คดี ‘ไผ่’ ชูป้ายค้านรัฐประหาร พยานโจทก์ 2 ปาก ไม่ได้รับหมาย ศาลให้เลื่อนไปสืบ 20 พ.ย. 60 พร้อมอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องที่ขอให้ศาลนับโทษต่อ
29 ก.ย. 60 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) นัดสืบพยานโจทก์ในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร หมายเลขคดีดำที่ 61/2559 ซึ่ง ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อดีตนักศึกษา/นักกิจกรรม ถูกอัยการศาล มทบ.23 ฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีที่ ‘ไผ่’ พร้อมเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มดาวดิน ทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร และโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร
ภาพชูป้ายซึ่งเป็นเหตุในคดี
อัยการศาล มทบ.23 แถลงว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ 2 ปาก คือ นายราชา ถิ่นทิพย์ (นักข่าว) และ พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ (พนักงานสอบสวน) ไม่มาศาล เนื่องจากเปลี่ยนที่อยู่ จึงไม่ได้รับหมาย โจทก์ยังประสงค์จะนำพยานทั้งสองเข้าเบิกความ เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญ จึงขอเลื่อนการสืบพยาน 2 ปากนี้ออกไปในนัดหน้า
ทนายจำเลยแถลงขอให้โจทก์นำพยานปาก พ.ต.ท.นรวัตน์ คำภิโล ซึ่งเป็นชุดจับกุมร่วมกับ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง และ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร พยานโจทก์สองปากแรกที่ได้เบิกความไปแล้ว เข้ามาสืบให้เสร็จก่อนที่จะสืบพยานปากพนักงานสอบสวน โจทก์จึงแถลงขอตัดพยานปาก พ.ต.ท.นรวัตน์ เนื่องจากเป็นชุดจับกุมร่วมกับพยานสองปากแรกที่เบิกความไปแล้ว แต่ทนายจำเลยคัดค้าน เนื่องจากยังติดใจถามค้านพยานปากนี้ ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์นัดนี้ออกไป และให้โจทก์นำ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำภิโล มาเบิกความในนัดหน้าตามที่ทนายจำเลยขอ พร้อมกับ นายราชา ถิ่นทิพย์ ในวันที่ 20 พ.ย. 60 เวลา 08.30 น.
นอกจากนี้ เนื่องจากในนัดที่แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง (ครั้งที่ 2) ต่อศาล โดยทนายจำเลยขอศึกษาคำร้องของโจทก์ก่อน (อ่านรายละเอียดคำร้องที่นี่) ต่อมา วันที่ 18 ก.ย. 60 จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ เนื่องจากเป็นการขอแก้ไขคำฟ้องระหว่างสืบพยาน ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 และหมายจำคุกแนบท้ายคำร้องไม่น่าเชื่อถือ ขอให้ศาลยกคำร้องของโจทก์
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื้อหาในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดโทษเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 22 วรรคแรก ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวไม่ใช่การแก้ไขคำฟ้องในส่วนพฤติการณ์ในการกระทำความผิด หรือรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้อง และเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงผิดในการต่อสู้คดี
ศาลพิเคราะห์ต่อไปว่า ส่วนที่จำเลยอ้างว่าหมายจำคุกแนบท้ายคำร้องของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือนั้น ศาลตรวจสอบแล้วพบว่า เอกสารดังกล่าวแม้เป็นสำเนา แต่มีเจ้าพนักงานศาลยุติธรรม ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นเซ็นรับรอง จึงเห็นว่าเอกสารดังกล่าวรับฟังได้ และอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์ได้
จากนั้น ศาลได้สอบคำให้การจำเลยใหม่ โดยจำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1370/2559 ของศาลจังหวัดภูเขียว และคดีหมายเลขแดงที่ 1945/2560 ของศาลจังหวัดขอนแก่น ตามที่โจทก์แก้ไขคำฟ้องมา
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ศาลบันทึกกระบวนพิจารณา เสมียนศาลได้เข้ามาสั่งห้ามผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการพิจารณาคดีในห้องทำการจดบันทึก โดยกล่าวว่าอนุญาตให้เฉพาะคู่ความจดบันทึก แต่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร่วมสังเกตการณ์จดบันทึกได้ ไม่อนุญาตให้บันทึกเสียงและถ่ายรูปเท่านั้น
นัดพิจารณาคดีของ ‘ไผ่’ ในครั้งนี้ มีประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์และเยี่ยมเยียน ‘ไผ่’ กว่า 30 คน โดยเข้าเยี่ยมที่ห้องขังใต้ศาลได้รอบละ 10 คน บรรยากาศค่อนข้างผ่อนคลาย และ ‘ไผ่’ สนใจซักถามถึงสถานการณ์ภายนอก โดยเฉพาะการไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลของศาลจังหวัดขอนแก่นที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงในวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อนนักศึกษาที่มาให้กำลังใจเขาในคดี 112 ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา
ปัจจุบัน ‘ไผ่’ ถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น ตามหมายขังระหว่างอุทธรณ์ในคดี 112 ของศาลจังหวัดขอนแก่น, หมายขังระหว่างพิจารณาของศาล มทบ.23 ในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารนี้ และหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีประชามติของศาลจังหวัดภูเขียว
ทั้งนี้ คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ที่ศาลอนุญาตแล้วนี้ ส่วนหนึ่งโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องโดยให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีของศาลจังหวัดภูเขียว และโทษจำคุกในคดีของศาลจังหวัดขอนแก่น และไม่ให้หักวันที่ถูกคุมขังในคดีนี้ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เนื่องจากทับซ้อนกับวันรับโทษจำคุกในคดีดังกล่าว ซึ่งหากศาล มทบ.23 ลงโทษจำคุก ‘ไผ่’ ในคดีนี้ และให้นับโทษต่อตามที่โจทก์ขอ ‘ไผ่’ จะต้องถูกขังต่อจาก 2 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโทษในคดี 112 ไปอีก โดยไม่หักวันที่ถูกขังตามหมายขังของศาล มทบ.23 ในระหว่างพิจารณา ซึ่ง ‘ไผ่’ ถูกขังมาจนถึงวันนี้เป็นเวลา 6 เดือน 10 วัน มากกว่าโทษสูงสุดในคดีนี้ ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พ่อ ”ไผ่” ขอถอนประกันคดีชูป้ายต้านรัฐประหาร เหตุศาลขอนแก่นไม่ส่งตัวมาสืบพยานโจทก์ที่ศาลทหาร
หัวหน้ากองข่าวชี้ ‘ไผ่’ ไม่ยอมถูกปรับทัศนคติหลังชูป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จึงถูกดำเนินคดี
สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย