5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร

5 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550  ประกาศใช้กฎอัยการศึก และออกประกาศ คำสั่งตามอำเภอใจ เพื่อบริหารจัดการประเทศให้เป็นไปตามแนวทางของ คสช.

5 ปีที่ผ่านมา มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่มีมาตรา 44 ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่มีผลบังคับทั้งในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ โดยถือเป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ที่ผ่านการทำประชามติท่ามกลางการไล่จับกุมผู้ที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

แม้รัฐธรรมนูญใหม่จะประกาศใช้ แต่รูปแบบรัฐสภากลับถอยหลังไปใกล้เคียงเมื่อ 28 ปีก่อน และประชาชนก็ยังต้องรออีกเกือบ 2 ปี กว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ท่ามกลางความกังขาต่อผลคะแนนและการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ทราบผลชัดเจนว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

กว่าจะถึงวันนี้ คนหลักพันถูกคุกคาม ควบคุมตัว และถูกดำเนินคดีในศาลทหาร หลายร้อยคนถูกตั้งข้อหา และไม่สามารถแสดงความเห็น คนอีกนับสิบร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน

5 ปีที่ผ่านมามีประชาชนเป็นผู้เสียหาย

ประกาศ/คำสั่ง และกฎหมายในยุค คสช.

5 ปีที่ผ่านมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. จำนวน 132 ฉบับ คำสั่ง คสช. จำนวน 214 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จำนวน 207 ฉบับ มาบังคับใช้กับประชาชน แม้ว่าในทางเนื้อหาคำสั่งและประกาศของคณะรัฐประหารจะขัดต่อคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย-นิติรัฐ โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ก่อให้เกิดการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ เสี่ยงต่อการซ้อมทรมาน และบังคับบุคคลให้สูญหาย ตลอดจนละเลยสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม แต่คำสั่งเหล่านี้ก็ล้วนถูกรับรองให้ชอบด้วยกฎหมาย และยกเว้นการรับผิดในยุค คสช.

นอกจากนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นเองโดย คสช. ยังตรากฎหมายออกมาอีกจำนวน 444 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับออกมาอย่างเร่งรัดและมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  กล่าวได้ว่า ครั้งนี้นับเป็นระบอบรัฐประหารที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้ต่อประชาชนจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคราวรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ออกประกาศและคำสั่งเพียง 34 และ 18 ฉบับตามลำดับ ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 แล้วไม่ได้ใช้อำนาจในการออกกฎหมายโดยตรงอีก

ประกาศ คำสั่ง และกฎหมายเหล่านี้ ล้วนเป็นต้นทางการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

929 คน ถูกเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ

ในช่วงปีแรกหลังรัฐประหาร คสช. ประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557-1 เม.ย. 2558 ทำให้ทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน และเปิดโอกาสให้ควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยปราศจากการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปรากฏต่อศาล หลังยกเลิกกฎอัยการศึก หัวหน้า คสช. ก็ยังอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งสำคัญ 2 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ให้อำนาจทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในลักษณะคล้ายกฎอัยการศึก ทำให้คำสั่งทั้งสองฉบับและมาตรา 44 ถูกทหารใช้กล่าวอ้างในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลในค่ายทหาร หรือเข้าตรวจค้นที่พัก สถานที่ทำงาน ของบุคคลกลุ่มเป้าหมายตลอดจนบุคคลในครอบครัว

ตลอด 5 ปีมานี้ มีประชาชนอย่างน้อย 929 คน ถูก คสช. เรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหาร ญาติและทนายความไม่สามารถติดต่อได้ โดยไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ในกระบวนการที่ถูกเรียกว่า “การปรับทัศนคติ” และมีอย่างน้อย 14 คนที่ต้องเผชิญข้อหาขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.อีกด้วย

572 คน ถูกข่มขู่ คุกคาม ติดตาม

นอกจากการเรียกรายงานตัวและควบคุมตัวประชาชนในค่ายทหารแล้ว คสช. ยังใช้เจ้าหน้าที่ติดตามประชาชน อย่างน้อย 572 คน ในจำนวนนี้หลายกรณีถูกติดตามถึงที่บ้านและเฝ้าจับตาอย่างต่อเนื่อง

ช่วง 2 ปีแรก การติดตามประชาชนเป็นไปอย่างเข้มข้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักการเมือง แกนนำคนเสื้อแดงที่มีบทบาทในพื้นที่ต่างๆ กลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจของ คสช. และผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ คสช.  

