีสปอนเซอร์อุดหนุนด้วย คนที่เคยเป็นพังก์พอมันเริ่มโตขึ้น อายุมากขึ้น เขาก็คงไม่มาย้อมผมสี ทำผมสไปกี้ (Spiky) ซัดโมฮอว์ก (Mohawk) อะไรกัน ก็ไปทำอย่างอื่น ก็เป็นไปตามเวลา ช่วงอายุวัยคน ตอนนี้มันเลยซาไปละ

“ไอ้ย้อมสีผมอะไร ผมก็เคยทำมาหมด แต่ผมฟังพังก์หลากหลายรูปแบบ พังก์มันไม่ได้มีแค่ว่าต้องทำสไปกี้ โมฮอว์ก อย่าง Iggy Pop แบบนี้ เขาแค่ไว้ผมยาว พังก์มันไม่ต้องแค่มาใส่หมุด เสื้อหนัง แต่มันมีหลากหลายแบบมาก ตอนผมเล่นวง ผมใส่กางเกงยีนส์ ใส่รองเท้าผ้าใบ ใส่เสื้อยืด ผมไม่ได้ย้อม แต่เราเน้นสื่อสารด้วยดนตรีมากกว่า”

.

.

Our tattoos are the story of our lives: รอยสักที่บันทึกประวัติศาสตร์สังคม

นอกจากเรื่องดนตรีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บัสบาสนิยมชมชอบในชีวิตคือ “รอยสัก” ด้วยความเป็นคนนิยมทางศิลปะอยู่แล้ว ทำให้เขาสนใจงาน tattoo ที่นำเรื่องราวต่างๆ มาบอกเล่าบนร่างกายมนุษย์โดยตรง

บัสบาสเล่าว่าเริ่มสักครั้งแรกตั้งแต่อายุประมาณ 15 ปี แล้วก็ทยอยสักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งรูปแบบที่ดีไซน์เอง และมีเพื่อนช่างสักออกแบบใหม่

เขาเล่าถึงหลายรอยสักที่เป็นบทบันทึกของสังคมการเมืองไทยในช่วงต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนร่างกายของตัวเอง ตั้งแต่ภาพคนตาย ที่เกี่ยวเนื่องกับการสังหารหมู่คนเสื้อแดงเมื่อปี 2553, ภาพเสือดำ เกี่ยวเนื่องกับข่าวนักธุรกิจผู้ฆ่าเสือดำ, ถ้อยคำ “No God, No King, Only Human”, ข้อความสื่อสารไม่เอามาตรา 112 หรือชุดตัวเลขที่เขาบอกว่าพยายามย้ำเตือนถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่ยังเป็นปริศนาในสังคมไทย

“ผมคิดว่าคดีนี้ มันไม่มีการสะสางอย่างแท้จริง ถ้าคนศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างแท้จริง ว่าชิต บุศย์ เฉลียว จะเป็นคนเข้าไปยิง เราเห็นว่ากรณีนี้สำคัญมาก เพราะเป็นต้นตอหนึ่งของการพ้นผิดลอยนวลในสังคมไทย มันลากยาวจากกรณีนี้มาจนถึงปัจจุบัน เรื่องพ้นผิดลอยนวลกลายเป็นเรื่องปกติ การซุกไว้ใต้พรมกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่มีการสะสางในหลายกรณี” บัสบาสบอกถึงความสนใจของเขาเกี่ยวกับกรณีสวรรคตนี้

“ที่เราสักไว้ เพื่อเตือนใจ เตือนให้รู้ว่าเรื่องนี้มันยังไม่เคยถูกสะสางอย่างแท้จริงในประเทศไทย ผมถือว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมือง-สังคม ในยุคช่วงชีวิตของเรา ที่เราเกิดมา เราเจออะไรบ้าง มันถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่เราเจอ ก็เลยนำมาทำเป็นงานศิลปะ แล้วนำมาใส่ในตัว เพราะเราชอบเรื่องงานสัก งาน tattoo อยู่แล้ว”

.

