20 กันยายน ของทุกปี รัฐบาลไทยประกาศให้เป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” เริ่มครั้งแรกตามมติคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528
แม้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปีนี้ จะเข้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย แต่การต่อสู้คดีจากการชุมนุมและแสดงออกการเมืองของเด็กและเยาวชนจากการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-65 ยังดำเนินต่อไป
นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็นต้นมา มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 286 คน หรือคิดเป็นจำนวน 215 คดี เป็นคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว 73 คดี และยังอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ อีก 142 คดี เด็กที่ถูกดำเนินคดีอายุน้อยที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูลคือ 12 ปี
ข้อหาที่เด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดี มีตั้งแต่โทษปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ข้อหาที่มีอัตราโทษจำคุกไม่มากนักอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงคดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูง 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ หนึ่งในทนายความที่ติดตามและทำคดีทางการเมืองของเด็กและเยาวชนในช่วงหลังปี 2563 ชวนอัปเดตสถานการณ์คดี มุมมองการทำงาน บทเรียน และข้อเสนอแนะทางเลือกในกระบวนการยุติธรรมอาญาเด็กและเยาวชน ผ่านสิ่งที่เยาวชนคิดและเชื่อ
.
แนวทางการเบี่ยงเบนคดีเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรม ทั้งการเข้ามาตรการก่อนฟ้อง หลังฟ้อง หรือมาตรการแทนการพิพากษา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการรับสารภาพ
คดีส่วนใหญ่จะเป็นคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนจะให้การรับสารภาพในชั้นตำรวจหรือชั้นอัยการ และขอเข้ามาตรการแทนการดำเนินคดีในชั้นก่อนฟ้อง ตามมาตรา 86 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มีบางคดีที่มีโทษจำคุกเกิน 5 ปี อย่างคดี 112, ครอบครองอาวุธ วัตถุระเบิด, ทำให้เกิดการระเบิด หรือคดีที่มีผู้เสียหาย อย่างคดีทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน วางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งแม้เด็กและเยาวชนจะให้การรับสารภาพในชั้นตำรวจหรืออัยการก็จะต้องถูกฟ้องเป็นคดีเสียก่อน
ภายหลังฟ้อง เด็กและเยาวชนจะให้การรับสารภาพ และขอเข้ามาตรแทนการดำเนินคดีหลังฟ้อง ตามมาตรา 90 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ หรือขอเข้ามาตรการแทนการพิพากษาตามมาตรา 132 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
สาเหตุที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ให้การรับสารภาพ นอกจากเหตุที่เด็กและเยาวชนยอมรับว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมหรือได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหา ตลอดจนความยากจนที่ไม่อาจเข้าร่วมกระบวนการต่อสู้คดีที่ต้องใช้เวลายาวนานแล้ว แนวทางการเบี่ยงเบนคดีเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรม ทั้งการเข้ามาตรการก่อนฟ้อง หลังฟ้อง หรือมาตรการแทนการพิพากษา ซึ่งไม่นำไปสู่การมีคำพิพากษาตัดสินคดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ไม่ประสงค์ให้บุตรหลานต้องไปต่อสู้คดี เพราะหากผลคดีไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เกรงว่าจะมีประวัติอาชญกรรมติดตัว มักจะเลือกแนวทางดังกล่าว
ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี เช่น “ภูมิ หัวลำโพง” “เพชร-บีม” “สายน้ำ” “เอีย” “มีมี่” “นักเรียนเลว”, เยาวชนที่ร่วมกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า, เยาวชนที่เข้าร่วมคาร์ม็อบของกลุ่มเฟมนิสต์ปลดแอก รวมถึงเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม We Volunteer จัดอยู่ในกลุ่มนี้
.
.