การติดตามจับตาบุคคลเป็นระยะของเจ้าหน้าที่ มีทั้งรูปแบบการเข้าไปติดตามถ่ายรูปที่บ้าน การนัดหมายกินกาแฟ หรือ “การขอความร่วมมือ” ให้ไม่ไป รวมถึงไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับการปรองดอง แต่ช่วงสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้น ระยะการติดตามตัวบุคคลจะเพิ่มความถี่และความเข้มข้นขึ้นด้วย อาทิ การจำกัดเสรีภาพกลุ่มประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง การติดตาม คุกคามนักการเมืองก่อนวันเลือกตั้ง การข่มขู่บุคคลที่ออกมาเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการติดตามคุกคามบุคคลในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

18 คน ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน

รูปแบบการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารหลังรัฐประหารที่ควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ปิดลับ ไม่ได้พบญาติหรือทนายความ และไม่มีการตรวจสอบคำสั่งโดยองค์กรตุลาการ นำไปสู่ความเสี่ยงและโอกาสที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกอุ้มหาย ซ้อมทรมาน ได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

หลังการรัฐประหารปี 2557 มีผู้ร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 18 กรณี กรณีสำคัญที่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ได้แก่ กรณีผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ปาระเบิดศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 ผู้ต้องหาอย่างน้อย 4 ราย ระบุว่าถูกซ้อมทรมานโดยการชกต่อย กระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และข่มขู่ว่าจะทำร้าย เพื่อให้ได้ข้อมูล นอกจากนี้ ผู้ต้องหาบางรายยังถูกช็อตด้วยไฟฟ้าและปรากฏร่องรอยบริเวณผิวหนัง ระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกวันที่ 9-15 มี.ค. 2558

353 กิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้นแทรกแซง

5 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมสาธารณะ 167 กิจกรรมถูกปิดกั้น และอีก 186 กิจกรรมถูกคุกคามและแทรกแซง รวมทั้งสิ้น 353 กิจกรรม ส่วนใหญ่ถูกห้ามหรือปิดกั้นเพราะมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมืองและคณะรัฐประหาร โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ากิจกรรมอาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือกระทบต่อความมั่นคง

บางกรณีเจ้าหน้าที่ใช้วิธีขอความร่วมมือโดยไม่ระบุสาเหตุแน่ชัด หรือเพียงบอกว่า “นายไม่สบายใจ” ที่จะให้จัดกิจกรรมนี้ บางกรณีเจ้าหน้าที่ใช้วิธีกดดันเจ้าของสถานที่ ทั้งมหาวิทยาลัยหรือสถานที่ของเอกชน ทำให้เจ้าของสถานที่ต้องยกเลิกการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมนั้นๆ

กรณีที่ไม่ได้เป็นการปิดกั้นโดยตรง แต่เจ้าหน้าที่ใช้วิธีพูดคุยกับผู้จัดงาน แล้วตั้งเงื่อนไข หรือขอความร่วมมือบางอย่างในการจัดกิจกรรม เช่น ขอให้เปลี่ยนวิทยากรในงานเสวนา ขอให้ไม่พูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับ คสช. หรือกำหนดไม่ให้ใช้บางถ้อยคำ เช่น “เผด็จการ” และ “กบฏ”

ขณะเดียวกัน ทหารในหลายพื้นที่ยังเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยให้ควบคุมดูแลการทำกิจกรรมของนักศึกษา และให้แจ้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปยังทหารในพื้นที่  สถาบันอย่างมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งในการใช้อำนาจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ทั้งการไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรม หรือการเรียกตัวนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมไปพูดคุยด้วย