The Haircut Song: ทบทวนการเคลื่อนไหวในวัยเยาว์

เมื่อโยงสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ความขบถ’ เข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวในวัยรุ่น บัสบาสยังเล่าว่าตัวเองมีร่องรอยของสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วตั้งแต่วัยเด็ก นั่นคือเรื่องทรงผมนักเรียน ที่กลายเป็นการต่อสู้ต่ออำนาจบางอย่างเป็นครั้งแรกๆ ที่เขาจดจำได้

“ความต่อต้านที่มีตั้งแต่สมัยเด็ก นี่คือเรื่องทรงผมก่อนเลย ตอนนั้น ม.ต้น จำได้ว่าตัดสกรีนเฮดไปเรียน แล้วอาจารย์เขาเอาผมไปเข้าห้องปกครอง บอกว่าทรงผมนี้เป็นทรงผมแฟชั่น ผมก็งงว่าแฟชั่นยังไง ผมก็อธิบายว่ามันก็สั้น ก็สะอาดดีนะ เขาก็บอกว่าถ้าไม่ไปแก้ จะไล่เธอออก ผมก็งง ขนาดนั้นเลยเหรอ แค่ทรงผม เขาบอกว่าแบบนั้น ก็จะโทรเรียกแม่เธอมา แล้วจะทำเรื่อง ให้ส่งต่อไปเรียนที่อื่น

“ทีนี้ พอแม่มา แม่ก็พยายามไกล่เกลี่ยผม อาจารย์ฝ่ายปกครองก็มีการเสนอว่าให้เราไปโกนคิ้ว ให้เหมือนเราไปบวชหน้าไฟมา แล้วจะให้เรียนต่อได้ แม่ผมก็บอกให้ทำไปเถอะ จะได้ไปเรียนต่อได้ ผมก็ยอมทำตาม โกนคิ้ว (หัวเราะ)

“พอผมกลับไปห้อง ก็มีเพื่อนเยอะ มีหลายห้องด้วย ผมก็คุยกับเพื่อน ชวนกันมาตัดสกรีนเฮดแม่งให้หมดเลย หลายร้อยคนก็ตกลง ก็ไปตัดสกรีนเฮดกันจริงๆ มาโรงเรียนกันหมด อาจารย์ก็เหวอเหมือนกัน ก็มีการไล่จับคนที่ตัดผม ถ้าเรามามองยุคนี้ เรื่องแบบนี้คือตลกมากนะ

“แล้วก็มีเรื่องเครื่องแต่งกายในโรงเรียน ก็มีการพยายามต่อต้านเรื่อยๆ เราเป็นพวกชอบแต่งตัว พอตอน ปวช. มันก็ฟรีแล้ว เราใส่ยีนส์ ไว้ผมยาวได้แล้ว ก็เลยไม่ค่อยมีอะไรพวกนี้แล้ว”

พอกล่าวได้ว่า การสื่อสารแบบพังก์ๆ ที่อาจมีถ้อยคำหยาบคาย อาจดูเกรี้ยวกราด อาจดูก้าวร้าวไปบ้าง แต่ก็มีนัยยะสื่อสารถึงเรื่องราวในสังคม การกดขี่ของอำนาจ และล้อเลียนผู้มีอำนาจต่างๆ สิ่งเหล่านี้ยังส่งอิทธิพลต่อบัสบาสมาจนถึงปัจจุบัน

“มันมีเพลงที่มีเนื้อหาต่อต้านความอยุติธรรมในหลายอย่าง มันอาจจะดูเกรี้ยวกราด มีสบถมีอะไร ซึ่งอันนั้นมันเป็นเพียงแค่หน้าสื่อ อย่างโพสต์ของผมที่ดูเหมือนเกรี้ยวกราด ผมต้องการให้หน้าสื่อ บุคลิกเป็นไปในรูปแบบนั้นเฉยๆ แต่ถ้าเจอผมจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ผมอยากจะสื่อสารแบบนั้น ก็เลยไปในรูปแบบนั้น” บัสบาสสรุปถึงสิ่งที่เขาคิดในวัย 29 ปีนี้

.

.

God Save the Queen: ก่อรูปร่างความสนใจทางการเมือง

จากเสียงเพลง รอยสัก และวัฒนธรรมพังก์ บัสบาสเลี่ยงไม่พ้นที่จะเดินทางมาถึงความสนใจต่อสังคมการเมืองที่ตนเองอยู่ เขาเล่าว่าในครอบครัวตัวเองที่โตมา ก็เป็นพื้นฐานให้ความสนใจทางการเมืองอยู่แล้ว โดยพ่อของเขาเป็นคนเสื้อแดง ที่เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ราวปี 2551 ช่วงที่ขบวนการเคลื่อนไหวในนาม นปช. กำลังก่อตัวขึ้น

