‘ไผ่’ แถลงกลางศาล พยานจับกุมโดยอ้างเพียงคำสั่ง ไม่คำนึงถึงหลักการทางกฎหมาย

22 ม.ค. 61 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) เบิกตัว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน มาศาลเพื่อสืบพยานโจทก์คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้องจตุภัทร์ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 61/2559 ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต

อัยการทหารแถลงต่อศาลว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ 2 ปาก มาศาลเพียงปากเดียวคือ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำพิโล รองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ส่วน พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวน เดินทางไปราชการที่ จ.สกลนคร ไม่มาศาล  แต่โจทก์ยังประสงค์จะนำพยานเข้าเบิกความ จึงเลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปนัดหน้าในวันที่ 22 มี.ค. 61

ทั้งนี้ ในระหว่างการสืบพยาน ซึ่งพยานมักจะตอบคำถามของทนายจำเลยที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายว่า ไม่ขอออกความเห็น ไม่แน่ใจ หรือขอไปศึกษาก่อน จตุภัทร์ได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า การที่พยานตอบเช่นนั้น ทำให้จำเลยรู้สึกว่าการจับกุมในครั้งนี้ไม่มีเหตุผล พยานอ้างเพียงแต่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยไม่ได้ทำตามกฎหมาย พร้อมระบุว่า คดีนี้เป็นคดีทางความคิด เจ้าหน้าที่ยิ่งต้องคำนึงถึงหลักการทางกฎหมาย

ในวันนี้ ศาลยังได้นัดสอบคำให้การจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 102/2560 ซึ่งอัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหารในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เช่นเดียวกันกับจตุภัทร์ โดยอัยการทหารเพิ่งส่งฟ้องต่อศาล มทบ.23 นี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 60 ที่ผ่านมา หลังจากศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังแล้ว ภานุพงศ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี จากนั้นอัยการแถลงขอสืบพยาน ด้านทนายจำเลยติดใจขอตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 ก.พ. 61

บรรยากาศที่ศาล มทบ.23 มีประชาชนทั่วไปเดินทางมารอให้กำลังใจ ‘ไผ่’ และร่วมฟังการพิจารณาคดีราว 50 คน ขณะที่สารวัตรทหาร นำโดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี จัดวางกำลังควบคุมสถานการณ์บริเวณศาลและทางเข้า มทบ.23 อย่างเข้มงวด และจัดให้เข้าเยี่ยมไผ่ได้ครั้งละ 5 คน นอกจากนี้ บริเวณทางเข้าศาล ได้มีเอกสารอธิบายถึงความผิดและการกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 และความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ติดไว้ด้วย

 

สรุปคำให้การพยานโจทก์ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำพิโล

พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำพิโล ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เบิกความต่อศาลว่า เป็นผู้ร่วมจับกุมนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษากับเพื่อนรวม 7 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 พร้อมทั้งยึดแผ่นป้าย 5 แผ่น ซึ่งมีข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” รวมทั้งข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน และเหมืองแร่ ก่อนเกิดเหตุพยานได้รับการประสานจากทหารว่าจะมีกลุ่มคนมาทำกิจกรรมคัดค้านรัฐประหารตามสถานที่ราชการ จึงได้ร่วมกับทหารวางแผนจับกุม และในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจากทหารว่า กลุ่มดาวดินจะมาที่ศาลหลักเมือง พยานจึงได้มาที่ศาลหลักเมือง เห็นนายจตุภัทร์กับพวกถือแผ่นป้ายเดินมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นได้ชูป้ายพร้อมทั้งพูดว่า “ไม่เอารัฐประหาร” เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองจึงได้เข้าไปแจ้งว่า การกระทำดังกล่าวขัดกับคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่กลุ่มจำเลยไม่หยุดการกระทำ เจ้าหน้าที่จึงเข้าควบคุมตัวทั้งหมดนำตัวไปที่กองร้อยสารวัตรทหาร มทบ.23 เพื่อปรับทัศนคติ จำเลยกับพวกทั้ง 7 คน ปฏิเสธที่จะรับการปรับทัศนคติ จึงถูกส่งตัวไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อดำเนินคดี

จากนั้น พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานกับจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน แต่จำเลยกับทหารจะมีสาเหตุโกรธเคืองกันจากการที่จำเลยทำกิจกรรมชู 3 นิ้ว เมื่อครั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตรวจราชการที่ จ.ขอนแก่นหรือไม่ พยานไม่ทราบ

พยานเห็นว่าป้ายของกลาง รวมทั้งข้อความในป้ายไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย และการคัดค้านรัฐประหารก็ไม่ผิดกฎหมาย การจับกุมจำเลยในวันเกิดเหตุเป็นการใช้ดุลพินิจร่วมกันของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยที่พยานก็เห็นด้วยที่ต้องเข้าจับกุม

พยานทราบว่าเมื่อปี 2557 มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนการทำรัฐประหารเป็นความผิดฐานเป็นกบฏในราชอาณาจักร หรือเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานไม่ขอออกความคิดเห็น เนื่องจากไม่แน่ใจ

พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า พยานศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเคยกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณไว้ว่า จะรักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 พยานในฐานะข้าราชการ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

พยานทราบว่าขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สิทธิและเสรีภาพ ที่ประชาชนเคยได้รับการคุ้มครอง มีย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย อย่างไรก็ตามพยานเห็นว่าคำสั่ง คสช. สามารถใช้บังคับได้เหนือกว่าข้อความในรัฐธรรมนูญ

พยานไม่ขอออกความเห็นว่า การที่จำเลยออกมาคัดค้านรัฐประหารนั้นสอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ แต่พยานทราบว่าการชุมนุมเป็นสิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ในการเข้าจับกุมจำเลย พยานไม่มีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณาว่า จะกระทบสิทธิเสรีภาพของจำเลยตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทนายจำเลยถามพยานว่า ระหว่างทัศนคติที่สนับสนุนกับค้านรัฐประหาร ทัศนคติแบบไหนที่สมควรถูกปรับ พยานตอบว่าไม่ทราบ พยานเห็นว่า การกระทำของจำเลยหากทำในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ขณะเกิดเหตุประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น พยานขอไปศึกษาก่อน

ในการตอบคำถามค้านที่พยานตอบว่า ไม่มีหรือไม่ขอออกความเห็นนั้น ทนายจำเลยได้ถามว่า เป็นเพราะพยานเกรงเหตุเภทภัยที่จะเกิดกับตัวเอง หรือเป็นเพราะพยานยังไม่แน่ชัด ซึ่งพยานตอบว่า เป็นเพราะยังไม่แน่ชัด โดยระบุด้วยว่า ไม่ขอก้าวล่วงการแสดงความเห็นทางกฎหมาย

 

อ่านรายละเอียดการสืบพยานโจทก์ปากอื่นก่อนหน้านี้:

หัวหน้ากองข่าวชี้ ‘ไผ่’ ไม่ยอมถูกปรับทัศนคติหลังชูป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จึงถูกดำเนินคดี

สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย

เลื่อนสืบพยาน คดี ‘ไผ่’ ชูป้ายค้าน รปห.-ศาลอนุญาตโจทก์แก้ไขฟ้อง

นักข่าวเผยเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายภาพขณะนักศึกษาดาวดินถูกจับกุม

 

X