การทำคดีเด็กเยาวชนต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตเป็นสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่อาจละทิ้งการต่อสู้เพื่อยืนยันหลักการตามกฎหมาย และไม่อาจละเลยเจตจำนงของเด็กเยาวชนที่ต้องการยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมได้เช่นกัน
ต้องบอกก่อนว่าในการทำคดีทางการเมืองของเด็กเยาวชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ มีหลักการทำงานสำคัญที่ยึดถือคือ หลักการคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และหลักประโยชน์สูงสุด ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานตามกฎหมาย
แนวทางการเบี่ยงเบนคดีเด็กและเยาวชนออกจากกระบวนการยุติธรรมอาญาเป็นประโยชน์กับเด็กเยาวชนอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดในตัวเอง เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย, ฆ่าผู้อื่น, ลักทรัพย์, ปล้นทรัพย์ เป็นต้น
แต่ในคดีทางการเมืองของเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มองมุมนั้นอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธสำคัญกับความคิดความเชื่อของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ การทำคดีจึงต้องรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนที่เป็นตัวความด้วยว่า เขาไปร่วมชุมนุมเพราะอะไร และการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของเขานั้นเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพียงใด
ยกตัวอย่างคดีของ “มีมี่” เธอทราบตั้งแต่แรกว่าหากรับสารภาพ สามารถเข้ามาตรการก่อนฟ้องได้ แต่มีมี่ยืนยันว่าจะสู้คดี เพื่อพิสูจน์ต่อศาลว่า ตนเองใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมและส่วนตัวได้ป้องกันตนเองจากการกระทำอันสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อตามสมควรแล้ว ถึงที่สุดศาลยกฟ้อง
คดี “เอีย” เยาวชนยืนยันตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับกุมว่าจะต่อสู้คดี เพื่อยืนยันว่าเขาไม่ได้มีเจตนาจะเข้าร่วมชุมนุม แต่ไปรับข้าวแจกแล้วกลับบ้านไม่ทันเท่านั้น
หรือคดีของ “สายน้ำ” เยาวชนใส่เสื้อครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์ แม้ก่อนสืบพยานคดีนี้จะทราบผลคดีของ “นิว จตุพร” ซึ่งตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์เดียวกันและถูกกล่าวหาอย่างเดียวกันว่าแต่งกายล้อเลียนพระราชินี และศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินลงโทษไปแล้วก็ตาม (คดี “นิว จตุพร” ลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา) แต่สายน้ำยืนยันว่าตนเองไม่ได้ล้อเลียน เสียดสีในหลวงรัชกาลที่ 10 เขาเพียงแต่งกายแบบนักร้องชื่อดัง “จัสติน บีเบอร์” เพื่อไปร่วมเดินแฟชั่นโชว์เท่านั้น
ในทางการต่อสู้คดียอมรับว่ากังวลกับผลคำพิพากษาคดีนิว จตุพรจะส่งผลกับคดีสายน้ำ เนื่องจากเป็นเหตุลักษณะคดี แต่ในฐานะนักกฎหมายนอกจากต้องต่อสู้ในข้อเท็จจริงแล้ว ยังต้องยืนยันหลักการกฎหมายว่า การล้อเลียนเสียดสีไม่เป็นการดูหมิ่น ตาม ป.อ.มาตรา 112 ซึ่งผลคดีของนิว จตุพร และสายน้ำ ต้องสู้กันต่อไปในชั้นอุทธรณ์
นอกจากนั้นคดีแต่งกายล้อเลียนนี้ยังมีคดี “เพชร-บีม” เยาวชนใส่ชุดครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน ที่กำลังสืบพยานอยู่ขณะนี้ ก็ต้องติดตามผลของคำพิพากษาว่าจะเป็นอย่างไร
.
การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมช่วงปี 63-64 หรือผลคดี 112 มีผลต่อการตัดสินใจออกมาใช้สิทธิชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าการชุมนุมระลอกใหม่ๆ มีเด็กเยาวชนแน่นอน
การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงปี 2563-64 หลายพันคน โดยส่วนตัวเห็นว่ามีผลต่อการชุมนุมของเด็กและเยาวชนกลุ่มที่มีรูปแบบตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุม เช่น ใช้กำลังต่อสู้ ขว้างปาหิน ยิงหนังสติ๊ก-ลูกแก้ว ปาประทัด พลุยักษ์ ระเบิดปิงปองฯ
ส่วนผลของคำพิพากษาคดี 112 ในคดีแต่งชุดไทย, ชุดครอปท็อป, ติดสติ๊กเกอร์ กู Kult หรือคดี ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ หรือการดำเนินคดีที่มีผู้ติดตามในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากอย่าง ‘มัมดิว’ หรือ ‘วารุณี’ เห็นว่ามีผลต่อรูปแบบการแสดงออกหรือข้อความที่สื่อสารของเด็กและเยาวชนที่อาจระมัดระวังมากขึ้น ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายที่เห็นต่างหยิบมาเป็นประเด็นให้ถูกดำเนินคดีได้เท่านั้น
แต่ในภาพรวมคิดว่าเด็กและเยาวชนยังคงจะออกมาชุมนุม และแสดงออกทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มอย่างกว้างขวาง
พูดตรงๆ เราต้องยอมรับความเป็นจริงกันว่าเด็กและเยาวชนทุกวันนี้ ตื่นตัวทางการเมือง มีข้อมูลมีองค์ความรู้ และเชื่อว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเขาอย่างที่ผู้ใหญ่บอกกัน เพราะแค่พรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศมีนโยบายด้านการศึกษาอย่างไร จะยกเลิกกฎระเบียบทรงผมหรือเครื่องแบบไหม มันก็เกี่ยวพันกับพวกเขาโดยตรงแล้ว และเมื่อความตื่นตัวทางการเมืองมาบวกกับความสร้างสรรค์ ความกล้าแสดงออกตามช่วงวัยของพวกเขา เด็กและเยาวชนในยุคนี้จึงน่าจะยังมีบทบาทในการแสดงออกทางการเมืองต่อไป
.
.
บทเรียนคดีชุมนุมปี 63-64 สะท้อนกระบวนการยุติธรรมอาญาคดีเด็กเยาวชนยังไม่สอดคล้องกับหลักการคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กเยาวชน และหลักประโยชน์สูงสุด
เอาตั้งแต่ในชั้นจับกุม เราพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโดยใช้ความรุนแรง พอบาดเจ็บแล้วยังไม่ได้รับการรักษาพยาบาลทันที ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ไม่ให้ติดต่อทนายและพ่อแม่ มีหลายเคสที่เด็กถูกนำตัวไปฝ่ายสืบสวน ทนายและพ่อแม่ต้องตามหา กว่าจะเจอตัวเด็กก็ให้การรับสารภาพ เซ็นรับรองเอกสารทั้งที่ไม่ได้อ่าน
พอพาไปตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนฯ แม้จะได้แถลงด้วยวาจาหรือทำคำร้องคัดค้านการจับกุมที่ใช้ความรุนแรง ไม่ติดต่อญาติหรือทนายความ อันเป็นการจับกุมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ แล้ว แต่ศาลกลับมีคำสั่งว่าเป็นการจับกุมโดยชอบแล้ว ทั้งที่ขั้นตอนการตรวจสอบการจับกุมนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่ให้ศาลตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน
มาในชั้นอัยการคดีชุมนุมฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรายังเห็นบ้างว่าอัยการคดีผู้ใหญ่สั่งไม่ฟ้อง แต่อัยการคดีเด็กเยาวชน หากไม่รับสารภาพ พบว่าแทบจะสั่งฟ้องทั้งหมด แม้เคยทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ เพื่อสวัสดิภาพและอนาคต และประโยชน์สูงสุดของเด็กไปหลายเคส แต่อัยการก็ยังสั่งฟ้องอยู่ดี อ้างว่ากฎหมายบัญญัติห้ามไว้ เมื่อเด็กฝ่าฝืนก็ต้องดำเนินคดี
บทเรียนจาก คดี “เอีย” เด็กวัย 12 ปี ปั่นจักรยานไปรับข้าวแจกถูกฟ้อง “ร่วมชุมนุมเสี่ยงแพร่โรค-ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว” เราใช้เวลากว่า 2 ปีในกระบวนการยุติธรรมเพื่อบอกว่า “เอีย” ผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ และให้ตักเตือน สังคมได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้ กลับกันมันกลับสร้างบาดแผลทางใจให้เขาและครอบครัว เพราะแทบไม่มีใครในครอบครัวเขาอยากจะเชื่อว่าแค่ข้าวกล่องหนึ่งจะนำพาชีวิตเด็กคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลแบบนี้
สำหรับในชั้นศาล คดีชุมนุมส่วนใหญ่ ศาลแทบมีคำพิพากษาไม่ได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กรณีที่ยกฟ้องจะเป็นกรณีที่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคเท่านั้น
ส่วนคดี 112 โดยตัวบทกฎหมายเองมีปัญหาโทษสูงเกินไปเทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ยิ่งการบังคับใช้ยิ่งมีปัญหา เพราะตีความเอาผิดการกระทำหลายรูปแบบอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นการตีความตัวบทเชื่อมโยงกับจารีตประเพณีวัฒนธรรม เด็กเยาวชนไม่สามารถเข้าใจได้ชัดเจนว่าทำแบบไหนจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมายนี้ ซึ่งขัดหลักการการกระทำความผิดอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด ที่สำคัญบุคคลทั่วไปก็สามารถเป็นผู้กล่าวโทษได้
ประโยคที่ว่า “ไม่ผิดแล้วจะกลัวอะไร” ในฐานะนักกฎหมายที่ทำคดีทางการเมืองหรือคดี 112 ประโยคนี้ใช้ได้กับคดีอาญาทั่วไป แต่คงไม่ใช่กับคดี 112 ถ้าติดตามคดีที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือ จะเห็นว่าหลายๆ คดีที่กลุ่มเห็นต่างกับฝ่ายที่ออกมาชุมนุม หรือกลุ่มปกป้องสถาบันเป็นผู้กล่าวโทษ แม้ในทางข้อเท็จจริงนั้นจะมีการกระทำจริง แต่ในหลายๆ คดีการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิด เช่น การกล่าวถึงอดีตกษัตริย์หรือบุคคลที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม 112, การแต่งกายล้อเลียนเสียดสี, การแปะสติ๊กเกอร์บนพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นต้น
กลายเป็นว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายมีการแสดงออกหรือมีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ที่แม้จะเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะหรือข้อมูลทางวิชาการที่เผยแพร่สาธารณะ กลุ่มดังกล่าวจะตอบโต้ด้วยการกล่าวโทษให้ดำเนินคดีไปก่อน ผิดไม่ผิดจำเลยไปต่อสู้คดีเอา
นี่ยังไม่พูดถึงที่มีการจัดตั้งกลุ่มบุคคลไปกล่าวโทษแบบข้ามภาค จำเลยอยู่กรุงเทพไปแจ้งความภาคใต้ จำเลยอยู่ใต้มาแจ้งกรุงเทพ จำเลยอยู่อีสานไปแจ้งความภาคเหนือ มีใครไม่เห็นเจตนาที่แท้จริงของขบวนการเหล่านี้ด้วยเหรอ ยิ่งหากผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กเยาวชนด้วยแล้ว ไม่เพียงแต่พวกเขาต้องเสียอนาคต มีประวัติอาชญากรรมติดตัวแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดพวกเขาขาดความเชื่อมั่นต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสังคมได้ในอนาคต
ตอนนี้คดีชุมนุมที่เด็กและเยาวชนให้การรับสารภาพ หากเข้ามาตรการแทนการแทนการดำเนินคดีก่อนฟ้อง เด็กเยาวชนต้องปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูของผู้อำนวยการสถานพินิจ หากทำได้คดีอาญาระงับ หรือหากเข้ามาตรการแทนการดำเนินคดีหลังฟ้องหรือมาตรการแทนการพิพากษา คดีเด็กเยาวชนต้องปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูของผู้อำนวยการสถานพินิจหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้จัดทำแผน หากทำได้ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีจากสารระบบความ หรือบางคดีศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกให้รอการลงโทษ และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ
ส่วนคดี 112 มีผลคดีหลายแบบ ทั้งแบบรับสารภาพเข้ามาตรการแทนการพิพากษา ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง หรือแบบต่อสู้คดี แล้วมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแต่รอการลงโทษ เช่น คดี “สายน้ำ” เยาวชนใส่ครอปท็อปเดินแฟชั่น และแบบลงโทษจำคุก แต่เปลี่ยนโทษจำคุกให้เข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรม เช่น คดี “เพชร” ปราศรัยที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินฯ แม้ชื่อจะใช้ ‘ศูนย์ฝึกและอบรม’ แต่จริงๆ ก็คือ สถานที่ควบคุมตัวถูกจำกัดอิสรภาพ
.
.
“ศูนย์ฝึกและอบรม” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ คือ หน่วยงานหรือองค์กรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดให้มีหน้าที่เข้ามาควบคุม ดูแล แก้ไข ฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัย ให้การศึกษาทั้งสายสามัญและวิชาชีพ ให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์แก่เด็กเยาวชนภายหลังจากศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาให้เด็กเยาวชนที่กระทำผิดแล้วเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรม ศูนย์นี้ยังต้องเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กและเยาวชนสำหรับการออกไปเผชิญปัญหากับสภาพแวดล้อมภายนอก และทำการติดตามผลเมื่อกลับไปอยู่กับครอบครัวและสังคม พร้อมทั้งประสานงานร่วมกับชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีก ระเบียบกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ว่าด้วยการดําเนินงานสถานแรกรับ และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2547 วางหลังการบางอย่างเกี่ยวกับศูนย์ฝึกและอบรมไว้ เช่น ข้อ 7 ให้สถานที่ควบคุมจัดให้เด็กหรือเยาวชนขึ้นหอนอนเวลา 17.30 นาฬิกา และลงจากหอนอน เวลา 06.00 นาฬิกา ปรับได้ตามความเหมาะสม ข้อ 8 ผู้อํานวยการสถานพินิจและผู้อํานวยการศูนย์ฝึกและอบรมต้องจัดให้มีเวรยามรักษาการณ์ เพื่อดูแลเด็กและเยาวชนตลอดเวลาที่อยู่ในสถานที่ควบคุม ข้อ 11 การเคลื่อนย้าย หรือส่งต่อเด็กและเยาวชนเพื่อเข้ากิจกรรมให้ตรวจนับจํานวน และส่งมอบเป็นหลักฐานชัดเจน โดยไม่ปล่อยใหเด็กหรือเยาวชนหลบหนีจากการทํากิจกรรมนั้น ข้อ 32 ให้นำการบังคับใช้การดำเนินการสถานแรกรับมาใช้โดยอนุโลม เช่น สิ่งของต้องห้ามไม่อนุญาตให้นำเข้าสถานแรกรับ เช่น เงินสด เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด สิ่งตีพิมพ์หรือสื่อลามกอนาจาร ยารักษาโรคทุกชนิดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ ข้อ 25 เมื่อครบสามเดือนแล้ว หากในเดือนนั้นเด็กหรือเยาวชน มิได้กระทําการอันละเมิดกฎหมาย ประพฤติชั่ว หรือกระทําผิดวินัยถึงขั้นถูกลงทัณฑสถานหนึ่งสถานใด ให้มีสิทธิขอลาเยี่ยมบ้านได้ |
.
.
ข้อเสนอแนะสำหรับสถานการณ์การแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองของเด็กเยาวชน
ขอฝากเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมอาญาเด็กเยาวชนและสังคมว่า เราต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว เด็กและเยาวชนของประเทศเรา เขาไม่เพียงแต่เป็นพลเมืองไทยเท่านั้น แต่พวกเขาเป็นพลเมืองโลกแล้ว เพราะสภาพแวดล้อมที่มีความเชื่อมโยงกันของประเทศต่างๆ ทั้งทางเทคโนโลยีสารสนเทศและขนส่ง ทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สามารถศึกษาหาความรู้ได้จากทั่วโลก และรับเอาแนวคิดและวัฒนธรรมต่างๆ มาด้วย รวมถึงวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน การยึดถือหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตย การเคารพในความเป็นมนุษย์ที่เชื่อว่า “คนทุกคนเท่ากัน” และการปฏิเสธ “อำนาจนิยม” ซึ่งมันเป็นแนวคิดกระแสหลักของโลก แล้วการแสดงออกเพื่อสะท้อนแนวคิดแบบนี้ของพวกเขาไม่ใช่ความผิด
เพียงแต่ว่าในประเทศยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว รวมไปจนถึงแนวคิดหรือทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมายเอง ยังมีแนวคิดตามกรอบจารีตประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม “เด็กมีหน้าที่เรียนหนังสือ” “การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก” มันจึงนำไปสู่การปะทะกันของสองแนวคิด
แต่เมื่อเด็กและเยาวชนต้องเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นพื้นที่อำนาจของผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องรับฟัง และทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าวอันเป็นสาเหตุแห่งการกระทำของเด็กและเยาวชน และต้องทำหน้าที่กลั่นกรองคดี และตีความกฎหมายไปในทางที่คุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนด้วย
ทั้งนอกจากที่กล่าวไปข้างต้น ขอเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับกำหนดแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน หรือเงื่อนไขการคุมประพฤติต่อสถานพินิจฯ และศาล เพราะเกี่ยวกับเรื่องนี้เราพบทั้ง Bad practice และ Best practice
ในส่วนของ Bad practice เช่น การจัดฝึกอบรมในสถานที่ที่เป็นค่ายทหาร เพราะเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะเค้าถูกคดีออกไปขับไล่นายกฯ ที่เคยเป็นทหารแล้วมาทำรัฐประหาร, การให้กราบเท้าพ่อแม่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เด็กรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวมีปัญหามาตั้งแต่เด็ก, การให้คัดลายมืออาชีพในฝัน เค้ารู้สึกว่าเป็นการทำโทษ ไม่ได้ทำให้เค้ามีแรงบันดาลใจที่จะทำอาชีพนั้นได้จริงๆ หรือการให้กราบเคารพรูปแล้วถ่ายภาพส่ง เด็กคิดว่าการแสดงความเคารพมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องกราบขอแสดงความเคารพด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ทำความสะอาดดีกว่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เมื่อมีโอกาสได้เข้าประชุมแผนแก้ไขฟื้นฟู ก็ได้สะท้อนให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับทราบ ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขอยู่บ้าง
สำหรับ Best practice ที่เสนอแนะให้การกำหนดแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูควรมีแนวปฏิบัติแบบนี้ เช่น การให้เด็กกำหนดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะในรูปแบบและองค์กรที่เด็กเลือกด้วยตนเอง, การให้เด็กกำหนดการอบรมทักษะอาชีพที่ตนเองชอบและสนใจ และให้การสนับสนุนส่งไปอบรมตามความต้องการ, การให้เด็กทำงานศึกษาหรือแลกเปลี่ยนในประเด็นทางสังคมที่สนใจ, การให้เยาวชนใช้ความสามารถในการแสดงออก เป็น Tiktoker เข้าอบรมหลักสูตรการสร้างรายได้ออนไลน์ เป็นต้น
โจทย์คือทำยังไงให้กระบวนการยุติธรรมอาญาเด็กเยาวชน เป็นไปตามหลักเป็นมิตรกับเด็กเยาวชน (Child friendly) ได้มากที่สุด
.