นับตั้งแต่เดือนเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ออกมาจัดกิจกรรม “แฟลชม็อบ” เพื่อแถลงการณ์คัดค้านมติยุบพรรคอนาคตใหม่ ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย รวมไปถึงประเด็นอ่อนไหวอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ฯ
ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา หรือ นักกิจกรรมเด็กที่เคลื่อนไหวในนาม กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ได้ออกมาร่วมประท้วง ถือป้าย ติดโบว์ขาว ชูสามนิ้ว รวมไปถึงแสดงความเห็นต่อการเมืองอย่างเผ็ดร้อน และประเด็นด้านการศึกษาที่ล้าหลังของประเทศ เครื่องแบบหรือทรงผมนักเรียนที่มีอคติทางเพศสภาพ รวมถึงเรียกร้องให้ยุติการละเมิดหรือการปฏิบัติมิชอบของครู ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จากกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ ที่ถูกจับกุมในยามวิกาล ระหว่างออกไปชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนในพื้นที่ดินแดง จำนวนไม่ต่ำกว่า 143 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติม: ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ ที่มีเด็กเยาวชนไม่น้อยกว่า 183 คน ถูกจับกุม-ดำเนินคดีทางการเมือง)
ในมาตราที่ 12 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เด็กสามารถแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นได้อย่างเสรีในทุก ๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก” ในอีกความหมายหนึ่งคือ เด็กจะต้องไม่ตกอยู่ในอันตราย หรือเผชิญกับความรุนแรงและการถูกคุกคามข่มขู่ทุกรูปแบบ หลังจากแสดงความคิดเห็นนั้น ๆ ออกไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติ รัฐไม่ได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครอง ประกันสิทธิ และเอื้ออำนวยต่อการแสดงออกของเด็ก รวมไปถึงการชุมนุมอย่างสงบแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน รัฐได้ใช้อำนาจที่มีเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเด็กโดยไม่ชอบด้วยเหตุผล ไม่ว่าจะเป็น การข่มขู่คุกคามทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน การจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดสิทธิเด็กในกระบวนการพิจารณาคดี
ทั้งนี้ เนื่องด้วยวันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาชนแห่งชาติ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงจะพาทุกท่านย้อนกลับไปสำรวจประเด็นการคุ้มครองปกป้องเด็กและเยาวชน ผ่านคำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยต่อคำแนะนำของนานาชาติ ในกระบวนการกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) รอบที่ 2 ปี 2559 และปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข ผ่านการรายงานคู่ขนานขององค์กรสิทธิมนุษยชน ที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แห่งสหประชาชาติ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 ปี 2564
.
ไทยรับข้อเสนอแนะ 10 ข้อ ระหว่าง UPR รอบ 2 แก้ไขประเด็นด้านความรุนแรงและระบบยุติธรรมทางอาญาในเด็กและเยาวชน
ระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเสนอจากทั้ง 10 ประเทศ ในประเด็นเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากความรุนแรง รวมถึงแก้กฎหมายขยายอายุเด็กเพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กได้รับผลดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
สำหรับประเทศที่เสนอให้มีการดําเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็ก และเสริมสร้างนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนแก่กลุ่มเปราะบาง มีทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศซูดาน, อิตาลี, สิงคโปร์, ยูกันดา, คองโก และกัมพูชา ในขณะที่ประเทศอิตาลี มีการเรียกร้องดําเนินการตามมาตรการป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กทั้งในและนอกระบบอินเตอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนด้านความยุติธรรมเด็กและเยาชน ประเทศที่เสนอให้มีการปรับอายุขั้นต่ำในการรับผิดทางอาญาของผู้เยาว์และการประกันให้มีการแยกเด็กที่ถูกจำกัดเสรีภาพออกมาจากผู้ต้องขังที่เป็นผู้ใหญ่ มีทั้งหมด 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเซียร์ราลีโอน, ชิลี, ฝรั่งเศส และอุรุกวัย เพื่อหวังให้การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้เด็กกลับตัวเป็นคนดี และเป็นประชากรที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป
หลังจากรับปากต่อนานาชาติ รัฐบาลไทยได้กลับมาวางแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะ UPR รอบ 2 ไว้ในประเด็นการปกป้องคุ้มครองเด็ก ดังนี้
กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน, ส่งเสริมการดําเนินงานอบรมเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรงในทุกสภาพแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการดำเนินงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546, พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. 2555, ระเบียบผู้ประสานงานกลางให้ความช่วยเหลือและการขอความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. 2556 รวมถึงมีการพิจารณาดําเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.วิธีเกี่ยวกับการกักขังตามประมวล กฎหมายอาญา ฉบับที่ 2 พ.ศ.2559 และร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ํากรณีเด็กกระทําความผิดทางอาญา