155 กลุ่ม ถูกปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการรวมตัวขององค์กรชาวบ้าน ภาคประชาสังคม

นอกจากการปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ กลุ่มองค์กรชาวบ้านหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของรัฐ ก็ถูกจำกัดพื้นที่เรียกร้องและการแสดงออกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองในความหมายของการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านผู้ปกครองโดยตรงก็ตาม

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ชุมชน หรือประชาสังคม ถูกปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม อย่างน้อย 155 กลุ่ม ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำ เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า สุขภาพ แรงงาน หรือนโยบายสาธารณะอื่น

เจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรียกตัวแกนนำชาวบ้านไปพูดคุย บางกรณีไปพบแกนนำถึงบ้าน ห้ามปรามไม่ให้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรม โดยอ้างว่าการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ก่อให้เกิด “ความไม่สงบ” หรือระบุว่าแกนนำชาวบ้านเป็น “ผู้มีอิทธิพล” รวมทั้งยังปิดกั้นกิจกรรมการศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม โดยตีความว่าเป็น “การยุยงปลุกปั่น” คัดค้านรัฐบาล บางกรณีให้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลงในลักษณะเดียวกันกับแกนนำกลุ่มการเมือง เพื่อหยุดการเคลื่อนไหว หรือในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาขอให้ปลดป้ายคัดค้านต่างๆ ลง

428 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

หลังประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามมิให้ประชาชนชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หลังประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาบังคับใช้แทน โดยข้อ 12 ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนความผิดนี้จะถูกยกเลิกเมื่อ 11 ธ.ค. 2561

อย่างไรก็ตาม มีผู้ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในยุค คสช. ทั้งสิ้น 428 คน หลายคนถูกตั้งข้อหาในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 และช่วงเรียกร้องการเลือกตั้งในปี 2561

245 คน ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

สนช. ที่แต่งตั้งโดย คสช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จนมีผลบังคับใช้เมื่อ 13 ส.ค. 2558 ข้อหานี้ถูกใช้จำกัดการชุมนุมร่วมกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และโดยตัวของมันเองยังมีปัญหาในบทบัญญัติเเละการบังคับใช้หลายประการ ซึ่งกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม มากกว่าคุ้มครองสิทธิ เช่น กำหนดให้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งแก้ไขสถานที่ชุมนุม และกำหนดเงื่อนไขได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตีความปิดกั้นสิทธิในการชุมนุมและสร้างภาระให้ผู้ชุมนุมจนไม่สามารถชุมนุมได้

3 ปีกว่าของการบังคับใช้ มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้วอย่างน้อย 245 คน ส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

144 คน ถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแสดงออกที่เกี่ยวกับการเมือง

นอกจากการออกไปชุมนุม การแสดงออกทางสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจต่างๆ ของทหาร พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ควบคุมปราบปรามผู้ที่แสดงความคิดเห็นตรงกันข้ามกับ คสช.

ผู้ที่แสดงความเห็นหรือนำเสนอข้อมูลตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารในโลกออนไลน์ถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ. นี้ อย่างน้อย 144 คน โดยทหารที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีมักกล่าวอ้างว่าการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในแต่ละกรณี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหาร

หลายคดีตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ่วงไปกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ 116 และแม้จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในปี 2560 แต่ดูเหมือนสถานการณ์การใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ. นี้จะยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินคดีต่อผู้แชร์ข่าวที่อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของ คสช. โดยผู้แชร์ข่าวดังกล่าวเองไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นของตนเองเพิ่มเติมแต่อย่างใด และบางกรณีก็ถูกหลอกลวงโดยเว็บไซต์ข่าวปลอม เช่น คดีแชร์โพสต์วิจารณ์การซื้อดาวเทียมจากเพจ KonthaiUK หรือการแชร์ข่าวปลอมเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ กกต. เป็นต้น

