จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนายมงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมจากจังหวัดเชียงราย ระหว่างอดอาหารที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรที่ถูกคุมขัง ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนนำตัวเขาเดินทางไปยังสภ.เมืองเชียงราย
วันนี้ (15 เม.ย. 64) ตำรวจได้นำตัวมงคลไปตรวจค้นบ้าน พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาเขาจากการโพสต์ข้อความและคลิปในเฟซบุ๊กจำนวน 25 โพสต์ ก่อนที่จะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นตำรวจ และจะนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลในวันพรุ่งนี้
จับกุม “บาส” โดยหมายจับลงวันที่ 14 เม.ย. ระหว่างอดอาหารหน้าศาลอาญา วันที่ 3
นายมงคล ถิระโคตร หรือ “บาส” อายุ 27 ปี ประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และเป็นนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 เขาได้เดินทางจากจังหวัดเชียงรายไปนั่งอดอาหารที่หน้าศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรและผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 โดยระหว่างการอดอาหาร ได้มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมากแวะเวียนมาติดตามและถ่ายรูปมงคลโดยตลอด
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 หลังการอดอาหารเข้าสู่วันที่ 3 ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าจับกุมตัวมงคล โดยมีการแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย และระบุว่าได้รับการประสานงานมาจาก พ.ต.อ.มานพ เสนากูล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย
หมายจับดังกล่าว เลขที่ 42/2564 ลงวันที่ 14 เมษายน 2564 มี พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ระบุข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหานำเข้าและเผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยอ้างเหตุในการขอออกหมายจับว่ามงคลได้หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษสูงเกินสามปี
จากนั้น ตำรวจได้นำตัวมงคลขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปยัง สน.พหลโยธิน เพื่อจัดทำบันทึกการจับกุม โดยมงคลให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในชั้นจับกุม
จนเวลาประมาณ 14.00 น. เศษ ตำรวจนำตัวมงคลขึ้นรถตู้ของ สน.พหลโยธิน เพื่อเดินทางไปส่งตัวยังจังหวัดเชียงราย ต่อมาทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงราย ได้นำรถมารับตัวมงคลต่อที่บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนนำตัวไปถึง สภ.เมืองเชียงรายในช่วงเวลาประมาณ 00.45 น. ทางพนักงานสอบสวนระบุว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำมงคลในช่วงบ่ายวันถัดไป
ทั้งนี้มงคลยังยืนยันการอดอาหารต่อไป แม้จะถูกจับกุมก็ตาม โดยมีประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ได้นำน้ำดื่ม เกลือแร่ และนม มาฝากให้เขาระหว่างถูกควบคุมตัวในห้องขังของ สภ.เมืองเชียงราย
แจ้งข้อหา ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ จากโพสต์และแชร์เฟซบุ๊ก 25 โพสต์
เช้าวันที่ 15 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 9.00 น. ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปถึง สภ.เมืองเชียงราย พบว่าตำรวจได้นำตัวมงคลไปจากห้องควบคุมผู้ต้องหาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยในตอนแรกไม่ทราบว่านำตัวไปที่ใด ทราบเพียงว่านำตัวไปขยายผลทางคดี
เวลา 9.20 น. ตำรวจนำตัวมงคลกลับมาควบคุมตัวในห้องขังของสภ.เมืองเชียงราย เจ้าหน้าที่ระบุว่าได้นำตัวมงคลไปตรวจค้นบ้านพักในจังหวัดเชียงราย โดยได้แสดงหมายค้นต่อญาติของมงคลแล้ว แต่มงคลระบุว่าตนไม่ได้เห็นหมายค้นดังกล่าว และไม่ได้ถูกนำตัวลงจากรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมในการตรวจค้น ทำให้ไม่ทราบว่าได้มีการตรวจยึดทรัพย์สินหรือสิ่งของใดหรือไม่
เวลาประมาณ 13.00 น. พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้นำตัวมงคลออกมาแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ
ก่อนการสอบปากคำ ตำรวจได้จัดทำบันทึกการตรวจยึด โดยมีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของมงคลจำนวน 1 เครื่อง ตั้งแต่การจับกุมตัวที่กรุงเทพฯ แล้ว มงคลได้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจยึด แต่ปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในเครื่องมือสื่อสาร โดยได้ลงชื่อในบันทึกตรวจยึดว่า “ไม่ยอมรับมาตรา 112 ที่ป่าเถื่อน”
ขณะเดียวกัน ยังทราบเพิ่มเติมว่าในการตรวจค้นบ้านพักของมงคลเช้านี้ เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้ตรวจยึดสิ่งของ ได้แก่ กระดาษเขียนข้อความ, แถลงการณ์ของราษฎร, ปอกแขวนลายชูสามนิ้ว และริบบิ้นสีแดง โดยให้มารดาของมงคลเป็นผู้ลงชื่อรับทราบในเอกสารการตรวจยึดดังกล่าว และไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งของที่ตรวจยึดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ในคดีอย่างไร
พ.ต.ท.ภาสกร ได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อมงคล ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
ตำรวจได้ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่ามาจากการโพสต์ภาพและคลิปวิดีโอ แชร์ข้อความและคลิปวิดีโอ พร้อมเขียนข้อความประกอบ เผยแพร่ในเฟซบุ๊กในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มีนาคม 2564 จำนวนรวมทั้งหมด 25 โพสต์ อาทิเช่น การโพสต์ภาพและข้อความที่แสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์, การแชร์คลิปสารคดีและรายงานข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย, การแชร์โพสต์ของ Somsak Jeamteerasakul พร้อมเขียนข้อความประกอบ
ตำรวจระบุว่าในช่วงเวลาดังกล่าว งานการข่าวและมั่นคงของกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้สืบสวนติดตามพฤติการณ์ความเคลื่อนไหวของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่าได้โพสต์ข้อความและภาพดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี จึงได้รายงานไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พิจารณา ก่อนภูธรภาค 5 โดยคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ได้พิจารณาและสั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวน และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564
ต่อมาคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ก่อน พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร จะเป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายมงคล ถิระโคตร ที่สภ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 และพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดเชียงรายออกหมายจับในวันถัดมา
สำหรับพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา ทางพนักงานสอบสวนระบุว่าคดีจะนับเป็นความผิดจำนวนกี่กรรมนั้น ขึ้นอยู่กับทางพนักงานอัยการพิจารณาต่อไป
มงคลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และหากมีพยานหลักฐานที่ใช้ในการต่อสู้คดีเพิ่มเติม จะยื่นต่อพนักงานสอบสวนภายใน 15 วันต่อไป
ไม่ให้ประกันตัวชั้นตำรวจ เตรียมขอฝากขังต่อศาลพรุ่งนี้
หลังการสอบปากคำ ทนายความสอบถามเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวมงคลในชั้นสอบสวน ทางตำรวจได้ระบุว่าต้องวางวงเงินในการขอประกันตัวจำนวน 250,000 แสนบาท ทางทนายความจึงได้นำเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งช่วยเหลือการประกันตัวในคดีการเมือง วางเป็นหลักประกัน และทางพนักงานสอบสวนได้เสนอเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อผู้บังคับบัญชา
จนเวลา 16.30 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่าผู้กำกับสภ.เมืองเชียงราย มีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นตำรวจนี้ โดยพิจารณาเห็นว่าการปล่อยตัวชั่วคราวอาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดหลายกรรม จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ผลของการไม่ให้ประกันตัวดังกล่าว ทำให้ในวันพรุ่งนี้ (16 เม.ย.) ทางตำรวจจะนำตัวมงคลไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงราย และในคืนนี้ มงคลจะต้องถูกควบคุมตัวไว้ที่สภ.เมืองเชียงรายต่ออีกหนึ่งคืน
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีมาตรา 112 ที่เริ่มกลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 86 ราย ใน 79 คดี แล้ว โดยในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา แนวโน้มของการดำเนินคดีจากการโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ทยอยเพิ่มมากขึ้น
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64