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก นอกจากนี้ยังมีการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็ก แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม ด้วยการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก และจัดการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยทั้งหมดนี้มีกรอบระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563
สํานักงานศาลยุติธรรม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการทางปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในสาขาการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาผ่านกลไกคณะอนุกรรมการบริหารศาล ยุติธรรม รวมทั้งปฏิบัติตามคําแนะนําของประธานศาลฏีกาว้าด้วยแนวทางการปฏิบัติต่อพยานที่เป็นเด็กในคดีอาญา, ให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะในฐานะผู้เสียหาย พยานหรือ ผู้ต้องหา/จําเลย ไม่ให้ได้รับความรุนแรงจากการเข้ามามีส่วนร่วมดังกล่าวในศาลชั้นต้นทุกศาล, จัดทําและเผยแพร่คู่มือกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชนในศาลเยาวชนและครอบครัวและคู่มือกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงเกี่ยวกับเด็กที่เป็นพยานหรือผู้เสียหายในศาลผู้ใหญ่ เร่งดําเนินโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา รวมทั้งฝึกอบรมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้คําปรึกษาแนะนํา หรือผู้ประนีประนอมคดีการกระทําความรุนแรงในครอบครัว
กระทรวงดิจิทัลฯ จัดทําคู่มือการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์
กระทรวงยุติธรรม เสนอเรื่องการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สํานักงานกิจการยุติธรรมศึกษารายละเอียด วิเคราะห์ผลกระทบ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พิจารณาต่อไป รวมถึงมีการพิจารณาและเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอายุขั้นต่ําของการรับผิดทางอาญาให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ
กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ UNICEF จัดทําร่างกรอบนโยบายระดับชาติว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองเด็กในสถานศึกษา เพื่อเป็นกรอบดําเนินงานในการปกป้องคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงและการล่วงละเมิดทุกรูปแบบ เพื่อให้เด็กมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจและมีความสุขในการเรียนรู้ในสถานศึกษาที่มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมวางแนวทางกับกรมกิจการเด็กและเยาวชนในการปฏิบัติต่อเด็กที่ต้องหาว่ากระทําการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดและอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องโทษทางอาญา
รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิเด็กในระดับที่น่าตกใจ-องค์กรสิทธมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐยุติการคุกคามและดำเนินคดีทางการเมืองต่อเยาวชนใน UPR รอบ 3
เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ กระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน (UPR) ที่จัดทำทุกสี่ปี่ ได้เวียนมาถึงประเทศไทยเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2554 และปี 2559 ตามลำดับ โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมส่งรายงานกับองค์กรด้านสิทธมนุษยชนถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) 2 ฉบับ ได้แก่ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 1 ฉบับ และ Lawyers for lawyers (L4L) อีก 1 ฉบับ
ถึงแม้ว่าในระหว่างกระบวนการ UPR รอบ 2 รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนาว่าจะมุ่งมั่นปกป้องคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงและการล่วงละเมิดทุกรูปแบบตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากนานาชาติ แต่เหตุการณ์ละเมิดสิทธิเด็กยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่รุนแรงจนน่าตกใจ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
รัฐคุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมแกนนํานักเรียนนักศึกษาและเด็ก จากการประท้วงตลอดปี 2563 นักเรียนและนักศึกษาหลายคนรายงานว่า ตํารวจได้ไปยังโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขา มีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของพวกเขากับครูอาจารย์ หรือกดดันให้ผู้ที่อยู่ในฝ่ายบริหารปกครองของโรงเรียนจัดการพวกเขา ตัวอย่างเช่น กรณีการชุมนุม #ม็อบ19กันยา ‘ทวงคืนอำนาจราษฎร’ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ในกรุงเทพฯ และที่อื่น ๆ ทางการได้ส่งจดหมายหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้เรียกประชุมนักศึกษา และสั่งให้พวกเขาหยุดนักศึกษาไม่ให้เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งยังถูกขอให้ทํารายชื่อนักศึกษาที่อาจจะก่อให้เกิดความยุ่งยาก