121 คน ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น

จนถึง 22 พ.ค. 2562 มีผู้ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 121 คน ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เช่น กรณีการเรียกร้องเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กรณีสหพันธรัฐไท ส่วนการแสดงออกอื่น เเม้ไม่ได้กล่าวถึง คสช. โดยตรง เเต่กระทบถึงอำนาจ คสช. เช่น ส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ หรือสื่อสารโดยใช้สีสัญลักษณ์อย่างขันเเดง ก็ถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน

169 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

หลังการรัฐประหารปี 2557 กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ การจัดการผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นนโยบายหลักของ คสช. ตั้งแต่แรกเริ่ม

จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกตั้งข้อหานี้อย่างน้อย 169 คน แบ่งเป็นผู้ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงออก อย่างน้อย 106 คน และแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เรียกรับผลประโยชน์ อย่างน้อย 63 คน ในยุค คสช. ศาลมีแนวโน้มที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้ด้วยอัตราโทษที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในศาลทหาร เฉลี่ยพิพากษาจำคุกกรรมละ 8-10 ปี ทำให้เกิดคดีที่ลงโทษจำคุกสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น วิชัย ถูกลงโทษจำคุก 70 ปี พงษ์ศักดิ์ ถูกลงโทษจำคุก 60 ปี และศศิพิมลถูกลงโทษจำคุก 56 ปี ทั้งหมดศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ

นอกจากนี้ มาตรา 112 ยังถูกตีความให้กว้างขึ้นอีก เช่น การโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง การกดไลค์โพสต์ที่มีข้อความเข้าข่ายมาตรา 112, การไม่ห้ามปรามหรือตำหนิผู้แสดงความเห็นที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112 เช่น กรณีนางสาวพัฒน์นรี ชาญกิจ หรือ “แม่จ่านิว”, และการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ เป็นต้น

2,408 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในยุค คสช. คือการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนในความผิด 4 ประเภท ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ส่วนใหญ่คือข้อหาตามมาตรา 112, ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ส่วนใหญ่คือข้อหาตามมาตรา 116, ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ, และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช.

แม้จะมีคำสั่งยุติการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน ตั้งแต่ 12 ก.ย. 2559 แต่คดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2557-11 ก.ย. 2559 ยังคงถูกพิจารณาในศาลทหาร ข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญระบุว่า มีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 1,886 คดี เป็นพลเรือนกว่า 2,408 ราย จำเลย 450 ราย ใน 369 คดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีที่อยู่ในศาลทหารจะมีลักษณะยืดเยื้อยาวนานด้วยเหตุ คือ 1. ล่าช้าด้วยเหตุทางกระบวนการพิจารณาอันเกี่ยวเนื่องด้วยการรัฐประหาร และ 2. ล่าช้าด้วยเหตุเฉพาะการเลื่อนการสืบพยานโจทก์ ส่งผลต่อสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนโดยตรง

5 ปีจากนี้

จำนวนผู้เสียหายจากการถูกละเมิดหรือตั้งข้อหาข้างต้นเป็นตัวเลขเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามบันทึกข้อมูลได้ถึงวันที่ 22 พ.ค. 2562 แต่ที่มากไปกว่าจำนวนผู้เสียหายเหล่านี้ คือบรรยากาศแห่งความกลัวที่เกิดขึ้น ทำให้คนอีกจำนวนไม่รู้เท่าไรไม่สามารถแสดงความเห็นอย่างที่ควรทำได้ตามปกติ ไม่สามารถเรียกร้องการตรวจสอบการทำงานของรัฐ หรือคัดค้านการตัดสินใจที่อาจกระทบต่อวิถีชีวิต เพราะกลัวถูกคุกคามหรือดำเนินคดีเช่นที่เกิดขึ้นตลอด 5 ที่ผ่านมา

แม้ คสช. จะจากไปหลังการเลือกตั้ง แต่กลไกต่างๆ ของ คสช. จะคงอยู่ต่อไป ทั้งประกาศและคำสั่งที่ยังไม่ถูกยกเลิก กฎหมายที่ผ่านโดย สนช. รวมแล้ว 997 ฉบับ จะยังมีผลต่อไป ในขณะที่ คสช. และเครือข่ายก็เข้ามาลงเล่นการเมืองในฐานะพรรคพลังประชารัฐ พร้อมแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 5 ปี

ด้านองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐก็ล้วนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. หรือ สนช. เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

นอกจากนี้ คสช. ยังแต่งตั้งตนเองเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีบทบาทในการวางแผนยุทธศาสตร์ให้ทุกรัฐบาลเดินตาม

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ การนับจำนวนผู้เสียหายอาจไม่มีวันจบสิ้น

จะไปต่ออย่างไรดี?

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมปัญหาทางการเมือง กระบวนการยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน โดยใช้วิธีการประมวลผลเพื่อวิเคราะห์หาแนวทางจัดการผลพวงการรัฐประหาร ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อเสนอ 4 ประการ ได้แก่ 1. การจำกัดอำนาจกองทัพและปฏิรูปภาคความมั่นคง 2. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นธรรม 3. การเยียวยาและการชดเชยความเสียหายให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการใช้อำนาจรัฐในช่วงรัฐประหาร 2557 และ 4. การจัดการประกาศคำสั่งคสช. กฎหมายที่ออกมาจากคสช. และคำพิพากษา ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. การจำกัดอำนาจกองทัพและปฏิรูปภาคความมั่นคง

การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการควบคุมอำนาจที่มีเป้าหมายระยะยาว โดยมีกระบวนการทำให้มีลักษณะทางทหาร (militarization) เป็นลักษณะเด่น อาทิ การทำให้อำนาจของกองทัพเข้าไปอยู่ในโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงแทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของประชาชน ส่งผลเป็นรูปธรรมที่แสดงผ่านการยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชน กองทัพถูกนำมาใช้จัดการความขัดแย้งทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งวิธีคิดสำคัญที่เจ้าหน้าที่ทหารนำมาใช้ในการควบคุมจัดการทางการเมืองนี้ส่งผลถึงปฏิบัติการต่าง ๆ ได้แก่ การจัดแบ่งประชาชนเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” ประเภทต่าง ๆ และมองพลเรือนในฐานะที่เป็น “บุคคลเป้าหมาย” ของปฏิบัติการทางทหาร ดังนั้นทหารจึงสามารถเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศรวมถึงกระบวนการยุติธรรมในระบบปกติ ในประเด็นนี้มีข้อเสนอ 2 ประการสำคัญ ดังนี้

1.1. จัดการการรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพ

1.1.1. ประกาศให้การนิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารเป็นโมฆะและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย เพื่อผลักดันให้เกิดการริเริ่มดำเนินกระบวนการเอาผิดผู้ก่อการรัฐประหาร

1.1.2. ให้กองทัพและหน่วยความมั่นคงเปิดเผยข้อมูล วัตถุประสงค์ และรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลของประชาชน รวมไปถึงการดำเนินการใช้ปฏิบัติการทางข่าวสาร ปฏิบัติการจิตวิทยา และโฆษณาชวนเชื่อ ที่ถูกนำมาใช้ในความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ

1.1.3. สร้างกลไกในการป้องกันการก่อรัฐประหารในอนาคต และให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการดำรงตำแหน่งในงานทางบริหาร นิติบัญญัติ และในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐทั้งหมด

1.2. จัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างทหารและพลเรือนใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 แง่มุม คือ หนึ่ง แง่มุมการแก้ไขตัวบทกฎหมาย และ สอง แง่มุมการปรับปรุงโครงสร้างและหน่วยงานภายในกองทัพ

1.2.1. แง่มุมการแก้ไขตัวบทกฎหมาย ได้แก่ ให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยเพิ่มเติมบทบทบัญญัติที่รับรองหลักการควบคุมทหารโดยพลเรือนให้มีสถานะเป็นหลักการพื้นฐานในระดับรัฐธรรมนูญไว้ในหมวดทั่วไปของรัฐธรรมนูญ, ยกเลิกพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ทั้งฉบับ, ให้ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด, แก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551, ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457, ยกเลิกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นต้น

1.2.2. แง่มุมการปรับปรุงโครงสร้างและหน่วยงานภายในกองทัพ ได้แก่ กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพ ที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร, ปรับลดขนาดกำลังพลของกองทัพ, สร้างระบบกลไกการกำกับควบคุมอิทธิพลทางเศรษฐกิจของกองทัพและนายทหาร, สร้างกลไกการทำให้สังคมและสาธารณชนเข้าถึงข้อมูลของกองทัพ หรือทำให้กองทัพเปิดเผยข้อมูลภายในองค์กรอย่างโปร่งใส, ออกแบบหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาคความมั่นคงใหม่ทั้งหมด, ปรับกรอบคิดเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” ใหม่ ด้วยการเน้นภารกิจของกองทัพในมิติด้านการรักษา “ความมั่นคงภายนอก”

นอกจากนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เหมาะสม จึงมีข้อเสนอให้แบ่งระยะเวลาในการดำเนินการ ดังนี้ ระยะที่ 1. ระยะสั้น-ระยะเฉพาะหน้า: การสร้างกลไกการป้องกันการเกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต  ระยะที่ 2. ระยะกลาง: การปฏิรูปกองทัพในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขกฎหมายระดับรอง และระยะที่ 3. ระยะยาว: การปฏิรูปกองทัพในส่วนการปรับปรุงโครงสร้างและหน่วยงานภายในกองทัพ รวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่น ๆ

2. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นธรรม

การเข้าถึงความเป็นธรรมภายใต้โครงสร้างและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นปัญหาหลักของประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทั้งในศาลยุติธรรมและศาลทหารตลอดหลังการรัฐประหาร 2557 ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่จะเข้าถึงการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม อาทิ การกำหนดให้การกระทำการฐานใดฐานหนึ่งเป็นความผิดอาญา การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าร่วมหรือเป็นพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ การกำหนดเขตอำนาจศาลทหารซึ่งมีอัยการและตุลาการทหารเป็นผู้พิจารณาคดีที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้จับกุม ร้องทุกข์ ซักถาม แล้วรวบรวมข้อมูลส่งมาให้ ไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ท้ายที่สุดกระบวนการยุติธรรมหลังการรัฐประหารครั้งนี้ จึงกลายเป็นแนวปฏิบัติที่ปิดกั้นมิให้กลุ่มบุคคลนั้นเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชน ในประเด็นนี้มีข้อเสนอ 2 ประการ คือ

2.1. ยุติความชอบธรรมของการรับรองรัฐประหารด้วยกระบวนการยุติธรรม และรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ ยุติการรับรองการรับรองความชอบด้วยกฎหมายในการใช้อำนาจของคสช. มาใช้เป็นบรรทัดฐาน, สนับสนุนให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันควรต้องได้รับการเคารพ ปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

2.2. การปรับปรุงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อาทิ นำทหารออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทุกช่วงชั้น, สร้างระบบศาลให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการพิจารณาคดีและตรวจสอบการกระทำของตุลาการได้, ปรับปรุงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

นอกจากนี้ในประเด็นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นธรรม ยังมีข้อเสนอต่อการดำเนินการในแต่ละช่วงชั้นของกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล ชั้นราชทัณฑ์  ดังนี้ 1. ยุติการจับกุมและการควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่ที่คุมขัง หรือค่ายทหาร ไม่ว่าการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดหน่วยงานราชการอื่น 2. ยุติการใช้มาตรการรวบรวมพยานหลักฐานหรือจัดทำบันทึกการซักถาม โดยเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าอื่นอย่างเด็ดขาด และ 3. ยุติการดำเนินคดีในความผิดฝ่าฝืนการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. และคดีซึ่งปรากฏอย่างแจ้งชัดว่าการกระทำยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย

3. การเยียวยาและการชดเชยความเสียหายให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐในช่วงรัฐประหาร 2557

ในยุคสมัยนี้พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกระบวนการที่ไม่ใช่การดำเนินคดี การละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการดำเนินคดีทางการเมือง และผลกระทบจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งบังคับใช้กฎหมายในระหว่างรัฐประหาร 2557 ดังนั้นกรณีความเสียหายให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐในช่วงรัฐประหาร 2557 มีข้อเสนอแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ หนึ่ง ข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และ สอง วิธีการเยียวยาและการชดเชยความเสียหาย

ข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

3.1. มีข้อเสนอต่อทุกพรรคการเมืองซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้ง และรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง มีนาคม 2562 ภายใต้กรอบการเยียวยา 3 ประเด็น คือ หนึ่ง ให้ชดเชยค่าเสียหายและหามาตรการเยียวยาให้ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงรัฐประหาร 2557 โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงพฤษภาคม 2561 สอง ยุติคดีอันเป็นผลจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ และ สาม สร้างความเข้าใจต่อสังคม เรื่องการประทับตราผู้เสียหายให้เป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา ร้ายแรงก่อนที่จะมีการพิสูจน์ความจริงในกระบวนการยุติธรรม

3.2. ข้อเสนอต่อรัฐบาลที่มีเจตจำนงในการตรวจสอบอำนาจรัฐสมัยรัฐประหาร 2557

3.2.1. สร้างกลไกในการค้นหาความจริง โดยการตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบรูปแบบการใช้อำนาจและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในยุครัฐประหาร 2557

3.2.2. ผู้เสียหายร่วมกำหนดรายละเอียดการเยียวยาและชดเชยความเสียหาย มีกระบวนการต่าง ๆ อาทิ การขอโทษต่อสาธารณะโดยรัฐบาล, การชดเชยค่าเสียหายและหามาตรการเยียวยาทางด้านจิตใจ, การดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม จากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ, การดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างความเข้าใจต่อสังคม เรื่อง การประทับตราผู้เสียหาย, การรับรองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำ โดยรัฐบาลต้องพิจารณา ถึงการเยียวยาในระดับสังคม

นอกจากนั้นผู้มีอำนาจต้องมีความกล้าหาญในการสนับสนุนให้นำตัวผู้เกี่ยวข้องมาร่วมรับผิดชอบโดยสภาพความผิดผู้เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1. ความผิดที่เกิดจากการกำหนดนโยบายหรือเป็นผู้วางแผน 2. ความผิดที่เป็นผู้สั่งการให้กระทำการที่มิชอบ ตามสายการบังคับบัญชา 3. ความผิดอันเกิดจากการเป็นผู้ปฏิบัติให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 4. ความผิดอันเกิดจากการช่วยเหลือและให้การสนับสนุนผู้กระทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

วิธีการเยียวยาและการชดเชยความเสียหาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอให้นิยาม “ผู้เสียหาย” 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. บุคคลหรือกลุ่มบุคคล/องค์กรที่ถูกกระทำการละเมิดสิทธิ 2. ครอบครัวหรือผู้อยู่ภายใต้อุปถัมภ์หรือบุคคลอันเป็นที่รักของผู้เสียหายที่ถูกกระทำโดยตรง 3. บุคคลหรือองค์กรที่ช่วยเหลือผู้เสียหาย หากได้รับความเสียหายด้วย โดยให้มี “คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบรูปแบบ การใช้อำนาจและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในยุครัฐประหาร 2557” มีภารกิจและการดำเนินการ อาทิ ค้นหา “รูปแบบการใช้อำนาจของ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงรัฐประหาร 2557”, จัดกลุ่มความเสียหาย แบ่งระดับความเสียหาย ระบุจำนวนผู้เสียหาย อย่างมีส่วนร่วมกับตัวแทนผู้เสียหายด้วยกระบวนการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ, สอบสวนถึงบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง อันเป็นสาเหตุในการกระทำละเมิดสิทธิ, มีอำนาจในการรักษาพยานหลักฐาน เพื่อใช้ในงานบริหารทางกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

4. การจัดการประกาศคำสั่งคสช. กฎหมายที่ออกมาจากคสช. และคำพิพากษา

ตลอดเวลาที่คสช. ครองอำนาจมีการสร้างกลไกและระบบกฎหมายดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อนิติรัฐ จนกลายเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย (Rule by law) ซึ่งระบบนิติรัฐถูกทำลายลงนับแต่วันที่มีการรัฐประหาร ส่งผลให้ไม่สามารถประกันความแน่นอนแห่งฐานะของบุคคลและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้ได้ เมื่อขาดการตรวจสอบถ่วงดุลในการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และก่อให้เกิดภาวะลอยนวลของผู้กระทำความผิด (Impunity)

กลไกการปกครองนี้ปรากฏผ่านโครงสร้างของระบบกฎหมายและสถาบันทางการเมือง อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, ประกาศ คสช. จำนวน 132 ฉบับ, คำสั่ง คสช. จำนวน 214 ฉบับ, คำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกตามมาตรา 44  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จำนวน 207 ฉบับ, และกฎหมายที่ตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อย่างน้อย 444 ฉบับ, ซึ่งประกาศคำสั่งเหล่านี้จะยังดำรงอยู่อย่างแปลกปลอมต่อไปในระบบกฎหมาย จนกว่าจะดำเนินการยกเลิก ดังนั้นจึงไม่ได้สิ้นผลไปในทันทีที่คสช. หมดอำนาจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเสนอให้ทบทวนผลพวงทางกฎหมายและคำพิพากษา ดังนี้

4.1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ 1. กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทบทวนเพื่อแก้ไขมาตรา 255 และมาตรา 256  ซึ่งบัญญัติวิธีการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ 2. ดำเนินการยกเลิกมาตรา 265 และมาตรา 279 ซึ่งรับรองความชอบด้วยกฎหมายและการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศคสช. คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ในมาตรา 44 มาตรา 47 และมาตรา 48 ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

4.2. การจัดการกฎหมายที่ตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง 2. กลุ่มที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐอย่างมีนัยสำคัญ และ 3. กลุ่มที่เป็นการบริหารราชการทั่วไป

4.3. การจัดการประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้าคสช. โดยออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ประกาศคำสั่ง และคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งออกมาโดยมีความมุ่งหมายจัดการเป้าหมายทางการเมืองและละเมิดสิทธิมนุษยชน และกลุ่มที่ 2 ประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งเป็นการบริหารราชการทั่วไป

4.4. การจัดการทบทวนกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้มีการทบทวนองค์ประกอบทางกฎหมายและโทษทางอาญาของความผิดในแต่ละฐาน เนื่องจากเป็นชุดกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่การจำกัดสิทธิของบุคคลต้องได้สัดส่วนและเป็นไปตามความจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย

4.5. การจัดการคำพิพากษา โดยแบ่งออกเป็น 2 ชุด ตามผลของคำพิพากษา ดังนี้

ชุดที่ 1 กลุ่มคำพิพากษาซึ่งรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหารของ คสช. เพื่อลบล้างความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ของการกระทำรัฐประหาร ชุดที่ 2 กลุ่มคำพิพากษาซึ่งสร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองมิให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษทางกฎหมาย และกลุ่มคำพิพากษาซึ่งนำกฎหมายอันละเมิดสิทธิเสรีภาพมาวินิจฉัยเพื่อลงโทษประชาชน

อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวย่อมไม่อาจบรรลุผลได้เลยหากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นพ้องต้องกันถึงคุณค่าของประชาธิปไตย นิติรัฐ และสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ในเบื้องต้นอาจกระทำได้โดยการริเริ่มของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นรายชื่อ เข้าชื่อเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการยกเลิกมาตรา 279 อันเปรียบเสมือนเกราะคุ้มภัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แม้จะสิ้นสุดบทบาทในฐานะองค์กรลงไป แต่ผลพวงการรัฐประหารจะยังคงอยู่ต่อไปหากไม่มีการยกเลิกหรือจัดการตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

X