บัสบาสบอกว่าพ่อของเขาค่อนข้างเปิดกว้างทางความคิด แม้จนถึงปัจจุบัน ที่เขากลายเป็นจำเลยคดีความมั่นคงเช่นนี้ พ่อก็พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เขาทำอยู่ และมาร่วมติดตามคดีของเขาอย่างใกล้ชิด

ตัวเขาเองมาเริ่มสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ในสถานการณ์ที่กลุ่ม กปปส. กำลังเคลื่อนไหวปิดกรุงเทพฯ ณ ช่วงต้นปี 2557 เขาเห็นกระแสที่ดาราไปร่วม ใครไม่ไปร่วมจะเชย ทำให้เกิดความสงสัยว่าม็อบนี้มันเป็นแบบไหน จนเมื่อเริ่มมีสถานการณ์ปิดกั้นหน่วยเลือกตั้ง และนำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เขาเลยเริ่มตระหนักถึงความประหลาดของการเมืองไทย

“หลังจากนั้น มีช่วงที่พวกโรม (รังสิมันต์ โรม) พวกไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ออกมาเคลื่อนไหว หลังรัฐประหาร ตอนนั้น ผมไปเป็นทหารอยู่ ก็ไม่ได้ทำอะไร เราก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวนั้น แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ตามดูข่าวอยู่ในค่ายทหารอย่างเดียว ก็มีความสนใจมาเรื่อยๆ

“จนปลดทหารมา จำได้ว่าเป็นช่วงไผ่ติดคุกแล้ว ผมก็เริ่มมีการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมากขึ้น มีวิจารณ์เรื่องประยุทธ์ เรื่องรัฐบาล พอเริ่มมีการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้นก็เริ่มมีความหวังมากขึ้น แต่ใจก็คิดว่าอาจจะโดนยุบแน่ มันต้องโดนอะไรแน่ ออกตัวมาแบบนั้น แล้วก็โดนยุบจริงๆ แล้วก็มีกระแสการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ผมก็เข้าร่วม และเริ่มขึ้นเวทีปราศรัย ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา”

บัสบาสบอกว่าเขาไล่ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมืองด้วยตนเอง ทั้งในรูปแบบการอ่านหนังสือ และฟังคลิปการอภิปรายทางวิชาการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขาไล่ตามอ่านผลงานรูปแบบต่างๆ ของ ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุรชาติ บำรุงสุข รวมถึงบันทึกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ “คนเดือนตุลา” และเรื่องราวเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ในอดีต อย่างกรณีที่สะเทือนใจเขา คือ กรณี “อากง” อำพล ตั้งนพกุล ผู้เสียชีวิตภายใต้การจองจำ

“คือก่อนหน้านี้ เด็กๆ เราถูกปลูกฝังให้อ่านในอีกรูปแบบหนึ่งมาก่อน แล้วทีนี้ เราได้มาอ่านในอีกมุมหนึ่ง พออ่านไปเรื่อยๆ มันก็ทำให้อยากศึกษามากขึ้น โดยมีจุดประกายที่ทำให้ผมอยากศึกษามากขึ้น คือได้ฟังงานเสวนาครั้งที่ อ.สมศักดิ์ ไปพูดในงาน ‘แขวนเสรีภาพ’ (ปี 2555)

“เรื่อง 6 ตุลา เดิมตอนเด็กๆ ไม่เคยมีในหัวเราเลย แต่ว่าตอน ปวช. เคยไปซื้อซีดีที่เคยขายตรงสนามหลวง ซีดีเหตุการณ์ต่างๆ มีคนเอามาวางขาย ผมก็ไปซื้อมาดู อยากรู้ว่าสมัยก่อนมันเป็นยังไงบ้าง ตอนนั้น เราก็ยังแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอันไหนมัน 14 ตุลา อันไหนมัน 6 ตุลา พอเริ่มโตขึ้น ศึกษามากขึ้น มันก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น

“จากช่วงแรกๆ ที่ด่าประยุทธ์เป็นหลัก ก็เริ่มเห็นปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่ประยุทธ์แล้ว”

.

.

Babylon’s Burning: คดีความ คุกตะราง และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

จากจุดเริ่มต้นในการศึกษาเรื่องราวของคนอื่น บัสบาสดูเหมือนจะออกเดินมาไกล จนกำลังกลายเป็นตัวละครหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมาตรา 112

เขาเริ่มขึ้นเวทีปราศรัยในจังหวัดเชียงรายตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เริ่มพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ตรงไปตรงมา ทำให้เป็นที่มาของการถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจับตามากขึ้น ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ กระทั่งช่วงสงกรานต์ของปี 2564 เขาเดินทางไปปฏิบัติการอดอาหารที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวแกนนำราษฎรในช่วงนั้น แต่ตัวเขากลับถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 เสียเอง

“ผมรู้สึกว่าความกลัวมันเยอะเกินไปแล้ว ในโลกยุคสมัยใหม่ แต่ความกลัวมันยังเยอะเกินไป เราต้องพูดเรื่องนี้กันตรงๆ ได้แล้ว ผมก็พยายามพูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม มันมีอะไร เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ เกิดอะไรกับสถาบันกษัตริย์ เราพูดกันตรงๆ ดีกว่าไหม ด้วยความที่ผมเป็นคนตรงๆ ไม่ค่อยพูดอ้อมค้อม คือเราโตมากับผู้ใหญ่ที่พูดเลี่ยงบาลี พูดอ้อมไปมา ไม่พูดกันตรงไปตรงมา เราไม่อยากเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น เราคิดว่าบางสิ่งบางอย่างเราต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมากันได้

“แน่นอนว่า ในการเคลื่อนไหวตรงนี้ ผมคิดว่าตัวเองอาจจะโดนอะไรสักอย่างแน่นอนอยู่แล้วละ ไม่ว่าในรูปแบบไหน แต่ว่าท้ายที่สุด คนเราเกิดมาครั้งเดียว ชีวิตเดียว ผมคิดว่ามันก็ต้องทำในสิ่งที่เราเชื่อ แต่มันก็อาจจะดูเห็นแก่ตัวกับคนรอบข้าง กับพ่อกับแม่ แต่ผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทางประวัติศาสตร์ คือในทุกการเคลื่อนไหว มันมีความหมายเสมอ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการเคลื่อนไหวในรูปแบบผม แต่มันทำได้หลายรูปแบบ”

จากนั้นก็เหมือนทำนบเขื่อนแตก เมื่อมีครั้งแรก ครั้งต่อๆ มาก็ตามมาอีก บัสบาสถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 รวม 3 ครั้งรวด เริ่มด้วย 25 กระทง ในคดีแรก, 2 กระทงในคดีที่สอง กระทั่งอีก 2 กระทงในคดีที่สาม

ในการต่อสู้คดี สองคดีแรกถูกศาลพิจารณารวมกัน และยังถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ส่วนคดีหลังสุดก็ถูกสั่งฟ้องศาลไปแล้วเช่นกัน ยังรอคอยการสืบพยานในปีถัดไป

เขาเล่าว่าในการสืบพยานคดีที่ผ่านมา เขาเห็นข้อมูลของทางตำรวจ ที่มีการถ่ายภาพเขาตามจุดต่างๆ จำนวนมาก แม้จะไม่ใช่การไปทำกิจกรรมทางการเมืองใด แต่เป็นภาพถ่ายในชีวิตประจำวัน แต่เขากลับกลายเป็นเป้าหมายในการติดตามของเจ้าหน้าที่

“เขามีรูปผมเกือบทุกที่เลย ผมไปกินข้าว ผมขับรถ ผมไปโรงบาล ผมไม่ได้ไปทำกิจกรรมอะไร ก็มีรูปผม มีรูปตั้งแต่ตอนผมไว้ผมยาว ผมก็โอ้โห มันตามขนาดนี้เลยเหรอ มันต้องว่างกันขนาดไหนว่ะเนี่ย ต้องว่างกันขนาดไหน”

บัสบาสยอมรับในคดีตรงไปตรงมาว่า เขาโพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด แต่เขายืนยันว่าสถาบันกษัตริย์มีปัญหาที่ต้องการการปฏิรูปให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย และความเห็นต่างไม่ทำให้ประเทศชาติหรือสถาบันกษัตริย์ล่มสลายได้ การถูกดำเนินคดีของเขามาจากความแตกต่างทางความคิด เขาไม่ได้ไปทำร้ายทางกายภาพต่อใคร

“สำหรับผม ถ้าสถาบันกษัตริย์มีการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตย อยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน แค่นั้นเอง แบบอังกฤษ แบบญี่ปุ่น มันควรจะเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้ เขาไม่ยอมรับข้อเสนอต่างๆ เลย ตั้งแต่มีข้อเรียกร้องอะไรมา

“ในส่วนตัวผม ก็ยังมีหวังอยู่ตลอด ถึงแม้ผมจะโดนมาตรา 112 ไป 29 กรรม แต่ผมก็ยังมีหวังอยู่นะ ว่าในอนาคตข้างหน้า ในท้ายที่สุด สังคมมันไม่สามารถฝืนธรรมชาติ ฝืนเวลา ฝืนความเปลี่ยนแปลงได้หรอก มันอาจจะช้าหน่อย เราไม่ได้มีอำนาจ เราก็อาจต้องเจ็บปวด เราอาจมีบาดแผล แต่มันก็คือการต่อสู้นั่นแหละ

“ดีที่ที่บ้านค่อนข้างเข้าใจที่ผมทำและโดนคดี อย่างพ่อผมก็เป็นเสื้อแดงมาก่อน เขาก็มีกังวลบ้าง แต่ท้ายที่สุด เขาก็เห็นว่าตัวผมเลือกแล้ว ว่าเราทำมาทางนี้ มันก็ต้องไป ปลายทางมันจะเป็นยังไง มันก็ว่ากันอีกที แต่ ณ ปัจจุบัน ในทุกๆ วัน ทำอะไรได้ ก็ยังทำไปอยู่ในตอนนี้”

.

.

A Change is Gonna Come: อนาคตที่เปลี่ยนแปลงจะมาถึง

ไม่มีใครรู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะพาบัสบาสไปถึงไหน แต่มองในทางร้ายและบริบทที่เป็นจริง ใครก็ต้องประเมินว่าเขาจะถูกจองจำ แต่เขาไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เอาสะใจ หรือให้เด่นให้ดัง วิธีการอาจผิดอาจถูก ก็ถกเถียง ก็วิพากษ์วิจารณ์กันได้ หากใจกลางคือความต้องการในการอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมแบบนี้ร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งที่เขานึกคิดและอยากเห็น

“ประเทศมันก็โชคร้าย ที่จะปฏิรูปที มันก็ต้องปฏิรูปหลายอย่าง ทั้งสถาบันกษัตริย์ ตำรวจ ทหาร กระบวนการยุติธรรม หลายสถาบันฯ มันต้องปฏิรูปไปหมดเลย แต่ใจกลางหลักมันคือเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผมก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ ผมก็มั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้น

“ส่วนตัวผม ถ้ายังไม่ติดคุกนะ ผมก็อาจนิ่งมากขึ้น หลังจากเล่นแรงเล่นตรงไปตรงมา แต่พอผ่านจุดนั้นมาแล้ว เราก็อาจจะพยายามหามุมที่มันแหลมคมมากขึ้น โดยไม่ได้ใช้คำที่มันเกรี้ยวกราดอะไรมากมายแบบที่ผ่านมา ผมคิดว่าการต่อสู้มันไม่ได้มีแค่ท้องถนน ไม่ได้แค่บนเวทีปราศรัย แต่พลังที่เกิดบนโซเชียล ก็มีอิมแพค มันก็เป็นพลังอย่างหนึ่ง เราเห็นอะไรหลายอย่างจากเคลื่อนไหวนี้

“ท้ายที่สุด คนรักเจ้า คนไม่รักเจ้า มันก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมนี้อยู่ดี แล้วมันก็ไม่จำเป็นจะต้องทำร้ายกัน ประชาธิปไตยมันอนุญาตให้คนถกเถียงกัน มาทะเลาะกัน โดยไม่ต้องทำร้ายกัน ไม่ต้องมาฆ่ากัน ตอนนี้เราก็พยายามยกระดับในการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์มาในระดับหนึ่งละ แล้วมันก็จะเปลี่ยนของมันตามบริบทของสังคมและกาลเวลาไปเรื่อยๆ

“ผมว่าตอนนี้ก็อยากให้ทุกคนมีความหวังไว้แหละ รู้ว่ามันเหนื่อย มันท้อ สำหรับคนที่เคลื่อนไหวไม่ว่าในรูปแบบไหนในประเทศนี้ หรือเด็กๆ วัยรุ่น ผมก็ขอให้ยังมีความหวังไว้ ถึงจะมีไม่มาก ก็ขอให้มีไว้สักนิดหนึ่ง เชื่อมั่นในตัวเองไว้ ผมว่ามันจะโอเคสำหรับเป้าหมายที่เราต้องการ ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตในประเทศไทยนี้”

.

X