โรงเรียนออกข้อจํากัดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิของนักเรียนในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ โรงเรียนต่าง ๆ สั่งห้ามนักเรียนไม่ให้แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ผูกโบว์สีขาว หรือเข้าร่วมกิจกรรมการเมือง ในบางกรณี ครูทําโทษนักเรียนที่แสดงท่าทีสนับสนุน ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยการตี ด่าทออย่างรุนแรง หรือข่มขู่ว่าจะไล่ออก ในหลายกรณี ทางโรงเรียนพยายามป้องกันไม่ให้นักเรียนจัดการประท้วง โดยประกาศวันหยุดหรือจัดกิจกรรมอื่นสู้ในวันที่มีนัดหมายประท้วง
โดยการประท้วงของนักเรียนนักศึกษาเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้น หลังจากข้อห้ามชุมนุมสาธารณะภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกยกเลิกชั่วคราว ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2563 มีการประท้วง 74 ครั้งที่เกิดขึ้นภายในบริเวณสถานศึกษา แบ่งออกเป็น 43 ครั้งในเขตมหาวิทยาลัย และ 31 ครั้งในโรงเรียนมัธยม
เจ้าหน้าที่รัฐยกระดับการดําเนินการทางกฎหมายต่อแกนนํานักเรียนนักศึกษา นักเรียน และเด็ก ไม่ให้เข้าร่วมการประท้วง ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2564 เยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อย่างน้อย 23 คนถูกดําเนินคดีโดยเกี่ยวโยงกับการเข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ในจํานวนนี้มี 17 คนที่ถูกตํารวจควบคุม ตัวโดยไม่มีหมายจับ หรือไม่มีการแจ้งเหตุผลในการจับกุม มีเยาวชน 1 รายถูกตั้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมี 6 ราย ที่ถูกตั้งข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีก 8 ราย ถูกตั้งข้อหาตามข้อบัญญัติกฎหมายหลายข้อ ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บางรายถูกตั้งข้อหาและถูกโทษปรับตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ อีกด้วย
เจ้าหน้าที่ใช้กระบวนการอันไม่ชอบธรรมจับกุม กักขัง และดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน ภายหลังจากการออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมแล้ว มีผู้เยาว์หลายคนที่เผชิญหน้ากับการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ อีกทั้งในระหว่างการสลายการชุมนุม บางคนได้รับบาดเจ็บทางร่างกายและบอบช้ำทางจิตใจ จากการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำ และกระบองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ยิ่งไปกว่านั้น ในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเด็กและเยาวชนที่ถูกจับเกี่ยวกับสถานกักขัง มีผู้เยาว์อย่างน้อย 95 ราย ถูกควบคุมตัวและได้รับแจ้งข้อกล่าวหาในสถานที่ที่ไม่เป็นทางการ เช่น กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 1 หรือสำนักงานกองปราบปราบยาเสพติดซึ่งใช้คุมขังผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ทำให้ผู้เยาว์ไม่สามารถเข้าถึงทนายได้ทันท่วงที
สำหรับกระบวนการพิจารณาคดีเด็ก ศาลเยาวชนได้เพิกเฉยต่อแนวทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก และสิทธิในการคุ้มครองจากภยันตราย ในระหว่างกระบวนการตรวจสอบการจับกุม แม้จะมีเด็กได้รับบาดเจ็บหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ศาลตัดสินให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีการตรวจสอบเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนที่อายุตํ่ากว่า 18 ปี มาตรการเหล่านั้นละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก และพันธกรณีของประเทศไทยต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child หรือ CRC) ซึ้งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพ ในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 13 และ 15ของอนุสัญญา CRC ตามลําดับ
นอกจากนั้น ข้อ 37 ของ อนุสัญญา CRC ยังระบุว่าการจับกุม ควบคุมตัว หรือคุมขังเด็กให้กระทําเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย และให้กระทําในระยะเวลาสั้นสุด ท้ายที่สุด ข้อ 3 ของอนุสัญญา CRC กําหนดว่า ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็น “สิ่งที่ต้องคํานึงถึงเป็นลําดับแรก” ในการกระทําทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็กโดยศาลและหน่วยงานฝ่ายบริหาร
ข้อเสนอแนะจากองค์กรภาคประชาสังคม ทางศูนย์ทนายความฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการในประเด็นเรื่องคุ้มครองนักปกป้องเด็ก สำหรับ UPR รอบที่ 3 ดังต่อไปนี้
- ยุติการกระทําทั้งหมดอันเป็นการคุกคามและข่มขู่ต่อเด็ก อันเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิของพวกเขาที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ
- หยุดการจับกุมและคุมขังเด็กอันเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิของพวกเขาที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ
- เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชนจากการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงบุคคลที่ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดี หรือถูกจำคุกตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวควรได้รับการปล่อยตัวทันที
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก